in on October 10, 2016

ขยะ ระเบิดเวลาเกาะสมุย

read |

Views

ภูเขาขยะกองสูงหลายคนต่อกับบ่อขยะขนาดใหญ่กำลังจะเต็มอีกไม่นาน ถูกประเมินว่าจนถึงตอนนี้น่าจะมีถึง 400,000 ตันแล้ว โดยที่โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร ขณะที่ขยะที่เกิดขึ้นใหม่มีมากถึงวันละ 150 ตันก็สะสม ทับถมเพิ่มเข้าไปทุกวัน ซึ่งขยะร้อยละ 70 มาจากสถานประกอบการท่องเที่ยว ส่วนอีกร้อยละ 30 เป็นมาจากภาคครัวเรือน แม้ว่าสมุยจะมีประชากรราว 65,000 คน แต่ก็มีประชากรแฝงถึง 195,000 คน เเละแน่นอนว่าขยะส่วนใหญ่เป็นถุงพลาสติก

จากที่ได้มีโอกาสร่วมวงพูดคุยปัญหาขยะ ผู้เขียนอาจฉายภาพปัญหาขยะเกาะสมุยให้ชัดมากขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ขยะเก่า 400,000 ตัน กับขยะใหม่ที่เกิดขึ้นวันละ 150 ตัน

การจัดการขยะเก่าดูเหมือนจะมีความขัดแย้งในการจัดการไม่น้อย เพราะเทศบาลนครเกาะสมุยก็ต้องการจะขนย้ายขยะขึ้นไปฝังกลบที่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และได้ยกร่าง TOR เพื่อเตรียมประกาศหาผู้ประมูลมาดำเนินการแต่ภาคประชาชนและผู้ประกอบการบางส่วนไม่เห็นด้วยโดยเห็นว่ามีราคาแพงและไม่ได้กำจัดปัญหาแต่กลับเป็นการขยายปัญหาออกไปสู่ภายนอกรวมทั้งอาจจะมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในระหว่างที่ขนส่งขยะซึ่งจะกินเวลานานหลายปีขณะที่ประชาชนบางส่วนที่จังหวัดสุราษฏร์ธานีมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบหรืออาศัยอยู่ใกล้กับสถานที่ที่จะรับฝังกลบขยะก็ไม่เห็นด้วยที่จะเอาขยะจากเกาะไปทิ้งที่ฝั่งโดยเสนอให้จัดจ้างเอกชนมาดำเนินการทำขยะให้เป็นแท่งเชื้อเพลิงเพื่อส่งเข้าไปเป็นเชื้อเพลิงโรงปูนต่อไปเพราะเห็นว่าเป็นการจัดการขยะในพื้นที่และมีราคาถูกกว่า

ส่วนบางกระแสก็ว่าเป็นเรื่องของความขัดแย้งของผลประโยชน์ แต่ผลตามมาก็คือ ทำให้ทางจังหวัดสุราษฏร์ธานียังคงไม่ประทับตรา TOR ให้ออกมาเพราะเห็นว่ายังมีความขัดแย้งกันอยู่อย่างมาก

ส่วนอีกปัญหาใหญ่ที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะเห็นฝั่งก็คือการจัดการขยะใหม่ที่เกิดขึ้นวันละ 150 ตัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดต่างก็เห็นว่าการแก้ปัญหาต้องจัดการด้วยการคัดแยกขยะต้นทางให้เหลือปริมาณขยะน้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์

แต่ปฏิบัติจริงกลับมีการคัดแยกขยะน้อยมาก โดยสถานประกอบการที่มีมากถึง 571 แห่ง กลับมีการคัดแยกขยะอยู่เพียง 30-40 แห่งเท่านั้น

เทศบาลนครเกาะสมุยเห็นว่าเพราะค่ากำจัดขยะของเทศบาลบอกว่าตกราคากิโลกรัมละ 2 บาททั้งค่าเก็บขนและฝังกลบ (300,000 บาท/วัน) ก็จัดเก็บจากผู้ทิ้งขยะได้ในราคาที่แสนถูกครัวเรือนละ 20 บาท/เดือน หรือถ้าเป็นสถานประกอบการก็ถูกเก็บราว 2,000 บาท/เดือนเท่านั้น เนื่องจากมีกรอบตามกฎหมายที่เทศบาลต้องการจะให้มีการแก้ไขเพื่อให้สามารถตั้งราคาค่าเก็บขยะได้สูงจนผู้ทิ้งขยะได้รับผลกระทบจนต้องหันมาคัดแยกขยะให้เป็นเรื่องเป็นราว

นอกจากนี้การแยกขยะยังอยู่ในระดับจิตสำนึกหรือจิตอาสา ไม่ได้อยู่ในรูปของความจำเป็น บางแห่งทำ บางแห่งเลิกทำตามนโยบายของผู้บริหาร เช่น ผู้จัดการโรงแรมหรือผู้อำนวยการโรงเรียนที่มาใหม่

ขณะที่ซาเล้งรับซื้อขยะที่มีอยู่เป็นจำนวนมากก็บอกว่า มีผู้ประกอบการรับซื้อขยะราว 25 ราย แต่ไม่สามารถซื้อได้ในราคาสูงเพราะในท้ายที่สุดก็ต้องขนข้ามเกาะไปขายต่อรายใหญ่บนฝั่ง ทำให้มีต้นทุนสูง การรับซื้อขยะรีไซเคิลจึงไม่ขยายตัวมากนัก

นี่จึงเป็นเหตุผลให้มีการคัดแยกขยะออกมาได้เพียงวันละ 35 ตัน หรือ 23% เท่านั้น

บางท่านถึงกับแนะให้เทศบาลนครเกาะสมุยใช้ยาแรง คือถ้าไม่แยกขยะก็จะไม่เข้าไปเก็บขยะให้ ต้องให้สถานประกอบการและครัวเรือนได้รับผลกระทบเพื่อจะได้ลุกขึ้นมาจัดการตัวเอง ไม่ทิ้งเป็นภาระส่วนกลาง

ขยะเกาะสมุยวันนี้เป็นทั้งปัญหาความขัดแย้ง และเป็นทั้งความเครียดที่คนที่เกี่ยวข้องยังไม่เห็นว่าจะทำอย่างไรให้สามารถลดปริมาณขยะได้อย่างจริงจังและเห็นผลต่อเนื่องยั่งยืน

ผู้เขียนรู้สึกเหมือนได้ยินเสียงเข็มนาฬิกาเดินติ๊กต้อกติ๊กต้อกคล้ายเสียงระเบิดเวลาระเบิดที่จำทำให้นักท่องเที่ยวหายไปพร้อมๆ กับรายได้ของทั้งคนบนเกาะคนต่างถิ่นและธุรกิจไม่ว่าระดับไหน

ระเบิดลูกนี้มันอยู่บนเกาะสมุย !!!

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php
  2. ภาพจาก: http://www.tnamcot.com/content/176359
  3. ภาพจาก: http://news.thaipbs.or.th/gallery/48#&gid=1&pid=1
จิตติมา บ้านสร้าง

รายงานสถานะการณ์สิ่งเเวดล้อมในบ้านเมืองกับนักข่าวสาว ผ่านมุมมองเเละเเง่คิดต่างๆ เเบบล้วงลับเจาะลึก

Email

Share