in on April 28, 2016

เทคนิกหาทางปั่นเมือง

read |

Views

บ้านเราจะเป็นเมืองจักรยานได้ ก็ต่อเมื่อเรารู้สึกต่อการปั่นจักรยานเป็นเรื่องปกติ

จะเดินทางไปไหนๆ ไม่ว่าจะไปเที่ยว ไปหาของกิน ไปทำงาน ไปงานรับปริญญา ไปงานแต่งงาน หรือแม้แต่ไปเข้าเฝ้าฯ ชาวเมืองจักรยานทั่วโลกก็สามารถปั่นได้อย่างเรียบง่าย สบาย สะดวก  เหมือนการใช้รถยนต์ในบ้านเรานี่แหละ (ที่จริงแล้วมันก็ไม่เหมือน แต่ดีกว่าด้วยซ้ำ)

ตอนนี้ประเทศเราจัดว่าเป็นเมืองรถยนต์ เพราะไปไหนมาไหนใช้รถยนต์สะดวกที่สุด (ในสายตาคนส่วนใหญ่)

แต่การใช้จักรยานโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมืองใหญ่ๆ ผังเมืองรุงรังแบบกรุงเทพฯ นี่แหละ ก็พอมีที่ทางของมันเอง

หลายปีก่อนมูลนิธิโลกสีเขียวและอาสาสมัครชาวจักรยาน ช่วยกันรวบรวมเส้นทางน่าปั่นสัญจรในโซนต่างๆ กลางเมือง มาจัดทำเป็นหนังสือแผนที่แนะนำเส้นทางจักรยาน Bangkok Bike Map เล่มแรกของกรุงเทพมหานคร เราพบว่าในกรุงเทพฯ ที่ดูเหมือนเป็นเมืองรถยนต์ล้นเมือง ก็ยังมีเส้นทางปั่นเจ๋งๆ หลบซ่อนอยู่มาก

บทเรียนจากการทำหนังสือ ทำให้ผมได้เรียนรู้เทคนิกการหาเส้นทางสัญจรใหม่ๆ เวลาที่ต้องเดินทางไปที่ๆ ไม่คุ้นเคยครับ

กะระยะทางสัญจรเบื้องต้น
โดยปกติ ค่าเฉลี่ยระยะทางที่คนทั่วไปสามารถปั่นได้ในชีวิตประจำวัน (ด้วยจักรยานบ้านๆ ทั่วไป) อยู่ที่ระยะทางไม่เกิน 6 – 20 กิโลเมตร ลองคำนวณระยะคร่าวๆ ก่อนว่าระหว่างจุดเริ่มต้นจนถึงจุดหมายที่ต้องการไปนั้นไกลแค่ไหน เครื่องมือที่จะช่วยให้เรารู้ระยะได้ง่ายๆ ในสมัยนี้ก็มีหลายช่องทาง อาจใช้บริการแผนที่ออนไลน์อย่าง กูเกิลแมพ ช่วยคำนวณดูก็ได้ครับ

หากระยะทางไกลเกินปั่นไหว ก็อย่าเพิ่งถอดใจครับ ลองหาตัวช่วยร่นระยะทางอย่างเช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที แอร์พอร์ตลิงก์ รถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ที เรือด่วนเจ้าพระยา ฯลฯ ซึ่งมีเงื่อนไขในการนำจักรยานไปด้วยที่แตกต่างกัน แต่โดยส่วนใหญ่ “จักรยานพับ” สามารถนำติดตัวโดยสารไปด้วยได้  หากไม่สะดวกพกจักรยานไป เราอาจพิจารณาหาจุดจอดปลอดภัย แล้วค่อยเชื่อมต่อโหมดการเดินทางอื่นๆ ได้

หาเส้นทางปั่นที่ชอบ
ความชอบของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นต้องการความปลอดภัย สะดวก และร่มรื่น ขึ้นอยู่กับว่าให้ความสำคัญเรื่องไหนมากกว่ากัน ประสบการณ์ปั่นที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้เรารู้ว่าชอบทางแบบไหน  เลี่ยงถนนใหญ่ รถวิ่งเยอะ เส้นทางลัด ทางเรียบ ทางสดชื่นริมน้ำ มีต้นไม้ใหญ่หรือเงาตึกบังแดด ฯลฯ

