อาจารย์ของผู้เขียนซึ่งเป็นแพทย์เคยสอนในเรื่องการขาดไวตามินชนิดต่างๆ ของคนไทยว่า เป็นไปค่อนข้างยากถ้าคนไทยกินอาหารได้ตามที่ทางราชการพยายามแนะนำคือ กินอาหารให้ครบห้าหมู่
เน้นการกิน ถั่วเมล็ดแห้ง ผักใบเขียว ไข่ พร้อมการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารทำลายไวตามินเช่น เมี่ยงที่ทำจากการหมักใบชา ของคนทางเหนือ ส่วนปรากฏการณ์ที่ยังมีผู้ขาดไวตามินจนแสดงอาการผิดปรกติของร่างกายนั้น มักเกิดในคนที่เลือกกินไม่เป็นมากกว่าจะไม่มีเงินซื้อกิน
ในตำราทางโภชนาการมีการกล่าวถึงไวตามินชนิดหนึ่ง ซึ่งคนไทยสามารถได้ฟรีเพราะเป็นไวตามินที่เราสังเคราะห์แสงขึ้นได้เองนั่นคือไวตามินดีไวตามินนี้ร่างกายเราสังเคราะห์ได้จากสารที่เป็นอนุพันธ์ของคอเลสเตอรอลโดยอาศัยแสงแดดในตอนเช้าและเย็นซึ่งมีแสงอัลตร้าไวโอเรตช่วงความยาวคลื่นเป็นประโยชน์ต่อการกระตุ้นการสังเคราะห์ไวตามินดีขึ้นในเซลล์ใต้ผิวหนังเรา
ประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องของไวตามินดีคือ มีข่าวปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยขึ้นว่า คนไทยซึ่งอยู่ในเขตภูมิศาสตร์ที่ไม่ขาดแดดนี้กำลังเริ่มมีการขาดไวตามินดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะหลายคนพยายามเลี่ยงการโดนแดดในตอนเช้าและเย็น ด้วยเหตุที่ต้องการให้ผิวกายมีความขาวซีด (ซึ่งเป็นผิวกายที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง) ในขณะที่หลายคนแม้ไม่ได้พยายามเลี่ยงแดดแต่เพราะพฤติกรรมความเป็นอยู่ที่ต้องออกจากบ้านแต่เช้ามืดเพื่อให้ถึงที่ทำงานก่อนแดดออก เพราะใครๆ ก็รู้ว่าเมืองไทยมีแต่ฤดูร้อน อาจมีฝนตกและฤดูร้อนมากๆ พร้อมแดดที่แผดเผา หากโดนแดดแล้วเหงื่อออกจะทำให้เหม็นสาบได้ในขณะทำงาน
แต่มีไวตามินชนิดหนึ่งที่คนไทยไม่ค่อยรู้จักนัก ทั้งที่เป็นไวตามินที่สำคัญมากจนหลายรัฐบาลในโลกนี้พยายามรนณรงค์ป้องกันการขาดไวตามินนี้ในพลเมืองของตน ไวตามินนี้เป็นชนิดที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายและสุขภาพที่ดีของประชาชน คนไทยที่มีสตางค์น้อยมักไม่ขาดเพราะเป็นไวตามินในผักใบเขียว ชาวบ้านสามารถหากินได้เองตามท้องไร่ท้องนาโดยไม่รู้ว่ามีไวตามินชนิดนี้ ในขณะที่ผู้มีสตางค์มักเน้นการกินอาหารเนื้อสัตว์และไขมันโดยไม่เหลือที่ว่างในกระเพาะให้กับผักใบเขียว ปัญหานี้น่าจะเกิดเพราะในการให้ความรู้แก่นักเรียนหรือนักศึกษานั้น ผู้ให้ความรู้มักไม่ใคร่เน้นถึงความสำคัญของไวตามินชนิดนี้ พิสูจน์ได้โดยท่านผู้อ่านลองถามคนข้างตัวว่า รู้ไหมว่าไวตามินที่ชื่อ “โฟเลต” นั้นสำคัญแก่ร่างกายอย่างไร คำตอบส่วนใหญ่คงเป็นไปในทำนองไม่แน่ใจว่าจะรู้
