in on January 25, 2016

แสงสว่าง…..ของผู้ป่วยมะเร็ง ????

read |

Views

ท่านผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินข่าวทั้งจากโทรทัศน์ วิทยุและหน้าหนังสือพิมพ์ว่า มีการบำบัดมะเร็งในลักษณะที่อาจไม่มีการระบุในตำราแพทย์สากลของโรงพยาบาลในประเทศจีน

ข่าวเหล่านี้ว่าไปก็เป็นเรื่องของผู้ป่วยที่มีสตางค์พอที่จะบินไปรับการบำบัดได้ คนพื้น ๆ ส่วนใหญ่ของประเทศเรานั้น ถ้าเป็นมะเร็งก็คงต้องอาศัยการแพทย์แผนปัจจุบันในบ้านเรา หรือบางคนก็อาจหันไปบำบัดมะเร็งด้วยแพทย์ทางเลือกตามแต่ใจจะปรารถนา

วันหนึ่งไม่นานมานี้เองผู้เขียนก็ได้อ่านบทความในวารสารออนไลน์ Nature เกี่ยวกับวิวัฒนาการในการบำบัดมะเร็งด้วยไวรัส ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เขียนไม่เคยทราบมาก่อน และคิดว่ามันเป็นประเด็นที่เข้ามาใกล้ตัวคนไทยมากขึ้นทุกที น่าจะนำมาคุยให้ท่านผู้อ่านที่ไม่คุ้นชินต่อการหาข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพรู้ไว้พอสังเขป เผื่อจำเป็นต้องตัดสินใจในประเด็นดังกล่าว

บทความที่ผู้เขียนอ่านชื่อ Cancer-fighting viruses near market ตีพิมพ์ใน Nature ชุดที่ 526 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2015 ใจความสำคัญที่น่าสนใจคือ ได้มีการวิจัยปรับปรุงสายพันธุ์ไวรัสชนิด เฮอร์ปีสซิมเพล็ก (herpes simplex virus) ด้วยกระบวนการทางวิศวพันธุกรรม จนสามารถทำให้ไวรัสช่วยกระตุ้นระบบภูมิต้านทานของร่างกายให้ทำลายเซลล์มะเร็งได้

เชื้อไวรัสชนิดเฮอร์ปีสซิมเพล็กนั้น ข้อมูลจากอินเตอร์ทั่วไประบุว่ามันเป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อเริมที่ผิวหนัง ริมฝีปาก อวัยวะเพศ และอาจก่อการติดเชื้อที่ส่วนอื่นของร่างกาย ซึ่งนำไปสู่อันตรายถึงชีวิตได้ในผู้ป่วยที่อ่อนแอมาก ลักษณะผื่นที่เกิดจากการติดเชื้อของเฮอร์ปีสซิมเพล็กจะคล้ายกันไม่ว่าเกิดที่ไหนของร่างกาย โดยเป็นตุ่มน้ำเล็กๆ บนผิวหนังที่อักเสบสีแดง

บทความในวารสาร Nature นั้นระบุว่า ในการปรับปรุงทางพันธุกรรมของไวรัส ชื่อ talimogene laherparepvec (T-VEC) เพื่อใช้บำบัดมะเร็งชนิดเมลาโนมา (ซึ่งเกิดจากเซลล์เมลาโนซัยต์ ซึ่งทำหน้าที่สร้างสารสีเมลานินที่พบใต้ผิวหนัง ตา หู ทางเดินอาหาร เยื่อหุ้มสมอง และเยื่อบุช่องปากและอวัยวะเพศ มะเร็งที่เกิดจากเซลล์นี้ถือว่าเป็นมะเร็งผิวหนังที่พบน้อยราวร้อยละ 4 ของมะเร็วผิวหนังทั้งหมด แต่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึงร้อยละ 75 ของมะเร็งผิวหนังทั้งหมด)นั้น ได้เริ่มมีการยอมรับจากคณะที่ปรึกษาของ European Medicines Agency

