in on February 2, 2016

อาหารแบบมนุษย์ยุคหิน

read |

Views

ปัญหาลึกๆ ที่ก่อกวนใจของหลายคนคือ น้ำหนักตัวมักไม่เป็นตามที่เราต้องการเมื่อวันเวลาผ่านไป หลายคนพยายามสู้เพื่อให้น้ำหนักลด (หรือแม้แค่ไม่เพิ่มก็ยังดี) แต่ส่วนใหญ่กลับพ่ายแพ้บางครั้งเมื่อแพ้แล้วก็กลับมาสู้ใหม่ซึ่งถ้าใจไม่เข้มแข็งพอก็แพ้อีกกลับมามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นต่อไปในที่สุด

ความอ้วนเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกันประการหนึ่งที่น่าสนใจคือพันธุกรรมต่างกันทำให้ระบบการเผาผลาญพลังงานต่างกันแม้กินเท่ากันสังเกตได้ว่าบางคนมีผิวอุ่นตลอดเวลาเพราะมีความสามารถพิเศษในการสลายไขมันออกมาเป็นความร้อนหรือมีความสามารถต่ำกว่าคนอื่นในการเก็บพลังงานในรูปไขมันจึงต้องปล่อยออกมาเป็นความร้อนมากกว่าคนอื่นในขณะที่บางคนตัวเย็นจนต้องใส่เสื้อผ้ามากกว่าคนอื่น

มีนักวิชาการบางคนแนะนำว่า คนที่มีบรรพบุรุษอ้วนต้องระวังตนเองให้ดี ยิ่งเมื่อมีอายุเกิน 30 ขึ้นไป การเผาผลาญสารอาหารเป็นพลังงานในร่างกายเริ่มลดลงโดยเปลี่ยนไปเป็นการสะสมในรูปไขมันมากขึ้น ประเด็นนี้อาจเนื่องจากเป็นอายุที่เริ่มได้เป็นหัวหน้างานแล้วจึงทำให้งานยุ่งมากจนเลิกออกกำลังกาย อีกทั้งมีพลังทรัพย์พอจะหาของอร่อยกินบ่อยขึ้น ฯลฯ จึงทำให้ความอ้วนมาเยือน

เมื่อความอ้วนเริ่มมาเยือนเกือบทุกคนคงมองหาทางแก้ไขเท่าที่ทำได้ การไปหาแพทย์เป็นทางเลือกสุดท้ายในขณะที่การออกกำลังกายดูจะเป็นทางเลือกแรกที่ทำแล้วเลิกเร็วที่สุด อุปกรณ์กีฬาที่ซื้อมามักเป็นชนิดที่เก็บได้ง่ายไม่เปลืองที่ (ตามที่มีในโฆษณา) ซึ่งทำให้เก็บแล้วมักลืมคิดถึงไปจนหาไม่เจอ หรือกลายเป็นที่แขวนผ้าในที่สุด

วิธีหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมค่อนข้างมากคือการหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตโดยใช้ google ค้นหาอาหารที่มีคนแนะนำว่า กินแล้วลดน้ำหนักได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เมื่อกินแล้วน้ำหนักอาจลดจริง เพราะอาหารเสริมมักมีราคาแพงเป็นพิเศษจึงทำให้หมดเงินไปซื้อขนมนมเนยมากินให้อ้วน

ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือ การค้นหาสูตรอาหารลดน้ำหนักในอินเตอร์เน็ต จึงทำให้เราอาจพบนวัตกรรมใหม่ที่ใช้ภูมิปัญญาเก่ามาดัดแปลงเพื่อช่วยลดน้ำหนัก ส่วนเรื่องของความปลอดภัยต่อสุขภาพหรือไม่นั้นเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ดังที่ในบทความนี้จะกล่าวถึงการกินอาหารในลักษณะหนึ่งซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของชาวเน็ต ซึ่งอาจไม่ได้คำนึงว่ามันมีความปลอดภัยคู่ขนานไปกับน้ำหนัก (ที่อาจจะ) ลดหรือไม่

ลักษณะอาหารที่ผู้เขียนสนใจเอ่ยถึงในฉบับนี้คือ อาหารแบบมนุษย์ยุคหิน ซึ่งแปลมาจากคำว่าPaleo Diet ซึ่งรูปแบบอาหารลักษณะนี้น่าอยู่บนความหวังที่ว่ากินแล้วไม่ต้องอดอาหารและความอ้วนก็ลาจากไปได้ เว็บที่น่าเข้าไปดู (โดยต้องใช้วิจารณญานอย่างสูงก่อนกล่าวว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ) คือ http://fattylose.blogspot.com/2013/07/paleo-dietpd-for-weight-loss.html

