บ่ายวันนั้นลมแรง อากาศร้อนผ่าว ฉันจำได้ว่าเป็นวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ช่วงกลางปลายหน้าแล้งพอดี ไฟจากแปลงทดลองในป่าเต็งรังของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ในเขตรักษาพันธุ์ป่าห้วยขาแข้ง เกิดไหม้ลามปามจนเจ้าหน้าที่ต้องวิ่งมากันไฟไม่ให้ลามเข้าบริเวณบ้านพักฉันก็วิ่งเหมือนกัน
แต่วิ่งไปวิ่งมาดูไฟด้วยความตื่นเต้น นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันได้เห็นไฟไหม้ป่าอย่างรุนแรงจริง ๆ มันต่างจากไฟทดลองในแปลงเล็ก ๆ ที่ฉันจุดเองในเดือนก่อน ๆ เนื่องจากหน้าแล้งปีนั้นออกจะชื้นมาก อากาศในเดือนมกรา-กุมภาก็หนาวเย็นไฟที่ไหม้ในช่วงนั้นไหม้เป็นเพียงหย่อม ๆ ลามไม่ไกลก็มอดดับ แต่คราวนี้ไฟลุกฮือ เปลวสูงถึง ๒ เมตรกว่า ไหม้ทั้งกอหญ้าและพุ่มกล้าไม้ที่เพิ่งผลิใบเขียวใสทั่วไปหมด ตัวแย้วิ่งปรู๊ดลงรู สัตว์อื่นถ้าอยู่แถวนั้นก็คงจะหนีเหมือนกันเห็นแต่นกแซงแซวดำบินโฉบกินแมลงที่หนีไฟ เดี๋ยวก็บินไปกกไข่ในรัง ดูมันไม่เดือนร้อนกับควันไฟเลย
ฝรั่งสวิสนักดูนก ๒ คนเดินจ้ำหน้าตั้งเข้ามา
“เราดูนกกันอยู่แถวไลน์สี่ จู่ ๆ ไฟก็ไหม้ขึ้นมาจาข้างล่าง…โอมายก๊อด อะไรกันนี่ !”
พลันฉันนึกถึงแปลงทดลองของตัวเองที่อยู่ไม่ห่างจากบริเวณที่ฝรั่งเดินดูนกนัก ฉันไม่ได้กวาดใบไม้บนแนวกันไฟรอบแปลงมา ๒ อาทิตย์แล้ว ไฟมีโอกาสจะลามใบไม้แห้งรุกคืบไปถึงได้ เพียงนึกภาพแปลงไม้ที่สู้อุตส่าห์เก็บข้อมูลนานแรมเดือนจะถูกไฟป่าชิงไหม้ก่อนกำหนดเผา ฉันก็ต้องคว้ารถถีบปั่นไปที่นั่นทันที
งานหลักของฉัน คือ ศึกษาพฤติกรรมไฟป่าตลอดฤดูแล้งและประเมินผลกระทบของไฟที่มีต่อสังคมพืชในระยะ ๑ ปี ความที่กลัวพลาด (เพราะไม่เคยทำมาก่อน) ฉันจึงเลือกวิธีปลอดภัย โดยวางแปลงถาวร ๔ แปลงเพื่อบันทึกความเปลี่ยนแปลงอย่างละเอียดของลักษณะเชื้อเพลิงและสังคมพืชพร้อมจุดไฟเผาเป็นระยะ ๆ นำมาเปรียบเทียบกัน ฉันขอสารภาพว่างานน่าเบื่อมาก เพราะต้องนั่งวัดหญ้า นับใบไม้ตรงจุดเดิมเวลาไม่เดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก มาสนุกก็ตอนดูไฟและช่วงวิเคราะห์ข้อมูล
ปกติฉันไม่ใช่คนผาดโผน ทุกครั้งที่ขี่จักรยานไปถึงสะพานไม้สองท่อนพาดข้ามลำธารตามเส้นทางไปแปลงทดลอง ฉันต้องลงจูงจักรยานทุกทีไป แต่ครั้งนั้นด้วยความห่วงแปลง ฉันจึงขี่จักรยานกระโจนข้ามสะพาน ดิ่งลงห้วยอย่างอาจหาญลืมเสียวไส้ ขากลับเห็นไฟลามข้างทางมากขึ้น เมื่อเข้าใกล้อีกด้านของสถานีฯ จึงเห็นต้นยางที่เปลือกไม้ถูกเจาะเอาน้ำมันยางเริ่มโดนไฟลามเลีย ฝรั่ง ๒ คนถือกระป๋องน้ำคนละใบวิ่งวุ่นตักน้ำราดโคนต้นไม้ที่เขาคิดว่าจะติดไฟ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ไทยก็ใช้กิ่งไม้สดฟาดแนวไฟให้ดับ จวบเย็นไฟจึงมอดเพราะสิ้นเชื้อ คงเหลือแต่ไฟที่ไหม้เขาไกลออกไป ซึ่งดับเองราว ๓ ทุ่มเมื่ออากาศเย็นลง
ตื่นเต้นกันมามาก บรรดานักวิจัยหน้าใหม่ที่ไม่เคยเห็นไฟป่าก็นั่งคุยกันหลังข้าวเย็น
“ฉันลงมาจากเขาเขียว ได้ยินเสียงระเบิดดังจากฟากโน้น วิ่งไปดู เห็นไฟไหม้กอไผ่แห้ง มหัศจรรย์จริง ๆ ลมมันสูบไฟเข้าลำไผ่แตก ๆ เหมือนปล่องไฟ เสียงดังวี้ด แล้วลำไผ่ก็ระเบิดปังๆๆ ฉันดีใจที่มันไม่ลามเข้าป่าดิบ ไม่งั้นชะนีฉันแย่แน่ ๆ” แหม่มแอนนานักดูชะนีเล่าพลางหยิบส้มมาปอก อากัปกิริยาที่แกบิผลไม้เข้าปากละเมียดละไมคล้ายชะนีสาวสวยขนทอง
แต่สวิสหนุ่มน้อยมีสีหน้าเศร้าใจ
“ผมไม่เข้าใจคนไทยจริง ๆ เขาไม่เดือดร้อนเลยที่ไฟไหม้ป่า เขาแค่กันไม่ให้ไฟไหม้บ้านเท่านั้น เขาบอกว่าธรรมชาติป่าเต็งรังมันทนไฟ แต่ผมก็เห็นโคนไม้ใหญ่บางต้นติดไฟ ถ้าเราปล่อยไว้มันต้องตายแน่เลย”
สวิสหนุ่มใหญ่เอื้อมมือมาลูบหลังเพื่อนรัก
“วันนี้เราสองคนช่วยชีวิตต้นไม้ไว้ได้หลายต้นทีเดียว”
……………………………………………………..
