ทำไมมนุษย์เป็นสัตว์แก่วัยทอง?
ความแปลกอย่างหนึ่งของมนุษย์ คือเราเป็นสัตว์ไม่กี่ชนิดที่มีอายุยืนยาวตามธรรมชาติได้นานหลังวัยเจริญพันธุ์ ไข่ของมนุษย์ผู้หญิงจะถูกปล่อยทิ้งหมดไปเมื่ออายุราว 40-50 ปี ประจำเดือน (menstruation) หมดก็เข้าสู่วัยทอง แต่พวกนางก็ยังมีเรี่ยวแรงไม่แก่ตายโดยเร็ว แม้ในยุคที่การแพทย์ยังไม่ล้ำจนสามารถยืดอายุมนุษย์ได้ยาวนาน ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยก็ยังอายุยืนหลังวัยทองไปได้อีกหลายสิบปี เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นแม้ในหมู่ชนเผ่าล่าสัตว์เก็บของป่า จึงต้องสรุปว่ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ต่างจากสัตว์ส่วนใหญ่ หลายชนิดมีชีวิตเพียงเพื่อผสมพันธุ์วางไข่ออกลูกครั้งเดียวแล้วตาย อีกหลายชนิดออกลูกได้หลายครั้งหลายปี แต่เมื่อหมดความสามารถในการสืบพันธุ์แล้วก็ตาย ถ้าไม่นับสัตว์ที่คนเอามาเลี้ยงดูแลในสถานเพาะเลี้ยงต่างๆ สัตว์ป่าในธรรมชาติที่มีวัยทองเท่าที่เรารู้มีไม่มากนัก อาทิวาฬเพชฌฆาตประเภทไม่อพยพ วาฬนำร่องครีบสั้นหรือโลมาหัวกลม เพลี้ยอ่อนสังคมที่สร้างหูดบนพืช (gall-forming social aphid) เป็นต้น มันเป็นปรากฎการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์ยังงุนงง มีทฤษฎีถกเถียงกันมากมายถึงเหตุผลการวิวัฒนาการคุณลักษณะนี้ หลายทฤษฎีฟังดูเข้าท่า แต่พอตรวจสอบข้อมูลก็ล้มพับไป จึงยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่มีข้อสังเกตน่าพิจารณา สัตว์เหล่านี้เป็นสัตว์สังคมซึ่งตัวอ่อนต้องได้รับการดูแลเป็นเวลานานเพื่ออยู่รอด วาฬเพชฌฆาตเด็กต้องการแม่ดูแลยาวนานยิ่งกว่ามนุษย์อีก มันมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้มากมายกว่าจะหากิน หลีกเลี่ยงภัยเสี่ยงในชีวิตได้ แม่และยายที่มีประสบการณ์มีความสำคัญมากๆ โดยเฉพาะในช่วงยากแร้น เพราะต้องอาศัยความรู้ทางนิเวศท้องถิ่นเป็นอย่างดีที่จะอยู่รอดผ่านพ้นภาวะลำบากไปได้ ไหนยังต้องเรียนรู้วิธีหลีกเลี่ยงความขัดแย้งต่างๆ ในสังคมทะเลอีก มนุษย์ก็เช่นกัน ในสังคมโบราณจวบจนไม่นานมานี้ หญิงวัยทองยันนางเฒ่ามีบทบาทสำคัญในครอบครัวและชุมชน เป็นผู้ช่วยเลี้ยงดูเด็กรุ่นใหม่ แบ่งเบาภาระให้แม่สาวๆ ออกไปทำมาหากิน นางเฒ่าหลายคนยังได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีความรู้และปัญญาจากประสบการณ์ที่สะสมมานานปี คนในสังคมได้อาศัยปรึกษาหารือ แต่ความต้องการผู้มีประสบการณ์ช่วยเลี้ยงดูเด็กและแก้ปัญหาให้ชุมชนก็ไม่ใช่เหตุผลเด็ดที่จะฟันธงสำหรับอธิบายปรากฎการณ์วัยทอง สัตว์อื่นๆ อีกหลายชนิดก็อยู่กันเป็นสังคมและช่วยกันเลี้ยงเด็ก ยกตัวอย่างช้าง ช้างเป็นสัตว์อายุยืนยาวเครือๆ มนุษย์ […]