in on August 28, 2017

คุณค่าของต้นไม้ริมทาง

read |

Views

ใครที่เคยไปสิงคโปร์คงจะเคยเห็นว่าสิ่งที่เป็นจุดเด่นที่สุดอย่างหนึ่งของประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆ แห่งนี้คือต้นไม้ใหญ่ริมทาง ตั้งแต่ออกจากสนามบินจนเข้าเมืองเราจะได้เห็นไม้ใหญ่เรียงตัวเป็นทิวแถวแทบจะทุกถนนเส้นหลัก

ลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีผู้ก่อร่างสร้างชาติสิงคโปร์ เป็นผู้วางรากฐานสำคัญในการสร้างสิงคโปร์ให้เป็น Garden City จนมักจะได้รับเรียกว่าเป็น Gardener-in-Chief อีกตำแหน่งหนึ่ง

ตอนที่ลี กวน ยู ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สิงคโปร์เพิ่งผ่านยุคอุตสาหกรรมและการขยายบ้านเมืองที่ทำให้พื้นที่จำนวนมากเสื่อมโทรม

ลี กวน ยู บุกเบิกการปลูกต้นไม้ในเมืองและเริ่มการรณรงค์ให้สิงคโปร์เป็นนครแห่งสวนมาตั้งแต่ปี 1963 และผลักดันจนเกิดเป็นวันปลูกต้นไม้ประจำชาติ National Tree Planting Day ตั้งแต่ปี 1971 ทุกๆ วันอาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายนเพื่อรับฤดูฝนโดยตั้งเป้าปลูกไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 10,000 ต้น โดยราว 5,000 ต้นจะปลูกตามแนวถนน วงเวียน ที่จอดรถ และพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่

(ต้นไม้ริมทางในสิงคโปร์ จาก Singapore National Park Service)

ลี กวน ยู เชื่อว่าการปลูกต้นไม้จะเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ร่มเย็นน่าอยู่ให้กับพลเมืองของเขา และสร้างภาพลักษณ์ที่น่าประทับใจให้กับผู้มาเยือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้นักลงทุนรู้สึกว่าสิงคโปร์เป็นเมืองที่น่าลงทุนตั้งแต่ก้าวแรกที่ออกจากสนามบิน

ปัจจุบันเรามีงานวิจัยยืนยันผลประโยชน์จากการมีต้นไม้ในเมืองมากมาย อาทิ

  • ไม้ใหญ่ที่สมบูรณ์ต้นหนึ่ง สามารถทำความเย็นได้เท่ากับเครื่องปรับอากาศขนาดมาตรฐาน 10 เครื่องทำงานพร้อมกัน 20 ชั่วโมงต่อวัน  

  • ต้นไม้ใหญ่ในเมืองจำนวน 200,000 ต้น สามารถดูดซับคาร์บอนได้ปีละมากกว่า 5,000 ตันและกำจัดมลพิษต่างๆได้มากถึง 305 ตัน (งานวิจัยจากเมืองบาร์เซโลน่า)  

  • ถ้าคุณมีต้นไม้ปลูกทางทิศตะวันตกของตัวบ้าน จะช่วยลดความร้อนและประหยัดพลังงานได้ราว 10%  

  • พื้นที่อสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ใกล้พื้นที่สีเขียวมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และเป็นที่ต้องการอย่างมากของผู้ซื้อ 

  • ต้นไม้ใหญ่หนึ่งต้นป้องกันฝุ่นละอองตกลงพื้นและในบรรยากาศได้มากถึง 27-45% เมื่อเทียบกับพื้นที่เปิดโล่ง  

  • ผู้ป่วยที่มีโอกาสเห็นสีเขียวของต้นไม้สามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าและต้องพึ่งยาแก้ปวดน้อยกว่าผู้ป่วยที่เห็นแต่ผนังปูนในโรงพยาบาล

(กราฟิกคุณค่าของไม้ในเมือง จาก Oregon Department of Forestry)

ลีกวนยู เป็น Gardener-in-Chief ของสิงคโปร์ต่อเนื่องยาวนานกว่า 50 ปีจนวาระสุดท้ายของชีวิต วิสัยทัศน์ของเขาทำให้สิงคโปร์กลายเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกในหลายๆด้านทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การศึกษาและการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในเมือง

ต้นไม้ริมทางจึงไม่ใช่แค่ต้นไม้ริมทาง ในกรณีของสิงคโปร์ เราได้เห็นตัวอย่างว่าต้นไม้ได้กลายเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาบ้านเมือง สังคม เศรษฐกิจ การศึกษาและสิ่งแวดล้อมในคราวเดียวกัน

ต้นไม้ในเมืองคือสัญลักษณ์ของการพัฒนาที่แท้จริง

เพชร มโนปวิตร

นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการเป็นนักเขียน นักแปลและนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการทำงานในองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าหลากหลายองค์กรตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีผลงานตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆมาแล้วกว่า 200 เรื่อง ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เริ่มเป็นคอลัมนิสต์ประจำให้มูลนิธิโลกสีเขียวมาตั้งแต่ปี 2546 และเปิดพื้นที่คอลัมน์ Natural Solution เพื่อต้องการนำเสนอข่าวดี กรณีศึกษาที่น่าเอาอย่าง รวมทั้งแนวคิดสำคัญที่อาจเป็นทางออกของการอนุรักษ์ธรรมชาติและวิกฤติการณ์ต่างๆของโลกในปัจจุบัน

Email

Share