ความรู้สึกของฝรั่งสวิสคู่นี้ ไม่ต่างจากความรู้สึกของชาวอังกฤษเมื่อแรกเข้ายึดครองประเทศอินเดียและพม่า เขาไม่คุ้นเคยกับป่าไม้เมืองมรสุม ที่มีหน้าฝนหน้าแล้งชัดเจน และในหน้าแล้งไฟก็ไหม้ทั่วไปตามป่าผลัดใบ โดยเฉพาะป่าสักและป่าต้นซาล (Shorea robusta) ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ใกล้เคียงกับต้นเต็ง (Shorea obtusa) ต้นรัง (Shorea siamensis) ในบ้านเรา
เมื่อไม้เป็นทรัพยากรสำคัญที่จักรวรรดิอังกฤษต้องการตักตวงจากอินเดียและพม่า ไฟป่าซึ่งเผาไหม้กล้าไม้จึงเป็นศัตรูตัวร้ายในสายตาของเจ้าหน้าที่ป่าไม้อังกฤษ บางคนถึงกับโทษว่า ไฟป่าเป็นต้นเหตุแห่งความแร้นแค้นทั้งปวงบนแผ่นดินอินเดีย เป็นตัวฉิบหายสร้างความกันดาร ทำลายวงจรน้ำ ทำลายหน้าดินและการเจริญพันธุ์ของป่าโดยสิ้นเชิง
แต่เพราะไฟป่าที่เกิดขึ้น ส่วนมากเกิดจากน้ำมือมนุษย์ ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ตั้งแต่จุดเอาหญ้าระบัดให้สัตว์กิน จุดเผาป่าให้โล่งเพื่อเตรียมเก็บดอกมาห์นะ (Madhuca indica) และจุดไหว้เจ้าบูชาไฟ ไฟป่าจึงเป็นปัญหาสังคม
ปี ค.ศ. ๑๘๘๐ อังกฤษเริ่มทำการป้องกันไฟในอินเดีย โดยระดมทหารและเจ้าหน้าที่ทำแนวกันไฟ พร้อมกับรณรงค์และติดสินบนให้แพะเป็นรางวัลแก่ชาวบ้านเพื่อไม่ให้จุดไฟเผาป่า ถึงจะรับแพะมา แต่คนอินเดียก็เกลียดนโยบายนี้มาก ในความคิดพวกเขา มันคือมาตรการอย่างหนึ่งของอังกฤษที่พยายามลบล้างวัฒนธรรมวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวอินเดีย เจ้าหน้าที่ปกครองชาวอังกฤษที่คลุกคลีกับชาวบ้านโดยตรงก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ และไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่ทำได้
อย่างไรก็ตาม การป้องกันไฟป่าดูคล้ายประสบผลสำเร็จดีในช่วงแรกๆ ที่บังเอิญมีฝนตกชุกติดต่อกันหลายปี แต่หลังจาก ๒๐-๓๐ ปีต่อมา ปัญหาหลายอย่างก็เริ่มปรากฏขึ้น ที่แย่ที่สุดคือ การขยายพันธุ์ตามธรรมชาติของป่าซาลและป่าสักตั้งแต่แคว้นอัสสัมถึงแคว้นเบงกอลหยุดชะงักลง นอกจากนี้เศษไม้ใบหญ้าที่สะสมตัวนานปี โดยยังไม่เน่าเปื่อยย่อยสลายไปหมดเพราะป่าบางแห่งไม่มีความชื้นเพียงพอ ก็กลายเป็นเชื้อเพลิงมหาศาลสำหรับอุบัติเหตุไฟไหม้ป่าที่เกิดขึ้นในปีที่แล้งจัด ไฟที่ไหม้นั้นรุนแรง ลูกไฟปลิวข้ามแนวกันไฟไหม้ลามไปตลอดทั่วพื้นป่า โดยไม่มีอะไรสกัดไว้ได้
เสียงคัดค้านนโยบายป้องกันไฟจึงดังขึ้นมาอีก ในที่สุด นโยบายป้องกันไฟโดยเด็ดขาดก็ยกเลิกในพม่าเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๒๖ ตามด้วยแคว้นอื่น ๆ ในประเทศอินเดีย และหันมาใช้นโยบายจุดไฟเผ่าป่าต้นฤดูแล้งแทน ซึ่งยุ่งยากพอสมควรเพราะลักษณะเชื้อเพลิงบนพื้นป่าเปลี่ยนแปลงไปมาก
ไม่มีใครรู้ว่า เพราะไฟช่วยเผาเปลือกเมล็ดซาลและสักให้แตกงอกได้ หรือเพราะไฟช่วยลดการแข่งขันจากพืชคลุมดินชนิดอื่น ๆ แต่จากนั้นมาทั้งป่าชาลและป่าสักที่เคยมีปัญหาก็ขยายพันธุ์ได้ตามปกติเช่นเดิม
……………………………………………………
ประสบการณ์อันมีค่าของบริติชอินเดียกลับถูกลืมทิ้งไว้ตามตู้เก่าๆ ในห้องสมุดภายในเวลาไม่นานนัก ปัจจุบันนโยบายของรัฐบาลไทยโดยทั่วไป คือพยายามป้องกันไฟอย่างเด็ดขาด นักอนุรักษ์ส่วนมากก็เห็นพ้องด้วย เพราะไฟป่าทุกวันนี้เกิดจากน้ำมือคนจุดขึ้นเป็นส่วนใหญ่
การสอบถามชาวบ้านถึงสาเหตุที่จุดไฟป่าเป็นเรื่องยุ่งยากมาก ส่วนหนึ่งเพราะการเผาป่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย จึงไม่ค่อยมีใครยอมรับว่าตัวเองจุดไฟ ส่วนใหญ่เลือกโทษเด็ก หรือโทษคนบ้านอื่น
เท่าที่พอประเมินได้ จากรายงานสำรวจขององค์กรยูเอ็นเอฟเอโอที่เชียงใหม่เมื่อสิบกว่าปีก่อน และจากการพูดคุยด้วยตัวเองกับชาวบ้านริมเขตห้วยขาแข้ง พบว่า การเผาป่าทำทางให้เดินสะดวก เป็นสาเหตุหลักของการจุดไฟเผาป่า รองลงมาเป็นไฟที่ลามจากเผาไร่นา นอกนั้นก็อาจเผาเพื่อเก็บของป่าต่าง ๆ เช่น เห็ดบางชนิด ไข่มด หรือเผาแกล้งกัน เผาเพราะไฟสวยดี หรือแม้แต่เผาสันเขาให้ฝนชะดินผสมขี้เถ้า ไหลลงเป็นปุ๋ยเข้านาข้างล่าง ที่แปลกคือเผาให้หญ้าระบัดขึ้นเพื่อล่อสัตว์ป่าหรือให้สัตว์เลี้ยงกิน กลับไม่ใช่สาเหตุหลักอย่างที่นักวิชาการคิด เราไม่อาจแน่ใจได้เลยว่า อะไรคือสาเหตุหลักและผลพลอยได้ของการเผาป่าอย่างหญ้าระบัดอาจเป็นผลพลอยได้เนื่องมาจากการเผาเพื่อให้เดินสะดวกหรืออาจมีสาเหตุอื่นผสมปนเปจนแยกแยะไม่ได้
ชาวบ้านหลายคนอธิบายให้ฉันฟังว่า ไฟช่วยทำความสะอาดป่ารกให้โล่งเตียน เมื่อถึงหน้าฝนป่าก็ฟื้นคืนชีพใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของวงจรนิเวศป่าผลัดใบ ตาเฒ่าใจดีแห่งบ้านคลองเสลาชี้แจงว่า
“ป่ามันเปลี่ยนไปตามฤดู เดี๋ยวก็รก เดี๋ยวก็เตียน วันนี้หลับ – เดี๋ยววันหน้ามันตื่น ป่ามันไม่ตายตลอดไปหรอกหนู”
