in on May 9, 2017

เอกลักษณ์ความเป็นมนุษย์

read |

Views

ได้ดูเรื่อง Ghost in the Shell ที่เอามังงะญี่ปุ่นมาทำเป็นหนัง นางเอกเป็นมนุษย์ถูกผ่าตัดทดลอง มีร่างเป็นหุ่นยนต์ไฮเทค แต่จิตวิญญานเธอยังอยู่ในนั้น

เธอ–เมเจอร์มิรา–ต้องปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย แต่ก็อึดอัดสับสนกับอัตลักษณ์ของตัวเอง หมอที่ผ่าตัดเธอจึงบอกเธอด้วยความเมตตาว่า “เมื่อเรายอมรับความเป็นเอกลักษณ์ของเราได้ เราจะพบความสงบในจิตใจ”

เอกลักษณ์ไม่ได้แปลว่าดีกว่า พิเศษกว่าผู้อื่น หรือห่วยกว่า ด้อยกว่าผู้อื่น มันหมายถึงลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใคร ที่เรารับรู้ ยอมรับ โอเคกับมัน และรู้จักใช้มัน

ในหน่วยของปัจเจกเราแต่ละคนมีเอกลักษณ์ของตัวเอง ถอยออกมาในหน่วยใหญ่ขึ้น ชีวิตแต่ละสายพันธุ์ก็มีเอกลักษณ์ร่วมของมัน แตกต่างจากสายพันธุ์ร่วมโลกอื่นๆ

แล้วอะไรที่ทำให้มนุษย์ต่างไปจากสัตว์อื่นๆ

สมัยที่เป็นนักศึกษาโบราณคดีนานนมเนในยุค 80 เราต้องว่ายวนอยู่กับคำถามนี้ ในทางกายภาพสรีระ ตอบไม่ยากนัก เห็นกันอยู่ชัดๆ ว่าเราเป็นลิงขนอ่อนบางจนแลเหมือนไม่มีขน เคลื่อนที่ด้วยสองขา ปลดปล่อยแขนและมือให้เป็นอิสระ มีนิ้วโป้งที่ประกบกับนิ้วอื่นๆ ได้ทุกนิ้ว ทำให้เราจับโน่นนี่ได้ถนัด ประดิษฐ์เครื่องมือต่างๆ ได้ดี สุดแท้แต่สมองใหญ่แสนฉลาดจะคิดค้น

เราภูมิใจกับสมองและมือของเรามาก จนเกิดการตีความเอกลักษณ์ของมนุษย์ในแง่มุมว่าเหนือกว่าสัตว์อื่นๆ

เช่น ตั้งสมญานามมนุษย์ว่า “มนุษย์ผู้สร้างเครื่องมือ” “มนุษย์ผู้พูดภาษา” หรือมนุษย์ผู้ชาญฉลาดอะไรทำนองนี้ และมีทฤษฎีถกเถียงกันมากมายถึงเหตุที่มาของวิวัฒนาการสมองใหญ่เดินสองขา ซึ่งมักจะได้รับอิทธิพลจากกระแสความคิดทางสังคมการเมืองในแต่ละยุค จากยุคชายเป็นใหญ่ เชื่อว่าเป็นแรงขับเคลื่อนจากการล่าสัตว์ของผู้ชาย ถึงยุคสิทธิสตรีเถียงว่าเป็นการเก็บของป่าของผู้หญิงต่างหาก จนถึงในยุคที่ฉันเป็นนักศึกษา ป.ตรี เราต่อสู้กับสงครามเย็นและอคติต่อความแตกต่างในสังคม ทฤษฎีที่มาแรงจนฉันเองยังเคลิ้ม ได้แก่ ทฤษฎีแบ่งปันอาหาร (food sharing) ทำให้คนวิวัฒนาการขึ้นเป็นคน

ฝั่งวัฒนธรรมไทยเองก็ถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ มีจิตสำนึกเหนือสัตว์เดรัจฉาน โดยมองว่าสัตว์ไม่มีความนึกคิด

แต่ในวันนี้ เรากลับพบว่าอะไรหลายๆ อย่างที่เราทึกทักว่าเป็นความพิเศษของมนุษย์เหนือสัตว์อื่นกลับไม่เป็นความจริง เราไม่ได้มีสมองใหญ่ที่สุด สมองวาฬสเปิร์มต่างหากที่ใหญ่ที่สุด และถ้าจะพิจารณาสัดส่วนขนาดสมองต่อขนาดร่างกาย ก็ต้องถือว่านกหลายชนิดมีสมองใหญ่กว่าเรา

สมองเราเจ๋งมาก แต่สมองมนุษย์ทั่วไปก็ไม่มีศักยภาพบางอย่างที่สัตว์อื่นมี เราจำรายละเอียดลายแทงมหาสมบัติสู้กระรอกฝังเมล็ดพืชไม่ได้ เราสัมผัสทิศไม่ได้ดีเท่านก

