โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นที่ถกเถียงมาระยะหนึ่ง เพราะดูเหมือนจะมีการสื่อสารออกมาในทำนองที่ว่า จะปักตอม่อสร้างคล้ายสะพานลอยฟ้าเลียบริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเป็นทางจักรยานและอื่นๆ โดยมีข้อมูลกำหนดขนาดกว้างยาวไว้เสร็จสรรพด้วยงบประมาณโครงการราวหมื่นสี่พันล้านบาท จึงเกิดเป็นข้อถกเถียงและไม่ยอมรับของชุมชนริมน้ำและประชาชนทั่วไป ซึ่งเห็นว่าจะสร้างทัศนะอุจาดให้กับแม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น
แม้ว่าฝ่ายผู้รับดำเนินโครงการคือ สถาบันเทคโลยีพระจอมกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังหรือ สจล. จะออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ดำเนินการรูปแบบโครงการดังกล่าวแล้วก็ตาม และพยายามเข้าหาชุมชนเพื่อทำความเข้าใจและหาข้อมูลในพื้นที่ที่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังคงยืนกันคนละฝั่งอย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะฝ่ายชุมชนคนในพื้นที่ก็ยืนยันไม่เอาโครงการที่ สจล.จะดำเนินการและจะขอพัฒนาตามแนวทางที่ชุมชนเห็นสมควร ขณะที่ สจล. ก็มีภารกิจตามสัญญาที่จะต้องศึกษาออกแบบพร้อมกับการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้แล้วเสร็จภายใน 7 เดือน
ไม่รู้ว่าการยืนคนละฝั่งแบบนั้นมีความพยายามที่จะหาจุดร่วมให้ลงตัวหรือไม่ ผู้เขียนคิดว่าการศึกษาข้อมูลและการวางกลยุทธ์การใช้ข้อมูลนั้นให้เป็นประโยชน์น่าจะลดความขัดแย้งและหาทางออกร่วมกันได้ไม่ยาก
ข้อมูลที่น่าสนใจคือสิ่งที่ระบุใน TOR ข้อ 5.1.3 งานกำหนดกรอบแนวคิดและรูปแบบเชิงหลักการ (Conceptual Design) ที่ระบุไว้ดังนี้ “ที่ปรึกษาจะต้องศึกษากำหนดกรอบแนวคิดจัดทำแผนแม่บทของโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานคร ประกอบไปด้วยการสำรวจพื้นที่และศึกษารูปแบบของการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานครที่เหมาะสม โดยจำแนกพื้นที่ออกเป็นประเภทต่างๆ และสรุปกรอบแนวคิดในการออกแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่แต่ละประเภท พร้อมสรุปรูปแบบเชิงหลักการ (Conceptual Design Drawing) ในการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานคร โดยจะต้องกำหนดให้มีช่องทางสำหรับจักรยานและทางเดินเท้าเป็นหลัก และจัดให้มีลานสันทนาการ ศาลาพักผ่อนริมแม่น้ำ สวนสาธารณะและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่บริการ (Service Area) ลานจอดรถจักรยานลานกิจกรรมให้สัมพันธ์กับสภาพพื้นที่แต่ละพื้นที่ (ถ้าสามารถจัดหาพื้นที่ได้) โดยจะต้องคำนึงถึงกิจกรรมทางน้ำและกิจกรรมริมน้ำในปัจจุบันของชุมชน คลองเดิมที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงระบบการเปลี่ยนถ่ายระบบขนส่งกับโครงข่ายถนนตามแนวเส้นทางที่เหมาะสมเพื่อความสะดวกกับผู้ใช้จักรยาน ประชาชนและนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ในการกำหนดรูปแบบของโครงการจะต้องคำนึงถึงผลการศึกษาของโครงการส่งเสริมให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นมรดกของชาติ โดยสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานครและบูรณาการร่วมกับโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบ
นี่คือหัวใจของงานตามกรอบที่สจล.จะต้องดำเนินการ ในส่วนการออกแบบ ไม่ได้มีระบุรูปแบบในเชิงโครงสร้าง แต่ให้เป็นการออกแบบแนวคิด คำว่า “การสำรวจพื้นที่และศึกษารูปแบบของการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานครที่เหมาะสม” และคำว่า “โดยจะต้องคำนึงถึงกิจกรรมทางน้ำและกิจกรรมริมน้ำในปัจจุบันของชุมชน คลองเดิมที่เชื่อมกับแม้น้ำเจ้าพระยา สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม” ชุมชนน่าจะสามารถเอามาใช้ประโยชน์ได้ คือหมายถึงว่า ชุมชนเองควรนำเอากรอบงานตามข้อกำหนดนี้มาเป็นแนวทางในการกำกับโครงการให้เป็นไปตามหลักการดังกล่าว ขณะเดียวกันภาครัฐเองก็ต้องใช้กรอบตาม TOR นี้แสดงถึงความโปร่งใสของแนวคิดโครงการให้ได้กู้ความเชื่อมันกลับคืนมาให้ได้หากไม่มีวาระซ่อนเร้นจริง
ส่วนการตรวจสอบเรื่องของความเหมาะสมในการใช้งบประมาณว่ามากน้อยเกินไปหรือไม่อย่างไร ถูกต้อง โปร่งใสหรือไม่ก็ว่ากันอีกเรื่อง
TOR แบบนี้น่าจะสามารถเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายได้ ไม่ใช่เพียงแค่ตั้งป้อมต่อกันเท่านั้น หากสามารถเดินร่วมทางกันได้ทั้งความต้องการที่เหมาะสมของชุมชนและการพัฒนา ก็อาจจะเป็นโครงการที่จะใช้เป็นต้นแบบที่คู่ขัดแย้งตลอดกาลคือรัฐกับภาคประชาชน จะสามารถเดินหน้าพัฒนาประเทศไปร่วมกันได้