การกินอาหารแบบมนุษย์ที่สูญพันธุ์ไปนานแล้วนี้ เน้นการกินที่เป็นธรรมชาติตามสัญชาตญาณของคนยุคหินเช่น กินอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ ถั่ว และผลไม้ เหมือนที่หาได้ในป่าสมัยโบราณ อาหารนั้นไม่ต้องปรุงแต่ง (แต่ควรทำสุก) แบบว่าหาได้แบบไหนก็แทนจะกินแบบนั้น เพราะในยุคหินนั้นแค่วิ่งหนีไดโนเสาร์ก็เหนื่อยแล้วจะหาเวลาที่ไหนมานั่งปลูกข้าวแล้วนำมาสีเพื่อนำไปหุงกิน ในตำราโบราณคดีกล่าวว่า ช่วงเวลาการกินอาหารแบบมนุษย์ยุคหินนี้สิ้นสุดเมื่อราว 10,000 ปีก่อนปัจจุบัน เนื่องจากมนุษย์ได้เริ่มทำปศุสัตว์ไร่นาเพื่อสะสมอาหารและเริ่มมีการปรุงอาหารในรูปแบบต่างๆ กัน

หลักการของการกินอาหารลักษณะนี้เกิดมาจากความคิดที่ว่าคนเราอ้วนหรือสุขภาพเสื่อมโทรมเพราะรูปแบบการกินอาหารต่างไปจากบรรพบุรุษที่เป็นมนุษย์ยุคหินซึ่งกินตามความต้องการพื้นฐานของร่างกายเท่านั้นในขณะที่ปัจจุบันมีการปรุงแต่งด้วยสารเคมีตามความรู้ของวิทยาศาสตร์ทางอาหารซึ่งมีทั้งหวานมันเค็มเผ็ดเปรี้ยวและที่เป็นลักษณะเด่นของอาหารที่ผลิตทางอุตสาหกรรมคือการใช้สารเคมีสังเคราะห์แบบสนุกมือ

ดังนั้นอาหารแบบมนุษย์ยุคหินจึงได้ถูกนำเข้ามาแก้ปัญหาความอ้วนโดยมุ่งให้เลือกกินอาหารเฉพาะที่จำเป็นเฉกเช่นคนในสมัยก่อนกินกันเพื่อจะได้ไม่อ้วน

ลักษณะเด่นของอาหารแบบมนุษย์ยุคหินคือ มีอาหารหลักเป็นเนื้อสัตว์ไม่ติดมันพร้อมมีเครื่องเคียงเป็นผักผลไม้ เพื่อให้ได้สารอาหารในส่วนคาร์โบไฮเดรต วิตามิน แร่ธาตุ สำหรับไขมันที่ได้จากมื้ออาหาร (นอกเหนือจากไขมันที่เป็นองค์ประกอบของเนื้อสัตว์) นั้นมาจากพืชชนิดต่างๆ เช่น ไขมันจากอะโวกาโด เมล็ดทานตะวัน น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอกฯ ซึ่งต้องผลิตแบบง่ายๆ จากนั้นผู้บริโภคคงต้องจินตนาการว่ามนุษย์ยุคหินคงปรุงอาหารแบบง่ายๆ แบบว่าตำราปรุงอาหารทุกเล่มที่มีในบ้านควรถูกบริจาคไปให้พ้นหูพ้นตา

อาหารที่ไม่แนะนำให้กินคือ ผลิตภัณฑ์นม อาหารที่ผ่านการแปรรูป น้ำตาล อาหารกึ่งสำเร็จรูป ธัญพืช และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าข้อห้ามสุดท้ายนี้แหละที่จะเป็นอุปสรรคจนทำให้อาหารแบบมนุษย์ยุคหินไปต่อไม่ได้บนดาวโลกดวงนี้ เพราะมนุษย์กว่าครึ่งโลกได้กระมังที่ดวดเหล้ากันเป็นอาจิณ