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ เมื่อเดือนเมษายน 2015 นี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาก็ได้ให้สัญญานว่า มีแนวโน้มในการยอมรับกระบวนการบำบัดมะเร็งดังกล่าวแล้วภายในช่วงเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายนนี้ (ดูจากบทความเรื่อง FDA Panel Gives Thumbs-Up To Amgen’s Virus-Based Melanoma Drug เมื่อ 29 เมษายน 2015 ใน www.forbes.com) ส่วนใน Wikipedia มีข้อมูลว่าวิธีการดังกล่าวได้รับการยอมรับไปแล้วในเดือนตุลาคม 2015 โดยมีชื่อการค้าว่า “Imlygic

หลักการบำบัดมะเร็งด้วยไวรัสนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะโดยทั่วไปแล้วคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ไวรัสนั้นเป็นสิ่งไม่มีชีวิตที่ไม่ดีเพราะนำโรคต่างๆ มาสู่คน แต่ในทางวิชาการนั้นมีการใช้ไวรัสเป็นพาหะในการนำชิ้นส่วนดีเอ็นเอส่วนที่นักวิจัยสนใจ (เรียกว่า พลาสมิด) เข้าสู่แบคทีเรีย เพื่อให้มีการเพิ่มปริมาณชิ้นส่วนดีเอ็นเอนั้นระหว่างการเพิ่มจำนวนแบคทีเรีย วิธีการนี้ใช้กันมากในงานพันธุวิศวกรรม และยังสามารถใช้ไวรัสบางชนิดเพื่อควบคุมหรือต้านทานการก่อโรคในพืช เช่น มะละกอ ยาสูบ พริก ตลอดจนนำไวรัสไปศึกษาทดลองในวงการแพทย์เพื่อบำบัดโรคดังที่ได้เขียนให้อ่านในบทความนี้ เป็นต้น

โดยพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์แล้ว ไวรัสเฉพาะชนิดสามารถเข้าทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็งบางชนิด (หลังจากได้เพิ่มจำนวนไวรัสใหม่ในเซลล์มะเร็งที่เป็นเจ้าบ้าน) โดยไม่ก่อปัญหากับเซลล์ปรกติอื่นๆ ของร่างกาย

จากเว็บ Wikipedia ได้ให้ข้อมูลว่า มีรายงานในต้นศตวรรษที่ 20 ว่าไวรัสบางชนิดสามารถลดจำนวนเซลล์มะเร็งปากมดลูก Burkitt lymphoma และ Hodgkin lymphoma แต่มีข้อจำกัดที่บางครั้งร่างกายก็สร้างระบบต่อต้านไวรัสที่ต้องการใช้งาน จึงทำให้เทคนิคการบำบัดนี้ยังไม่แพร่หลาย เนื่องจากจำเป็นต้องฉีดไวรัสเข้าสู่บริเวณที่เป็นมะเร็งโดยตรง ไม่สามารถฉีดเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อส่งไวรัสเข้าอวัยวะที่เป็นมะเร็งได้

แนวความคิดในการใช้ไวรัสบำบัดมะเร็งนั้น เริ่มต้นจากการสังเกตุของนายแพทย์ G. Dock ที่พบว่า ผู้ป่วยมะเร็งระยะแพร่กระจายที่บังเอิญได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า (ซึ่งมีเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลงแล้ว)นั้น มีการฟื้นตัวดีขึ้น โดยสังเกตจากขนาดของมะเร็งที่ลดลง ผลการสังเกตุนี้รายงานในวารสาร American Journal of Medical Science ชุดที่ 127 หน้าที่ 563 ภายใต้ชื่อเรื่องว่า Rabies virus vaccination in a patient with cervical carcinoma.

