in on March 14, 2016

โปรดจงตัดสินใจ

read |

Views

“อย่าทำอย่างกับฉันเป็นอากาศธาตุได้ไหม? ” นิยายรักมักเปรียบเปรยอากาศเป็นสิ่งไม่มีตัวตน ที่จริงอากาศสำคัญต่อชีวิตมากชนิดที่ขาดไม่ได้  แต่ด้วยอากาศมีอยู่รอบตัวเสมอๆ จนบางครั้งก็หลงลืมไป  ว่าสิ่งสำคัญที่สุดกลายเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับความสนใจที่สุดได้อย่างไร

los-angeles-without-light

เมื่อต้นเดือน ธ.ค.ปี 2558 มีข่าวว่าเมืองไทยน่าจะมีโอกาสเห็นฝนดาวตกเจมินิดส์มากเป็นพิเศษ เนื่องจากวันเวลาเหมาะสมอยู่ในช่วงเดือนแรมพอดี

นานมาแล้วที่ผมไม่ได้แหงนหน้ามองฟ้าดูดาวยามค่ำคืนในเมืองหลวง  พอเงยหน้ามองอีกทีชักไม่แน่ใจว่าท้องฟ้าไร้ดาวเพราะเมฆบัง ฝุ่นละอองหมอกควันพิษปกคลุม หรือแสงสว่างจากภาคพื้นดินไปบดบังแสงดาวเสียจนนับดวงได้สบายๆ

เชื่อไหม เด็กๆ ที่กรุงปักกิ่ง เกิดมาไม่เคยเห็นแสงดาวจริงๆ เลย  เพราะปักกิ่งในช่วง 6-7 ปีให้หลัง พัฒนา อย่างก้าวกระโดด จนเกิดปัญหาแสงสว่างล้นเมือง นับวันจึงยิ่งหามุมมืดชมดาวได้ยากขึ้นทุกที ซ้ำ ความเจริญทางเศรษฐกิจยังก่อปัญหาหมอกควันพิษปกคลุมทั่วเมืองอย่างต่อเนื่อง

“อากาศบริสุทธิ์บรรจุกระป๋อง” ที่เคยได้ยินแต่ในนิยายเริ่มถูกวางขายและกลายเป็นสินค้าขายดีอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2556

จนกระทั่งปลายปี 2558 มีการประกาศยกระดับภัยมลพิษทางอากาศเป็นระดับสีแดง(สูงสุด) ถึงสองครั้ง เนื่องจากมีค่าฝุ่นละอองพิษขนาดเล็กจิ๋ว 2.5 ไมโครเมตร สูงเกิน  400 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มากกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกถึง 16 เท่า (ค่าสูงสุดที่วัดได้ 1400 ไมโครกรัมหรือเกินมาตรฐาน 56 เท่าในเดือน พ.ย. 2558)  ฝุ่นละอองขนาดจิ๋วนี้สามารถลอดผ่านระบบกรองอากาศของร่างกายมนุษย์เข้าไปสะสมอยู่ในถุงลมปอดได้สบายๆ เมื่อสะสมมากก็มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากขึ้น

นอกจากนั้นหมอกควันพิษจับตัวหนาแน่นจนทัศนวิสัยย่ำแย่ มองเห็นได้แค่ในระยะ 500 เมตรเป็นเดือนๆ บางวันมองเห็นได้เพียงระยะ 100 เมตรเท่านั้น ถนนสายหลักหลายสายจำเป็นต้องปิดการจราจร เด็กๆ ต้องหยุดเรียนชั่วคราว ธุรกิจก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม ถูกระงับชั่วคราว เศรษฐกิจของเมืองต้องหยุดชะงัก ชาวเมืองได้รับประกาศเตือนห้ามออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน หากจำเป็นต้องสวมหน้ากากกรองมลพิษเสมอ

สาเหตุหลักของมลพิษที่ปักกิ่งหนีไม่พ้นฝุ่นเเละควันจากท่อไอเสียรถยนต์ จากโรงงาน การก่อสร้าง และฝุ่นละอองจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน

หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลจีนพยายามแก้ไขปัญหานี้ในปักกิ่งและเมืองข้างเคียง โดยการออกมาตรฐานต่างๆ อย่างจริงจัง เเละเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ แต่ปัญหาก็ยังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทุกปี

จาก “อากาศธาตุ” ในนิยายที่ไม่มีใครสนใจ กำลังเเผลงฤทธิ์รุนแรงทั้งที่ปังกิ่งและอีกหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก   ปีที่ผ่านมา กรุงนิวเดลีที่อินเดียก็ถูกขนานนามว่าเป็นเมืองที่อากาศสกปรกที่สุดในโลก ทุกๆ ปี คนอินเดียกว่า 6 แสนคนต้องตายเพราะมลพิษทางอากาศ  ชาวลอนดอน ประเทศอังกฤษต้องสูญเสียเงินไปกับค่ารักษาพยาบาลและค่าเสียหายต่างๆ จากมลพิษถึง 3.7 พันล้านปอนด์ต่อปี   ปารีส  นิวยอร์ก จาร์กาตาร์ และกรุงเทพมหานครของเรา ก็กำลังเผชิญปัญหามลพิษทางอากาศ ความร้ายแรงของพิษภัยนั้นอาจไม่เท่ากัน แต่สาเหตุหลักที่คล้ายๆ กันคือ ฝุ่นเเละควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์

