อะไรคือสิ่งที่ผู้หญิงหลายคน (รวมทั้งชายบางประเภท) กลัวที่สุด แต่ต้องพบเพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้
คำตอบก็คือ ความเหี่ยวและความแก่ ดังนั้นถ้ามีใครเอาอะไรก็ไม่รู้มาขายแล้วบอกว่า สิ่งนี้ช่วยพิชิตความเหี่ยวและความแก่ได้ สินค้านั้นย่อมต้องขายดีแน่ ขอยกตัวอย่างที่เห็นชัดในสังคมไทยวันนี้คือ การโฆษณาขาย คอลลาเจน ดังเช่นที่ปรากฏเห็นได้ในเว็บขายของทั้งไทยและเทศ
สำหรับผู้เขียนแล้ว เวลาเห็นโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เรียกว่าคอลลาเจนทีไร ผู้เขียนจะนึกถึงขาหมูพะโล้ที่เก็บในตู้เย็นทุกที ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์แล้ว ส่วนที่เห็นนั้นก็คือ คอลลาเจนจากขาหมูที่ถูกสกัดออกมาระหว่างการต้ม
ในทางชีวเคมีแล้วคอลลาเจนคือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญมากเพราะเป็นองค์ประกอบถึงร้อยละ 75-85 ของผิวหนัง โดยทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบให้ผิวหนังแข็งแรง ในภาพรวมแล้วโปรตีนทั้งหมดของร่างกายจึงเป็นคอลลาเจนถึงร้อยละ 33
โปรตีนที่เรากินนั้นต้องมีกรดอะมิโนอย่างน้อย 10 ชนิดที่ร่างกายเราสร้างไม่ได้ซึ่งจะไปผสมกับกรดอะมิโนอีก 10 ชนิดที่ร่างกายสร้างได้เอง จากนั้นจะมีกระบวนการที่เซลล์ของร่างกายนำกรดอะมิโนเหล่านี้มาต่อกันให้เป็นโปรตีนที่เซลล์ต้องการหรือต้องสร้าง ตามแต่ชนิดเซลล์ของแต่ละอวัยวะ ดังนั้นโปรตีนในร่างกายจึงมีมากมายหลากหลายลักษณะต่างกันขึ้นกับลำดับของกรดอะมิโนต่างๆ ที่เรียงต่อกัน
ความพิเศษของคอลลาเจนนั้นอยู่โปรตีนนี้มีองค์ประกอบต่างไปจากโปรตีนอื่นๆ คือ มีกรดอะมิโนที่ถูกปรับให้มีคุณสมบัติทางเคมีเปลี่ยนไป 2 ชนิด ได้แก่ โพลีนถูกปรับเป็นไฮดรอกซีโพลีน และไลซีนถูกปรับเป็นไฮดรอกซีไลซีน ส่วนกรดอะมิโนชนิดอื่นที่เป็นองค์ประกอบอื่นของคอลลาเจนก็คือ กลัยซีน โพลีน และ ไลซีนนั้นเป็นกรดอะมิโนธรรมดาที่มีอยู่ในทุกสายของโปรตีน
ดังนั้นสายของกรดอะมิโนที่ต่อกันเป็นโปรตีนคอลลาเจนนั้นจึงมีกรดอะมิโนหลักเพียง 5 ชนิด ทำให้มันเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพไม่สมบูรณ์และมีลักษณะโครงสร้างโมเลกุลเป็น เบต้าพลีตเต็ดชีท (beta pleted sheet) ซึ่งต่างกับโปรตีนทั่วไปที่เป็น อัลฟาฮีลิก (alpha helix)
คอลลาเจนที่ผิวหนังนั้นถูกสร้างจากเซลล์ไฟโบรบลาสท์ (fibroblast) ใต้ผิวหนัง ซึ่งในกระบวนการสร้างนั้นต้องมีไวตามินซีช่วย การขาดไวตามินซีจึงทำให้เกิดปัญหาที่ผิวหนัง รวมไปถึงเหงือกซึ่งจะมีเลือดออกตามไรฟันซึ่งถ้าเป็นนาน ๆ ฟันจะหลุดร่วงได้
มีการสร้างคอลลาเจนทดแทนอยู่ตลอดเวลาในช่วงอายุที่ร่างกายแข็งแรง ซึ่งหมายความว่า กระบวนการสร้างนั้นค่อย ๆ น้อยลงเรื่อยๆ ไปตามวัยที่เพิ่มขึ้น จนถึงจุดหนึ่งการสูญเสียคอลลาเจนตามธรรมชาติเกิดมากกว่าการสร้าง ความเหี่ยวก็จะมาเยือน