ดังนั้นในช่วงแรกของการทดลองทางคลินิก จึงได้เริ่มจากการฉีดของเหลวที่ได้จากร่างกายมนุษย์ซึ่งมีไวรัสสู่ผู้ป่วยมะเร็ง จากนั้นผู้ศึกษาก็เฝ้าดูผลว่าเกิดอะไรบ้าง แต่เนื่องจากการศึกษาในสมัยเริ่มต้นนั้นเป็นการใช้ไวรัสที่ผู้ทำการวิจัยไม่ทราบบทบาททางชีวภาพที่แท้จริงของมัน สิ่งที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นว่าระบบภูมิต้านทานของผู้ป่วยได้ทำลายไวรัสนั้นหมดสิ้นก่อนที่ไวรัสจะได้เข้าทำลายเซลล์มะเร็ง

จนถึงช่วงปี 1950-1960 ก็ได้เริ่มมีผู้พยายามใช้ไวรัสที่มีความเฉพาะกับเนื้องอกแต่ละชนิด แต่ผลการศึกษาก็ยังไม่ดีนัก ทั้งนี้เพราะในช่วงนั้นความรู้พื้นฐานด้านไวรัสวิทยา เซลล์วิทยา และพันธุวิศวกรรมยังไม่ก้าวหน้าพอ จึงทำให้หลังจากช่วงปี ค.ศ. 1960 การศึกษาเพื่อใช้ไวรัสในการบำบัดมะเร็งจึงสะดุดหยุดลงเกือบทั้งหมดอย่างน่าเสียดาย ต่อมาในช่วงเริ่มต้นศตวรรษที่ 21 ซึ่งความรู้พื้นฐานต่างๆ ที่ต้องการในการบำบัดมะเร็งด้วยไวรัสได้เจริญถึงขีดที่เหมาะสม การพัฒนาวิธีการบำบัดแนวทางดังกล่าวจึงได้เริ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นกระแสใหม่ในการบำบัดมะเร็ง

ท่านผู้อ่านอาจเริ่มสงสัยว่า ทำไมไวรัสถึงคิดที่จะทำร้ายเฉพาะเซลล์มะเร็งแต่ไม่ทำร้ายเซลล์ปรกติ ประการแรกที่ท่านควรเข้าใจก่อนคือ ไวรัสที่จะถูกใช้นั้นต้องถูกพิสูจน์ก่อนว่าไม่ใช่ชนิดที่จะก่อให้เกิดโรคร้ายแรง ดังนั้นโดยปรกติแล้วมันจึงมักจะถูกร่างกายทำลายได้ แต่ในกรณีของเซลล์มะเร็งนั้นไวรัสสามารถเข้าทำลายได้โดยง่าย เพราะเซลล์มะเร็งมักเป็นเซลล์มีระบบป้องกันการกลายพันธุ์ของหน่วยพันธุกรรมบกพร่อง จึงง่ายต่อการถูกรุกรานด้วยไวรัส  ความรู้ทางเซลล์วิทยากล่าวประมาณว่า ในช่วงการแบ่งเซลล์แต่ละครั้งนั้นต้องมีการตรวจสอบความบกพร่องของดีเอ็นเอก่อน และถ้าพบความผิดปรกติเซลล์ต้องทำการซ่อมให้ปรกติก่อนจึงปล่อยให้มีการดำเนินการต่างๆ เพื่อแบ่งเซลล์ได้ ในกรณีที่ความผิดปรกตินั้นร้ายแรงเกินกว่าจะซ่อมได้ สิ่งที่เซลล์จะทำคือ เริ่มกระบวนการทำลายเซลล์ทิ้งเองเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อเนื้อเยื่อที่เซลล์เป็นองค์ประกอบ

อย่างไรก็ดีความสามารถทั้งการซ่อมแซมดีเอ็นเอหรือการทำลายตัวเองนั้นมีเฉพาะในเซลล์ปรกติเท่านั้น แต่ระบบต่างๆ มักสูญไปจากเซลล์มะเร็งเนื่องจากดีเอ็นเอที่รับผิดชอบระบบดังกล่าวได้กลายพันธุ์ไป จึงทำให้ไวรัสสามารถเข้าควบคุมสั่งการให้ดีเอ็นเอของเซลล์มะเร็งทำงานตามที่ไวรัสต้องการได้คือ การสร้างไวรัสใหม่ขึ้นในปริมาณมาก จนสุดท้ายเซลล์ต้องแตกเพื่อให้ไวรัสออกจากเซลล์แล้วเข้าบุกเซลล์มะเร็งอื่นๆ ต่อไป

ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการบำบัดมะเร็งด้วยไวรัสนั้น เราสามารถค้นหาได้โดยใช้ Google ซึ่งทำให้ผู้เขียนได้ทราบว่า ในเว็บ pantip.com นั้นได้เคยมีผู้ตั้งกระทู้ในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน โดยในวันที่ 2 กันยายน 2556 เวลา 17:46 น. มีผู้ตั้งกระทู้ว่า “มีใครเคยไปรักษามะเร็งที่กวางโจว . จีน บ้างไหมคะ อยากทราบประสบการณ์ค่ะ”

รายละเอียดของกระทู้คือ “กำลังจะตัดสินใจไปรักษาเพราะอ่านในอินเตอร์เนตว่ามีศูนย์รักษามะเร็งแผนใหม่ 2 แห่งที่มีชื่อเสียงและมีเทคนิคใหม่ๆ ที่ได้ผล จขกท. เป็นมะเร็งปอดขั้นสาม หมอที่รักษาแนะนำให้ผ่าตัดปอดซ้าย และทำคีโมปอดขวา จากที่เคยเห็นเพื่อนต้องตายไปจากวิธีเดียวกันนี้ทำให้กลัว เพราะเทคนิคการรักษาและคีโมมีผลข้างเคียงมาก ขณะที่ในกวางโจวใช้เทคนิคใหม่ๆ และผลข้างเคียงน้อย (ตามที่ รพ. โฆษณา) จึงใคร่จะทราบว่า เพื่อนๆ ที่มีญาติพี่น้องเพื่อนฝูงที่ไปรักษามาจากกวางโจว พอจะให้คำแนะนำแก่ดิฉันได้บ้าง  โปรดตอบด้วยนะคะ เพราะวันนี้ไปอัพเดทมะเร็งมาใน 90 วัน ก้อนเนื้อในปอดโตขึ้นจนเห็นได้ชัดเจนค่ะ คุณหมอแจ้งว่าควรรีบผ่าตัดด่วนค่ะ”

ในความเป็นจริงแล้วได้เคยมีแพทย์ท่านหนึ่งเข้าไปโพสต์ให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวก่อนหน้าแล้วใน pantip ตั้งแต่วันที่  11 เมษายน 2556 เวลา 19:45 น. ในกระทู้ชื่อ “หมอมะเร็งอยากบอก ตอน การรักษามะเร็งด้วยไวรัส…..ข้อเท็จจริง….บิดเบือน….หรือหลอกลวง”

แพทย์ผู้ที่โพสต์ข้อมูลในกระทู้นั้น ได้เกริ่นไว้ตอนหนึ่งของกระทู้ว่า ได้รับปรึกษาจากคนไข้คนหนึ่งถึงเรื่อง การบำบัดมะเร็งด้วยไวรัสของโรงพยาบาลฟูด้า กวางโจว ประเทศจีน จากนั้นแพทย์ท่านนี้ก็ได้ให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานของกระบวนการโดยมีข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการใช้ไวรัสในประเทศจีนประมาณว่า ในการศึกษาในคนนั้นเป็นการฉีดเข้าตัวก้อนมะเร็งโดยตรง โดยเปรียบเทียบระหว่างการให้การบำบัดด้วยยาอย่างเดียวหรือยาร่วมกับการให้ไวรัส ซึ่งพบว่าในขั้นตอนการศึกษาที่ 1 นั้น คนไข้ทนต่อการรับไวรัสได้ดี แล้วในขั้นตอนที่  2 แสดงให้เห็นว่าก้อนมะเร็งยุบลง แต่ในขั้นตอนที่ 3 ซึ่งศึกษาในคนไข้มะเร็งชนิด Squamous Cell Carcinoma ที่คอและศีรษะหรือหลอดอาหารนั้นกลับไม่สามารถบำบัดให้หายขาด……….เป็นต้น