ความเข้าใจว่าไฟมีหน้าที่ชำระล้างป่า เป็นความคิดเก่าแก่มีมานานมากทีเดียว เหมือนกับความเชื่อที่ว่าเจ้าแม่กาลีเป็นผู้ทำลายล้างสิ่งเก่าเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ บริสุทธิ์ผุดขึ้นจากซากเดิม ในวรรณคดีรามเกียรติ์ฉบับเขมร ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ บรรยายเหตุการณ์ตอนพระรามและนางสีดาเจอไฟป่าได้ชัดมาก บอกด้วยว่าเป็นช่วงหน้าร้อน และป่าที่ธุดงค์ผ่านเป็นป่าเต็งรังในเขมร ข้อความที่ยกมานี้ ฉันถอดความจากภาษาอังกฤษ
“….ตะวันแผดจ้า ส่องต้องเศษไม้หักบนทางเดิน พื้นดินแตกระแหงแดดพร่า พาเปลวไฟแลบลามทั่วทุกหนแห่ง ดูดซับผืนป่าจนเหือดหาย ผลไม้ดอกไม้ร่วงหลุด ใบไม้ร่วงหล่น บางใบไหม้ บางใบกลายเป็นสีแดง ทั้งหญ้าทั้งกกเหี่ยวเฉา ไหม้พินาศด้วยแรงไฟคึกคะนอง หากองค์พระรามตั้งจิตอธิษฐานพานางสีดาก้าวย่างสืบไป ด้วยอำนาจบารมี กิ่งก้านไม้ริมสองฟากทางกลับผลิใบใหม่สดใสให้หนทางรื่นรมย์…”
ปัจจุบันก็ยังมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้และนักอนุรักษ์หลายคนเชื่อในวงจรธรรมชาติ และมองว่าไฟป่าไม่ได้เป็นปัญหา แต่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่สมดุลในตัวเอง ป่าแห้ง ป่าไหม้ ป่ากลับฟื้นตัว เป็นวงจรปกติเช่นนี้เรื่อยไป
เพียงแต่ความสมดุลในธรรมชาติไม่ใช่วงจรปิด แม้สังคมพืชและสัตว์ปรับตัวหลังเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะคงลักษณะไว้ได้เหมือนเดิม
……………………………………………………
แม้เราไม่มีหลักฐานแน่นอนว่าไฟป่าครั้งแรกเกิดขึ้นในโลกเมื่อไร แต่เชื่อว่าไฟป่าคงเริ่มมีตั้งแต่ซากพืชเริ่มสะสมบนผิวโลก ประมาณ ๓๕๐-๔๐๐ ล้านปีมาแล้ว ระบบนิเวศเกือบทุกชนิด ไม่ว่าทุ่งไลเคนใกล้ขั้วโลกหรือป่าดิบชื้นเขตร้อน ล้วนได้รับอิทธิพลจากไฟป่าไม่มากก็น้อยกันทั้งนั้น เพียงแต่ความถี่ ความรุนแรง และลักษณะไฟแต่ละที่อาจแตกต่างไปตามลักษณะของเชื้อเพลิงและภูมิอากาศ
ในยุคเทอเชียรี่ (Tertiary) ตอนต้นและตอนกลาง (ราว ๖๕-๑๒ ล้านปีมาแล้ว) โลกอบอุ่นและชุ่มชื้นกว่าปัจจุบันมาก ขนาดที่ขั้วโลกเหนือมีป่าไม้ขึ้นปกคลุม และป่าดิบเขตร้อนแผ่อาณาเขตไปถึงตอนกลางของทวีปยุโรป โอกาสเกิดไฟลามจึงมีไม่บ่อยนัก
แต่ประมาณ ๑๒ ล้านปีที่แล้วอากาศกลับแห้งและเย็นลง ผลักดันให้ป่าดิบเขตร้อนหดลดเหลืออยู่เฉพาะแนวเขตเส้นศูนย์สูตรที่อบอุ่นและได้ฝนเกือบตลอดปี สังคมพืชทนแล้งทนหนาวพัฒนาเข้าแทนที่ ยิ่งในยุคน้ำแข็ง ระบบมรสุมในแผ่นดินแถวบ้านเราพังลง ป่าดิบหดเหลืออยู่เป็นหย่อมๆ สิ่งที่ตามมากับความแล้งคือไฟ ซึ่งมนุษย์ลิงหลังตรง (Homo erectus) อย่างมนุษย์ชวา และมนุษย์ปักกิ่ง รู้จักจุดไฟเป็นตั้งแต่ ๔ แสนปีมาแล้ว เมื่อไฟป่าทั้งจากธรรมชาติและจากคนจุดเกิดบ่อยขึ้น จึงเปิดโอกาสให้สังคมพืชทนแล้งทนหนาวแผ่ขยายพื้นที่ อย่างหญ้าซึ่งวิวัฒนาการมาตั้งแต่ก่อน ๔๐ ล้านปี ก็ได้แผ่อาณาเขตเป็นทุ่งกว้างไปทั่วโลกในช่วงนี้ ต้นไม้หลายชนิดถูกไฟคัดเลือกพันธุ์ จนกลายลักษณะต้องพึ่งไฟไปในที่สุด เพราะเมล็ดไม่ยอมงอกจนกว่าโดนไฟครอก เช่น ต้นโพรเทีย (Protia) ในแอฟริกาใต้ หรือสนนายแจ็ค (Pinus banksiana) ในอเมริกาเหนือ โดยลูกสนนี้มีขี้ผึ้งเคลือบอยู่ เมล็ดไม่อาจหลุดออกมาได้หากขี้ผึ้งไม่ละลาย
แต่ไฟจะไม่เกิด ถ้าอากาศไม่เป็นใจ
ไฟป่าเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีความร้อน ออกซิเจน และเชื้อเพลิงเพียงพอ ภูมิอากาศแบบมรสุมอย่างบ้านเราปัจจุบัน เป็นภูมิอากาศที่เหมาะสมมากต่อการเกิดไฟป่า เรามีฝนตกมากพอที่จะมีพืชคลุมดินขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีช่วงหน้าแล้งยาวนานพอจะแปรให้เศษใบไม้และพืชคลุมดินแห้งตายกลายเป็นเชื้อเพลิง ยิ่งไปกว่านั้น ทุก ๆ วันของทั้งปี เราจะมีช่วงที่อุณหภูมิอากาศสูงเกิน ๒๔ องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพันธ์ในอากาศลดลงต่ำกว่าร้อยละ ๕๐ ซึ่งเป็นระดับที่เอื้อต่อการลุกลามของไฟได้อย่างดี
ไฟเกิดเองตามธรรมชาติได้หลายวิธี เป็นต้นว่า ไม้ถูกัน หินกระทบหิน ภูเขาไฟระเบิด ไฟจากแสงหักเหสะท้อนกับผลึกอย่างเขี้ยวหนุมาน หรือแม้แต่ไฟลุกขึ้นเองในตัวสิ่งมีชีวิต (spontaneous combustion) ที่อยากจะเรียกว่า “ไฟธาตุแตก” ซึ่งถ้ามีจริงก็คงน้อยเต็มที ไฟธรรมชาติที่เกิดมากที่สุดคือไฟจากฟ้าผ่า นายหยีฟูทวน นักวิชาการจีน อุตส่าห์นั่งคำนวณไว้ว่า โดยเฉลี่ย ผิวโลกโดนฟ้าผ่าถึง ๑ แสนครั้งต่อวัน ในอเมริกาเหนือ ไฟป่าเกิดจากฟ้าผ่ามีถึงร้อยละ ๖๔ ของไฟทั้งหมด แต่ในเมืองไทย ฟ้าคะนองมักเกิดควบไปกับฝนตกหนัก ทำให้ไฟไม่ลาม จนหลายคนเชื่อว่า บ้านเราไม่มีไฟที่เกิดจากธรรมชาติเลย
ไฟเกิดจากฟ้าผ่าในเมืองไทยอาจจะมีอยู่น้อย แต่บางกรณี มันอาจมีมากกว่าที่เราคิด จากการศึกษาข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยาย้อนหลังไป ๒๐ ปี ฉันพบว่าเดือนเมษายนมีโอกาสเกิดไฟฟ้าผ่าค่อนข้างสูงในพื้นที่บางแห่ง เช่น โคราช ที่บางปีมีวันฟ้าคะนองโดยฝนไม่ตกมากกว่าครึ่งเดือน
ป่าในเมืองไทย เป็นป่าทนแล้งได้ในระดับต่าง ๆ กัน แต่ที่ทนได้ดีที่สุด คือ ป่าเต็งรังหรือป่าโปร่ง ในพื้นที่แล้งเป็นพิเศษ ใบต้นรังจะมีขนอ่อนเล็ก ๆ ขึ้นที่ใบทั้งสองหน้า ช่วยลดปริมาณความชื้นที่ระเหยออกไป
…………………………………………………….
