in on June 20, 2016

โฟเลตเพื่อลูก ตอน2

read |

Views

ตอนที่แล้วผู้เขียนได้อธิบายให้เห็นว่า…

โฟเลตสำคัญต่อการสร้างประชากรของชาติที่มีร่างกายครบสามสิบสอง ซึ่งหน่วยงานด้านสาธารณสุขของประเทศที่พัฒนาแล้วให้ความสำคัญอย่างสูง สำหรับประเทศไทยนั้นความจริงเรื่องนี้ก็เป็นที่ทราบกันมานานพอควรแล้ว จนสุดท้ายเมื่อต้นปีนี้จึงได้มีการกล่าวถึงโฟเลตในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ประเด็นที่สำคัญต่อความเข้มแข็งของคนไทยในอนาคต เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณภาพของเด็กที่จะเกิดมา เช่น เมื่อวันพุธที่ 27 มกราคม 2559 เวลา 18:59 . หนังสือพิมพ์ออนไลน์ฉบับหนึ่งได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง แนะกิน โฟเลตก่อนมีเซ็กส์ช่วยป้องกันเด็กพิการแต่กำเนิด


เนื้อความจากข่าวนี้กล่าวถึงสิ่งที่ต้องเตรียมตัวของหญิงชายวัยเจริญพันธุ์ก่อนมีกิจกรรมทางเพศ (ที่ควรถูกทำนองคลองธรรมด้วย) โดยใจความนั้นประมาณว่า ก่อนมีกิจกรรมราว 6 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน ให้ฝ่ายหญิงกินวิตามินโฟเลตชนิดที่เป็นอาหารเสริมในปริมาณสูงกว่าปรกติที่อยู่ในอาหารธรรมดา เพื่อเพิ่มปริมาณวิตามินนี้ในเลือดโดยหวังว่า การกระทำเช่นนี้จะช่วยลดความเสี่ยงของเด็กที่คลอดออกมามีความพิการแต่กำเนิด ในลักษณะกระโหลกปิดไม่สนิทหรือกระดูกสันหลังโผล่อออกมา (ดังกล่าวแล้วในตอนที่ 1) แพทย์ชาวไทยผู้ให้ข้อมูลนั้นกล่าวว่า วิธีการดังกล่าวได้ผลราวร้อยละ 50 ในต่างประเทศ แถมรายงานข่าวยังกล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมเร่งจ่ายวิตามินรวมโฟเลตไอโอดีนเหล็กในหญิงวัยเจริญพันธุ์

ในข่าวนั้นมีการให้รายละเอียดว่า โครงการนี้อยู่ระหว่างการศึกษาการให้โฟเลตแบบสมัครใจคือ ให้สิทธิประโยชน์ในการรับไวตามินบีรวม เหล็ก ไอโอดีน และโฟเลตสำหรับกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์สัปดาห์ละ 1 เม็ด โดยใช้งบประมาณไม่มาก เนื่องจากราคาเม็ดละไม่ถึง 1 บาทในขณะที่ตามรายงานในปี 2557 หญิงวัยเจริญพันธุ์ของไทยซึ่งมีอายุ 15-49 ปี มี 17,789,671 คนส่วนกรณีที่พบว่าสตรีเหล่านี้ดื้อไม่สมัครใจก็จะมีมาตรการบังคับด้วยการผสมลงไปในอาหารโดยไม่ทำให้คุณค่าและรสชาติเสียไปโดยในขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบกำลังดูว่าควรเสริมโฟเลตเข้าไปในอาหารชนิดใดเช่นการผสมเข้าไปในแป้งสาลีแป้งข้าวโพดหรือใส่ในกลุ่มเครื่องปรุงเป็นต้น

จากข่าวดังกล่าวนี้มีบางประเด็นที่น่าจะกล่าวถึงคือ การที่เนื้อข่าวใช้คำว่า โฟเลต ในเรื่องนี้ทั้งที่ข่าวเรื่องเดียวกันที่ปรากฏในต่างประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือบางประเทศในลาตินอเมริกาที่มีการเสริมไวตามินเพื่อวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการป้องกันปัญหาเด็กพิการแต่กำเนิดนั้นเขาใช้คำว่า กรดโฟลิค(Folic acid) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นเพื่อให้ผู้หญิงกินเข้าไป ไม่ได้ใช้คำว่า โฟเลต ซึ่งโดยทั่วไปคำนี้มักหมายถึงไวตามินที่อยู่ในพืชผักและเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นอาหารธรรมชาติ (ขอให้ย้อยกลับไปอ่านรายละเอียดในตอนที่ 1)

