“อะไรเอ่ย ของใกล้ตัว อายุสั้น แต่มันท้น..ทน” ตั้งปัญหาแบบนี้ก็อาจจะลองนึกตอบคำถามดูว่ามีอะไรบ้างที่มีลักษณะแบบนี้ ติ๊กต้อก ติ๊กต้อก…
ไม่น่าจะมีอะไรเกินหน้าถุงพลาสติกแน่ๆ ลองคิดดูว่าวันหนึ่งๆ เราใช้ถุงพลาสติก ทั้งหูหิ้ว (ถุงก็อบแก๊บ) และถุงแกง ที่เรียกกันว่าถุงร้อน ถุงเย็น วันละกี่ใบในวันธรรมดาและถ้าเป็นวันหยุดล่ะ เราใช้วันละกี่ใบ ใช้เสร็จแล้วเอาไปทำอะไรต่อ
ถุงแกง ถุงน้ำแข็ง แน่นอนพอถ่ายอาหารออกหรือดูดน้ำอัดลมหมด ถุงนั้นก็ถูกทิ้งเป็นขยะทันที อายุการใช้งานก็คงมีตั้งแต่ระดับนาทีไปจนถึงระดับชั่วโมง ส่วนใหญ่คงไม่ถึงกับข้ามวัน ส่วนถุงก๊อบแก๊บอาจมีการใช้งานมากกว่านั้นหน่อย คือเอามาใส่ของอีกสักครั้งสองครั้ง หรือเอามาใส่ขยะ หลังจากหมดอายุการใช้งานแล้วถุงพลาสติกใบนั้นก็กลายเป็นขยะ
ปัญหาที่ตามมาก็คือ ขยะมูลฝอยประเภทพลาสติกเหล่านี้จะถูกนำไปฝังกลบรวมกับขยะมูลฝอยทั่วไป ซึ่งจะใช้พื้นที่ในการฝังกลบมากกว่าขยะมูลฝอยประเภทเศษอาหาร ประมาณ 3 เท่า เนื่องจากขยะมูลฝอยประเภทพลาสติกมีปริมาตรสูงเมื่อเทียบกับน้ำหนักและทนต่อแรงอัดได้สูง ทำให้ต้องสิ้นเปลืองพื้นที่ฝังกลบและใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายไม่น้อยกว่า 450 ปีเลยทีเดียว หรือหากจะเผาทำลายก็จะเกิดมลพิษที่เป็นสารก่อมะเร็งแพร่กระจายไปในอากาศสะสมรวมกับมลพิษอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วอย่างหนาแน่น
หรือถ้าจะมองในเชิงการตกค้างในสิ่งแวดล้อม ก็พบว่าผู้คนช้อปปิ้งซื้อของทั่วโลกใช้ถุงพลาสติกมากกว่า 10,000 ล้านใบต่อปี หรือทุก 1 ตารางไมล์จะพบถุงพลาสติก 46,000 ใบ ลอยอยู่ในมหาสมุทร ซึ่งข้อเท็จจริงก็คือทำให้แต่ละปีมีนกทะเลตาย 1 ล้านตัว รวมทั้งสัตว์ทะเลอื่นๆ อีกกว่า 100,000 ตัวไม่รวมปลาอีกนับไม่ถ้วน
นี่ยังไม่ได้นับตั้งแต่ขั้นตอนการได้มาซึ่งวัตถุดิบ ถึงกระบวนการผลิต จนได้ออกมาเป็นถุงพลาสติกว่าต้องใช้ทรัพยากร น้ำ พลังงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้โลกร้อนมากขึ้นแค่ไหน เห็นอิทธิพลของถุงพลาสติกที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและโลกแล้ว มาดูข้อมูลว่าถุงพลาสติกมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของเรามากแค่ไหน
ขณะที่ประเทศไทยเอง ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าจากกองขยะทั้งหมดมีขยะพลาสติกและโฟมเกิดขึ้นเฉลี่ย 7,000 ตันต่อวัน เฉพาะถุงพลาสติกมีปริมาณกว่า 5,300 ตัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะความง่าย สะดวก จนตอนนี้มันเกาะหนึบอยู่กับนิสัยของเราไปเสียแล้ว…หรือใครว่าไม่จริง (แม้กระทั่งผู้เขียนก็เถอะ)
จากข้อมูลที่มีการสำรวจของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าแหล่งกำเนิดขยะมูลฝอยประเภทพลาสติกและโฟมที่สำคัญในชุมชน ได้แก่ ครัวเรือน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร โรงเรียน และสำนักงานต่างๆ และพบว่าครัวเรือนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ได้รับถุงพลาสติกมาจากห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อที่มีอยู่กว่า 3,076 แห่ง รองลงมาได้จากตลาดสดและร้านค้าย่อย คิดเป็นร้อยละ 20 และจากที่อื่นร้อยละ 10
ส่วนความถี่หรือความบ่อยครั้งของครัวเรือนที่ไปห้างสรรพสินค้าใกล้เคียงกันมากคือ
- ไปสัปดาห์ละครั้ง คิดเป็นร้อยละ 28.1
- ไป 2-3 ครั้ง/เดือน ร้อยละ 27.9
- ไป 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ ร้อยละ 21.5
- ไปเดือนละครั้ง ร้อยละ 15.5
โดยส่วนใหญ่ไปเพื่อซื้อของอุปโภคบริโภคเมื่อใช้หมดแล้วก็จะมาซื้ออีก จำนวนถุงพลาสติกที่ได้โดยเฉลี่ยในการไปห้างแต่ละครั้งอยู่ที่
- ได้รับ 1-3 ชิ้น/ครั้ง ร้อยละ 35.0
- ได้รับ 4-5 ชิ้น/ครั้ง ร้อยละ 36.2
- ได้รับ 7-10 ชิ้น/ครั้ง ร้อยละ 24.0
ในด้านการจัดการถุงพลาสติกประเภทหูหิ้วที่ใช้แล้ว พบว่าวิธีการจัดการถุงพลาสติกของครัวเรือน
- ร้อยละ 77.3 เก็บไว้ใช้เพื่อใส่ขยะมูลฝอย
- ร้อยละ 32.8 ทิ้งเป็นขยะมูลฝอยทันที
- ร้อยละ 29.5 เก็บรวบรวมทิ้งเป็นขยะมูลฝอยในคราวเดียวกัน
ส่วนการจัดการขยะมูลฝอยถุงพลาสติกประเภทถุงร้อน–ถุงเย็น ซึ่งปกติใช้ใส่อาหาร ร้อยละ 86.2 ของครัวเรือนจะทิ้งเป็นขยะมูลฝอยทันทีเมื่อใช้แล้ว มีครัวเรือนร้อยละ 19.6 เก็บไว้ใส่ขยะมูลฝอย
ใกล้เคียงกับพฤติกรรมของตนเองมากน้อยแค่ไหน คงต้องต่างคนต่างพิจารณากัน เมื่อพิจารณาแล้ว อยากให้ช่วยกันหาทางลด ละ เลิกการใช้ถุงพลาสติก ลองมองหาของเก่าเก็บอย่างถุงผ้าหรือเก่าแก่แต่ครั้งรุ่นคุณแม่ยังสาวก็ยังได้ เช่น ตะกร้า ปิ่นโต
ตะกร้า ถุงผ้า ปิ่นโต…ช่วยกันเอาออกโรงมาช่วยกู้โลกได้แล้ว