บางครั้ง ถ้าฉันเข้าป่าคนเดียวฉันชอบยืนนิ่งๆ สมมุติตัวเองเป็นต้นไม้ มีรากยึดดินแน่น ทั้งกว้างทั้งลึก ดูดน้ำจนเอิบอิ่ม ส่งความชุ่มชื้นพุ่งขึ้นตามลำตัวไปเลี้ยงแขนที่ยื่นออกรับแดดอุ่นยามเช้า ฉันเป็นต้นไม้ ฉันทำอาหารเองได้ ไม่ต้องวิ่งไปหาอะไรกินที่ไหน ฉันเก่งจริงๆ ยืนอยู่ที่เดิม แล้วก็โตขึ้นได้เรื่อย ๆ
ถ้ามีลมแรง ฉันต้องเอนตัวตามไม่ให้หักโค่น ถ้ายืนกลางแดดในหน้าแล้ง เหงื่อฉันออกจนรู้สึกจะแห้งตาย โชคดีที่ฉันเป็นสัตว์วิ่งไปหาน้ำกินได้ หนีภัยก็ได้ ไม่ต้องยืนทนแล้งรอปะทะไฟอย่างต้นไม้
ชีวิตพืชมหัศจรรย์จริงๆ มันพึ่งตัวเองได้เกือบหมด ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มันอาศัยศักยภาพในตัวเข้าแก้ไข เมื่อเริ่มหน้าแล้งต้นไม้เตรียมสลัดใบทิ้งเพื่อลดการคายน้ำ ของเสียที่เกิดจากกระบวนการเคมีในการลดปริมาณสารโปรตีนในใบที่ไม่ใช้งาน ทำให้ใบไม้เปลี่ยนสีเป็นสีเหลือง สีแสด สีแดง พรืดทั้งป่า แล้วต้นไม้ส่วนใหญ่ในป่าผลัดใบจะเริ่มออกดอก ต้นจานหรือทองหลางผลิดอกเรียวแดงเป็นเล็บคุณนายล่อนกกินปลีมากินน้ำหวาน (ค้างคาวก็มา แต่มันไม่เห็นสี) เรือนยอดตะแบกกลายเป็นไอติมรสองุ่นสีม่วงชามใหญ่ ต้นชันยอดก็ออกดอกเหลืองหอมเย็น ส่วนต้นเหียงออกดอกเป็นรูปคล้ายกังหันกระดาษพับสีชมพูขนมตรุษจีน ด้วยเหตุที่ดอกไม้ไม่มีรูหายใจเหมือนใบ ต้นไม้จึงไม่เสียความชื้นมากนักเมื่อออกดอก นอกจากนี้การที่มันออกดอกผสมพันธุ์ในหน้าแล้ง กลับเป็นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพราะมันได้เก็บช่วงเวลาฝนตกไว้สำหรับการเจริญเติบโตเพียงอย่างเดียว
ส่วนพืชพื้นล่างมีวิธีปรับตัวรับแล้งไปอีกแบบ หญ้าส่วนมากจะออกดอกปลายหน้าฝนและแตกเมล็ดช่วงต้นแล้ง เสร็จแล้วมันจะดึงพลังงานเก็บสะสมไว้ในรากใต้ดินพร้อมทิ้งใบเหี่ยว พวกพืชมีหัวมีแง่งใต้ดิน เช่น พืชตระกูลขิงอย่างเอื้องหมายนา เปราะกระชาย และกล้วยไม้ดินบางชนิด เช่น สังหิน จะออกดอกในเวลาต่าง ๆ กันตลอดหน้าฝน และเก็บพลังงานลงใต้ดินเช่นเดียวกัน ส่วนกล้าไม้ก็ทำตัวเหมือนพ่อแม่มัน คือสลัดใบทิ้ง แต่ถ้าอากาศไม่แล้งจัด มันก็อาจไม่ทิ้งใบ
เนื้อเยื่อส่วนที่ใช้ในการเจริญเติบโตของพืชจะตายถ้าถูกความร้อนราว ๖๐ องศาเซลเซียสเป็นเวลานาน ๒-๓ นาที ดังนั้นการที่พืชหลายชนิดปกป้องเนื้อเยื่อของมันในช่วงหน้าแล้ง จึงเป็นกุญแจสำคัญช่วยให้พันภัยจากไฟ เมื่อเกิดไฟไหม้ พืชที่เก็บพลังงานและตาแตกใบไว้ใต้ดินจะไม่ถูกกระทบกระเทือน เพราะดินป่าเต็งรังเป็นตัวกันความร้อนอย่างดี เนื่องจากไม่ค่อยมีอินทรีย์วัตถุเป็นเชื้อชนวน ขนาดไฟผิวดินร้อนถึง ๗๐๐ องศา ยังไม่อาจเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิใต้ดินลึกเพียง ๕ เซนติเมตรได้ ส่วนต้นหญ้าซึ่งมีตาแตกใบอยู่ระดับผิวดิน ก็มีใบแห้งอัดแน่นหุ้มอยู่ล้อมรอบ พวกปรงมีโคนก้านใบแห้งๆ ทับซ้อนคลุมตาไม้แน่น จนไฟไม่อาจไหม้ถึงเพราะขาดออกซิเจน
ต้นไม้ใหญ่ในป่าเต็งรัง ผิดจากไม้ส่วนมากในป่าดิบตรงที่มีเปลือกหนาทนไฟได้ดี แต่ถ้าเปลือกถูกกะเทาะด้วยคน หรือโดนสัตว์ถูเขา เนื้อไม้อาจโดนไฟทำลายได้ ไม้ที่เป็นแผลเล็ก ๆ ที่โคนมียางซึมออกมาก็อาจติดไฟ แต่เมืองยางไหม้หมด ไฟก็มักดับไม่ไหม้ทะลุลึกเข้าไปในเนื้อไม้หรือถ้าลึกก็ลึกไม่มาก
กล้าไม้ที่เปลือกยังไม่หนา มักโดนไฟไหม้ แต่กล้าไม้ในป่าเต็งรัง มีตาอยู่ใต้ดิน ทำให้งอกใหม่ได้ โดยอาศัยแร่ธาตุจากขี้เถ้าหลังไฟไหม้เป็นปุ๋ยช่วยให้เติบโตอย่างรวดเร็วในระยะ ๒ เดือนแรก และถ้าความชื้นในดินมีมากพอ กล้าไม้จะสามารถงอกได้สูงเท่าเดิม หรือมากกว่าเดิมเสียอีก ฉันเคยวัดเต็งต้นหนึ่งสูงเพียงแค่ ๑๙ เซนติเมตร แต่หลังไฟไหม้เพียงเดือนเดียวมันกลับพุ่งสูง ๔๐ เซนติเมตรก่อนหน้าฝนตกด้วยซ้ำไป เหลือเชื่อจริงๆ แต่ถ้ามันโดนไฟเป็นประจำทุกปี มันก็ไม่มีโอกาสเติบโตเป็นไม้ใหญ่
โดยทั่วไป กล้าไม้ในป่าเต็งรัง ต้องการเวลาราว ๔ ปี เพื่อโตและมีเปลือกหนาทนไฟ แต่แม้ไฟไหม้ถี่กว่านั้น กล้าไม้ก็ยังอาจมีโอกาสโตได้ เท่าที่ฉันสังเกตดู ส่วนใหญ่กล้าไม้ในป่าเต็งรังจะขึ้นเป็นกลุ่ม ถ้าไฟไม่แรงเกินไป กล้าไม้ต้นในกอมักไม่โดนไฟ ดังนั้นจากจำนวนกล้าไม้มากมาย จึงมีบางต้นที่รอดตายจากไฟ ความแล้ง และจากการแข่งขันตามธรรมชาติ จนได้โตเป็นไม้ใหญ่ เท่ากับเป็นการรักษาสภาพโปร่งของป่าเต็งรัง
ความสามารถแตกหน่อของพืชป่าเต็งรัง อาจช่วยให้พืชยืนอายุสู้ไฟได้ แต่ความสมบูรณ์ของสังคมป่าจะคงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อสามารถแพร่พันธุ์สืบต่อเป็นรุ่น ๆ ไป นอกเหนือจากสืบตระกูลไม่ให้สูญพันธุ์แล้ว มันต้องมีโอกาสสร้างความหลากหลายเปลี่ยนยีนตัวผู้ตัวเมีย โอกาสที่ธรรมชาติจะคัดเลือกไม้เด็กรุ่นใหม่ที่มีความสามารถเอาตัวรอดในสภาพแวดล้อมวันนี้และวันหน้าก็จะสูงตามไปด้วย และนี่คือจุดอ่อนของการทำ “ทิชชูคัลเชอร์” (tissue culture) หรือการเพาะพืชจากเนื้อเยื่อในห้องแล็บ ที่กำลังนิยมในปัจจุบัน มันดีในแง่ของการค้า เพราะจากเนื้อเยื่อชิ้นเดียวสามารถเพาะเป็นพืชต้นใหม่(ตัวเดิม) ได้มากมายหลายร้อยหลายพันต้น ทำแล้วทำอีกได้ไม่รู้จบ แต่จุดเด่นจุดอ่อนของยีนยังคงเหมือนต้นแม่พิมพ์ การเพาะเนื้อเยื่อจึงไม่สามารถรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงในการอนุรักษ์พันธุ์ไม้
เรามีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับผลของไฟป่ามี่มีต่อเมล็ดพืช ต้นไม้หลายชนิดโดยเฉพาะในป่าเต็งรัง ทิ้งลูกหลังไฟไหม้และงอกในต้นหน้าฝนขณะที่ดินยังอุดมสมบูรณ์ด้วยปุ๋ยจากขี้เถ้า ส่วนเมล็ดพืชที่ตกอยู่บนดินตอนต้นหน้าแล้ง อาจมีกระบวนการบางอย่างที่ทำให้ถูกฝัง เช่น หญ้าห้างช้าง (Heteropogon triticeus) มีเดือยเป็นเกลียวยาวตรงปลายเมล็ดส่วนหัวเป็นจะงอยตะขอ เมื่อตกดินความชื้นจากน้ำค้างผิวดินตอนกลางคืนสลับกับความแห้งตอนกลางวันทำให้เดือยมันบิดเป็นเกลียว ดำดินลงไปได้เองเหมือนตะปูสกรู ส่วนหญ้าไผ่ (Apluda mutica) ออกรวงคล้ายข้าว พอสุกร่วงลงดิน มดง่ามสกุล Pheidologeton จะพากันขนไปเก็บสะสมเป็นเสบียงไว้ในรังใต้ดิน แต่คงมีส่วนหนึ่งหลงเหลืองอกขึ้นเป็นหญ้าใหม่ในหน้าฝน ที่ออสเตรเลียเราพบว่ามดพวกนี้เป็นตัวการสำคัญช่วยแพร่กระจายเมล็ดหญ้า
ส่วนเมล็ดพืชอื่น ๆ อาจถูกสัตว์เหยียบฝังจมดินบ้าง และอาจมีเมล็ดพืชบางชนิดต้องการไฟอ่อนๆ หรืออุณหภูมิค่อนข้างสูง ช่วยเผาให้เปลือกแตกก่อนงอกเป็นต้น เช่นเมล็ดสักในพื้นที่ไม่แห้งนัก คงเป็นเพราะว่า ถ้ามันแห้งมาก ไฟจะแรงจนเผาเมล็ดไหม้ถึงตายไปเลย ส่วนเมล็ดอื่นๆ อย่างประดู่ในป่าเบญจพรรณ ต้องอาศัยการผลิตเมล็ดจำนวนมากเข้าไว้ เพื่อจะมีเมล็ดส่วนหนึ่งที่รอดตาย
หลังไฟไหม้ แร่ธาตุต่างๆ ในเศษไม้ใบหญ้าแปรรูปเป็นขี้เถ้า อยู่ในสภาพที่ละลายน้ำได้ พืชจึงดูดซับเต็มที่จนโตเร็วมาก หญ้าอาจงอกใหม่ภายใน ๔ วัน แล้วแต่ปริมาณความชื้นในดิน เพียง ๒-๓ อาทิตย์ ต่อมาพื้นป่ากลับเขียวสด พืชบางชนิดออกดอก ไม่รู้เพราะไฟไปกระตุ้นหรือเปล่า ที่เห็นบ่อยก็มีเปราะดอกดิน (Kaempferia rotunda) ซึ่งเมื่อแรกจะโผล่แต่ตัว “ดอกดิน” ต่อเมื่อเหี่ยวแล้วใบถึงงอก หญ้าคาก็ออกดอกหลังไฟ จากนั้นเมล็ดเล็กๆ ติดใยขาวเบาก็ฟุ้งกระจายไปกับลมว่าว มันเจริญเติบโตดีเหลือเกินถ้ามีไฟไหม้เป็นประจำ
แม้บางครั้งพืชอาจดูดปุ๋ยจากขี้เถ้าได้เกือบหมด (ข้อมูลวัดที่อเมริกากลาง และออสเตรเลียเหนือ) แต่ไฟป่าทำให้ไนโตรเจนระเหิดหายไปในอากาศ และสารอินทรีย์ในดินถูกทำลาย ถ้าไฟไหม้ทุกปีดินจะเลวลงหรือไม่ก็เลวคงที่ แต่ความมหัศจรรย์ของป่าเต็งรังคือมันยังสามารถทนความเลวของดินได้ด้วย มันมักขึ้นในที่ที่เป็นดินลูกรัง หรือดินตื้นมีหินมาก ผิวที่ขรุขระของเปลือกไม้ชะลอการไหลของน้ำฝนตามลำต้น ช่วยลดแรงกระแทกของน้ำที่ตกชะผิวดิน และช่วยให้ต้นไม้ดูดซึมแร่ธาตุจากน้ำฝน
ต้นถั่วหลายชนิดขึ้นในป่าเต็งรัง เป็นพวกมีแบคทีเรียไรโซเบียม (Rhizobium) อยู่ที่ราก สามารถแปรไนโตรเจนในอากาศเป็นสารไนเตรตที่พืชต้องการ ป่าบางแห่งมีต้นพุงปลาช่อนห้อยโตงเตงตามกิ่งไม้ ต้นนี้ไม่ต้องอาศัยดิน เพราะมันมีใบเป็นถุงบวมๆ ข้างในมีมดอาศัยอยู่ มดจะขนเศษไม้เศษหญ้ามาสะสมจนเน่าเป็นดินร่วนสีดำ ต้นพุงปลาช่อนจะแยงรากเข้าไปในใบและดูดแร่ธาตุจากดินนี้มาเลี้ยงตัวเอง
สรุปแล้ว ไฟทำหน้าที่เป็นทั้งตัวกินพืชเหมือนสัตว์ ตัวย่อยซากพืชเหมือนเห็ดรา และเป็นตัวคัดเลือกพันธุ์พืชเหมือนคน
………………………………………………………
ป่าดิบ ถึงจะได้รับอิทธิพลจากไฟบ้าง ก็คงเฉพาะปีที่แล้งจริง ๆ เท่านั้นอาจราวร้อยปีครั้งหรือนานกว่านั้นถ้าเป็นป่าดิบชื้น อย่างที่ป่ากาลีมันตันในประเทศอินโดนีเซียประสบกับปรากฏการณ์แอลนีโน (EI Nino เกิดจากการอุ่นตัวของผิวมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันออกตรงเขตศูนย์สูตร ทำให้กระแสน้ำกระเสลมผันผวนไปหมด) เกิดภาวะแล้งฝน ป่าแห้ง ต้นไม้เล็กใหญ่ตายไปประมาณร้อยละ ๑๕ เมื่อไฟเผาไร่นาลามเข้าป่า โดนแนวถ่านหินใต้ดินจึงไหม้คุอยู่หลายปี จนเดี๋ยวนี้ก็ไม่แน่ใจว่าดับหรือยัง ยิ่งกว่านั้น การทำไม้ในป่าได้ทิ้งซากเชื้อเพลิงไว้มากมาย ไฟจึงไหม้แรง ต้นไม้ตายไปกว่าครึ่ง รวมพื้นที่ป่าไหม้ไฟปี พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๒๖ ถึง ๕,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร (๕ ล้านเฮกตาร์) ส่วนที่ไหม้ปี ๒๕๓๔ ยังไม่รู้อีกเท่าไร
ถ้าให้ป่าดิบได้พักฟื้น ไม่มีอะไรมารบกวน มันก็จะคืนสภาพในที่สุด (แม้ว่าการกระจายชนิดพันธุ์ไม้จะต่างไปจากเดิมก็ตาม) กระบวนการนี้อาจต้องใช้เวลาหลายร้อยปี ถ้าไฟไหม้บ่อยกว่านั้น สังคมพืชจะเปลี่ยนไป เป็นพืชที่ทนไฟได้มากขึ้น และขอบขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ไฟสร้างขึ้นมา ป่าดิบแล้งบ้านเราอาจเกิดไฟไหม้บ่อยกว่าป่าดิบชื้น เพราะเชื้อเพลิงแห้งมากกว่า แต่เมื่อไฟเกิดถี่เข้า ป่าเต็งรังหรือทุ่งหญ้าจะเข้ามาแทนที่
