in on May 18, 2015

รวย-จน เสี่ยงตายต่างกัน

read |

Views

เมื่อเร็วๆ นี้ มีข้อมูลในเว็บไซต์พันทิปให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยติดลำดับที่ 3 ประชาชนในประเทศมีความสุขมากที่สุดในโลก เป็นการเก็บข้อมูลจาก 148 ประเทศทั่วโลก ใช้เกณฑ์จากผลสำรวจจากคน 1,000 คน ในประเทศต่างๆ ด้วยคำถามอาทิเช่น เมื่อวานคุณหัวเราะหรือได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หรือไม่ พบว่า 5 ลำดับประเทศที่ประชาชนมีความสุขที่สุดตามลำดับ คือ 1) ปานามาเท่าปารากวัย 2) เอลซัลวาดอร์เท่าเวเนซุเอลา 3) ไทย 4) ฟิลิปปินส์ 5) สิงคโปร์ ในขณะที่สหรัฐอเมริการั้งลำดับที่

(คลิ๊กเพื่ออ่าน) 33pantip.com/topic/13097100

ส่วนข้อมูลจาก ไทยรัฐออนไลน์ เมื่อปี 2557  กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ ได้สำรวจระดับความสุขใน 156 ประเทศทั่วโลก ช่วงปี 2553- 2555 พบว่า ประเทศที่มีความสุขลำดับ 1 ในโลก คือ เดนมาร์ก ส่วนไทยอยู่ในลำดับที่ 36 ของโลก และอยู่ในลำดับที่ 2 ของอาเซียน รองจาก สิงคโปร์ (ลำดับที่ 30) โดยระบุว่า ปัจจัยความสุขที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก ได้แก่ รายได้ การมีงานทำ ความสัมพันธ์ที่ดีและความไว้วางใจกันในชุมชน มีค่านิยมที่เอื้อต่อความสุขและศาสนา สุขภาพกาย สุขภาพจิต ความสัมพันธ์ในครอบครัว การศึกษา และความเท่าเทียมทางเพศและสังคม

(คลิ๊กเพื่ออ่าน) 33pantip.com/topic/13097100

ส่วนข้อมูลล่าสุดในปีนี้ เว็บไซต์กระปุกกล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2558 สำนักข่าวเอเอฟซีรายงานถึงผลการสำรวจดัชนีความสุขของประชากร 158 ประเทศทั่วโลกโดยสหประชาชาติ ประจำปี 2015 พบว่า 10 อันดับแรก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ แคนาดา ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาตามมาในลำดับที่ 15 และอังกฤษ ในลำดับที่ 21 ทั้งนี้กลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) สิงคโปร์สูงสุดอยู่ที่ 24 ตามมาด้วยประเทศไทยในลำดับที่ 34 รัสเซียอยู่อันดับที่ 64 ส่วนพี่ใหญ่ของเอเชียอย่างจีนได้ที่ 84

(คลิ๊กเพื่ออ่าน) 33pantip.com/topic/13097100

ผู้เขียนลองหาข้อมูลเพิ่มขึ้นอีกสักแหล่งเพื่อให้เห็นความแตกต่างมากขึ้น ก็ไปพบเว็บ telegraph ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในปี 2556 เดนมาร์คถูกจัดว่ามีความสุขที่สุดในโลก ซึ่งเป็นแนวเดียวกับที่ไทยรัฐรายงานข้อมูลขององค์การสหประชาชาติในปีที่แล้ว แต่ในรายงานของ telegraph นั้นไม่มีประเทศไทยติดอยู่ใน 50 ประเทศแรกที่มีความสุข ผู้เขียนจึงสงสัยว่า แล้วจะเชื่อได้ไงว่า ตกลงคนไทยมีความสุขหรือไม่ คิดไปคิดมาเลยคิดใหม่ว่า ตกลงคนไทยมีความทุกข์มากลำดับที่เท่าไรของโลก

