เมื่อหลายปีก่อน สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองรถติดอันดับ ๑ ของโลก
เหตุที่รถติดอาจมาจากหลายปัจจัย เช่น ผังเมืองไม่ดี มีการก่อสร้างขุดเจาะพื้นถนน ผู้สัญจรขาดระเบียบวินัย มีอุบัติเหตุ สัญญาณไฟจราจรไม่สัมพันธ์กับความหนาแน่นของรถบนท้องถนน ฯลฯ แต่ปัจจัยหลักที่ปฏิเสธไม่ได้น่าจะเป็นเพราะจำนวนรถที่เพิ่มมากขึ้นเกินกว่าถนนจะรองรับได้
เมื่อปี ๒๕๕๓ จำนวนรถจดทะเบียนกรุงเทพฯ มีทั้งสิ้น ๖.๒ ล้านคัน โดยเฉลี่ยทุกๆ ปีมีรถจดทะเบียนเพิ่มขึ้น ๒๔๐,๐๐๐ คัน กระทั่งในปี ๒๕๕๔-๒๕๕๕ เมื่อรัฐบาลออกนโยบายคืนภาษีรถยนต์ที่เรียกกันว่า “รถคันแรก” ทำให้มียอดจดทะเบียนรถยนต์เพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ กรุงเทพฯ มีรถยนต์ทั้งสิ้น ๗.๓ ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๓ ถึง ๑.๑ ล้านคัน
สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ระบุว่าปัจจุบันพื้นที่ถนนกรุงเทพฯ รองรับรถยนต์ได้เพียง ๑.๖ ล้านคัน นั่นหมายความว่าหากจะมีถนนเพียงพอต่อรถยนต์ จำเป็นต้องเพิ่มพื้นที่ถนนอีก ๔-๕ เท่า แต่ความเป็นจริงทุกวันนี้กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องหนาแน่นแออัดทุกพื้นที่ อัตราการขยายถนนทำได้เพียงร้อยละ ๔ ต่อปี ไม่ทันกับการรองรับจำนวนรถที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทุกปีๆ ได้
ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ระบุว่าคนกรุงเทพฯ เดินทางวันละประมาณ ๑๘ ล้านเที่ยว รถยนต์ส่วนบุคคลในกรุงเทพฯ มีกว่า ๖.๙ ล้านคัน คิดเป็นร้อยละ ๙๕ ของจำนวนรถทั้งหมด รองรับการเดินทางได้เพียงร้อยละ ๕๕ ของจำนวนเที่ยวเดินทางทั้งหมด ขณะที่รถยนต์ร้อยละ ๕ ที่เหลือ (ราว ๓๓๗,๐๐๐ คัน) ซึ่งได้แก่รถรับจ้าง รถโดยสาร และรถสาธารณะต่างๆ รองรับการเดินทางได้มากถึงร้อยละ ๔๕ จะเห็นว่าประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในระบบขนส่งมวลชนสูงกว่ารถยนต์ส่วนตัวหลายเท่านัก
ดังนั้น หากต้องการแก้ปัญหาการจราจรอย่างมีความหวัง คงไม่ใช่มุ่งเพิ่มพื้นที่ถนน สร้างอุโมงค์หรือสะพานลอยฟ้า แต่ควรเน้นพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้มีคุณภาพและครอบคลุมพื้นที่ในเมือง พร้อมกับส่งเสริมการเดินทางอย่างยั่งยืนที่ใช้พื้นที่น้อยเช่นฟุตบาทหรือทางจักรยานโดยไม่จำเป็นต้องขยายถนน
ปัญหาจำนวนรถยนต์ไม่สัมพันธ์กับถนนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะบ้านเรา องค์กรรณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหารถติดทั่วโลกล้วนตระหนักเรื่องนี้ดี จึงร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์วันปลอดรถยนต์โลก (World Car Free Day) ในวันที่ ๒๒ กันยายนของทุกปี เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการลดจำนวนรถยนต์ส่วนตัว ส่งเสริมระบบขนส่งมวลชน การเดินและขี่จักรยาน เพื่อเมืองน่าอยู่ยิ่งขึ้น