สาเหตุหลักของการสูญเสียคอลลาเจนจากผิวหนังก็คือ โดนทำลายโดยแสงอัลตร้าไวโอเล็ทหรือยูวี ดังนั้นเราจึงควรป้องกันไม่ให้คอลลาเจนที่ผิวหนังถูกทำลาย ด้วยการไม่สัมผัสกับแสงแดดจัดเช่น กางร่มระหว่างเดินไปธุระช่วงเที่ยง และกินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระเช่น พืชผักใบเขียวและผลไม้สีจัด
มีผู้บริโภคหลายคนเชื่อว่า คอลลาเจนในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวชนิดทาเป็นสิ่งที่ดี ทั้งที่ความจริงแล้วการทาคอลลาเจนตามคำโฆษณานั้นไม่สามารถซ่อมแซมคอลลาเจนของผิวหนังที่เสียหายได้เลย เพราะเป็นการยากที่มันจะซึมลงไปหลอมรวมกับคอลลาเจนในผิวของเรา ดังนั้นจึงอย่ามโนเสียให้ยากเลย
แนวโน้มธุรกิจเครื่องดื่มคอลลาเจนนั้นเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเอเชียและในสหราชอาณาจักร โดยคอลลาเจนในเชิงพาณิชย์มักได้จากปลา ระบบย่อยอาหารของร่างกายจะจัดการมันเช่นเดียวกับโปรตีนอื่น ๆ ดังนั้นคอลลาเจนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจึงไม่สามารถกลายเป็นคอลลาเจนเหมือนเดิมหลังถูกกลืนกินได้ ด้วยเหตุนี้จึงยังไม่มีผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาที่พิสูจน์ว่า คอลลาเจนมีผลต่อริ้วรอยที่เกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้น ร่วมไปกับการมีพฤติกรรมใช้ชีวิตแบบคุ้มค่าจนเกินไป
ในทางโภชนาการแล้ว การกินอาหารที่มีคอลลาเจนนั้นเป็นการกินเพื่อความบันเทิง มากกว่าจะเอาประโยชน์จริงจัง เหตุที่กล่าวว่าโปรตีนคอลลาเจนให้ความบันเทิงในการกินเพราะคอลลาเจนเป็นองค์ประกอบของ ผิวหนัง กระดูก กระดูกอ่อน (cartilage) เอ็น (tendons) และเนื้อเยื่อที่เกี่ยวกับการยึดเหนี่ยว (ligaments) เช่น เหงือก ของสัตว์ชั้นสูง ดังนั้นเวลาเรากินลูกชิ้นเอ็น เราก็ได้เคี้ยวคอลลาเจนสนุกปาก
ส่วนในน้ำต้มขาหมูพะโล้ คอลลาเจนจากกระดูกและเอ็นจะถูกความร้อนทำให้เปลี่ยนสภาพและอุ้มน้ำได้มากจนเปลี่ยนสภาพเป็นเจลเมื่อเย็นตัวลงซึ่งเรียกว่า เจลาติน แล้วเมื่อได้รับความร้อนก็จะละลายกลับสู่สภาพน้ำขาหมูพะโล้ต่อไป
ดังที่กล่าวแล้วในตอนต้นว่า การสร้างคอลลาเจนของร่างกายเราโดยเฉพาะที่ผิวหนังนั้นมีเพียงในช่วงอายุต้น ๆ เมื่อแก่แดดแก่ลมไปการสร้างก็น้อยลงเรื่อย คราวนี้ก็เป็นเรื่องของบุญกรรม ถ้าทำกรรมมากคือ ใช้ร่างกายอย่างทารุณไม่รู้จักถนอม คอลลาเจนก็ถูกทำลายหายไปจากผิวหนัง ผลตามมาก็คือ ความเหี่ยว การที่เครื่องสำอางหลายชนิดโฆษณาว่าสามารถลดความเหี่ยวหรือพลิกกลับผิวหนังให้เต่งตึงได้จึงดูเป็นเรื่องมหัศจรรย์
คอลลาเจนนั้นเมื่อถูกนำไปทำเป็นเครื่องสำอางทาหน้าก็มีคุณสมบัติคล้ายเจล (เพ็คติน) ในแตงกวา กล่าวคือ ช่วยดูดน้ำทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นตราบที่มันยังติดบนผิว ที่สำคัญคือ ผู้เขียนไม่เชื่อว่าคอลลาเจนจะซึมเข้าสู่ผิวได้ เพราะผิวหนังเราทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันอันตราย ถ้าขืนให้อะไรต่ออะไรซึมได้ง่ายๆ โอกาสเกิดอันตรายก็จะมากขึ้น