ประเด็นความทุกข์นั้นให้คำจำกัดความยากมากว่า อะไรคือความทุกข์ แต่เมื่อมาคิดว่า ในเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพแล้ว สิ่งที่น่าจะเป็นความทุกข์ลำดับต้น ๆ ของคนทั่วไปน่าจะคือ การเป็นมะเร็ง เพราะเมื่อเป็นแล้วมันเดือดร้อนกันไปหมดทั้งครอบครัว ตลอดไปถึงญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง ดังนั้นจึงลองหาข้อมูลประเทศที่มีคนเป็นมะเร็งมากที่สุด (โดยดูจากอัตราการเกิดคนไข้มะเร็งต่อประชากรจำนวนหนึ่ง) ก็พบข้อมูลที่น่าสนใจจากรายงานของ Continuous Update Project (CUP) ซึ่งเป็นโครงการสานงานต่อของ World Cancer Research Fund (WCRF) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนระหว่างประเทศที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของอาหาร โภชนาการ และการออกกำลังกายต่อการเกิดมะเร็ง) ในปี 2512 กล่าวว่า อัตราของการเกิดมะเร็งของประชาชนที่ปรับตามอายุของประชากรทั่วโลกนั้นมีอัตรา 182 คนต่อแสนคน โดยที่ตัวเลขของผู้ชายคือ 205 คน ในขณะที่ของผู้หญิงคือ 165 คน (www.wcrf.org/int/cancer-facts-figures/data-cancer-frequency-country)

ข้อมูลจากรายงานของ CUP นั้นน่าสนใจที่ว่า ประชาชนที่อยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายมีความเสี่ยงต่อการตายด้วยมะเร็งสูงกว่าประชาชนในประเทศที่ยากจน ข้อสันนิษฐานหนึ่งคือ การตรวจวิเคราะห์สาเหตุการตายของคนในประเทศพัฒนานั้นดีกว่าการตายของคนในประเทศที่ยากจน เพราะในหลายประเทศที่จัดว่าจนนั้น เขาจนจนไม่รู้ว่าคำว่ารวยนั้นสะกดอย่างไร เวลาตายไปก็ไม่มีใครสนใจจดสถิติ การสันนิษฐานนี้จริงเท็จอย่างไรคนที่ตายไปแล้วย่อมรู้ดี แต่กลับมาบอกไม่ได้

ตัวเลขที่น่าสนใจจากรายงานของ CUP นั้นเป็นการจัดลำดับประเทศที่เคราะห์ร้ายที่สุดในโลก 50 ประเทศ ในปี 2012 ซึ่งพบว่า เดนมาร์กซึ่งเป็นประเทศที่ถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก (The world happiest country) จากการจัดลำดับโดย www.telegraph.co.uk ดังกล่าวแล้วข้างต้นนั้น กลับเป็นประเทศที่เคราะห์ร้ายเป็นลำดับที่หนึ่ง โดยมีภาพรวมการตายด้วยมะเร็ง 338 คนต่อประชากรแสนคน ส่วนประเทศที่เคราะห์ร้ายเป็นลำดับที่ 50 คือ ปัวร์โตริโค (Puerto Rico) มีผู้เคราะห์ร้ายปีละ 211 คนต่อแสนคน

สำหรับ 9 ลำดับแรกของประเทศที่มีตัวเลขผู้เคราะห์ร้ายสูงกว่า 300 คนต่อปี คือ เดนมาร์ค, ฝรั่งเศส, ออสเตรเลีย, เบลเยียม, นอร์เวย์, สหรัฐอเมริกา, สาธารณรัฐไอร์แลนด์, เกาหลีใต้และเนเทอร์แลนด์) ที่น่าสนใจคือ ประเทศที่ถูกจัดว่าพัฒนาแล้วของเอเชียที่ติดลำดับประชาชนเคราะห์ร้าย คือ เกาหลีใต้ (ลำดับ 8) อิสราเอล (ลำดับ 19) คาซัคสถาน (ลำดับ 42) และญี่ปุ่น (ลำดับ 48) ผู้เขียนได้ลองทำการเปรียบเทียบลำดับความสุขและความทุกข์เนื่องจากมะเร็งของประชาชนในประเทศที่พัฒนาแล้วแสดงในรูปตารางต่อไปนี้

ประเทศ ลำดับความสุข* ลำดับความทุกข์** อัตราการเป็นมะเร็งต่อประชากร 100,000 คน
เดนมาร์ค 1 1 338.1
ออสเตรเลีย 10 3 323.0
นอร์เวย์ 2 5 318.3
เนเทอร์แลนด์ 4 9 304.8
แคนาดา 6 12 295.7
สวิทเซอร์แลนด์ 3 15 287.0
ไอซ์แลนด์ 9 17 284.3
สวีเดน 5 24 270.0
ฟินแลนด์ 7 29 256.8
ออสเตรีย 8 31 254.1

*http://www.telegraph.co.uk/travel/picturegalleries/10302485/The-worlds-happiest-countries.html?frame=2667866

