in on May 2, 2019

สินค้าชะลอความแก่…มีไหม

read |

Views

ความแก่นั้นไม่เข้าใครออกใคร เพียงแต่อัตราแก่มันเร็วไม่เท่ากัน แบบว่าตัวใครตัวมัน เพราะปรากฏการณ์นี้ขึ้นกับปัจจัยสิ่งแวดล้อมและปัจจัยภายในร่างกายของแต่ละคนเอง ท่านผู้อ่านคงเคยพบคนที่อายุไม่ถึงหกสิบปีแต่มีผมขาวทั้งหัว ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากพันธุกรรมภายในร่างกายโดยแท้ที่ระบบสร้างเม็ดสีในเส้นผมหยุดการทำงานก่อนคนอื่น ทั้งที่จริง ๆ แล้วยังทำอะไร ๆ ได้เหมือนหนุ่มสาว

ส่วนปัจจัยภายนอกที่ทำให้แก่ได้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของการครองชีวิต เช่น การทำงานนั้นต้องสัมผัสแสงแดดที่แรงกล้าซึ่งมีแสงอัลตราไวโอเล็ทหรือ UV ชนิดที่เป็นอันตรายต่อผิวคือ UVC และอีกประการซึ่งสำคัญมากคือ อาหารและโภชนาการ ทั้งนี้เพราะจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพนั้นกล่าวว่า เทโลเมียร์ ของโครโมโซมนั้นไวต่อการถูกทำร้ายโดยอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย ดังนั้นคนที่กินอาหารมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ก็ควรแก่ช้าเพราะเทโลเมียร์ได้รับการปกป้อง

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างสินค้าหนึ่งที่มีการขายกันใน อินเตอร์เน็ทคือ เอ็นซัม SOD (superoxide dismutase) ซึ่งอ้างหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าช่วยชะลอความแก่ได้ในการโฆษณา แต่ความจริงนั้นใครจะตอบได้ว่าสินค้านั้นได้ผลจริงหรือไม่

ชื่อ SOD นั้นคนที่อยู่ในแวดวงพิษวิทยา ชีวเคมี และสาขาวิชาอื่น ๆ ที่ศึกษาระดับโมเลกุลนั้นมักรู้จักดี เพราะ SOD เป็นปัจจัยหนึ่งที่ปกป้องให้เซลล์ของร่างกายอยู่รอดจากอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในเซลล์ ดังนั้นพอมีการนำมาใส่ขวดขายผู้บริโภคจึงควรหาความรู้ก่อนว่า เอ็นซัมนี้เมื่อถูกสกัดมาใส่ขวดแล้วยังมีฤทธิ์ทำงานได้เหมือนเดิมหรือไม่ ส่วนประเด็นที่สองที่สำคัญมากคือ เอ็นซัมนี้สามารถหลุดผ่านระบบการย่อยโปรตีนในกระเพาะและลำไส้เล็กไปออกฤทธิ์ในร่างกายผู้บริโภคได้หรือไม่ เพราะเอ็นซัมนั้นมีธรรมชาติเป็นโปรตีนกลุ่มหนึ่งซึ่งควรถูกย่อยเพื่อนำกรดอะมิโนไปใช้งานทั่วไปในร่างกาย

กล่าวกันว่า SOD ระดับอุตสาหกรรมนั้นสามารถสกัดได้จากแพลงตอนในกลุ่มไฟโตแพลงตอน (phytoplankton) ตับวัว หัวฮอร์สแรดิช (Horseradish) ผลแคนตาลูป และแบคทีเรียบางชนิด (รายละเอียดอ่านได้จาก Gopal RK, Elumalai S (2017) Industrial Production of Superoxide Dismutase (SOD): A Mini Review. Journal of Probiotics & Health 5: 179) โดยเมื่อสกัดมาแล้วถ้าต้องการใช้ประโยชน์ในคนนั้นจำเป็นต้องใช้วิธีฉีดเท่านั้น (แต่ต้องคำนึงถึงระบบภูมิต้านทานในร่างกายที่มีหน้าที่ต่อต้านโปรตีนแปลกปลอม ซึ่ง SOD จากแหล่งนอกร่างกายนั้นต่างเป็นโปรตีนแปลกปลอมทั้งสิ้น) ส่วนการกินเพื่อให้ได้ประโยชน์นั้น ลืมเสียเถอะอย่าคิดถึง เพราะมันก็คงทำนองเดียวกับกลูตาไธโอนที่มักถูกย่อยเสียก่อนถูกดูดซึมเข้าร่างกาย