กิจกรรม Car Free Day เกิดขึ้นครั้งแรกในการประชุม Ciudades Accesibles Congress ที่สเปน เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๔ โดย อีริก บริตตัน (Eric Britton) ระบุยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติโดยทั่วกันคือ
๑. ต้องทำให้ผู้คนเตรียมตัวเดินทางโดยไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัว
๒. ต้องศึกษาและสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น
๓. ต้องสะท้อนให้สังคมได้เห็นแง่มุมสิ่งดีๆ ที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์จากการงดใช้รถในวันนั้น
๔. ต้องหาวิธีทำให้ผู้ใช้รถไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากหยุดใช้รถอย่างน้อยชั่วเวลาหนึ่งเพื่อให้เกิดพื้นที่ปลอดรถขึ้น ซึ่งต้องพิจารณาความเป็นไปได้ต่างๆ ทั้งสถานที่ ระยะเวลา และรูปแบบกิจกรรมที่เหมาะสมเพื่อสาธิตสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อความคิดเกี่ยวกับการสัญจรแบบไร้รถเกิดเป็นรูปธรรมขึ้น
ภายใต้แนวทางนี้มีหลายเมืองที่รณรงค์จนประสบผลสำเร็จ ดังเช่นโบโกตาและจาการ์ตา
โบโกตา เมืองหลวงของโคลอมเบีย สามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์จากเมืองโคเคน รถติด อากาศเสีย กลายเป็นเมืองจักรยานได้ในเวลาเพียง ๕ ปี และเป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆ เมืองทั่วโลก กิจกรรมคาร์ฟรีเดย์เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการขับเคลื่อนกระบวนทัศน์ของสังคม ทุกๆ วันอาทิตย์ เจ็ดโมงเช้าถึงบ่ายสอง ถนนใหญ่ในเมืองหลายสายจะปิดไม่ให้รถเข้า เพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนมาพบปะสังสรรค์ เพื่อให้ชาวเมืองได้สัมผัสถึงบรรยากาศของเมืองปลอดรถยนต์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนสนับสนุนการพลิกฟื้นเมืองรถยนต์สู่เมืองจักรยาน
จาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย เคยครองแชมป์เมืองรถติดที่สุดในโลก กิจกรรมคาร์ฟรีเดย์เป็นเครื่องมือปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของผู้คน โดยกำหนดให้ทุกๆ เช้าวันอาทิตย์สิ้นเดือนเป็นวันปลอดรถ และปิดถนนที่เคยรถติดเป็นประจำไม่ให้รถยนต์เข้าพื้นที่ แต่ให้รถเมล์หรือขนส่งมวลชนอื่นๆ สัญจรได้เป็นปรกติ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนออกมาใช้พื้นที่สาธารณะทำกิจกรรมต่างๆ เมื่อหน่วยงานด้านการควบคุมมลพิษตรวจวัดข้อมูลมลพิษทางอากาศตลอด ๗ เดือนแรกของการจัดกิจกรรม ผลปรากฏว่าหากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในวันปรกติ มลพิษทางอากาศมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด กิจกรรมปิดถนนได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากประชาชนจำนวนมากจนต้องขยายพื้นที่จัดงานเพิ่มเป็นเดือนละ ๒ ครั้ง ล่าสุดเมื่อต้นปีนี้เอง กรุงจาการ์ตาประกาศแผนการจัดคาร์ฟรีเดย์ทุกๆ สัปดาห์โดยหมุนเวียนสถานที่กันไป