**www.wcrf.org/int/cancer-facts-figures/data-cancer-frequency-country
ในรายละเอียดเชิงลึกนั้น ชายที่เคราะห์ร้ายที่สุดในโลกอยู่ที่ฝรั่งเศส (358 คนต่อแสนคน) ซึ่งมีตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนเดนมาร์คทั้งสองเพศรวมกัน ส่วนชายที่เคราะห์ร้ายในลำดับต่อมาซึ่งมีตัวเลขที่มากกว่า 350 คนต่อปีคือ ออสเตรเลีย นอรเวย์ เบลเยียม มาร์ตินิค (Martinique เป็นจังหวัดโพ้นทะเลของประเทศฝรั่งเศส โดยเป็นเกาะทางตะวันออกของทะเลแคริบเบียนในหมู่เกาะวินด์เวิร์ด) สโลเวเนีย ฮังการี และเดนมาร์ค โดยมีหนุ่มชาวเอเชียที่ติดในท๊อป 50 ของการจัดลำดับด้วยคือ อิสราเอล คาซัคสถานและญี่ปุ่น

สำหรับตำแหน่งหญิงเคราะห์ร้ายที่สุดนั้นไปตกที่หญิงชาวเดนมาร์ค (อัตราการตายที่ 329 คนต่อแสนคน โดยที่มีสตรีร่วมเคราะห์ร้ายด้วยอัตรามากกว่า 280 คนต่อแสนคน อาศัยอยู่ในประเทศ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ เนเทอร์แลนด์และเบลเยียม มีหญิงชาวเอเชียที่ติดลำดับในห้าสิบของความเคราะห์ร้ายด้วยคือ อิสราเอล คาซัคสถานและสิงคโปร์)

จะเห็นว่าอย่างน้อยความไม่พัฒนานักในหลายประเด็นของประเทศไทย อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนไม่ติดลำดับเคราะห์ร้ายอย่างประเทศอื่นเขาซึ่งมักอยู่ในยุโรป ทั้งนี้เพราะกระบวนการตรวจวิเคราะห์สาเหตุการตายของคนไทยว่าเกิดเนื่องจากสาเหตุใดนั้นไม่ได้น้อยหน้าเขาทั้งหลายในโลก ดังนั้นการไม่ติดลำดับจึงเป็นเรื่องน่ายินดี

แม้ว่าการเป็นมะเร็งนั้นจะเป็นเรื่องที่ใคร ๆ กลัวและพยายามหาทางลดความเสี่ยง แต่ถ้าถามผู้เขียนเองว่ากลัวมะเร็งอะไรมากที่สุด คำตอบคงต้องเป็นมะเร็งตับ ทั้งนี้เพราะในประวัติครอบครัวทางพ่อมีผู้ป่วยอาการนี้หลายคน ดังนั้นจึงได้เหล่สายตาไปมองเรื่องของมะเร็งตับที่มีการรายงานเป็นพิเศษโดย CUP ของ WCRF เรื่อง Diet, Nutrition, Physical Activity and Liver Cancer ในปี 2015 ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถดาวน์โหลดได้จาก wcrf.org/sites/default/files/Liver-Cancer-2015-Report.pdf

ข้อมูลจากรายงานดังกล่าวแสดงหลักฐานว่า อาหาร โภชนาการและการออกกำลังกายนั้นมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดมะเร็งตับ ซึ่งเป็นการสรุปรายงานการศึกษาในผู้ใหญ่ทั่วโลก 34 ชิ้น ที่มีตัวอย่างการศึกษา 8.2 ล้านคน และพบว่ามีจำนวนตัวอย่างที่ป่วย 24,500 ราย ในรายงานกล่าวถึงหลักฐานที่ชัดเจนว่าสาเหตุที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับได้แก่

1. น้ำหนักเกินและโรคอ้วน

2. การดื่มเหล้ามากกว่า 3 ดริ้งค์ต่อวัน (ในสหรัฐอเมริกานั้น 1 standard drink มีปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 14 กรัม ซึ่งเทียบเป็นปริมาตรของเหลวคือ เบียร์ซึ่งมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 5 จำนวน 12 ออนซ์, ไวน์ ซึ่งมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 12 จำนวน 5 ออนซ์ หรือ สุรากลั่นซึ่งมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 40 จำนวน 1.5 ออนซ์ โดย 1 ออนซ์ (ounce) เท่ากับ 30 มิลลิลิตร หรือ 2 ช้อนโต๊ะ)


3. การกินสารก่อมะเร็งเช่น อะฟล่าทอกซิน ที่ปนเปื้อนในอาหารพวกธัญพืช เครื่องเทศ ถั่วลิสง ถั่วพิสตาชิโอ ถั่วบลาซิล พริกไทยดำ และผลไม้แห้ง เป็นสาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งของมะเร็งตับ