ที่กล่าวมาถึงตอนนี้เป็นเพียงตัวอย่างในอีกมากมายของสารชีวเคมีที่ถูกนำมาขายในอินเตอร์เน็ท โดยอ้างว่าสามารถชะลอความแก่ของเซลล์ได้ แต่ไม่สามารถหาบทความทางวิชาการมาสนับสนุนว่าได้ผลดีในคน ซึ่งประเด็นหนึ่งที่อาจอธิบายเหตุที่ไม่มีบทความมาสนับสนุนคือ งานวิจัยนั้นเป็นสมบัติของบริษัทขายสินค้าดังกล่าว ถ้านำไปตีพิมพ์จำต้องอธิบายรายละเอียดของสารเคมีซึ่งมีมูลค่าทางการค้าสู่สาธารณะ

อย่างไรก็ตามยังมีข่าวดีอยู่บ้างเกี่ยวกับอาหารที่อาจต้านความแก่ได้ เมื่อมีรายงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าเซลล์มนุษย์ที่หมดสภาพ (senescence) สามารถฟื้นกลับมาเมื่อได้รับ สารเคมีที่อยู่ในกลุ่ม เรสเวอราตรอล (resveratrol) ซึ่งเป็นพฤกษเคมีที่พบในไวน์และดาร์คช็อคโกแลต เป็นต้น ข้อมูลนี้อยู่ในบทความชื่อ Small molecule modulation of splicing factor expression is associated with rescue from cellular senescence ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร BMC Cell Biology ชุดที่ 18 ในปี 2017 ซึ่งกล่าวว่า “ความผิดปรกติของ mRNA splicing factors ส่งผลให้มีการสะสมของเซลล์ที่หมดสภาพ (cellular senescence หรือแก่) ในร่างกายมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคเนื่องจากความแก่ จากนั้นจึงกล่าวว่าสารสังเคราะห์ที่มีโครงสร้างหลักคล้ายเรสเวอราตรอล (ซึ่งหมายรวมถึงเรสเวอราตรอลด้วย) สามารถทำให้ mRNA splicing factors กลับมาทำงานได้นั้น ส่งผลให้เซลล์ของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันกลับคืนสู่สภาพปรกติได้”

คำถามหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นชินกับข้อมูลเกี่ยวกับความรู้ทางชีวเคมีเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเซลล์สิ่งมีชีวิตคือ mRNA splicing factors นั้นคืออะไร แล้วมาเกี่ยวกับการชะลอความแก่ได้อย่างไร ผู้เขียนจึงขออ้างบทความอีกเรื่องชื่อ Human aging is characterized by focused changes in gene expression and deregulation of alternative splicing ปรากฏอยู่ในวารสาร Aging Cell ในเดือนตุลาคม 2011 ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจกล่าวว่า “โรคที่เกี่ยวข้องกับความแก่หลายโรคเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของปัจจัยที่ปรับแต่ง mRNA (mRNA splicing factors) ก่อนการสร้างโปรตีน ตัวอย่างของโรคคือ กลุ่มอาการ Hutchison Gilford progeria ซึ่งทำให้ผู้เคราะห์ร้ายแก่ก่อนวัยอันควร” โดยสาเหตุนั้นเกิดจาก ยีนที่เกี่ยวข้องกับ mRNA splicing factors (กลุ่มโปรตีนช่วยในการปรับแต่งให้ mRNA ทำงานในการสร้างโปรตีนต่าง ๆ ในเซลล์นั้น) ได้กลายพันธุ์จนทำงานไม่ได้ จนเซลล์นั้น ๆ ต้องอยู่ในสภาพอยู่นิ่งกลายเป็นเซลล์แก่ไป

ตัวอย่างที่รู้กันดีคือ เมื่อเราหิว (ซึ่งคงตามมาด้วยการกินอาหาร) เซลล์กระเพาะอาหารจะถูกกระตุ้นให้สร้างโปรตีนซึ่งเรียกว่า เป็บซินโนเจน (pepsinogen) ซึ่งต่อมาจากกระบวนการในกระเพาะจะมีการจัดการเปลี่ยนให้เป็นเอ็นซัมชื่อ เป็บซิน (เพื่อทำหน้าที่ย่อยโปรตีนโมเลกุลใหญ่จากอาหารที่ถูกกลืนสู่กระเพาะอาหารให้เป็นโมเลกุลที่เล็กลง) นั้น ดีเอ็นเอของเซลล์กระเพาะอาหารจะถูกกระตุ้นให้สร้างอาร์เอ็นเอที่เป็น
ต้นแบบในการสร้างเป็บซินโนเจน ซึ่งในทางชีวเคมีกล่าวว่า กระบวนการนี้เป็นไปตาม central dogma of molecular biology