โฟเลตนั้นสำคัญอย่างไร? ผู้เขียนตั้งคำถามนี้เองเเต่ไม่ค่อยได้นึกถึงนัก ในสมัยที่เรียนระดับปริญญาตรีจำได้ว่าตอนเรียนวิชาชีวเคมีอาจารย์ไม่ค่อยได้กล่าวถึงในประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพไวตามินนี้สักเท่าไร จริงอยู่กระบวนการทำงานของไวตามินนี้เมื่อเข้าสู่เซลล์ของร่างกายมีการสอน แต่รายละเอียดที่จะกระตุ้นความสนใจเหมือนคำสอนที่ว่า การขาดไวตามินบี 1 แล้วเป็นเหน็บชาจำได้ว่าไม่มีที่เกี่ยวกับโฟเลตยกเว้นผู้ที่เรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ของสตรี
ความสนใจในโฟเลตมาถึงผู้เขียนสมัยที่ต้องสอนนักศึกษาเรื่องความสำคัญของสารอาหารปริมาณน้อย ซึ่งหมายถึงไวตามินและเกลือแร่ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการเกิดมะเร็งและการพิการของเด็กแรกเกิดจากแม่ที่ขาดไวตามินนี้ ดังนั้นจึงมีการสอนให้สตรีที่กำลังมีครรภ์ว่า ต้องไม่ขาดโฟเลตด้วยการกินอาหารที่มีโฟเลตหรือเสริมกรดโฟลิคเข้าไป
ในตำราทางชีวเคมีและโภชนาการ คำว่า “โฟเลต” หมายถึง ไวตามินบีชนิดหนึ่ง (เคยเรียกว่า ไวตามินบี 9) พบตามธรรมชาติในผักใบเขียว เมล็ดธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง เนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ ผลไม้ เช่น ส้ม สตรอเบอรี่ สับปะรด ฯลฯ ส่วนกรดโฟลิคซึ่งเป็นสารสังเคราะห์นั้นมีขายเป็นเม็ดในร้านขายยาหรือเป็นถังขนาดใหญ่ เพื่อให้ใช้เติมในอาหารที่ผลิตทางอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดีในตำราทั่วไปมักกล่าวรวมไวตามินทั้งที่อยู่ในอาหารและที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นว่าเป็นโฟเลต โดยมุ่งเน้นถึงความสามารถในการถูกใช้งานในร่างกาย
ความแตกต่างของโฟเลต (ในอาหารตามธรรมชาติ) และกรดโฟลิค (ไวตามินสังเคราะห์) ในตำราส่วนใหญ่กล่าวว่า สารสองชนิดนี้มีโครงสร้างทางเคมีต่างกันเล็กน้อย โฟเลตนั้นมีโครงสร้างเป็นกรดโฟลิคที่มีจำนวนกรดอะมิโนกลูตาเมตเชื่อมต่อมากกว่าคือ ราว 5-8 หน่วย ในขณะที่กรดโฟลิคมีกรดอะมิโนกลูตาเมตเชื่อมต่อเพียง 1 หน่วย (ดังแสดงในรูป)
ข้อดีของกรดโฟลิคคือ ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายดีกว่าโฟเลต แต่ข้อเสียคือ กรดโฟลิคต้องถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเอนไซม์ของตับถูกนำไปใช้งาน เพราะในการสังเคราะห์กรดโฟลิคที่ได้ออกมาอยู่ในรูปของโฟเลทที่ถูกออกซิไดส์ซึ่งไม่มีในอาหารตามธรรมชาติ เอนไซม์ในตับต้องทำการรีดิวส์ (คือการเติมอะตอมไฮโดรเจน 2 อะตอม) เพื่อให้มีรูปร่างเหมือนโฟเลทที่ได้จากอาหารตามธรรมชาติ