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเพราะเข้ากับวัยรุ่นยุคคอตกคือ การดื่มกาแฟนั้นช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งตับ ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นใหม่ที่มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในรายงานนี้ (อีกประเด็นที่เพิ่งเปิดตัวเช่นกันคือ โรคอ้วนก็มีส่วนร่วมในการเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งตับดังกล่าวแล้วในตอนต้น)

ทำไมกาแฟถึงช่วยลดมะเร็งตับนั้น รายงานไม่ได้กล่าวไว้เนื่องจากไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการทำรายงาน แต่ ผู้เขียนจึงขอเสนอข้อมูลเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจมากขึ้น

เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่า กาแฟนั้นมีสารคาเฟอีนซึ่งทำให้นอนไม่หลับชั่วขณะหนึ่ง แต่สุดท้ายเราก็จะหลับ เพราะเมื่อสารนี้ไหลเวียนไปตามระบบโลหิตถึงตับ ตับจะมีเอนไซม์ที่เปลี่ยนแปลงให้คาเฟอีนละลายน้ำดีขึ้นจนถูกขับออกจากร่างกาย นอกจากนี้ในกาแฟที่ถูกคั่วแล้วนั้นจะมีสารก่อมะเร็งผสมอยู่ สารนี้เป็นสารที่เกิดจากควันระหว่างการคั่ว (ซึ่งเป็นตัวให้กลิ่นรสอย่างหนึ่งของกาแฟ) ติดอยู่กับกาแฟที่คั่วเสร็จแล้ว สารที่เกิดจากควันนั้นคือ โพลีไซคลิกอะโรเมติกไฮโดรคาร์บอน เช่น เบนโซ(เอ)พัยรีน ซึ่งก็ถูกเปลี่ยนแปลงเพื่อขับทิ้งที่ตับเช่นเดียวกัน (ถ้าปริมาณไม่มากเกินไป)

ในหลักวิชาการของชีวเคมีได้มีการค้นพบว่า สารที่เป็นตัวถูกย่อย (Substrate) ของเอนไซม์ใด ย่อมเป็นตัวกระตุ้นการผลิตหรือการทำงานของเอนไซม์ (enzyme inducer) นั้นๆ ดังนั้นในกรณีที่มีการดื่มกาแฟประมาณวันละสามแก้ว (มากเกินไปอาจทำให้นอนไม่หลับและตับอาจทำงานมากเกินไปจนไม่แข็งแรง) จึงน่าจะทำให้ได้รับสารจากกาแฟเป็นตัวกระตุ้นเอนไซม์ในตับให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ และเอนไซม์ที่ถูกกระตุ้นนี้แหละยังสามารถทำหน้าที่ในการทำลายสารก่อมะเร็งอื่นๆ ที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารเรา ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งตับเนื่องจากสารพิษที่ปนเปื้อนในอาหาร

ดังนั้นโดยสรุปแล้วคำแนะนำในการลดความเสี่ยงของมะเร็งตับก็คือ การรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสมคือ มีดัชนีมวลกายระหว่าง 18-25 สำหรับแอลกอฮอล์ ท่านที่เป็นชายไม่ควรดื่มเกินวันละ 2 ดริ๊งค์ และไม่เกิน 1 ดริ๊งค์สำหรับท่านหญิง แต่ถ้าไม่ดื่มเสียเลยก็จะดีกว่า

กระทำได้ดังนี้แล้ว ท่านและเพื่อนร่วมชาติคนอื่น ๆ อาจจะเป็นคนที่มีความทุกข์น้อยได้บ้าง เพียงอย่าเพิ่งหวังมีความสุขติดระดับโลกเลย เพราะดูจะมโนมากไปหน่อย

เเก้ว กังสดาลอำไพ

ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ เป็นนักพิษวิทยาที่กินเงินบำนาญ จึงมีเวลาเขียนบทความเกี่ยวกับความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์อาหารและโภชนาการ ในคอลัมน์ กินดีอยู่ดี โดยใช้ประสบการณ์ที่เคยดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ สอน วิจัยและเป็นประธานหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการในมหาวิทยาลัยมหิดลนาน 31 ปี มาเขียนบทความกึ่งวิชาการที่ประชาชนทั่วไปน่าจะได้รู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคและการเลือกกินอาหารที่ปลอดภัยมีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อจะได้ไม่ถูกลวงในภาวะสังคมปัจจุบันที่แทบจะเชื่อใครไม่ได้เลยในอินเตอร์เน็ท

Email

Share