ข้อดี (ที่เขาทั้งหลายว่ากัน) ของการลดน้ำหนักด้วยอาหารแบบมนุษย์ยุคหินคือ ไม่ต้องอดอาหาร ไม่ต้องมานั่งนับแคลอรี่ในอาหารให้เสียเวลา (เพราะโอกาสที่จะกินเกินคงยากเนื่องจากการกินอาหารในลักษณะนี้ไม่ใช่ความบันเทิงเสียแล้ว) ไม่ต้องกลัวหมดแรงระหว่างวันเพราะสามารถกินได้อิ่มไม่ต้องทนหิว ทำให้มีพลังงานเพียงพอต่อการใช้ชีวิตตามปกติจึงสามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะอ่อนเพลียระหว่างการออกกำลังกายเพราะอดอาหารและคงไม่อยากกินจุบจิบระหว่างวันเพราะอาหารจุบจิบ (สาวๆ ชอบนั้นมัก) นั้นอยู่นอกกรอบของอาหารแบบมนุษย์ยุคหิน เนื่องจากมันมักเป็นแป้งที่ต้องประดิษฐ์ประดอยหรือต้องดองถ้าเป็นผลไม้

อย่างไรก็ตาม อะไรที่ว่าดีนั้นมักมีจุดด้อยเสมอ เพราะมีผู้ตั้งข้อสังเกตในการกินอาหารแบบมนุษย์ยุคหินว่าอาจมีปัญหา เพื่อให้ผู้สนใจอาหารลักษณะนี้พิจารณาเป็นข้อมูลก่อนตัดสินใจว่าจะร่วมหัวจมท้ายหรือไม่ดังนี้

เริ่มต้นจากการที่มีผู้วิเคราะห์อย่างน่าสนใจเกี่ยวกับอาหารแบบมนุษย์ยุคหิน แล้วถูกนำไปกล่าวถึงใน Wikipedia ว่า ได้มีการอนุมาณแบบผิด ๆ ของบุคคลที่นิยมการบริโภคอาหารแบบมนุษย์ยุคหินว่าระบบการย่อยอาหารของมนุษย์ปัจจุบันนั้นไม่ได้พัฒนาหรือปรับตัวให้ต่างไปจากมนุษย์ยุคหิน (ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเผ่าพันธุ์มนุษย์ปัจจุบันนั้นมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Homo sapiens sapiensไม่ใช่ Homo sapiens ซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์ที่ยืนอยู่บนผิวโลกนี้เมื่อ 200,000 ปี แล้วพบเป็นซากดึกดำบรรพ์ขุดพบในอัฟริกาไปแล้ว) จึงไม่น่าย่อยอาหารแบบที่โรงงานอุตสาหกรรมผลิตได้ดีจนก่อให้เกิดโรคต่างๆ ที่เรียกว่า metabolic syndrome เช่น โรคอ้วนโรคหัวใจความดันโลหิตสูงเป็นต้นดังนั้นอาหารแบบมนุษย์ยุคหินจึงดีเลิศประเสริฐศรีต่อมนุษย์แบบไม่มีกาลเวลามาเกี่ยวข้องทั้งที่ยังไม่มีงานวิจัยที่เป็นเรื่องเป็นราวทางวิทยาศาสตร์การแพทย์มาพิสูจน์

ประเด็นที่น่าสนใจคือ สมาคมนักกำหนดอาหารของอังกฤษ (British Dietetic Association (BDA)) ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ ค.. 1936 ปัจจุบันมีสมาชิกเป็นนักอาหารและโภชนาการมืออาชีพกว่า 7,500 คนนั้นได้ลงบทความเรื่อง Top 5 Worst Celebrity Diets to Avoid in 2015 ในเว็บ www.bda.uk.com เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2514 กล่าวว่าหนึ่งในห้าของลักษณะอาหารยอดแย่ในปัจจุบันนั้นคือ Paleo diet หรืออาหารมนุษย์ยุคหินนั่นเอง โดยกล่าวว่ามันเป็นอาหารวิตถารเพราะถ้ามีการตัดอาหารนมและผลิตภัณฑ์นมออกไปจากมื้ออาหารโดยไม่มีการทดแทนที่ถูกต้องผู้บริโภคน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความแข็งแรงของกระดูก โดยเฉพาะเด็กที่กำลังเจริญเติบโตเพราะขาดธาตุแคลเซียมพร้อมทั้งการขาดธาตุอาหารอื่นๆ อีกหลายชนิด