ประเด็นที่น่าสนใจคือ เอนไซม์ชนิดที่ทำให้กรดโฟลิคทำงานได้ในคน ทำงานค่อนข้างช้า มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งกล่าวว่า ความสามารถของเอนไซม์ในคนมีความสามารถคิดเป็นเพียงแค่ร้อยละ 2 ของที่หนูทดลองมีดังนั้นในกรณีที่ได้กรดโฟลิคในปริมาณสูงจึงทำให้กรดโฟลิคในรูปเดิมที่ยังใช้งานไม่ได้มีโอกาสเหลืออยู่ในเลือดด้วยความเข้มข้นสูงเเละกลายเป็นประเด็นสำคัญที่นักวิจัยหลายคนสงสัยว่าอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ
สำหรับโฟเลตจากอาหารธรรมชาติ แม้ถูกดูดซึมช้ากว่าแต่ก็อยู่ในสภาพที่มีโมเลกุลไฮโดรเจนอยู่แล้วตามธรรมชาติ จึงถูกเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยก่อนถูกนำไปใช้งานด้วยเอนไซม์ชนิดหนึ่งของผนังลำไส้ การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้คือ การตัดส่วนที่เป็นกลูตาเมตสายยาว (4-7 ส่วน) ของโฟเลตออกเหลือเพียงกลูตาเมตหนึ่งส่วน แล้วจึงมีการเปลี่ยนแปลงต่อไปเป็นสารชื่อ เต็ตตระไฮโดรโฟเลท (tetrahydrofolate หรือ THF) พร้อมถูกใช้งานในกระบวนการต่างๆของเซลล์ได้เลย
ร่างกายมนุษย์นต้องการเต็ตตระไฮโดรโฟเลทไปใช้ในกระบวนการสร้างเบสทั้ง 4 ชนิด เป็นองค์ประกอบของกรดนิวคลิอิค ซึ่งเมื่อเรียงตัวเป็นลำดับเหมาะสมบนดีเอ็นเอจะทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ กระบวนการนี้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพรวดเร็วและมากมายในตัวอ่อนที่อยู่ในท้องแม่ ประมาณว่าจากเซลล์เพียงหนึ่งเซลล์ที่เกิดจากการผสมกันระหว่างสเปิร์มและไข่จะมีการแบ่งตัวสร้างเซลล์ใหม่เป็นพันๆ ล้านครั้ง จนสุดท้าย มีเซลล์โดยเฉลี่ยราว 3.8 × 1010 เซลล์ หรือ 3 หมื่นล้านเซลล์ ก่อนออกจากท้องแม่
ข้อมูลการแบ่งเซลล์นี้ได้จากการคำนวณของ G.B. Samuelsen และคณะ ซึ่งเขียนไว้ในบทความชื่อ The Changing Number of Cells in the Human Fetal Forebrain and its Subdivisions: A Stereological Analysis ปรากฏอยู่ในวารสารชื่อ Cerebral Cortex ชุดที่ 13 หน้า 115–122 ของเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2003 (http://cercor.oxfordjournals.org/content/13/2/115.full.pdf+html) ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า โฟเลตสำคัญตั้งแต่การแบ่งเซลล์ เพื่อใช้เป็นเซลล์สืบพันธุ์ทั้งหญิงและชาย แล้วจากนั้นถ้าแม่ซึ่งเริ่มตั้งครรภ์เเล้วลูกขาดโฟเลต (รวมถึงไวตามินบีที่ทำหน้าที่ร่วมกันคือ บี2 บี6 และ บี12 ประกอบกับสารอาหารอื่นที่ได้จากอาหารห้าหมู่) การทารกที่สมบูรณ์ในครรภ์ย่อมเป็นไปได้ยาก
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากแม่ที่อุ้มท้องขาดโฟเลตคือ ลูกที่คลอดออกมาแล้วมีชีวิตจะเสี่ยงต่ออาการที่เรียกว่า กระหม่อมปิดไม่สนิท ซึ่งมีผู้เรียกเป็นภาษาไทยว่า เด็กกบ (anencephaly) มีลักษณะเป็นทารกที่ไม่มีหนังศีรษะ กะโหลก เยื่อหุ้มสมอง สมองส่วนหน้า สมองใหญ่ (ส่วนที่ใช้คิดและเชื่อมโยงการทำงานของสมองส่วนต่างๆ ) และสมองน้อย