ไม่เพียงรณรงค์คาร์ฟรีเดย์เท่านั้น ทั้งโบโกตาและจาการ์ตาต่างก็พัฒนาระบบขนส่งมวลชน การเดินและขี่จักรยานอย่างเป็นระบบควบคู่กันไปด้วย ทำให้ผู้ใช้รถไม่รู้สึกเดือดร้อนมากนัก กลับยอมรับและเข้าใจวัตถุประสงค์มากขึ้นด้วย
กล่าวถึงกรุงเทพมหานคร เริ่มจัดกิจกรรมคาร์ฟรีเดย์อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ รูปแบบกิจกรรมคือนัดกันขี่จักรยานไปรวมตัวกันที่ใดที่หนึ่งเพื่อสร้างภาพสัญลักษณ์ประจำปี เช่น แผนที่ประเทศไทย ธงชาติ ตัวเลขรณรงค์ต่างๆ ในปีล่าสุดเป็นการสร้างขบวนจักรยานธงชาติไทยที่ยาวที่สุดในโลก..จากนั้นจะขี่จักรยานเป็นขบวนไปตามถนนสายหลักทั่วเมือง เพื่อรณรงค์ให้คนหันมาใช้จักรยานแทนการขับรถยนต์
ที่ผ่านมากิจกรรมมุ่งเน้นไปที่จำนวนคนขี่จักรยานในวันดังกล่าวโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการลดจำนวนรถยนต์ การส่งเสริมระบบขนส่งมวลชน หรือการเดินเท่าที่ควร แม้จำนวนผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก ๑,๓๓๑ คนในปี ๒๕๕๐ เป็น ๑๒,๐๐๐ คนในปี ๒๕๕๕ แต่ไม่มีครั้งใดเลยที่จะส่งผลให้ปริมาณการใช้รถยนต์ในระหว่างวันลดลงแต่อย่างใด ผิดกับการรณรงค์ที่โบโกตาลิบลับ เพียงการจัดงานครั้งแรกสามารถชักชวนให้คนตัดสินใจทิ้งรถอยู่บ้านไม่น้อยกว่า ๘๕๐,๐๐๐ คันเป็นเวลากว่า ๑๓ ชั่วโมง โดยมีระบบสัญจรทางเลือกอื่นๆ อำนวยความสะดวกแก่ชาวเมือง
ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมทุกครั้งที่ไปร่วมปั่นจักรยานในกิจกรรมคาร์ฟรีเดย์ จึงมักได้ยินเสียงบีบแตรรถยนต์ของคนขับอย่างหัวเสีย และทันทีที่สิ้นเสียงแตร ผู้ร่วมขบวนจักรยานอย่างน้อย ๑ คนก็จะตะโกนตัดพ้อดังๆ ว่า “ขอแค่วันเดียวก็ไม่ได้หรืออย่างไร”
ที่มา: นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 332 (คอลัมน์ Let’s Bike)
อ้างอิง
ข้อมูลรถยนต์ในเมืองไทย
http://apps.dlt.go.th/statistics_web/statistics.html
ข้อมูลวันคาร์ฟรีเดย์
http://en.wikipedia.org/wiki/Car-Free_Days
http://ecoplan.org/carfreeday/general/origins.htm
ข้อมูลการวางแผนจัดงานคาร์ฟรีเดย์
http://www.ecoplan.org/carfreeday/general/thursday.htm
หนังสั้น “บทเรียนจากโบโกตา”
http://www.youtube.com/watch?v=lu9LTakJUdk
ข้อมูลคาร์ฟรีเดย์ในจาการ์ตา
http://www.thejakartapost.com/news/2008/06/25/carfree-day-reduces-air-pollution-tests.html
http://www.thejakartapost.com/news/2012/09/22/jakarta-take-part-world-car-free-day-celebration.html
http://www.thejakartapost.com/news/2012/05/11/city-intensifies-car-free-policy-more-streets.html
ข้อมูลคาร์ฟรีเดย์ในกรุงเทพฯ
http://www.bangkokcarfreeday.com/
http://www.thaicycling.com/