หลายประเทศจึงพยายามออกมาตรการลดการใช้รถยนต์ ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนและวิถีการสัญจรปลอดคาร์บอนทั้งการเดินและจักรยานซึ่งตอบโจทย์การเดินทางระยะใกล้ๆ ในเมืองได้ดี

มาตรการทางภาษีกำหนดโควตา  จำกัดอายุรถเก่า กำหนดสเปกรถปล่อยมลพิษน้อย ทำระบบจักรยานสาธารณะ  กำหนดถนนปลอดรถยนต์ทั้งแบบชั่วคราวและถาวร จำกัดการใช้รถยนต์ด้วยเลขท้ายป้ายทะเบียน จับสลากชิงสิทธิ์ในการซื้อรถใหม่ ฯลฯ

สารพัดเครื่องมือ ทั้งรูปแบบและวิธีการถูกงัดออกมาใช้แก้ไข บรรเทาปัญหา แต่กว่าจะกู้วิกฤติให้กลับมาดี ไม่ใช่เรื่องง่าย แค่ทำให้พ้นขีดอันตรายยังเป็นเรื่องยาก

บทเรียนจากหลากหลายประเทศน่าจะเพียงพอสำหรับการเริ่มหันมาทบทวนประเทศของเรา อย่างปักกิ่งเองก็สะท้อนว่าการพัฒนาเมืองที่เอื้อรถยนต์อย่างสุดโต่งนั้นเป็นอย่างไร ถนนที่กว้างกว่า 50 เลนยังแก้ไขปัญหารถติดไม่ได้ หนำซ้ำจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นยังสร้างปัญหามลพิษหนักหน่วง จนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

หากไม่ทำอะไรสักอย่าง สักวันหนึ่ง กทม. เองอาจตกอยู่ในสภาพเดียวกับปักกิ่ง

ปัญหาดังกล่าวค่อยๆ เพิ่มดีกรีความรุนแรงเหมือนเรื่องกบในหม้อน้ำร้อน หากเราหย่อนกบไปในหม้อน้ำที่ร้อนจัด กบจะกระโดดออกมาทันที แต่ถ้าเราค่อยๆ ต้มน้ำให้ร้อนขึ้นเรื่อยๆ กบจะไม่รู้ตัว จนกระทั่งร้อนเกินจะมีชีวิตอยู่ได้ จะกระโดดหนีก็ไม่มีแรง ต้องตายคาหม้อไปในที่สุด

ปัญหาอากาศเสียก็เช่นกัน มันค่อยๆ เพิ่ม และเราทนรับโดยไม่ค่อยรู้ตัว กว่าจะรู้อีกทีก็สายเสียแล้ว

เหมือนกับที่ผมเพิ่งตระหนักว่า แทบจะหมดสิทธิ์มองเห็นดาวกลางน่านฟ้ากรุงเทพเสียแล้ว แน่นอนว่าการมองไม่เห็นดาว อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่กระทบใจคนหมู่มาก แต่เราต้องรอให้อากาศแย่ลงเรื่อยๆ จนออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านไม่ได้ จนมองไม่เห็นทางถนนแบบปักกิ่ง แล้วค่อยลุกขึ้นมาแก้ไขปรับเปลี่ยนเมืองหรือ?

เมื่อกลางปี พ.ศ. 2557 มีข่าวกรอบเล็กๆ ในบ้านเรา ระบุว่ามีเมืองหนึ่งประกาศว่าจะเปลี่ยนเป็นเมืองปลอดรถยนต์อย่างถาวรในปี พ.ศ. 2577 ด้วยความเห็นชอบของชาวเมือง  เมืองนั้นคือ “ฮัมบูร์ก”  ประเทศเยอรมนี เวลาราว 20 ปีก่อนถึงเป้าหมายนี้จะใช้เพื่อวางแผน เตรียมความพร้อม และสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่อให้รองรับการใช้ชีวิตแบบปลอดรถยนต์

ฟังดูท้าทายมากๆ และหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ เพราะรถยนต์ในศตวรรษนี้ดูเหมือนจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้แล้ว

เยอรมนีประเทศที่ให้กำเนิดรถยนต์ แต่วันนี้เมืองใหญ่อันดับ 2 อย่างฮัมบูร์กกำลังจะเปลี่ยนเป็นเมืองปลอดรถยนต์