แต่ยังมีชีวิตได้เพราะยังมีส่วนของก้านสมอง (ส่วนที่ควบคุมการหายใจ) ซึ่งเปิดออกสู่โลกภายนอก (ท่านที่เคยชมภาพยนต์ซีรีย์เรื่อง The Walking Dead อาจระลึกได้ว่า ซอมบี้ที่เดินอยู่ในหนังก็อยู่ได้ด้วยก้านสมองเช่นเดียวกัน) หรืออาจมีอาการ กระดูกสันหลังโผล่ (spina bifida) ทั้งสองอาการนี้สันนิษฐานว่า การขาดไวตามินดังกล่าวทำให้การแบ่งเซลล์เป็นผนังปิดส่วนของอวัยวะทั้งสองไม่สมบูรณ์ ดังนั้นในหลายประเทศจึงสนับสนุนให้แม่กินอาหารที่มีโฟเลทจนพอแก่ความต้องการของตัวอ่อน และในกรณีที่ไม่สามารถได้โฟเลตจากการกินอาหารจำต้องมีการเสริม กรดโฟลิคให้กินในรูปของไวตามินเม็ดหรือเติมในอาหารสำเร็จรูป ซึ่งกำลังเป็นที่สงสัยกันว่าอาจส่งผลเสียได้ดังจะกล่าวต่อไปในตอนที่ 2
ในการดำรงเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่มีคุณภาพ ผู้หญิงต้องกินโฟเลต (พร้อมทั้งไวตามินบี 2, บี6 และ บี12) ให้เพียงพอตั้งแต่ก่อนมีเพศสัมพันธ์ต่อเนื่องไปจนถึงเริ่มตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน สำหรับผู้ชายนั้นโฟเลทและไวตามินต่างๆ ก็มีความสำคัญต่อการสร้างสเปิร์มด้วย เพราะกระบวนการสร้างสเปิร์มซึ่งเกิดขึ้นทุกวันในชายวัยเจริญพันธุ์ต้องมีการสร้างดีเอ็นเอใหม่เช่นกัน ดังนั้นไม่ว่าจะต้องการให้ตนเองพร้อมต่อการสืบพันธุ์เพื่อมีลูก หรือเพื่อให้ร่างกายปลอดจากโรคต่างๆ (ซึ่งจะกล่าวต่อไป) ท่านผู้อ่านต้องไม่ขาดวิตามินกลุ่มนี้โดยเด็ดขาด
ประเด็นหนึ่งที่เป็นความสำคัญของโฟเลทและพรรคพวกไวตามินบีคือ การอำนวยความสะดวกให้ช่วงการสร้างดีเอ็นเอใหม่ระหว่างการแบ่งเซลล์มีความถูกต้องไม่มีที่ติ กล่าวคือ ในระหว่างการจำลองดีเอ็นเอสายใหม่จากสายเก่า เซลล์ต้องมีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้อง (proof reading) เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งเริ่มต้นด้วยการเติมกลุ่มเม็ททิล (methyl group) ที่ได้จากกระบวนการที่มีโฟเลทเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นขั้นตอนเริ่มต้นแก่เบสชื่อ ไซโตซีน (cytosine) ของดีเอ็นเอที่กำลังถูกสร้างเป็นการชั่วคราว จนเมื่อการตรวจสอบแต่ละขั้นตอนสำเร็จกลุ่มเม็ททิลดังกล่าวจึงหลุดออก ดังนั้นการขาดอาหารที่มีโฟเลตเป็นผู้นำมักทำให้ดีเอ็นเอที่สร้างใหม่ขาดการตรวจสอบความถูกต้อง เเละมีความเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ ส่งผลให้เซลล์ผิดปรกติได้
การที่โฟเลทและพรรคพวกช่วยให้การแบ่งเซลล์ลดความผิดพลาดนั้น มีผลต่อชนิดและคุณภาพของเซลล์ที่จำเป็นต้องแบ่งตามกำหนดที่แน่นอน เช่น เม็ดเลือดแดง ดังนั้นการขาดไวตามินกลุ่มนี้จึงส่งผลต่อการเกิดอาการโลหิตจางได้ทั้งหญิงและชาย