บทความเรื่อง “Cancer-fighting viruses near market” ดังได้เอ่ยแล้วข้างต้นของบทความนี้ ยังให้ข้อมูลอีกว่า ในปี 2005 นั้นหน่วยงานด้านการแพทย์ของจีนได้รับรองการใช้ไวรัสในการบำบัดมะเร็ง โดยระบุถึงผลการศึกษาไวรัสชนิด adenovirus ชื่อ H101 เพื่อบำบัดมะเร็งศีรษะและลำคอซึ่งมีการอ้างว่า ไวรัสทำให้ขนาดมะเร็งเล็กลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ข่าวนี้ได้ทำให้เกิดธุรกิจการท่องเที่ยวทางการแพทย์เพื่อบำบัดมะเร็งขึ้นในประเทศจีน เนื่องจากข้อมูลในตอนต้นของบทความนี้ผู้เขียนได้เอ่ยว่า ดูเหมือนประเทศทางตะวันตกก็ได้เตรียมที่จะรับรองการบำบัดมะเร็งบางชนิดด้วยวิธีดังกล่าว ผู้เขียนจึงขอให้ข้อมูลที่ท่านอาจสนใจจากบทความชื่อ Oncolytic viruses for cancer therapy (ปรากฏในวารสาร OncoImmunology ชุดที่ 2 ฉบับที่ 6 ประจำเดือนมิถุนายน 2013 ซึ่งสามารถเข้าไปอ่านได้ที่เว็บ www.landesbioscience.com) ซึ่งกล่าวว่า ปัจจุบันกำลังมีการวิจัยในคนไข้เพื่อบำบัดมะเร็งโดยใช้ไวรัสเฉพาะชนิดของแต่ละมะเร็ง (ซึ่งมักถูกปกปิดเนื่องจากผลประโยชน์ทางการค้า) เช่น มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งผิวหนัง (Melanoma) เนื้องอกสมอง มะเร็งปอดทั่วไป มะเร็งปอดชนิดเมโสเธลิโอมาซึ่งมักเกิดจากใยหิน มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัลติเพิลมัยอิโลมา มะเร็งตับอ่อน มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น

ในบทความเรื่อง The oncolytic virotherapy treatment platform for cancer: Unique biological and biosafety points to consider ซึ่งเป็นผลงานของ Richard Vile และคณะ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Cancer Gene Therapy ชุดที่ 9 หน้าที่ 1062 – 1067 เมื่อปี 2002 นั้น ได้ระบุคุณสมบัติโดยทั่วไปของไวรัสที่จะนำมาใช้ในการบำบัดมะเร็ง เช่น

  1. ไวรัสนี้ต้องเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์เพื่อเพิ่มปริมาณแล้วทำลายเซลล์มะเร็งได้ (ซึ่งรวมถึงเซลล์มะเร็งที่หยุดแบ่งตัว) ที่สำคัญคือ ไวรัสที่นำมาปรับปรุงเพื่อใช้นี้ไม่ควรก่อให้เกิดโรคที่ร้ายแรง (เพื่อที่จะไม่เป็นปัญหามากนักถ้าไวรัสที่ปรับปรุงใช้ในการบำบัดมะเร็งเกิดกลายพันธุ์ย้อนกลับมาเป็นชนิดเดิม)
  2. ไวรัสนั้นไม่ควรมีความสามารถในการส่งหน่วยพันธุกรรมของมันเข้าไปสอดแทรกเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยพันธุกรรมในเซลล์มะเร็งของผู้ป่วย (เพราะนั่นคือการทำให้เซลล์มะเร็งกลายพันธุ์มากขึ้น)
  3. ไวรัสที่ใช้นั้นควรมีหน่วยพันธุกรรมที่เสถียรเพื่อประโยชน์ในการเพิ่มปริมาณและความปลอดภัยในการใช้งาน.
  4. ควรมีการคำนึงด้านพันธุกรรมว่า ไวรัสนั้นต้องไม่เพิ่มปริมาณในเซลล์ปรกติของผู้ป่วยและในตัวไวรัสเองควรมีระบบปิดการทำงานในการแบ่งตัวของมันเองเมื่ออยู่ในเซลล์ปรกติใด ๆ
  5. กระบวนการผลิตไวรัสที่จะใช้ในการบำบัดมะเร็งนั้นต้องง่าย และที่สำคัญมากคือ ต้องสามารถทำให้ไวรัสอยู่ในสภาพบริสุทธิ์ได้ด้วย