ในทางวิชาการแล้วร่างกายเราไม่ดูดซึมคอลลาเจนทั้งโมเลกุลในทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกาย แต่ในเว็บที่ขายสินค้าดังกล่าวมักยืนกระต่ายขาเดียวว่าดูดซึมได้ ซึ่งผู้บริโภคหลายคนมักเชื่อคนขายของที่ถูกสอนมาให้พูดว่า คอลลาเจนที่กินเข้าไปนั้นจะไปเสริมแทนที่คอลลาเจนที่สูญสลายไปจากผิวหนัง
เรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิดเพราะ คอลลาเจนต้องถูกย่อยออกเป็นกรดอะมิโนอิสระรวมทั้ง ไฮดรอกซีโพลีนและไฮดรอกซีไลซีน ซึ่งไม่เคยมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ว่าร่างกายนำกรดอะมิโนทั้งสองไปใช้สร้างคอลลาเจนได้ ในเว็บ wikipedia นั้นกล่าว่าในกระบวนการสร้างคอลลาเจนนั้น เซลล์ไฟโบรบลาสสร้างโปรตีนที่เรียกว่า โปรคอลลาเจน (procollagen) โดยใช้กรดอะมิโนโพลีนและกรดอะมิโนไลซีนธรรมดา จากนั้นจึงมีขั้นตอนการเติมกลุ่มไฮดรอกซิลเข้าไปที่กรดอะมิโนทั้งสองตามตำแหน่งที่เหมาะสมด้วยเอนไซม์เฉพาะที่มีไวตามินซีเป็นตัวช่วย ดังนั้นการขาดไวตามินซีจึงทำให้การสร้างคอลลาเจนไม่สำเร็จ ส่งผลให้อวัยวะซึ่งมีคอลลาเจนเป็นองค์ประกอบหลักเช่น เหงือก เสียหายเกิดอาการเลือดออกตามไรฟัน มันจึงน่าเศร้าใจกับผู้ที่กินคอลลาเจนที่มีราคาแพงกว่าปรกติ เพื่อหวังว่ามันจะช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนที่สูญสภาพไปแล้วแต่ปรากฏว่ามันไม่เป็นดังหวัง
ในวันหนึ่งต้นเดือนธันวาคม 2557 นี้ ผู้เขียนได้พบบทความเชิงโฆษณาสินค้าในหนังสือพิมพ์แจกฟรีแถวสถานีรถไฟฟ้ามีใจความบางส่วนว่า
“วันนี้วันพ่อ บอกรักพ่อด้วย xxx นวัตกรรมใหม่…ช่วยบรรเทาอาการข้อเสื่อม เมื่อร่างกายเริ่มแก่ชราลงก็เป็นธรรมดาที่ความเสื่อมของร่างกายจะมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณข้อต่างๆ…. ดังนั้นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยลดการทำลายกระดูกอ่อนบริเวณข้อจึงเป็นอีก หนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ….โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนประกอบของ undenatured collagen type II (U C-II) ซึ่งเป็นคอลลาเจนชนิดเดียวกับกระดูกอ่อน ซึ่งแตกต่างจากคอลลาเจนประเภทชงดื่มเพื่อดูแลผิวพรรณ เพราะนั้นจะเป็นคอลลาเจนชนิดที่ 1 ที่เป็นชนิดเดียวกับผิวหนัง……
เนื่องจาก U C-II นี้มีโครงสร้างเฉพาะแบบ undenature ที่สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งเอ็นไซม์ที่สลายกระดูกอ่อนบริเวณข้อได้ ทำให้อาการอักเสบ ปวดบวมจากข้อเสื่อมจึงลดลงได้….โดยผลการวิจัยพบว่าภายในเวลา 90 วัน U C-II สามารถลดอาการปวดข้อได้ถึง 40% ทำให้การใช้งานข้อดีขึ้นถึง 33%”
ในโฆษณานั้นไม่ได้บอกที่มาของการศึกษาว่า ใครทำ ทำที่ไหน ทำกับใคร ผลการศึกษาตีพิมพ์ในวารสารวิชาการใด ดังนั้นจึงสรุปเอาง่าย ๆ เชิงวิชาการว่า การโฆษณานี้ไม่น่าเชื่อถือ แต่เพื่อความยุติธรรมต่อผู้ขายสินค้า ผู้จึงได้ลองค้นหาข้อมูลจากฐานข้อมูลของเว็บ ScienceDirect ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกใช้สืบหาข้อมูลในการทำวิจัย ก็ได้บทความหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นเรื่องเดียวกับที่อยู่ในข้อมูลโฆษณาชื่อเรื่องว่า Effect of collagen hydrolysate in articular pain: A 6-month randomized, double-blind, placebo controlled study. ซึ่งศึกษาโดย O. Bruy่re และคณะ ตีพิมพ์ในวารสารชื่อ Complementary Therapies in Medicine ชุดที่ 20 หน้าที่ 124-130 ปี 2012