มันก็เป็นวงจรทางธรรมชาติ เพียงแต่ไม่ใช่วงจรกลมๆ หากเป็นวงบันไดวนที่หมุนควงไปเรื่อยๆ ป่าแห้ง ป่าไหม้ ป่าฟื้น ป่าเปลี่ยนไป
สำหรับป่าเต็งรัง แม้จะทนไฟได้ดี แต่มันก็ปรับตัวได้ดีต่อไฟป่าเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ถ้ามันโดนไฟไหม้ซ้ำแล้วซ้ำอีก สภาพป่าจะเสื่อมโทรมลง ไม่มีลูกไม้โตขึ้นทดแทนไม้ใหญ่ ความหลากหลายของชนิดพืชก็ลดลง เหลือแต่พืชที่ทนไฟได้ดีจริงๆ อย่างหญ้าคาเท่านั้น ส่วนพืชเล็ก ๆ ที่อาศัยเกาะต้นไม้ใหญ่ เช่น ไลเคน กล้วยไม้ พุงปลาช่อน ดาวกระจาย จะลดจำนวน ถอยร่นไปขึ้นเฉพาะที่สูงๆ พ้นแนวความร้อนของเปลวไฟ
ไฟป่าทำให้ความชื้นในดินลดลงมากเช่นกัน จึงเป็นเหตุหนึ่งที่จำกัดพันธุ์พืชลงไป ในที่ลาดชัน พื้นที่โล่งเตียนหลังไฟไหม้ทำให้หน้าดินถูกชะพังทลายได้ง่ายเมื่อฝนตก จนในที่สุดเนินเขาเหลือแต่กระดูกโครงหินเมื่อถึงขั้นนี้ แม้แต่หญ้าคาก็ขึ้นได้หรอมแหรมเต็มที
บางคนคงอยากเติมว่า ไฟป่าเป็นต้นเหตุสำคัญ (อันหนึ่ง) ที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกครอบบรรยากาศโลก ทำให้โลกร้อนขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย บังกลาเทศน้ำท่วมกรุงเทพฯ เป็นเตาอบจมทะเล ฯลฯ
ระหว่างที่ฉันทำวิจัยเรื่องไฟป่าอยู่ เพื่อนๆ มักตัดหนังสือพิมพ์หรือถ่ายสำเนาบทความเรื่องเหล่านี้มาให้เรื่อยๆ นักวิทยาศาสตร์อเมริกันอ้างว่า ไฟป่าปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาถึงร้อยละ ๓๐ ของปริมาณทั้งหมด ถ้าเราคิดดูให้ดี จริงอยู่เวลาไฟไหม้ซากพืช ย่อมเกิดการเผาผลาญธาตุอินทรีย์ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา แต่ภายในไม่กี่อาทิตย์ ป่าก็ฟื้นขึ้นใหม่อย่างรวดเร็ว พืชที่เร่งรีบเจริญเติบโตต้องใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณมากมาปรุงอาหาร คาร์บอนไดออกไซด์กลับเป็นปัจจัยขาดแคลนต่อกระบวนการสังเคราะห์แสงเสียด้วยซ้ำเพราะในเขตร้อนอุณหภูมิอบอุ่นและแสงแดดเหลือเฟือ พืชมีโอกาสปรุงอาหารทั้งวันตลอดปีถ้ามีน้ำเพียงพอ ฉันจึงไม่อยากจะเชื่อว่าไฟป่าเป็นตัวสร้างภาวะเรือนกระจกที่ร้ายแรงในตัวมันเอง อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในทางตรง มันมีส่วนในทางอ้อม โดยส่งเสริมให้ทุ่งหญ้าหรือป่าโปร่งรุกล้ำเข้าแทนที่ป่าดิบซึ่งมีต้นไม้ดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปสะสมเป็นธาตุคาร์บอนในเนื้อไม้ได้มากกว่าทุ่งหญ้า อีกอย่าง ไฟป่าก็เกิดมานานแล้ว ผู้ร้ายสร้างภาวะเรือนกระจกตัวสำคัญกว่า อย่างไรเสียคงหนีไม่พ้นรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานฟอซซิล
อำนาจการทำลายของไฟที่เราเห็นๆ กันในปัจจุบัน ทำให้ความคิดต่อต้านไฟป่าเกิดได้ง่ายมาก ทุกวันนี้เราเห็นแต่ปัญหาที่เกิดจากไฟไหม้มากเกินไป บ่อยเกินไป รุนแรงเกินไป จนมองไม่เห็นว่าไฟป่ามีดีตรงไหนบ้าง
ในเมืองไทยเราไม่เคยมีโอกาสหยั่งรู้ถึงข้อเสียที่อาจตามมาถ้าป่าผลัดใบปลอดไฟโดยสิ้นเชิง แต่เรามีบทเรียนจากพม่าเป็นข้อคิด ไฟช่วยลดปริมาณเชื้อเพลิงที่สะสมไว้บนพื้นป่าบางแห่งให้ต่ำกว่าขีดอันตราย และในบางกรณีไฟอาจช่วยคั่วเมล็ดพืชบางชนิดให้แตกเพาะได้ ถึงเรายังไม่พบตัวอย่างเช่นนี้ในเมืองไทย แต่ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรายังไม่ได้ศึกษาสักเท่าไร
ป่าผลัดใบบนเนินลาดที่เกิดไฟไหม้ราว ๕ ปีหน รักษาหน้าดินจากการชะล้างของน้ำฝนได้ดีกว่าป่าที่ไม่มีไฟไหม้เลย เพราะไฟที่เกิดเป็นบางครั้งบางคราวส่งเสริมให้พืชจำนวนมากขึ้นคลุมดิน โดยการกระจายแร่ธาตุในป่าเวียนกลับไปเป็นปุ๋ยลงดินให้พืชต้นใหม่เจริญเติบโต
ที่สำคัญคือ ไฟเกิดขึ้นได้มากมายหลายลักษณะ ส่งผลกระทบต่อพืชแต่ละชนิดต่างๆ กัน ไฟป่าไม่ใช่ไฟนรกไปเสียหมด
ไฟที่ไหม้หญ้ายังไม่แห้งสนิท โดยมากมีอุณหภูมิผิวดินต่ำกว่า ๔๐๐ องศาเซลเซียส เป็นความร้อนมาก พอเผาสารอินทรีย์ในดินให้แปรสภาพเป็นปุ๋ย แต่ไม่มากพอจะทำลายโครงสร้างของดิน ไฟแบบนี้ไหม้ไม่สูงมาก อุณหภูมิอากาศลดลงสู่ปกติในระดับ ๒ เมตรเหนือผิวดิน ลักษณะเด่น คือ มันไหม้เป็นหย่อมๆ ลามไม่ทั่วถึง ไหม้เฉพาะที่ที่มีใบไม้แห้งสะสมมากพอ หรือเฉพาะจุดที่หญ้าบังเอิญแห้งกว่าตรงอื่น (อาจโดนแดดมากเป็นพิเศษ) และมักจะไหม้ตามทิศทางที่ลมพัด ไม่ไหม้ลามสวนทางลม ถึงลามก็ดับง่าย จำนวนลูกไม้ที่ไม่โดนไฟมีอยู่สูง ส่วนหญ้าถ้าโดนเผาขณะยังเขียวอยู่บ่อยๆ มันจะอ่อนแอลงเรื่อยๆ เพราะถูกตัดกำลังก่อนทันเก็บพลังงานลงใต้ดิน ถ้าพื้นที่นั้นไม่แล้งจัดหรือดินไม่เลวจนเกินไป กล้าไม้ก็อาจเติบโตขึ้นรุกรานหญ้าจนป่าทึบมากขึ้น ความหลากหลายของชนิดพืชก็จะค่อนข้างสูง เพราะสภาพแวดล้อมมีความแตกต่างเป็นหย่อมๆ ไป จากการทดลองเป็น ๔๐ ปี ในป่าแอฟริกาที่มีลักษณะทางนิเวศคล้ายป่าเต็งรังบ้านเรา พบว่าพื้นที่ที่เผาไฟต้นฤดูแล้งมีชนิดพันธุ์พืชมากกว่าพื้นที่ที่ป้องกันไฟ โดยมีทั้งพืชทนไฟและพืชที่ทนไฟไม่ค่อยดีนักคละกันอยู่
