in on April 24, 2017

ในตะกร้าของป้านวล

read |

Views

ที่จริงมันเป็นวันธรรมดาที่เพื่อนต่างวัย 7-8 คนนัดกันหลวมๆ ที่ร้านหนังสือขนาดเล็ก ซึ่งเย็นสบายในวันอากาศร้อน  (เพราะมีแอร์ > <) ต่างคนต่างเอาอาหาร ขนม ผลไม้มากันอย่างละนิดละหน่อย ในบรรดาอาหารทั้งหมด เมนูที่ป้านวลหิ้วมา ถือเป็นไฮไลต์

ป้านวลหอบกับข้าวมาถึง 3 อย่าง นั่นคือยำข้าวกล้อง เมี่ยงหมี่ปลาทูเต้าหู้ทอดน้ำจิ้มสูตรพิเศษ กับผักหลากชนิดอีกเป็นพะเนิน  ทุกอย่างนี้ป้านวลจัดรวมอยู่ในตะกร้าและปิ่นโต แยกชนิดแยกส่วนอย่างดีด้วยกล่องพลาสติกปิดสนิท  อาหารของป้านวลไม่ใช่เพียงแค่อร่อย แต่ทุกอย่างถูกตระเตรียมมาอย่างใส่ใจ  บรรยากาศอบอุ่นอบอวลสมกับเป็นวันหยุดที่เพื่อนฝูงได้มาเจอกันอย่างแท้จริง  ไม่มีสิ่งใดในตะกร้าของป้านวลที่ต้องใส่ถุงพลาสติกเลย 

ป้านวลไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องนี้สักคำ แล้วก็ไม่มีใครเอ่ยถึงเรื่องนี้ด้วย  มันคล้ายๆ ไม่ได้เกิดขึ้นหรือไม่มีความหมายอะไรเลย  แต่มันมีความหมายมากเหลือเกินกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ  อาหารมื้อกลางวันของคน 7-8 คนที่ไม่ใช้ถุงพลาสติกเลย ไม่ถึงกับทำให้สัตว์ทะเลรอดพ้นความตายจากพลาสติก แต่อย่างน้อยในมื้อนั้นก็จะไม่ทำให้สัตว์ตัวไหนต้องตายลง

มันแค่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 หรือสองเดือนกว่าตั้งแต่เราได้ยินแพขยะพลาสติกยาว 10 กิโลเมตร กลางอ่าวไทยด้านชายฝั่งชุมพร และการเอ่ยถึงการที่ไทยติดอันดับทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลเป็น 1 ใน 5 ของเอเชีย (ทวีปที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก) บ้าง หรือ 1 ใน 5 ที่มีปัญหาการทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลรุนแรงที่สุดในโลกบ้าง  เรื่องครึกโครมบนหน้าฝีดเฟซบุ๊กหนึ่งสัปดาห์แล้วเงียบหายสลายไปไม่เหมือนกับขยะพลาสติกที่รู้กันแล้วว่าย่อยสลายไม่ได้มีแต่แตกตัวเป็นเม็ดเล็กจิ๋วลงไปเรื่อยๆ

ภาพ : civilianconstruct.tumblr.com

ขยะพลาสติกยาว 10 กิโลนั่น ว่ากันว่าพัดมาจากฝั่งหลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ภาคใต้เมื่อต้นปี เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากขยะพลาสติกของเราทั้งหมดที่มาจากบ้านเรือน ท้องถนน ชายหาดแหล่งท่องเที่ยว แม่น้ำลำคลอง กระทั่งที่ถูกทิ้งในทะเลโดยตรง  เกินครึ่งของสัตว์ทะเลในบัญชีเสี่ยงสูญพันธุ์ ถ้าไม่ถูกพลาสติกพันตัว ก็กลืนพลาสติกเข้าไป  และมีคนประเมินว่ามีพลาสติกลอยอยู่ตามน้ำวนขนาดใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิก 35 ล้านกิโลกรัม

เราจึงไม่มีทางแน่ใจได้เลยว่าถุงพลาสติกที่อยู่ในท้องเต่าทะเล ลูกโลมา ฝาขวดในท้องนกทะเล และสัตว์อื่นเป็นของเราหรือเปล่า พลาสติกและบรรจุภัณฑ์ย่อยไม่ได้ล้วนกระจายอยู่ทั่วไปในโลก ไม่ใช่แค่กองภูเขาขยะชานเมือง แต่อยู่บนหาดทราย ชายฝั่ง ในแม่น้ำลำคลอง บนภูเขาที่ไม่ใช่แค่ดอยเชียงดาว แต่สูงเสียดฟ้าอย่างเอเวอร์เรส ก็ยังมีกองขยะสูงพะเนินตรงเบสแคมป์

พกกระติกน้ำ / พกถุงผ้า /  ไม่รับหลอดดูด  /  หิ้วกล่องไปใส่อาหาร /  ไม่ห่อปกพลาสติก  /  ไม่ใช้ที่คนกาแฟพลาสติก / เลือกร้านกาแฟที่เสิร์ฟด้วยแก้ว /  ชอบร้านอาหารที่เสิร์ฟน้ำเปล่าในขวดแก้วฟรี และอื่นๆ เป็นสิ่งง่ายๆ ที่ทำได้ทุกวัน  ถึงยังไงก็มีค่ากว่าหีบห่อย่อยสลายได้ตามธรรมชาติจะถูกใช้อย่างแพร่หลาย

ไม่มีอะไรที่ทำมากเกินไป  ไม่เชื่อลองก้มลงไปดูถังขยะใต้โต๊ะทำงานดูสิ  มีอะไร ลองหยิบขึ้นมาเรียงๆ กัน

อันนี้คือของฉัน :

อุ่ย
ถุงใส่ขนมกินเล่น 5 ชิ้น  หนึ่งในนั้นมีถาดพลาสติกรองอยู่ข้างในอีก 1 ชิ้น, ถุงพลาสติกหุ้มสมุดจด 1 ชิ้น และบรรจุภัณฑ์น้ำยาทำความสะอาดคอมพิวเตอร์ 1 ชุด ประกอบด้วยกระดาษแข็งรองหลัง 1 ชิ้นและพลาสติกใส่สินค้า 1 ชิ้น ทั้งหมดคือรอยตีนพลาสติก (plastic footprint) ในสัปดาห์ที่ผ่านมาของฉันเอง

มันยากจริงๆ แหละเมื่อเราต้องอยู่ในโลกที่ของกินของใช้แทบทุกอย่างถูกหุ้มด้วยพลาสติกไปแล้ว แต่ในวันที่ยังไม่มีภาชนะย่อยสลายได้ตามธรรมชาติถูกใช้แพร่หลายในท้องตลาด เราอาจต่อรองกับความอยากของตัวเองอีกหน่อย  ถ้ายังไม่ปลอดพลาสติกอย่างป้านวลแต่เมื่อจะหยิบขนมชิ้นต่อไปจากชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ตฉันจะมองให้เห็นบรรจุภัณฑ์ที่หุ้มห่อมันและความหมายของมันที่กระทบต่อเพื่อนร่วมโลกตัวอื่นๆอย่างตั้งใจมากกว่าที่เคย

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: civilianconstruct.tumblr.com
หอยทากตัวนั้น

เป็นนักเขียนและบรรณาธิการหนังสือ

Email

Share