จากการสืบค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตทำให้ผู้เขียนพบว่า เมื่อราว 200,000 ปีในอดีตนั้น มนุษย์ยุคหินอาศัยการรวมตัวกันเป็นนักล่าในแถบเขตศูนย์สูตรและอาฟริกา โดยกินอาหารที่มีพืชผักเป็นหลักราวร้อยละ 70  ตราบจนเมื่อเวลาผ่านไปถึงเมื่อ 160,000 ปีก่อนปัจจุบัน มนุษย์บางส่วนย้ายไปอยู่ในยุโรปและแถบหนาวจึงได้เริ่มเปลี่ยนไปกินอาหารที่มีเนื้อสัตว์เป็นหลัก ดังนั้นว่าไปแล้วมนุษย์มีการกินอาหารที่หลากหลายต่างกันไปขึ้นกับสภาพภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นตัวตั้งถึงชนิดของอาหารที่หาได้มากกว่าจะระบุว่ามีการกินเนื้อสัตว์เป็นหลักเพียงอย่างเดียว ตราบจนกระทั่งเวลาผ่านไปถึงเมื่อราว 10,000 ปีในอดีตที่การเกษตรได้เริ่มเกิดขึ้นเป็นเรื่องเป็นราวเพราะมนุษย์ได้เริ่มตั้งถิ่นฐานอย่างจริงจัง รูปแบบอาหารจึงเปลี่ยนไปคล้ายในปัจจุบัน ข้อมูลนี้ได้จากบทความเรื่อง What Actually was the Stone Age Diet? ของ J. A. J. GOWLETT ในวารสาร Journal of Nutritional & Environmental Medicine (September 2003) ชุดที่ 13 ลำดับที่ 3 หน้า 143–147

อีกประเด็นหนึ่งที่บทความเรื่องเดียวกันนั้นได้กล่าวอย่างน่าสนใจคือ การที่มนุษย์ยุดหินนั้นปลอดจากโรคภัยที่เกี่ยวเนื่องจากความสบายจนเคยตัว (หมายถึงกลุ่มของโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดที่เกี่ยวพันกับหัวใจ ซึ่งฝรั่งเรียกว่า CVD ซึ่งย่อมาจาก cardiovascular disease) เพราะความเป็นอยู่ในสมัยนั้นทำให้ต้องออกแรงเป็นประจำเนื่องจากยังไม่มีเครื่องทุ่นแรงต่างๆ จึงทำให้ประมาณได้ว่า ใครที่หวังผลจากอาหารแบบมนุษย์ยุคหินนั้นจำเป็นต้องปฏิบัติตัวแบบเมื่ออยู่ในยุคหินด้วยกล่าวคือ ควรเลิกใช้เครื่องผ่อนแรงต่างๆ ในการทำกิจกรรมใดๆ ในชีวิต เช่น เลิกใช้เครื่องซักผ้า หัดล้างรถเอง เดินไปซึ่งของที่ร้านใกล้บ้าน ฯลฯ เพื่อให้ได้ออกแรงทั้งวัน ไม่ใช่เอาแต่นั่งคอหักเขี่ยสมาร์ทโฟนตลอดเวลา

อีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับช่วงอายุของคนที่กินเนื้อสัตว์เป็นหลักคือ ชาวอินูอิท (Inuit เป็นคนพื้นเมืองที่อาศัยทางแถบเหนือของโลก เช่น รัฐตอนเหนือของแคนาดา ไปจนถึงแถวไซบีเรีย อะลัสกาและกรีนแลนด์) ในแคนาดาที่กินเนื้อปลาหรือเนื้อแมวน้ำเป็นหลัก (แต่อาหารของอินูอิทไม่ใช่อาหารแบบมนุษย์ยุคหินเพราะขาดผักและผลไม้) แล้วมีชีวิตที่ปลอดจากโรคต่างๆ ที่ฝรั่งทั่วไปเป็นข้อมูลนี้ดูว่ามีอิทธิพลในการโน้มน้าวจิตใจผู้ต้องการลดน้ำหนักให้เห็นว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นหลักนั้นดูดีจริง แต่ก็มีผู้แย้งว่าเหตุที่ชาวอินูอิทเป็นโรคต่างๆ นั้นน้อยกว่าฝรั่งแคนาดานั้นเพราะมีอายุสั้นกว่าจึงตายก่อนเป็นโรคที่กล่าวถึง (www.diseaseproof.com/archives/diet-myths-are-the-inuit-healthy.html)

