1
หลายปีก่อน คุณโตมร ศุขปรีชา นักเขียนและนักแปลที่ผันตัวมาเป็นนักปั่นจักรยานด้วยเช่นกัน เคยตั้งข้อสังเกตว่าการขี่จักรยานทำให้เรารับรู้สัมผัสลาดชันของพื้นผิวถนนในระดับที่ละเอียดขึ้น ชนิดที่หากมองด้วยตาเราอาจไม่เห็นความต่างแต่เราจะรู้สึกได้จากการปั่น เพราะแรงถีบและความลาดชันย่อมส่งผลต่อความไหลลื่นของจักรยาน
เนินซึม (หรือเนินที่มีความชันน้อยๆ แต่มีช่วงยาวๆ ) อาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ ที่เหมือนไม่สลักสำคัญอะไร ยิ่งหากเดินทางด้วยรถยนต์เนินแบบนี้ไม่อยู่ในการรับรู้ของคนขับด้วยซ้ำ แต่เนินแบบนี้นี่แหละที่จะเป็นบททดสอบร่างกายและจิตใจของนักปั่นจักรยานดีนัก เพราะเป็นช่วงที่ทำความเร็วไม่ขึ้น จะฝืนเร่งให้พ้นเนินก็ไม่รู้ว่าอีกไกลแค่ไหนจึงจะพ้นอาจเป็นอีก 1 กิโลเมตรหรือ 10 กิโลเมตรก็ได้ สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราผ่านมันไปได้ คือการยอมรับในความเป็นไปของธรรมชาติ ไม่ฝืน ไม่เร่งเร้าที่จะหลุดพ้นความลาดชันและปั่นไปเรื่อยๆ
เนินซึมไม่ได้เป็นเพียงบททดสอบของการปั่นจักรยานเท่านั้น แต่มันเป็นตัวปลุกประสาทสัมผัสให้เรารับรู้ถึงความลาดชันของภูมิประเทศ และนั่นเป็นการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ของเรากับธรรมชาติในอีกมิติหนึ่ง วิถีจักรยานเป็นเครื่องมือสำคัญที่ปลุกการเรียนรู้นี้ให้กับเรา
2
เมื่อเดือนที่แล้ว ที่ทำงานของผมได้รับเชิญให้ไปจัดกิจกรรมโลว์คาร์บอนด้านจักรยาน ในสวนผักออร์แกนิกกลางเมืองในซอยทองหล่อ ทีมจัดงานจึงนึกถึงจักรยานปั่นไฟของมูลนิธิโลกสีเขียวที่เราเคยใช้ปั่นผลิตไฟฟ้าส่องสว่างบนเวทีคอนเสิร์ตปั่นเมือง แต่ความที่ครั้งนี้กิจกรรมเป็นตอนกลางวัน แสงสว่างที่ได้จากการปั่นไฟไหนเลยจะสู้แสงอาทิตย์ได้ ผมจึงคิดทดลองประดิษฐ์จักรยานสูบน้ำขึ้นมาใหม่ เพื่อเปลี่ยนแรงขาปั่นเป็นแรงสูบน้ำจากบ่อไปรดน้ำแปลงผักในสถานที่จัดงาน เป็นการสาธิตการใช้ประโยชน์จากการปั่นออกกำลังกาย
ที่จริงแล้วจักรยานสูบน้ำไม่ใช่เรื่องใหม่ ชาวเกษตรกรหัวก้าวหน้าหลายจังหวัดทั่วประเทศได้ทำใช้ในเรือกสวนไร่นากันอยู่แล้ว ผมเองก็เคยเห็นเคยลองมาบ้างดูไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงต่อล้อจักรยานเข้ากับมูเลย์ของปั้มชัก ทำให้การปั่นจักรยานไปขับเคลื่อนลูกสูบปั้มชักให้สูบน้ำขึ้นมาได้ แต่พอมาประดิษฐ์เองถึงได้พบว่าในความเรียบง่ายนั้น มีความลับเกี่ยวกับน้ำซ่อนอยู่ (ซึ่งที่จริงเรื่องนี้ก็อยู่ในวิชาฟิสิกส์ ช่วงม.ปลายนั่นแหละ)
ปั้มชัก มันจะทำหน้าที่ดูดน้ำจากที่หนึ่งส่งไปอีกทีนึง จึงมีรูให้ต่อท่ออยู่ 2 รู รูหนึ่งสำหรับน้ำเข้า รูหนึ่งสำหรับน้ำออก