หลายครั้งที่ผมมีโอกาสไปเยี่ยมญาติและเพื่อนฝูงตามหมู่บ้านจัดสรรในกรุงเทพฯ  ผมนึกภาพไม่ออกเลยว่าหากไม่มีรถยนต์ส่วนตัว เราจะเดินทางกันอย่างไร เพราะแค่จากประตูบ้านถึงประตูหมู่บ้าน ก็ไกลกว่า 5 กิโลเมตร ยังไม่นับว่าจากหน้าหมู่บ้านสู่ใจกลางเมือง

ชีวิตเราจึงผูกติดและเคยชินกับรถยนต์อย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้พบปัญหารถติดเป็นอัมพาตอย่างไร ก็ต้องจำทนขับรถต่อไป

ชาวฮัมบูร์กรับรู้บทเรียนจากเมืองใหญ่ทั่วโลก และเห็นทางออกของวังวนปัญหารถติดและคุณภาพชีวิตในเมือง คือการทำให้รถยนต์ไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป โดยเริ่มจากเปลี่ยนถนนรถยนต์ให้เป็นโครงข่ายพื้นที่สีเขียว (Green network) ซึ่งกินพื้นที่ถึงร้อยละ 40 ของเมืองเชื่อมต่อกันทั้งเมือง และจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้สัญจรได้ทั่วเมืองด้วยระบบขนส่งมวลชน การเดินเท้าและปั่นจักรยาน  ด้วยเชื่อว่าการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและกันรถยนต์ออกไปจากตัวเมืองจะช่วยให้เมืองรอดพ้นจากปัญหามลพิษ การจราจรติดขัด และอันตรายจากอุบัติเหตุเฉี่ยวชน ทำให้ชาวเมืองมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีทางเลือกที่จะออกมาใช้ชีวิตและทำกิจกรรมกลางแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นการปิกนิก กิจกรรมทางน้ำ ปีนเขา หรือแม้แต่ชีวิตป่าในเมืองก็จะดำรงอยู่ได้อย่างเป็นสุข

ฮัมบูร์ก เป็นรูปธรรมของเมืองที่กล้าเปลี่ยนแปลง และเทรนด์การพัฒนาลักษณะนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก หลายเมืองเริ่มจากกิจกรรมรณรงค์ง่ายๆ แต่มีเป้าหมายชัดเจน

ทุกวันนี้เเม้จักรยานจะเป็นกระแสยอดฮิตของเมืองไทย แต่เราก็ยังไม่มีเป้าหมายชัดเจน ว่าจะมุ่งไปทางใด

การเปลี่ยนแปลงเมืองเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่แค่สองสามคนจะเปลี่ยนสำเร็จ แต่ก็ใช่ว่าเสียงหรือการกระทำของเราจะไม่ส่งผลต่อเมือง

เริ่มตัดสินใจวันนี้ หรือจะรอให้อากาศอัดกระป๋องจะกลายเป็นสินค้าจำเป็น

จาก : นิตยสารสารคดี ฉบับ 372 เดือนกุมภาพันธ์ 59

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9570000116738
  2. ภาพ : http://www.independent.co.uk/news/world/europe/auto-ban-how-hamburg-is-taking-cars-off-the-road-9062461.html
  3. รถติดในกรุงเทพฯหลบไป เจอปักกิ่งติดวินาศ50เลน | เดลินิวส์
  4. ข่าวเมืองฮัมบูร์ก Auto ban: How Hamburg is taking cars off the road
  5. ค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากมลพิษทางอากาศของลอนดอนสูงขึ้น 3.7 ล้านปอนด์ total economic burden associated with poor air quality is valued at up to £3.7bn (2010 data)
  6. มลพิษทางอากาศทำให้ชาวอินเดียเสียชีวิตกว่า 6 แสนคนต่อปี
  7. ทัศนวิสัยในปักกิ่งมองเห็นแค่ 100 เมตร
  8. ข่าวขายอากาศบริสุทธิ์อัดกระป๋อง
  9. เมืองดาว เทรนด์ใหม่คู่เมืองคาร์บอนต่ำ
ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์

"ชีวิตการเดินทางในชีวิตประจำวันบนถนนเเสนจะยุ่งยาก เเถมต้องเจอกันคนอัดเเน่นบนรถเมล์เรามีจักรยานอยู่ที่บ้านทำไมไม่ลองเอามาขี่ดู" ชายหนุ่มผู้คร่ำหวอดอยู่กับวงการจักรยาน นักรณรงค์ฝ่ายรณรงค์มูลนิธิโลกสีเขียวและเป็นผู้พัฒนาเเผนที่จักรยานในกรุงเทพจนกลายมาเป็นเเอปพลิเคชัน "ปั่นเมือง" ในที่สุด เพื่อมีเป้าหมายสูงสุดคือการทำให้กรุงเทพเป็นเมืองจักรยาน

Email

Share