จากข้อมูลที่สืบค้นได้จากสำนักงานสถิติแห่งชาติของแคนาดา (www.statcan.gc.ca เมื่อวันพุธที่ 23 มกราคม 2008) ซึ่งมีบทความเรื่อง Study: Life expectancy in the Inuit-inhabited areas of Canada กล่าวว่า ในปี 1991 นั้นช่วงอายุของชีวิตชาวอินูอิทในแคนาดาอยู่ที่ประมาณ 68 ปี ซึ่งสั้นกว่าชาวแคนาดาทั่วไป และในช่วงปี 1991 ถึง 2001 นั้น ช่วงอายุของชาวอินูอิทก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นในขณะที่ชาวแคนาดาทั่วไปมีช่วงอายุเพิ่มขึ้นอีก 2 ปี

ประเด็นที่น่าสนใจคือ การตัดขาดจากนม ผลิตภัณฑ์นมและธัญพืชนั้นอาจส่งผลให้ผู้บริโภคขาดสารอาหารหลายชนิดเช่น แคลเซียม ไวตามินบีต่างๆ โดยเฉพาะโฟเลตซึ่งมีผลต่อความเป็นปรกติของทารกในครรภ์ อีกทั้งเนื้อสัตว์จากอาหารทะเลบางชนิด เช่น ปลาหมึก หอยนางรมมีคอเลสเตอรอลสูง หากไม่จำกัดปริมาณและกินไม่เลือก โรคหัวใจอาจจะมาเยือนในเวลาไม่นาน (แม้ว่าข้อแนะนำในการกินอาหารของคนอเมริกันล่าสุดนั้นไม่ได้กล่าวถึงอันตรายจากคอเลสเตอรอลแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าให้กินได้แบบไม่บันยะบันยัง) ดังนั้นประเด็นที่สำคัญของคนที่ตัดขาดอาหารบางชนิด (เพื่อเข้าร่วมวงไพบูลย์ในการย้อนยุคไปสู่การเป็นมนุษย์ยุคหิน) นั้น จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับอาหารแลกเปลี่ยน (Food exchange) เพื่อทดแทนอาหารต้องห้ามด้วยอาหารที่ระบุว่าให้กินได้แบบมนุษย์ยุคหิน  มิเช่นนั้นผู้บริโภคอาจเป็นโรคหลายชนิดเนื่องจากการขาดสารอาหารบางประเภทได้

ดังนั้นถ้าท่านผู้อ่านได้พบปะกับผู้ที่ได้เริ่มบริโภคอาหารแบบมนุษย์ยุคหินเข้าแล้ว ก็ขอให้อยู่เฉยเพราะเป็นความเชื่อส่วนบุคคลซึ่งเราควรสนใจแบบอยู่ห่างๆ แต่ก็สามารถหาประโยชน์ได้จากการเฝ้าสังเกตุว่าสุขภาพโดยรวมของเขาเมื่อเวลาผ่านไปแล้วสักระยะหนึ่งนั้นเป็นอย่างไร เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลไปเทียบกับสิ่งที่ได้จากการเข้าไปดูคลิปใน YouTube ชื่อ Why I Quit The Paleo Diet After 1 Year (https://www.youtube.com/watch?v=9Q6hrHL5dGU) ว่าสอดคล้องกันหรือไม่ ก็อาจได้คำตอบว่าอาหารแบบมนุษย์ยุคหินหรือ Paleo diet นั้นเหมาะกับท่านหรือไม่

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://unsplash.com/search/food?photo=VR28K9_iRgc
  2. ภาพจาก: http://livetodaywithpassion.com
  3. ภาพจาก: http://www.meet-seed.com/find-caveman-diet-recipes-and-know-what-to-look-for-in-them/
  4. ภาพจาก: http://www.iflscience.com/paleo-diet-science-has-moved-stone-age
เเก้ว กังสดาลอำไพ

ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ เป็นนักพิษวิทยาที่กินเงินบำนาญ จึงมีเวลาเขียนบทความเกี่ยวกับความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์อาหารและโภชนาการ ในคอลัมน์ กินดีอยู่ดี โดยใช้ประสบการณ์ที่เคยดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ สอน วิจัยและเป็นประธานหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการในมหาวิทยาลัยมหิดลนาน 31 ปี มาเขียนบทความกึ่งวิชาการที่ประชาชนทั่วไปน่าจะได้รู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคและการเลือกกินอาหารที่ปลอดภัยมีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อจะได้ไม่ถูกลวงในภาวะสังคมปัจจุบันที่แทบจะเชื่อใครไม่ได้เลยในอินเตอร์เน็ท

Email

Share