ปรกติแล้วไวตามินนั้นไม่ว่าจะได้จากธรรมชาติหรือจากการสังเคราะห์มักมีอะไรๆที่คล้ายกันเมื่อพิจารณาถึงบทบาทในร่างกายมนุษย์แต่กรณีกรดโฟลิคและโฟเลตดูเหมือนเป็นข้อยกเว้นเพราะความแตกต่างกันนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่แค่ลักษณะของโครงสร้างของสารที่ผู้บริโภคได้รับเข้าสู่ร่างกายแต่กลับอยู่ที่การตอบสนองของร่างกายเมื่อได้รับสารผ่านเข้าสู่ปากถามว่าปัญหาประเด็นนี้สำคัญหรือไม่คำตอบนั้นพูดยากดังนั้นผู้เขียนจึงขอให้ข้อมูลแก่ผู้อ่านเพื่อพิจารณาว่าท่านควรสรุปเช่นไร


ในบทความของนักวิทยาศาสตร์สุขภาพซึ่งรวมถึงหมอที่เป็นนักวิจัยในต่างประเทศนั้น ได้กล่าวในทำนองว่า การกินโฟเลตซึ่งปรากฏอยู่ในอาหารธรรมชาติเช่น ผักใบเขียว ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้งรวมถึงถั่วกินทั้งฝัก เนื้อสัตว์และเครื่องใน รวมทั้งผลไม้บางชนิด เช่น ส้ม สตรอเบอรี่ สับปะรด ฯ นั้น ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการได้รับสารนี้มากเกินไป เพราะปริมาณเนื้ออาหารในแต่ละมื้อเป็นตัวกำหนดให้กินได้ไม่เกิน ซึ่งต่างจากการกินไวตามินสังเคราะห์ในรูปที่เรียกว่า กรดโฟลิค ซึ่งมักเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในรูปเม็ดยาซึ่งมีความเข้มข้นของไวตามินสูง ความเข้มข้นนี้อาจส่งผลถึงการได้รับไวตามินในปริมาณที่มากกว่าที่ควรเป็น (ตามหลักวิชาพิษวิทยาแล้ว อะไรที่มากเกินความต้องการของร่างกายมากๆมักก่อพิษได้) แล้วกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งบางชนิด ข้อมูลดังกล่าวนี้สามารถค้นหาดูได้จากอินเตอร์เน็ทซึ่งผู้เขียนจะนำมาให้ดูเป็นตัวอย่างข้างล่างนี้

ก่อนจะกล่าวถึงปัญหาที่อาจเกิดเนื่องจากการเสริมกรดโฟลิคนั้น ผู้เขียนได้บังเอิญไปพบข่าวจากหนังสือพิมพ์บางฉบับที่แนะนำว่า ให้หญิงที่กำลังตั้งท้องกินทุเรียนเพื่อเพิ่มโฟเลตให้ลูก เพราะมีการวิเคราะห์พบว่า ทุเรียนมีปริมาณโฟเลตค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่า การแนะนำให้หญิงท้องกินทุเรียนเพื่อให้ได้โฟเลตนั้นอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนไม่เลิกในแม่หลังคลอด เพราะทุเรียนนั้นมีปริมาณของแป้งและน้ำตาลสูง อีกทั้งโดยธรรมชาติของการกินทุเรียนของสตรีไทยรวมทั้งจีนแล้ว เมื่อเริ่มตั้งหลักหยิบใส่ปากนั้นโอกาสหยุดกินเพื่อให้ได้โฟเลตในปริมาณพอเหมาะนั้นเป็นไปได้ยาก ดังนั้นคำแนะนำให้เลือกรับประทานทุเรียนพันธุ์หมอนทองวันละไม่เกิน 1 พูเพื่อให้ได้โฟเลตครบนั้น คงเป็นคำแนะนำของผู้ที่ไม่เคยท้องแล้วอยากกินทุเรียนมาแนะนำ

ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเสริมกรดโฟลิคในอาหารแล้วส่อว่าอาจเกิดปัญหาคือ มีบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่พอเชื่อถือได้เรื่อง Unmetabolized Folic Acid in Plasma Is Associated with Reduced Natural Killer Cell Cytotoxicity among Postmenopausal Women ซึ่งเป็นผลงานของ Dr. A.M. Troen และคณะ ในวารสาร The Journal of Nutrition ฉบับประจำเดือน มกราคม 2006 ชุดที่ 136 เล่มที่ 1 หน้าที่ 189-194 ซึ่งเป็นการศึกษาในสตรีหลายวัยสองกลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งได้รับอาหารมีโฟเลตในระดับมาตรฐานอย่างเดียว ส่วนอีกกลุ่มได้ทั้งอาหารมีโฟเลตแล้วเพิ่มเติมด้วยกรดโฟลิค ซึ่งผลการศึกษาพบว่า เมื่อใดที่ระดับกรดโฟลิค (ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์) ส่วนที่ไม่ถูกตับเปลี่ยนแปลง (ให้ทำงานได้) เหลืออยู่ในเลือดด้วยความเข้มข้นสูง จำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดที่เรียกว่า natural killer cell (ซึ่งเป็นเม็ดเลือดขาวที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการจัดการเซลล์มะเร็ง)กลับลดต่ำลง ข้อมูลนี้ค่อนข้างเด่นชัดมากในสตรีที่มีอายุมากกว่า 60 ปี