สิ่งสำคัญถัดมาคือ “แผนที่” การหาเส้นทางปั่นจำเป็นต้องใช้แผนที่ที่มีข้อมูลตรอกซอกซอยอย่างละเอียด ข้อมูลคลอง แม่น้ำก็เป็นสิ่งจำเป็น แผนที่ในปัจจุบันก็มีหลากหลายรูปแบบเลือกใช้ได้ตามถนัด ไม่ว่าจะเป็นแผนที่ออนไลน์หรือแผนที่กระดาษ  อาจใช้ข้อมูลในหนังสือ Bangkok Bike Map ดูประกอบก็ได้

> ขั้นตอนที่ 1 กำหนดถนนที่เลี่ยง
บางที การมองหาเส้นทางที่เจ๋งทันทีเลยอาจเป็นเรื่องยาก เริ่มต้นจากการกำหนดเส้นทางที่ไม่น่าปั่นก่อนอาจเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่า ลองทำเครื่องหมายลงไปในแผนที่ให้เห็นชัดเจน  เมื่อเราเห็นแล้วว่ามีเส้นไหนที่ควรเลี่ยงอยู่บ้าง การหาเส้นทางน่าปั่นก็จะทำได้ง่ายขึ้น

> ขั้นตอนที่ 2 หาจุดข้ามคลอง / ทางด่วน / ทางรถไฟ
การศึกษาดูว่า บริเวณนั้นๆ มีคลอง / ทางด่วน / ทางรถไฟ หรือทางที่เป็นอุปสรรคในการข้ามผ่านไปอยู่ตรงไหนบ้าง เพื่อที่จะมองหาจุดข้ามที่เอื้อต่อการใช้จักรยานของเราครับ  เมื่อเจอแล้วก็ทำเครื่องหมายไว้เลยครับ

บางทีมองจากแผนที่ เราอาจไม่เห็นทางข้ามที่มีอยู่จริงทั้งหมดครับ โดยเฉพาะคูคลอง ทางข้ามที่เห็นในแผนที่มักเป็นทางข้ามที่รถยนต์ข้ามได้เท่านั้น  หลายที่ยังมีทางข้ามเฉพาะมอเตอร์ไซค์ หรือคนเดินที่จักรยานเองก็ใช้สะดวก

ส่วนถนนใหญ่รถวิ่งเร็วอย่างเช่นถนนกาญจนาภิเษก ถนนเลียบทางด่วนรามอินทรา  เราอาจข้ามทางเหล่านี้ได้โดยการลอดใต้สะพานข้ามคลอง หลายจุดเราพบว่าเป็นทางเดินที่คนในท้องถิ่นใช้กัน ทั้งนี้เราอาจต้องระวังทางเปลี่ยวหรือมีเศษแก้ว เศษตะปูตามพื้นใต้สะพานเสียหน่อยครับ

> ขั้นตอนที่ 3 เลือกเส้นทางที่สนใจ
เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะหาเส้นทางปั่นสัญจรได้แล้วครับ อาจลองพิจารณาหาเส้นทางที่ช่วยร่นระยะทางได้มากที่สุดก่อน ไล่ไปเรื่อยๆ จนได้เส้นทางที่สนใจครับ

บางทีเส้นทางที่สนใจ อาจมีความซับซ้อน เลี้ยวซอกแซกเยอะ ทำให้จำทางได้ยาก เราอาจใช้แอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนช่วยได้  แอปฯ จักรยานที่เป็นที่นิยมในบ้านเรา อย่าง Endomondo Strava และ Runtastic มักมีฟังก์ชั่นให้ผู้ใช้สามารถวางแผนเส้นทางได้เอง  โดยแอปฯ จะช่วยระบุพิกัดที่เราอยู่พร้อมแสดงเส้นทางที่เราวางแผนไว้บนสมาร์ทโฟน วิธีนี้ช่วยให้ ไม่ต้องกังวลว่าจะหลงทางหรือไม่