แรกทีเดียวผมต่อรูน้ำเข้าออกด้วยสายยางที่ซื้อมาใหม่ ทันทีที่ต่อเสร็จก็ทดลองปั่นสูบน้ำ ผลปรากฏว่าปั้มทำงานได้ดี นอนยิ้มดีใจ ฝันหวานว่าวันรุ่งขึ้นจะไปหาสปริงเกอร์รดน้ำมาต่อจะได้รดน้ำกระจายทั่วแปลงผัก เย็นวันรุ่งขึ้นผมทดลองปั่นจักรยานซ้ำก่อนที่จะต่อหัวสปริงเกอร์ พบว่าต้องปั่นหนักขึ้นมาก ทั้งๆ ที่ได้น้ำออกมาน้อยกว่าเดิมเสียอีก
ยังไม่ได้ทำอะไรเลย จู่ๆ ปั้มสูบน้ำได้แย่ลง ทดลองอยู่นานก็สังเกตเห็นว่าท่อสายยางดูดน้ำเข้าปั้มมันบีบตัวมากตอนออกแรงปั่น อยากให้ลองจินตนาการถึงเวลาที่เราดูดน้ำจากแก้ว ถ้าเราบีบหลอดให้แบน เราต้องใช้แรงดูดมากกว่าเดิมจึงจะดูดน้ำขึ้นมาได้
สายยางของผมตากแดดมา 1 วัน ยางที่แข็งก็เลยนิ่มเหมือนถูกบีบให้แบน เมื่อปั่นสูบน้ำจึงต้องออกแรงมากขึ้น นี่เป็นบทเรียนที่หนึ่ง ผมแก้ไขด้วยการซื้อท่อ PVC ท่อแบบที่เราใช้ต่อท่อประปาในบ้านมาแทนสายยางดูดน้ำ ผลทำให้ปั้มสูบได้ดีขึ้นเหมือนเดิม
แต่พอต่อสปริงเกอร์ที่เตรียมมาเข้าไปเท่านั้นแหละ อาการคล้ายๆ เดิม คือมูเล่ย์ปั้มหนืดต้องออกแรงปั่นมากขึ้นหลายเท่าเพื่อให้น้ำพุ่งออกหัวสปริงเกอร์ บทเรียนนี้เดาได้ไม่ยากว่า เพราะว่าน้ำมันไม่มีที่ไป เพราะรูออกมันถูกบีบให้แคบลงมาก ปั้มจึงต้องใช้แรงดันมากในการดันน้ำจำนวนเท่าเดิมออกไป ผมจึงจัดการตัดสายยางแล้วใส่ข้อต่อสามทางแยกน้ำออกเป็น 2 สายเพื่อต่อสปริงเกอร์เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหัวโดยหวังว่าน้ำจะมีทางออกมากขึ้นเป็น 2 เท่า และไม่ต้องออกแรงปั่นมาก ผลปรากฏว่าไม่สำเร็จผมต้องออกแรงมากกว่าเดิมหลายเท่าเพื่อให้น้ำออกทั้งสองสปริงเกอร์ด้วยซ้ำ
มาค้นพบก็ตอนที่กระทืบปั่นจักรยานฝืนแรงน้ำไปแรงๆ อย่างหัวเสีย แรงดันน้ำดันให้ข้อต่อสามทางหลุด ทันใดนั้นปั้มก็ทำงานได้เบาหวิวแถมได้น้ำพุ่งออกเต็มประสิทธิภาพ ผมหยิบเอาข้อต่อสามทางขึ้นมาดู พบว่ามันเป็นข้อต่อที่ออกแบบมาให้สายยางไซส์เล็กหรือใหญ่ใช้ร่วมกันได้หมด รูข้อต่อจึงทำมาเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดสายยางที่ผมใช้ และนี่เป็นเส้นผมบังภูเขาจริงๆ ครับ ผมจัดการหั่นข้อต่อทะลวงรูให้กว้างปัญหาก็จบ ^^ เอาเครื่องไปออกงานได้
3
ปัจจุบันแทบทุกบ้านในเมืองใหญ่ล้วนใช้ปั๊มไฟฟ้าสูบน้ำกันทั้งนั้น บ้านผมเองก็ใช้ เราไม่เคยสนใจเลยว่าข้อต่ออเนกไซส์ที่ดูออกแบบมาอย่างฉลาดนั้นจะส่งผลต่อการทำงานของปั๊มขนาดไหน เพราะเมื่อเราผลักภาระการออกแรงไปให้ไฟฟ้าทำงานแทนเรา เราก็ไม่ได้สนใจมันตราบใดที่สายน้ำปลายฝักบัวยังไหลแรงซู่ซ่าอยู่
การหันกลับมาพึ่งพลังงานจากตัวเองบ้าง นอกจากจะทำให้เราได้เรียนรู้กฏของธรรมชาติแล้วยังช่วยให้เราใส่ใจใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย เพราะพลังกายของเรามีจำกัดใช้แรงมากยิ่งเหนื่อยมาก หากมนุษย์สามารถเชื่อมสัมผัสความเหนื่อยจากการเผาผลาญพลังงานต่างๆ บนโลกนี้ได้ เราคงรู้จักใช้ทรัพยากรโลกอย่างมีประสิทธิภาพและเคารพในคุณของธรรมชาติโดยไม่ต้องมานั่งรณรงค์กันอย่างทุกวันนี้