การศึกษาเกี่ยวกับการเสริมกรดโฟลิคนั้น ได้เปิดประเด็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายในผู้บริโภคซึ่งได้รับสารเคมีนี้มากเกินความต้องการของร่างกาย ความคิดประเด็นนี้ได้เริ่มขึ้นเมื่อมีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยเรื่อง Folic Acid for the Prevention of Colorectal Adenomas: A Randomized Clinical Trial ของ Dr. B.F. Cole และคณะซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร JAMA ชุดที่ 297(ฉบับที่ 21) หน้าที่ 2351 ถึง 2359 ในปี 2007 ซึ่งรายงานว่า ในการให้กรดโฟลิค 1 มิลลิกรัม แก่อาสาสมัครนาน 6 ปี นั้นไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเลย หนำซ้ำยังเพิ่มความเสี่ยงให้สูงขึ้นไปเมื่อเทียบกับอาสาสมัครที่ได้ยาหลอก

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่น่าจะสร้างความกังวลใจแก่ผู้คิดเสริมกรดโฟลิคในอาหารว่า มันเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้ายกันแน่ เพราะมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งของ Dr. S. Hirsch และคณะ เรื่อง Colon cancer in Chile before and after the start of the flour fortification program with folic acid. ซึ่งงานวิจัยนี้ศึกษาในประเทศชิลี โดยมีสมมุติฐานก่อนการทำวิจัยว่า การขาดโฟเลตนั้นทำให้คนไข้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ ใหญ่ชนิด Colorectal cancer ดังนั้นจึงมีการเสริมกรดโฟลิคในขนมปังด้วยอัตราส่วน กรดโฟลิค 220 ไมโครกรัมต่อแป้งทำขนมปัง 100 กรัม เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง แต่ผลการศึกษากลับแสดงผลในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ ทำให้ความเสี่ยงของคนที่บริโภคขนมปังเสริมกรดโฟลิคนั้นเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงขึ้นกว่าเดิม งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Gastroenterology and Hepatology ชุดที่ 21 ฉบับประจำเดือนเมษายน 2009 หน้าที่436 ถึง 439

ประจักษ์พยานที่นำมาสู่ความกังวลใจเกี่ยวกับการเสริมกรดโฟลิคอีกเรื่องหนึ่งคือ การศึกษาในชาวนอร์เวย์ 7000 คน เมื่อปี 2009 โดย Dr. M. Ebbing และคณะ (Cancer Incidence and Mortality After Treatment With Folic Acid and Vitamin B12 ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA. ชุดที่ 302(19) หน้าที่ 2119-2126.) ซึ่งพบว่า การเสริมกรดโฟลิคและไวตามินบี 12 กลับเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง (โดยเฉพาะมะเร็งปอด) และที่น่าประหลาดใจคือ เมื่อพิจารณาผลของกรดโฟลิคที่เสริมกับไวตามินบีอื่นๆ เพื่อลดปริมาณโฮโมซิสตีอีนในเลือดกลับไม่มีผลที่มีนัยสำคัญต่อการลดความเสี่ยงของปัญหาหลอดเลือดหัวใจ (ความเข้มข้นของโฮโมซิสเตอีนในเลือดมักสูงในผู้ขาดโฟเลตและมักเป็นสัญญาน ของโรคหัวใจ)

ความน่ากังวลใจทำนองเดียวกันเกี่ยวกับการเสริมกรดโฟลิคในสตรียังมีอีก โดย Dr. R.Z. Stolzenberg-Solomo ได้รายงานเกี่ยวกับความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมในกลุ่มสตรีที่หมดประจำเดือนแล้วในงานวิจัยเรื่อง Folate intake, alcohol use, and postmenopausal breast cancer risk in the Prostate, Lung, Colorectal, and Ovarian Cancer Screening Trial. ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Clinical Nutrition ชุดที่ 83 หน้าที่ 895-904 ในปี 2006 มีใจความว่า โฟเลทธรรมชาติเท่านั้นที่แสดงผลที่เป็นประโยชน์ต่อคนไข้ (ท่านผู้อ่านโปรดอย่าประหลาดใจที่ชื่อเรื่องของงานวิจัยซึ่งทำในผู้หญิงนั้นมีคำว่า prostate ที่แปลว่าต่อมลูกหมากซึ่งผู้หญิงไม่มีอวัยวะนี้ ทั้งนี้เพราะงานวิจัยชิ้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานวิจัยชุดใหญ่ที่ได้เงินทุนที่สนับสนุนการศึกษาเรื่อง the Prostate, Lung, Colorectal, and Ovarian Cancer Screening Trial cohort ดังนั้นเมื่อตั้งชื่อเรื่องงานวิจัยที่ส่งไปพิมพ์เผยแพร่จึงอาจจำเป็นต้องใช้ชื่อของโครงการที่เป็นทุนวิจัยที่ได้รับเป็นชื่อเรื่องด้วยเท่านั้นเอง)