เราไม่ได้เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่รู้จักใช้หรือแม้กระทั่งสร้างเครื่องมือ หรือประดับประดาบ้านให้สวยงาม เราไม่ได้เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่รู้จักวางแผน เราไม่ได้เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่รู้จักอัตลักษณ์ปัจเจกตัวตน

เราไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่แบ่งอาหารให้พวกพ้อง ไม่ได้เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่จงใจออกไปช่วยเหลือสัตว์ต่างสายพันธุ์ชนิดอื่น เมื่อเร็วๆ นี้มีคนถ่ายวิดีโอวาฬสีน้ำเงินเข้าไปช่วยเหลือแมวน้ำจากวาฬเพชรฆาต เอาแมวน้ำทั้งฝูงขึ้นหลังว่ายพาไปไว้บนก้อนน้ำแข็งที่ปลอดภัย ตัวไหนลื่นตกจากหลังมันก็เอาครีบดันกลับขึ้นไป ข้อมูลเหล่านี้ไหลเข้ามาเรื่อยๆ เมื่อเรารู้จักชีวิตสายพันธุ์อื่นดีขึ้น มีหนังสือหลายเล่มหาอ่านได้ เช่น Are we smart enough to know how smart animals are? ของ Frans de Waal

สมองเราเจ๋งในลักษณะที่แตกต่างจากสัตว์อื่น มือเราก็ยืดหยุ่นสุดยอด แต่ความเป็นมนุษย์เป็นลักษณะหลายอย่างเข้ามาประกอบรวมกัน จนทำให้เรามีเอกลักษณ์เป็นสัตว์ควบคุมไฟ หุงหาอาหาร

ณ วันนี้ฉันก็ยังไม่รู้ชัดเจนถึงเหตุผลของการเป็นมนุษย์ แต่ไม่นานมานี้มีเหตุบางอย่างให้สะดุดกับเอกลักษณ์ทางกายภาพของมนุษย์ที่ไม่เคยคิดถึงสมัยเป็นนักศึกษาโบราณคดี

ในการที่เราลุกขึ้นยืนสองขาเป็นท่าหลัก เราไม่เพียงแต่ปลดปล่อยมือให้เป็นอิสระ แต่เรายังเปิดศูนย์หัวใจออกสู่โลกกว้าง ไม่มีอะไรปกป้องอวัยวะสำคัญนี้ ไม่มีอะไรขวางกั้น

เราต่างจากสัตว์เดรัจฉานในความหมายดั้งเดิมตรงนี้เอง

เดรัจฉานมาจากบาลี “ติรจฺฉาน” แปลว่า “ผู้ไปโดยส่วนขวาง” คือร่างกายขนานไปกับพื้นโลก มีพื้นโลกเป็นกำบังระหว่างขา

การเปิดหัวใจเสี่ยงต่อการเผยจุดอ่อน ปะทะภัยอันตรายโดยตรง เราแก้ปัญหานี้ด้วยสมองและมือสร้างเกราะคุ้มกัน สร้างป้อมปราการ สร้างอาวุธวิถีไกล ยันภัยไว้ห่างๆ ตัว

หัวใจเรามีบทบาทมากกว่าปั๊มเลือด ในศาสตร์แห่งโยคะ กายภาพเราไม่ได้มีเฉพาะกายหยาบ แต่ยังมีกายละเอียดในรูปแบบพลังงานต่างๆ และเราสัมผัสมันกันและกันตลอดเวลา หัวใจเป็นอวัยวะอ่อนไหวต่อความรู้สึกกับความสัมพันธ์ มันรักได้ อกหักได้ ปวดร้าวได้ จนเราป้องกันใจด้วยเกราะของความเฉยชา ปิดหนังกำพร้าด้วยผังผืดของการถากหยาม ไม่ปล่อยใจไปกับอะไรทั้งสิ้น

แต่หัวใจที่กล้าหาญยินยอมที่จะรู้สึก เปิดใจออกเชื่อมโยงกับโลกและชีวิตอื่น

เราลุกขึ้นยืนสองขาเพื่อเปิดหัวใจออกไปกว้างๆ ตรงๆ

มนุษย์ขาขาดจึงยังคงเป็นมนุษย์เพราะหัวใจที่แอ่นรับโลก เมเจอร์มิราแห่ง Ghost in the Shell ยังเป็นมนุษย์เพราะจิตละเอียดของเธอยังคงอยู่ แม้เนื้อหนังจะเป็นหุ่นยนต์

ถ้าจิตแท้ของชีวิตคือความรักและเมตตา ภารกิจท้าทายมนุษย์คือเปิดหัวใจ ถ้าการเปิดอ้าหัวใจเป็นเอกลักษณ์ของมนุษย์ เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะใช้มัน


กรุงเทพธุรกิจ, พฤษภาคม 2560

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://www.forbes.com/sites/maurybrown/2017/02/21/bamtech-takes-next-step-in-growth-by-naming-former-amazon-exec-michael-paull-as-ceo/
  2. ภาพจาก: https://zabriskie.de/wp-content/uploads/2016/08/zabriskie_frans_de_waal_are_we_smart_enough_to_know_how_smart_animals_are.jpg
สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share