ลองปั่นจริง
หากเส้นทางปั่นที่เลือกมายังไม่ถูกใจเท่าไรนัก การหาข้อมูลเพิ่มเติมในพื้นที่จริง อาจช่วยให้เราได้เจอทางเจ๋งกว่าเดิม  คนในพื้นที่ย่อมรู้จักเส้นทางสัญจรของตัวเองเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พี่วินมอเตอร์ไซค์ตามหัวมุมถนนนั่นแหละ ปราชญ์เส้นทางลัดเลาะในแต่ละท้องถิ่น

ริมคลอง แนวเสาไฟใกล้วัดและชุมชนเก่า มักมีทางดีๆ  ซ่อนอยู่เสมอ เช่น ทางลัดเลาะไปวัด หรือทางปั่นริมน้ำ  บางทีทางเจ๋งๆ ก็หลบซ่อนตัวอยู่ในซอกหลืบของเมือง

เราอาจไม่ได้เจอเส้นทางที่ดีที่สุดในการปั่นครั้งแรก แต่ถ้าทำการบ้านมาดีๆ เราจะปั่นไปถึงจุดหมายได้ทุกครั้ง

สำหรับคนที่ยังไม่อินกับการใช้จักรยาน คุณอาจมองว่า หากจะปั่นจักรยานแล้วมันต้องยุ่งยากหาทางขนาดนี้ ไม่ปั่นดีกว่า ก็ไม่เป็นไรครับ เพราะเมืองนี้ยังเอื้อประโยชน์ให้รถยนต์อยู่มากจริงๆ  แต่หากเราช่วยกันหาเส้นทาง แบ่งบันข้อมูลกัน สังคมที่เอื้อต่อการใช้จักรยานก็จะขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ และง่ายขึ้นเรื่อยๆ เหมือนที่หลายปีก่อนเรามีหนังสือแผนที่แนะนำเส้นทางจักรยานในกรุงเทพฯ นั่นแหละ ผ่านมาจนทุกวันนี้เรามีช่องทางรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับจักรยานผ่านสื่อต่างๆ มากขึ้นกว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้วแบบหน้ามือหลังมือเลยครับ

คนรุ่นหลังที่หันมาขี่จักรยานก็จะรู้สึกว่า “การใช้จักรยานนั้นมันไม่ยุ่งยาก” ขึ้นเรื่อยๆ  จนวันหนึ่ง เขาเหล่านั้นอาจจะรู้สึกต่อการปั่นจักรยานว่าเป็นเรื่องปกติก็เป็นได้


หมายเหตุ
ร่วมแบ่งบันข้อมูลเส้นทางจักรยานกับมูลนิธิโลกสีเขียวได้ที่ bikemap@greenworld.or.th
ดูจุดจอดปลอดภัยได้ที่ เฟซบุ๊ก เราต้องการที่จอดจักรยานปลอดภัยwww.facebook.com/SecureBicycleParkingNOW


ที่มา : นิตยสาร สารคดี

อ้างอิง
  1. ที่มาภาพ: San Francisco Municipal Transportation Agency
ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์

"ชีวิตการเดินทางในชีวิตประจำวันบนถนนเเสนจะยุ่งยาก เเถมต้องเจอกันคนอัดเเน่นบนรถเมล์เรามีจักรยานอยู่ที่บ้านทำไมไม่ลองเอามาขี่ดู" ชายหนุ่มผู้คร่ำหวอดอยู่กับวงการจักรยาน นักรณรงค์ฝ่ายรณรงค์มูลนิธิโลกสีเขียวและเป็นผู้พัฒนาเเผนที่จักรยานในกรุงเทพจนกลายมาเป็นเเอปพลิเคชัน "ปั่นเมือง" ในที่สุด เพื่อมีเป้าหมายสูงสุดคือการทำให้กรุงเทพเป็นเมืองจักรยาน

Email

Share