หลังจากจากฝนชะช่อมะม่วง หญ้าบางชนิดอย่างหญ้าหางช้างจะล้มลงนอนเรียนประสานเหมือนฟืนจัดวางอย่างดี เมื่อเกิดไฟไหม้ ไฟจะไหม้ร้อนแรงและลามเร็ว เปลวไฟสูงได้ถึง ๒-๓ เมตร โดยเฉพาะในเดือนมีนาคมที่อากาศร้อน ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ ลมว่าวพัดแรง ฉันเคยวัดอุณหภูมิไฟชนิดนี้ได้สูงถึง ๙๐๐ องศาเซลเซียสในระดับผิวดิน เป็นอุณหภูมิสูงมากพอจะละลายผลึกโมเลกุลแร่ มันทำลายโครงสร้างของดินอย่างถาวร ทำให้ผิวดินอัดแน่นน้ำซึมไม่สะดวก แต่แตกกะเทาะได้ง่าย เวลาถูกชะหลุดหายไปทั้งแผ่น ป่าที่เกิดไฟแบบนี้บ่อยๆ ไม่ค่อยมีไลเคนและพืชเกาะต้นไม้ขึ้นสักเท่าไรนัก นอกจากบนกิ่งสูงจริงๆ กล้าไม้ที่เจอไฟแบบนี้มักไหม้เป็นเถ้าถ่านทุกต้น
ไฟแบบนี้ลามเร็วมาก เท่าที่ฉันเคยวัด มันลามได้ถึง ๓ เซนติเมตรต่อวินาทีบนที่ราบ เร็วกว่าไฟต้นฤดูราว ๓-๔ เท่า อัตรานี้ถ้านำไปเทียบกับเสือชีต้าอาจดูไม่เร็วนัก แต่สำหรับไฟป่าเราถือว่าเร็วทีเดียว ยิ่งถ้าหญ้ารกๆ ไฟไหม้ดักหน้าดักหลัง สัตว์วิ่งเก่งๆ อย่างเก้งยังมีคนเห็นถูกครอกตายมาแล้ว นับประสาอะไรกับสัตว์ต้วมเตี้ยมอย่างเต่าบกที่บางครั้งคนก็หาเรื่องจุดไฟจับมันมากิน
……………………………………………..
คนใช้ไฟเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ มาแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ในวันนี้สถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนไป จำนวนคนเข้าป่ามีมากขึ้น ขณะที่พื้นที่ป่าโดยเฉพาะป่าดิบมีน้อยลง แต่ในวันนี้เรายังสามารถใช้ไฟเผาป่าเป็นเครื่องมือเช่นเดียวกับบรรพบุรุษได้ ถ้าเรามีความเข้าใจมากพอ
เมื่อพืชต่างชนิดปรับตัวได้ดีต่อไฟแต่ละแบบ เราสามารถเลือกใช้ไฟเพื่อส่งเสริมพืชจำพวกหนึ่ง และลดจำนวนพืชอีกจำพวกหนึ่ง เราสามารถใช้ไฟเพื่อป้องกันไฟ เป็นต้นว่าตามแนวป่าเต็งรังหรือทุ่งหญ้าใกล้ป่าดิบ ไฟอ่อนๆ เผาต้นฤดู จะช่วยสร้างเขตกันชนให้ป่าดิบ และค่อยๆ เสริมให้ร่มไม้ขยายพื้นที่รุกทุ่งหญ้า เราอาจสร้างแนวกันไฟที่มีประสิทธิภาพโดยการเผากำจัดเชื้อเพลิงเป็นระยะๆ ก่อนถึงหน้าร้อน เพื่อกันไม่ให้ไฟลามเข้าพื้นที่ป้องกัน
ช่วงเวลาการเกิดไฟในฤดูแล้งมีผลกระทบโดยตรงต่อวงจรชีวิตสัตว์ป่า สัตว์หลายชนิด รวมทั้งแมลงผสมเกสรบางอย่าง วางไข่ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ สัตว์ที่ลำบากที่สุดได้แก่นกทำรังบนดิน เช่นไก่ป่ากับนกยูง การจุดไฟหย่อมต้นฤดูเพื่อดักไฟไหม้ ทิ้งที่หลบให้สัตว์ ในขณะเดียวกัน หญ้าระบัดก็ยังมีให้กินเป็นระยะๆ แต่นี่เป็นเพียงทฤษฎีที่ยังไม่เคยทดลอง
การกำหนดเผาไฟแบบนี้อาจฟังดูซับซ้อน ต้องอาศัยความเข้าใจจำเพาะในพื้นที่ ความเข้าในพฤติกรรมของไฟและสังคมป่า ซึ่งอีกกี่ชั่วชีวิตเราก็ไม่บังอาจเรียนรู้ได้หมด แต่เรามีทางเลือกสักเท่าไร?
ก. ปล่อยไฟไหม้เองตามปกติ
อันนี้เห็นจะไม่ได้แน่ มันไหม้มากไป
ข. ป้องกันไฟคนจุด แต่ปล่อยไฟธรรมชาติให้ไหม้
ฟังดูดี แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าไฟไหนเป็นไฟที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ นอกจากนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปมาก ดูจากอุณภูมิอากาศ ไฟธรรมชาติจะเกิดช่วงปลายหน้าแล้ง เป็นไฟแรง แต่เกิดไม่บ่อย แต่ปัจจุบันป่าเหลือน้อยเต็มที จะปล่อยตามบุญตามกรรมคงไม่ดีเท่าไร ดูตัวอย่างไฟไหม้ป่ากาลีมันตัน ลามเสียหายมาก เพราะถูกคนทำไม้มาก่อน
ค. ป้องกันไฟโดยเด็ดขาด
ทำได้ถ้าทุกคนพร้อมใจกันทำ แต่อาจไม่เหมาะกับระบบนิเวศทุกแห่ง
ง. (ข้อนี้ถูกเสมอ) เผาตามกำหนด ควบคุมไปกับการป้องกันไฟ
ถ้าใครสู้ทนอ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะเห็นด้วยกับฉันบ้างว่า บางครั้งไฟป่าเป็นสิ่งที่ดีถ้าควบคุมได้ การกำหนดเผาไฟตามวัตถุประสงค์ไม่ใช่การทำตัวเป็นพระเจ้าเหนือธรรมชาติ หรือเป็นเจ้าของทรัพยากรโลกที่เที่ยวชี้นิ้วเลือกเฟ้นเอาแต่สิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่มันเป็นเรื่องของความรับผิดชอบ เพราะไฟไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมในธรรมชาติ และมนุษย์ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเผด็จการเสมอไป วัตถุประสงค์ในการเผาขึ้นอยู่กับทัศนคติของคน
ก็แล้วใครควรจะเป็นผู้ตัดสินว่าพื้นที่ตรงไหนควรป้องกันไฟ ตรงไหนควรเผา เผาเพื่ออะไร แล้วเผาอย่างไร
เพราะพฤติกรรมของไฟและผลกระทบต่อสังคมป่าแตกต่างกันมากในแต่ละท้องที่ ขึ้นอยู่กับภูมิอากาศเฉพาะส่วน โครงสร้างของป่า ชนิดของเชื้อเพลิง ชนิดของพืช ความลาดเทของพื้นดิน ฯลฯ ประกอบกับปัจจัยดำรงชีวิตของคน ฉันจึงอยากบอกว่า ให้ประชาชนคนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมมือกันกำหนดตามแต่ความเหมาะสมในพื้นที่นั้นๆ แต่ไม่ต้องหลับตาก็เห็นปัญหาสารพัดแล้ว และยังกระดากปาก เพราะการพูด ใครๆ ก็พูดได้ และพูดอยู่ตลอดเวลา แต่การลงมือทำมันยากจริงๆ
…………………………………………………..