ประเด็นที่สำคัญคือ อาร์เอ็นเอที่ถูกสร้างขึ้นในเซลล์เพื่อใช้สร้างโปรตีนนั้น จริงแล้วมีชื่อเรียกเฉพาะกลุ่มว่า เอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA หรือ messenger RNA) ซึ่งเมื่อถูกสร้างใหม่ ๆ นั้นยังทำงานไม่ได้ เพราะมีองค์ประกอบที่กำหนดให้เป็นตัวขวางการทำงานได้เรียกว่า อินทรอน (intron) คั่นระหว่างอาร์เอ็นเอส่วนที่เรียกว่า เอ็กซอน (exon) ซึ่งถ้ามาต่อกันแล้วจะทำงานในการสร้างโปรตีนได้ ดังนั้นอินทรอนจึงต้องถูกกำจัดออกก่อนที่เอ็มอาร์เอ็นเอจะถูกใช้งานตามวัตถุประสงค์ของเซลล์ (ขอให้ดูรูปเพื่อความเข้าใจ)

การกำจัดอินทร็อนนั้น จำต้องอาศัยองค์ประกอบในเซลล์ซึ่งเรียกว่า สไปซีโอโซม (spliceosome ซึ่งคือ mRNA splicing factors นั่นเอง) ซึ่งเป็นโปรตีนหลายหน่วยที่มารวมกันแล้วทำหน้าที่เสมือนกรรไกรช่วยตัดอินทรอนออก (ดูคลิปได้ที่ www.youtube.com/watch?v=FVuAwBGw_pQ) และประเด็นที่สำคัญคือ เมื่อเซลล์ยังใหม่หรือเด็กอยู่ กระบวนการนี้จะทำงานได้ด้วยดี การสร้างโปรตีนที่เซลล์ต้องการจึงเกิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อเซลล์อยู่นานไปแล้วแก่ตัวลง การรวมกันขององค์ประกอบที่ เป็นสไปซีโอโซมมักเกิดความติดขัดคือ รวมตัวกันไม่ได้ดังเดิม ทำให้โปรตีนที่เคยสร้างได้ในเซลล์ขาดหายไป ส่งผลให้เซลล์หมดสภาพ (cellular senescence) กลายเป็นเซลล์แก่ไป

ย้อนกลับมาถึงข้อมูลที่กล่าวว่า สารกลุ่มเรสเวอราตรอลนั้นน่าจะสามารถทำให้เซลล์ที่แก่แล้วย้อยกลับมาทำงานได้เหมือนเซลล์หนุ่มสาว (โดยเข้าใจว่าสารกลุ่มเรสเวอราตรอลนั้นช่วยให้องค์ประกอบที่เป็นสไปซีโอโซมกลับมารวมตัวกันได้ดีเหมือนเดิม) สำหรับผู้เขียนแล้วการได้ทราบว่าสารกลุ่มเรสเวอราตรอลอาจช่วยชะลอความแก่ได้นั้นนับว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะปรกติก็ชอบกินองุ่นอยู่แล้ว แต่จะให้ทำใจหันไปดื่มไวน์นั้นเป็นเรื่องที่ทำใจได้ลำบาก อาจเป็นเพราะมีประสาทดมกลิ่นต่างจากคนทั่วไปเนื่องจากมักรู้สึกว่า ไวน์นั้นไม่ว่าจะแพงเท่าไรก็มีกลิ่นคล้ายน้ำองุ่นบูดอยู่ร่ำไป อีกทั้งอัลกอฮอลในเครื่องดื่มที่ทำให้มึนเมาต่าง ๆ นั้นมักกระตุ้นให้ผู้เขียนเกิดอาการไมเกรน ผู้เขียนจึงขอกินแต่องุ่นทั้งผลซึ่งควรได้ผลดีไม่ต่างจากการดื่มไวน์ ส่วนดาร์คช็อคโกแลตนั้น ปรกติก็ชอบกินอยู่แต่มักกินไม่บ่อยนักเพราะกลัวสูญเงินตราไปต่างประเทศ จึงคงต้องรอจนกว่าเกษตรกรไทยจะสามารถปลูกต้นโกโก้สายพันธุ์ที่ดีพอจะนำไปทำดาร์คช็อคโกแลตของไทย

 

เเก้ว กังสดาลอำไพ

ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ เป็นนักพิษวิทยาที่กินเงินบำนาญ จึงมีเวลาเขียนบทความเกี่ยวกับความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์อาหารและโภชนาการ ในคอลัมน์ กินดีอยู่ดี โดยใช้ประสบการณ์ที่เคยดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ สอน วิจัยและเป็นประธานหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการในมหาวิทยาลัยมหิดลนาน 31 ปี มาเขียนบทความกึ่งวิชาการที่ประชาชนทั่วไปน่าจะได้รู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคและการเลือกกินอาหารที่ปลอดภัยมีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อจะได้ไม่ถูกลวงในภาวะสังคมปัจจุบันที่แทบจะเชื่อใครไม่ได้เลยในอินเตอร์เน็ท

Email

Share