in on December 31, 2015

หนาวนี้คงไม่มีหนาว : โลกร้อนร้ายกว่าที่คิด

read |

Views

ปกติกรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศการเปลี่ยนฤดูกาลเป็นประจำทุกฤดู เช่น เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมาก็ได้ออกประกาศว่าประเทศไทยตอนบนสิ้นสุดฤดูฝนและเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว

ซึ่งแม้ว่าตอนบนของประเทศจะเข้าสู่ฤดูหนาว ตอนล่างอย่างภาคกลางหรือกรุงเทพฯ ก็พอจะได้กลิ่นอายของลมหนาวบ้าง แต่ปีนี้ยังร้อนไม่หยุดหย่อน แถมมีพายุฝนตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนมาจนถึงกลางเดือนจนถึงขนาดน้ำท่วมกรุง รถติดระนาวให้เซอร์ไพรส์เล่นกันซะอย่างนั้น  แถมฤดูหนาวที่ตอนบนของประเทศได้สัมผัสแล้วยังไม่มีรายงานอุณหภูมิเลขตัวเดียวเลยสักแห่ง

ข่าวเว็บไซต์ไทยพีบีเอส มีรายงานพิเศษที่น่าสนใจ เรื่อง “ตอบคำถาม: ฤดูหนาวแล้ว แต่ทำไมยังไม่หนาว” ที่อธิบายเชื่อมโยงฤดูหนาวที่ไม่หนาวกับสถานการณ์เอลนีโญ่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้วข้ามามาจนถึงปีนี้ ส่วนหนึ่งรายงานไว้ดังนี้

“เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2558 ศูนย์ภูมิอากาศ สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสถานการณ์อุณหภูมิน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรว่าเดือนตุลาคม 2558 อุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงกว่าปกติ และมีค่าสูงสุดประมาณ 3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิน้ำทะเลที่อยู่ลึกจากผิวน้ำลงไปจนถึงระดับ 300 เมตรมีค่าสูงกว่า 6 องศาเซลเซียส และขยายพื้นที่มากขึ้น

“จากความผิดปกติของอุณหภูมิน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกและระบบบรรยากาศในเขตศูนย์สูตรมีแนวโน้มสูงกว่าค่าปกติอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการทางสถิติและแบบจำลองเชิงพลวัตแล้ว เป็นปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่กำลังแรง” รายงานของศูนย์ภูมิอากาศระบุและคาดการณ์ผลกระทบต่อประเทศไทยไว้ว่าผลกระทบจากเอลนีโญ่ต่อประเทศไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมจะไม่ชัดเจนเท่าช่วงต้นฤดูฝน แต่จะทำให้อุณหภูมิของไทยมีแนวโน้มสูงกว่าค่าปกติ

แต่ประเทศไทยไม่ได้ “ร้อน” อยู่ประเทศเดียว องค์การบริหารจัดการด้านมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งสหรัฐอเมริกา (NOAA) เผยแพร่รายงานการวิเคราะห์สภาพอากาศโลกประจำเดือนตุลาคม 2015 และพบว่าอุณหภูมิผิวดินและผิวน้ำทะเลวัดได้สูงที่สุดในรอบ 136 ปี และนับเป็นเดือนที่ 6 ในปีนี้ที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงทำลายสถิติ

NOAA รวบรวมข้อมูลจากหลายประเทศซึ่งรายงานตรงกันว่าเดือนตุลาคมเป็นเดือนที่ร้อนผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นที่ออสเตรเลีย (อุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยปี 1961-1990 เกือบ 3 องศาเซลเซียส) นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ และหมู่เกาะฟาโร

นักวิทยาศาสตร์คาดว่าปรากฏการณ์เอลนีโญ่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า (2559) และจะส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศในฤดูหนาวของหลายประเทศทั่วโลก”

ไม่แค่ฤดูหนาว ไม่หนาว ถ้าย้อนไปมองช่วงที่ผ่านมา ภาวะแล้งรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก็เป็นเพราะเอลนีโญ่ครั้งนี้ด้วย และผลกระทบจากภาวะแล้งรุนแรงที่เกิดขึ้น ล้วนคุกคามชีวิต เศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างรุนแรงด้วย เช่น

  • การลดพื้นที่ทำนาปรัง นั่นหมายถึงปีหน้าไทยจะมีข้าวขายทำรายได้เข้าประเทศได้น้อยลง
  • ถนนหนทางทรุดพังทลายจำนวนมาก ทำให้ต้องเอาเงินงบประมาณออกมาซ่อมสร้างกันเป็นเป็นการใหญ่ แทนที่งบประมาณเหล่านั้นจะได้เอาไปพัฒนาอย่างอื่น
  • ภาวะอากาศร้อนทำให้ยุงเพาะพันธุ์ได้ดีขึ้น มากขึ้นและเร็วขึ้น ทำให้สังคมไทยตอนนี้ถูกกระแสไข้เลือดออกคุกคาม
  • แถมลอยกระทงปีนี้คงจะร้องเพลงเดือนสิบสองน้ำนองเต็มตลิ่งไม่ได้แล้ว เพราะอย่างที่ อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ชาวบ้านต้องขุดสระน้ำชั่วคราวขึ้นมาเพื่อจัดงานลอยกระทง

เหล่านี้เป็นต้น และภัยแล้งนี้จะสืบทอดยาวนานไปจนถึงปีหน้าที่บางแห่งมีสัญญาณสงครามแย่งน้ำเกิดขึ้นแล้ว ปีหน้าฟ้าใหม่คงต้องจ้องตาไม่กระพริบว่าจะถึงขั้นปันส่วนน้ำกันใช้ไหม แบบเปิดประปาวันคู่ วันคี่สลับกันไปแต่ละพื้นที่หรือเปล่า

ถ้าจะมองหาตัวการ ก็คงต้องไม่มีจำเลยอื่น ก็คงเพราะภาวะโลกร้อนนั่นแหละ และก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์นี่แหละคือตัวการที่ทำให้เกิดขึ้น  และท้ายที่สุดก็เหมือนกรรมติดจรวด ตอนนี้สังคมมนุษย์นี่แหละที่เดือดร้อนอยู่เอง

โลกร้อนไม่ไกลตัวอีกต่อไปมันถึงเวลามาตั้งนานแล้วที่มนุษย์จะลด ละ เลิกพฤติกรรมโลกร้อนต่าง ๆ เสียที แม้ว่าคนรุ่นนี้คงไม่ได้อยู่รับอานิสงส์แล้ว ก็ต้องเป็นการสร้างมรดกให้โลกดีๆ เพื่อให้ลูกหลานได้อยู่เย็นเป็นสุขต่อไป

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: http://itpurepure.blogspot.com/2014/11/blog-post_67.html
  2. ภาพจาก: http://www.thaihealth.or.th/Content/22676.html
  3. ภาพจาก: http://www.nakhonsawan-mnre.org/index.php?page=news&id=12
จิตติมา บ้านสร้าง

รายงานสถานะการณ์สิ่งเเวดล้อมในบ้านเมืองกับนักข่าวสาว ผ่านมุมมองเเละเเง่คิดต่างๆ เเบบล้วงลับเจาะลึก

Email

Share