เมื่อ ๒ ปีที่แล้วฉันไปอมก๋อย เพื่อสำรวจพื้นที่ดูไลเคนให้เพื่อน ข้ามเขาหลายลูกจนลิ้นห้อย นอนพักแรมกัน ๒ คืน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ไปด้วยก็น่ารักใจหาย เที่ยวเก็บก้านบุบและยอดหวายมาต้มส้มให้กิน เมื่อโผล่เข้าถึงม่อนจอง แม้จะเคยเห็นรูปถ่ายมาก่อน แต่ฉันก็ถึงกับตะลึงเมื่อพบเขาหินตั้งตระหง่านเป็นแนวยาวโค้งลับไปสู่ “มรกตนคร” แดนไกลโพ้นแห่งตำนานเพชรพระอุมา ด้านข้างชันลาดเป็นหุบ ตีนเขาแช่อยู่ในอ่างไอหมอก มีอะไรบางอย่างที่ลึกลับ ดึกดำบรรพ์ จนนึกไม่ออกว่าเดินวันเดียวก็ถึงถนน
ป่าดิบแถวนั้นงามมาก มีต้นเต่ารั้งยักษ์ (Caryota) จำปาเขา (วงศ์ Magnoliaceae) และต้นอะไรต่อมิอะไรอีกไม่รู้กี่ร้อยอย่าง ที่วิเศษมากคือ ฉันพบไลเคนถึง ๒ ชนิด มีขึ้นแต่ในสังคมพืชเก่าแก่ที่ไม่ถูกรบกวนมาเป็นเวลานานคือ โลแบเรีย (Lobaria ไลเคนท้องหนังเสือดาว) และฟิซกีเดีย (Physcidia) ตัวหลังนี่เราเคยเจอมาก่อนหน้านี้เพียง ๒ ครั้งเท่านั้น แต่ที่พบงามสมบูรณ์เหมือนอย่างที่นี่ก็มีที่เดียว คือ ในป่าดิบหินปูนหน้าตาโบราณ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งใกล้ชายแดนทุ่งใหญ่ฯ
ตรงหุบเขาเป็นทุ่งหญ้าใหญ่ เจ้าหน้าที่บอกเป็นทุ่งธรรมชาติ (เกิดจากปัจจัยบางอย่างในดิน) มีช้างเดินผ่านอยู่บ่อยๆ ช่วงที่ฉันไปเป็นเดือนเมษายน ไฟไหม้ทุ่งหญ้าเกือบหมดแล้ว ตามพื้นดินมีขี้วัวอยู่หลายกอง เจ้าหน้าที่เล่าว่าชาวบ้านชอบลอบเผาไฟ เพื่อปล่อยวัวเลี้ยงเข้ามากินหญ้าระบัด ไฟนั้นลามไหม้ป่าดิบบนไหล่เขาที่เราปีนขึ้นไปเห็นเป็นทางยาว เนื้อไม้ไหม้ดำเป็นแถว บางต้นเปลือกร่อนออกเป็นแถบๆ มองดูรอบๆ ก็เห็นชัดว่าป่านี้ไม่ค่อยทนไฟ เพราะแนวเขตระหว่างทุ่งหญ้ากับป่าไม้นั้นคมกริบ ชนิดที่ยืนกางขาคร่อมให้เท้าซ้ายเหยียบป่าเท้าขวาเหยียบหญ้าได้ จะว่าความแตกต่างนี้เกิดจากดินที่ต่างกันมากๆ ก็ไม่น่าใช่ เพราะแนวเขตก็เป็นไปตามลักษณะการลามของไฟขึ้นเขา
ท่ามกลางซากป่าไหม้ ไลเคนท้องหนังเสือดาวชิ้นหนึ่งปลิวจากกิ่งไม้มาตกที่เท้าฉัน ตรงขอบมีรอยไหม้สีน้ำตาล ฉันเก็บมันห่อกระดาษใส่กระเป๋า
เมื่อขึ้นถึงยอดสันเขา เป็นป่าชื้นมีมอสขึ้นเต็ม และมีกุหลาบพันปีกิ่งหงิกๆ งอๆ ขึ้นอยู่ตรงชายป่า ฉันยิ่งแน่ใจว่า ป่าดิบนี้หดลดลงด้วยไฟ เพราะมีร่องรอยไม้ไหม้เก่าๆ เหลืออยู่ในทุ่งหญ้า แสดงว่าแม้ใจกลางทุ่งหญ้านี้จะเป็นทุ่งเก่าแก่ แต่ปัจจุบันมันได้รุกราน แผ่อาณาเขตล้ำเข้าป่าดิบซึ่งเป็นต้นน้ำลำธารมากขึ้นทุกที
คืนนั้นฉันชวนเจ้าหน้าที่คุยเรื่องปัญหาไฟป่า เขาไม่ค่อยจะเห็นด้วย ยืนยันว่าเป็นทุ่งหญ้าธรรมชาติและไฟเป็นส่วนหนึ่งของวงจรป่า ฉันถามต่อไปว่า เราควรจะทำอย่างไรที่จะให้ชาวบ้านมีความภูมิใจ ร่วมมือกันรักษาป่าดิบเก่าแก่แห่งนี้ และจะเป็นไปได้ไหม ถ้าเขาจะเผาหญ้าระบัดเลี้ยงวัวในทุ่งด้านนอก ไม่ต้องแอบจุดแล้ววิ่งหนีปล่อยให้ไฟลามโดยไม่มีการควบคุม
กำแพงที่มองไม่เห็นก็ถูกดึงขึงพรืดขึ้นมาทันที สีหน้าของพวกเขาเย็นชาทำตัวห่างเหินฉันไปหลายชั่วโมง เขาคงคิดว่า แกจะรู้อะไร ลองมาเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ดูบ้างสิ ไม่โดนเจ้าถิ่นเขาอัดตายก็บุญถมไปแล้ว
ฉันเห็นใจที่เขาโกรธ แต่ถึงอย่างไรฉันยังเชื่อว่าเราทุกคนต้องมาคุยถึงเรื่องนี้กันอีกที
นิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๑๐๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗
สภาพป่าเต็งรังเดือนมกราคม หญ้ากำลังจะแห้งได้ที่
ป่ายูคาลิปตัสที่ดาร์วิน ประเทศออสเตรเลีย (มีลักษณะโครงสร้างและนิเวศวิทยาคล้ายคลึงกับป่าเต็งรังบ้านเรา) ทางด้านซ้ายคือพื้นที่ที่ป้องกันไฟเป็นเวลา 20 ปี มีต้นไม้เล็กขึ้นหนาแน่นและหลากชนิด ทางด้านขวาเป็นพื้นที่ถูกไฟปลายฤดูแล้งไหม้เป็นประจำทุกปี จึงไม่ค่อยมีต้นใหม่โตขึ้นมาทดแทน
วงจรไฟป่าและแนวทางปรับตัวของพืชป่าเต็งรัง
ป่าดิบเขาชื้น (moss forest) ที่ดอยม่อนจอง (รูปบน) และดอยอินทนนท์ (รูปล่าง) ถูกไฟไหม้ทุ่งหญ้าลามขึ้นเขารุกเข้าป่าดิบ ซึ่งถอยร่นไปเรื่อยๆ โปรดสังเกตเขตแนวระหว่างทุ่งหญ้าและป่าดิบคมชัดมาก แสดงถึงความไม่ทนไฟของป่าดิบเขาชื้น ที่ดอยอินทนนท์มีเพียงต้นสาบเสือคั่นอยู่เป็นแนวแคบๆ บ่งถึงพื้นที่ป่าที่เพิ่งไหม้ไปไม่นาน ต้นไม้ขึ้นโด่เด่กลางทุ่งหญ้า ๒ ต้นเป็นส่วนที่หลงเหลือของป่าเดิม บังเอิญมันทนไฟดีกว่าต้นอื่น
Terminalia ต้นใหญ่ (สกุลเดียวกับต้นหูกวาง) ในป่าดิบเขาที่ดอยสุเทพ มีเปลือกไม้บาง ไม่หนาทนไฟอย่างไม้ป่าเต็งรัง เมื่อโดนไฟก็ไหม้คุจนเป็นโพรง