ท่านผู้อ่านบางท่านคงไม่มีโอกาสเรียนวิชาเกี่ยวกับการขับสารพิษออกจากร่างกาย (เป็นคนละเรื่องกับ การล้างพิษ ที่มั่วกันไปหมดในเว็บไซต์และหนังสือต่างๆ จนถึงขั้นมีคนตายไปแล้ว) ยกเว้นผู้ที่เรียนสาขาด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์บางสาขาและสาขาพิษวิทยา ต้องรู้ว่า กลุ่มเม็ททิลที่โฟเลตเป็นพาหะจะถูกนำไปใช้สร้างสารชีวเคมีชนิดหนึ่งชื่อ S-adenosylmethionine (SAM) เพื่อใช้ในการเชื่อมติดกับสารพิษหลายชนิดแล้วกำจัดออกจากร่างกายดังนั้นคนที่ขาดไวตามินกลุ่มนี้จึงมีโอกาสที่สารพิษตกค้างในร่างกายได้นานจนเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งและโรคร้ายอื่นๆนักวิชาการจึงเชื่อว่าการกินอาหารที่มีโฟเลตช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็งได้ทางหนึ่ง
มีอีกสมมุติฐานหนึ่งกล่าวว่า โฟเลตและเพื่อนพ้องช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งหลายส่วนโดยเฉพาะมะเร็งผิวหนัง เมื่อร่างกายโดดแดดที่แผดกล้า (โดยเฉพาะเมื่อพระอาทิตย์ตรงหัวตอนเที่ยงวัน) แสงอัลตร้าไวโอเลต (UV)ในเวลานั้นเป็นชนิด ยูวีซี (UV-C) ซึ่งมีพลังงานสูงสุด เมื่อแสงนี้กระทบผิวหนังเป็นประจำสามารถก่อให้เกิดความผิดปรกติต่อเบสชนิดที่เรียกว่า ไทมีน(thymine) ซึ่งเรียงต่อติดกันอย่างน้อยสองหน่วยบนดีเอ็นเอในลักษณะที่เรียกว่า thymine dimer ซึ่งเมื่อเกิดบนส่วนใดของดีเอ็นเอถือว่าส่วนนั้นได้ถูกทำลายไปแล้ว เซลล์ต้องทำการซ่อมแซมด้วยการเอาไทมีนใหม่มาเปลี่ยน ประเด็นที่โฟเลตและเพื่อนพ้องเข้าไปเกี่ยวก็คือ การเติมกลุ่มเม็ททิลให้แก่เบสชนิดที่เรียกว่า ยูราซิล (uracil) เพื่อเปลี่ยนเป็นไทมีนสำหรับนำไปซ่อมแซมดีเอ็นเอ การขาดโฟเลตและไวตามินที่เกี่ยวข้องจึงเป็นการลดปริมาณของไทมีนที่ได้จากการเปลี่ยนยูราซิล ซึ่งถ้าถึงขั้นขาดแคลนเบสนี้ดีเอ็นเอจะใช้ยูราซิลแทนไทมีนด้วยความจำเป็น ซึ่งถือว่าได้เกิดกลายพันธุ์ (เพราะใช้เบสผิด) และในกรณีที่เกิดกับเซลล์ผิวหนังมักนำไปสู่การเกิดมะเร็งผิวหนัง
ความสำคัญของโฟเลทและเพื่อนพ้องอีกประเด็นหนึ่งซึ่งยังอธิบายเป็นกระบวนการได้ไม่ดีนักคือ กรณีของผู้ที่มีการขาดไวตามินกลุ่มนี้ แล้วมีประจักษ์พยานที่ปรากฏในองค์ประกอบของเลือดคือ การมีสารชีวเคมีที่เรียกว่า โฮโมซิสตีอีน (homocysteine) สูงกว่าปรกติ ปรากฏการณ์นี้มักเกิดพร้อมกับการเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจวายและ/หรือเส้นเลือดในสมองอุดตัน ดังนั้นการควบคุมความเข้มข้นของโฮโมซิสตีอีนให้เป็นปรกตินั้นจึงสำคัญ โดยเซลล์ที่ได้รับไวตามินทีมนี้พอเพียงจะจัดการให้มีการเติมกลุ่มเม็ททิลเข้าไปในโมเลกุลของโฮโมซิสตีอีนเพื่อเปลี่ยนให้เป็นเม็ทไทโอนีน(methionine) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนจำเป็นของร่างกาย
(โปรดติดตามเรื่องราวความสำคัญของโฟเลตต่อสุขภาพต่อไปในตอนหน้า)