มีบทความชื่อ FDA Approves Imlygic (Talimogene Laherparepvec) for Melanoma ซึ่งตีพิมพ์ใน www.cancer.org เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2015 ให้ข้อมูลว่า ในการบำบัดมะเร็งนั้นจะมีการฉีดไวรัสเข้าสู่เนื้องอกโดยตรง หลังจากนั้นอีก 3 อาทิตย์จึงจะฉีดอีกครั้ง จากนั้นจะฉีดอีกทุก 2 อาทิตย์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะนานราว 6 เดือนจึงจะรู้ผล โดยผลข้างเคียงที่อาจเกิดได้คือ อาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย มีไข้ ตัวเย็น คลื่นไส้ อาการเหล่านี้ดูคล้ายอาการไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้บริเวณที่ฉีดยาจะค่อนข้างปวด ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่เป็นอาการปรกติของไวรัสนั้น ส่วนข้อควรหลีกเลี่ยงที่สำคัญประการหนึ่งคือ การบำบัดนี้ไม่ควรทำในคนที่กินยากดภูมิต้านทานหรือตั้งครรภ์

ข้อมูลที่ผู้เขียนเล่าให้ฟังนี้แสดงให้เห็นว่าในอนาคตอันใกล้คนไข้มะเร็งอาจมีอายุยืนยาวขึ้นหลังจากได้จ่ายค่าบำบัดมะเร็งในราคาที่เหมาะสมกับเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัย ซึ่งคงเป็นไปได้สำหรับคนที่มีสตางค์เหมาะสมเท่านั้น ส่วนคนที่ทำงานมีรายได้ชนเดือนบ้างไม่ชนเดือนบ้างเวลาป่วยไข้ต้องอาศัยประกันสังคม คงต้องใช้วิจารณญานให้จงหนักว่าจะยอมเป็นหนี้เพื่อให้คนที่ท่านรักหรือตัวท่านเองอยู่ได้นานขึ้นสักระยะหนึ่งแล้วเป็นหนี้หัวโต หรือจากโลกนี้ไปเพื่อเกิดใหม่เพราะอย่างไรก็ตามทุกคนก็ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: http://www.siamca.com/
  2. ภาพจาก: https://en.wikipedia.org/wiki/Herpes_simplex_virus
เเก้ว กังสดาลอำไพ

ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ เป็นนักพิษวิทยาที่กินเงินบำนาญ จึงมีเวลาเขียนบทความเกี่ยวกับความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์อาหารและโภชนาการ ในคอลัมน์ กินดีอยู่ดี โดยใช้ประสบการณ์ที่เคยดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ สอน วิจัยและเป็นประธานหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการในมหาวิทยาลัยมหิดลนาน 31 ปี มาเขียนบทความกึ่งวิชาการที่ประชาชนทั่วไปน่าจะได้รู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคและการเลือกกินอาหารที่ปลอดภัยมีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อจะได้ไม่ถูกลวงในภาวะสังคมปัจจุบันที่แทบจะเชื่อใครไม่ได้เลยในอินเตอร์เน็ท

Email

Share