ตารางแสดงสัดส่วนการตอบสนองว่าดีขึ้นเป็นร้อยละของผู้เข้ารับการศึกษานาน 6 เดือน โดยรายงานผลตามตำแหน่งที่ปวด (ปรับปรุงจาก O Bruy’re และคณะ, 2012)
ผู้ป่วย | รับคอลลาเจนไฮโดรไลเซท | รับยาหลอก | ค่านัยสำคัญP value |
ไหล่ ข้อศอก มือ | n = 25 | n = 22 | |
การตอบสนอง | 60% | 27.3% | 0.024 |
กระดูกสันหลัง | n = 24 | n = 36 | |
การตอบสนอง | 54.2% | 27.8% | 0.039 |
สะโพก | n = 12 | n = 11 | |
การตอบสนอง | 66.7% | 45.5% | 0.305 |
เข่า | n = 32 | n = 27 | |
การตอบสนอง | 37.5% | 51.9% | 0.269 |
O. Bruy’re และคณะได้ประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ทำจากคอลลาเจนไฮโดรไลเซท 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน ที่ให้แก่อาสาสมัครโดยเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้ยาหลอก การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบ double blind study ซึ่งหมายความว่า ทั้งคนให้ยาและคนได้รับยาต่างก็ไม่รู้ว่าเม็ดยาที่ถือหรือกลืนลงคอไปนั้นคืออะไร คนที่รู้คือคนที่เป็นผู้ควบคุมการศึกษาเท่านั้น (เพื่อตัดปัญหาของความลำเอียงที่เกิดจากการรู้ว่า ยาที่ให้คืออะไร) การศึกษานี้ใช้อาสาสมัครสูงวัยไม่โอเคทั้งสองเพศ 200 คน ซึ่งมีอายุอย่างน้อย 50 ปีและมีอาการปวด สะโพก, เข่า, ข้อศอก, ไหล่มือ และ/หรือกระดูกสันหลั
ผลการศึกษาโดยรวมแปลผลได้ว่า ใน 6 เดือนที่ศึกษานั้นกลุ่มที่ได้รับในคอลลาเจนไฮโดรไลเซทรู้สึกดีขึ้นร้อยละ 51.6 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มได้รับยาหลอกซึ่งรู้สึกดีขึ้นเองร้อยละ 36.5% แต่เมื่อผู้เขียนดูผลจากตารางของผลงานวิจัยในบทความที่ตีพิมพ์ พบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจว่า สำหรับอาการปวดเข่าซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ (รวมทั้งผู้เขียนเองซึ่งเป็นบ้างเป็นบางครั้ง) นั้น ผู้ได้รับยาหลอกมีการตอบสนอง (คือหายปวด) ดีกว่าผู้ได้รับคอลลาเจนไฮโดรไลเซท ซึ่งประเด็นนี้ในการโฆษณาไม่ยอมพูดถึง ดังนั้นผู้อ่านหนังสือพิมพ์แจกฟรีจึงไม่ได้รับข้อมูลเท่าที่ควร
โดยสรุปแล้ว เมื่อได้รับข้อมูลการขายสินค้าที่สัญญาว่าจะทำให้สุขภาพท่านดีขึ้นนั้น ให้ทำใจไว้ก่อนว่า มีโอกาสถูกหลอกอยู่บ้าง จึงควรสืบเสาะหาความรู้ว่าที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร ที่สำคัญปรัชญาที่กล่าวว่า “สุขภาพดีร่างกายแข็งแรงนั้นหาซื้อไม่ได้ ต้องปฏิบัติตนเองจึงจะได้ดังต้องการ” ยังเป็นจริงอยู่เสมอควบคู่ไปกับกาลามสูตร 10 ที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้เราคิดก่อนเชื่อในสิ่งใดก็ตาม