นอกจากนี้การศึกษาเพื่อใช้กรดโฟลิคลดความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากของผู้ชายโดย Dr. V.L. Stevens และคณะ เรื่อง Folate Nutrition and Prostate Cancer Incidence in a Large Cohort of US Men. ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Epidemiology ชุดที่ 163 (11) หน้าที่ 989-996 ก็ไม่ได้แสดงผลที่ชัดเจนว่าสารสังเคราะห์นี้มีประโยชน์แต่ประการใด อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่า การศึกษาในกลุ่มสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ได้รับการเสริมกรดโฟลิคในระดับหนึ่งเพื่อป้องกันความผิดปรกติในทารกที่เกิดออกมานั้นยังแสดงผลดีอยู่ แต่ในกรณีที่พิจารณาถึงกลุ่มประชากรโดยรวมแล้ว ข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ของกรดโฟลิคนั้นยังไม่ชัดเจน โดยข้อมูลเกี่ยวกับการเสริมกรดโฟลิคในเด็ก ผู้ชายและสตรีที่หมดประจำเดือนซึ่งไม่ได้มีอาการขาดโฟเลตนั้น ดูเป็นที่น่ากังวลใจเพราะไม่ได้แสดงประโยชน์ต่อสุขภาพที่ชัดเจนแถมยังส่งสัญญานว่า อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเการเกิดมะเร็งโดยรวมอีกด้วย

ตัวอย่างเพียงน้อยนิดที่ผู้เขียนยกให้ดู รวมทั้งความเห็นจากแพทย์ต่างชาติ(และอาจมีในไทยบ้าง)อาจทำให้ผู้อ่านเห็นได้ว่า โฟเลตในอาหารธรรมชาติและกรดโฟลิคที่สังเคราะห์ขึ้นมานั้นน่าจะมีความแตกต่างที่มีนัยสำคัญเมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ดังนั้นจึงควรพิจารณาให้ดีก่อนมีการตัดสินใจว่า ควรทำอย่างไรให้คนไทยมีปริมาณไวตามินชนิดนี้อยู่ในระดับที่เพียงพอของร่างกาย

โดยสรุปแล้ว ในความพยายามเสริมไวตามินโฟเลตให้คนไทยเพื่อหวังลดปัญหาสุขภาพที่เกิดเนื่องจากความขาดแคลนไวตามินนี้ในประชาชน ควรมุ่งให้ประชาชนได้รับโฟเลทจากอาหารที่มีในท้องถิ่นคือ ผักใบเขียวและถั่วพื้นบ้าน(ที่ยังต้องการการวิเคราะห์เพื่อให้ทราบปริมาณโฟเลตที่มีอยู่) น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการได้รับไวตามินสังเคราะห์ เพื่อหลีกเลี่ยงการมีกรดโฟลิคที่อยู่ในสภาพใช้งานไม่ได้ในเลือดมากเกินไปเพราะร่างกายของแต่ละคนนั้นมีพันธุกรรมที่ต่างกันซึ่งอาจส่งผลถึงระดับเอนไซม์ในตับที่ต้องใช้ในการเปลี่ยนแปลงกรดโฟลิคให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://www.pexels.com/photo/baby-wearing-pink-crew-neck-cap-sleeve-shirt-between-2-person-standing-during-daytime-173666/
เเก้ว กังสดาลอำไพ

ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ เป็นนักพิษวิทยาที่กินเงินบำนาญ จึงมีเวลาเขียนบทความเกี่ยวกับความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์อาหารและโภชนาการ ในคอลัมน์ กินดีอยู่ดี โดยใช้ประสบการณ์ที่เคยดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ สอน วิจัยและเป็นประธานหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการในมหาวิทยาลัยมหิดลนาน 31 ปี มาเขียนบทความกึ่งวิชาการที่ประชาชนทั่วไปน่าจะได้รู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคและการเลือกกินอาหารที่ปลอดภัยมีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อจะได้ไม่ถูกลวงในภาวะสังคมปัจจุบันที่แทบจะเชื่อใครไม่ได้เลยในอินเตอร์เน็ท

Email

Share