in on September 28, 2016

อุทยานแห่งชาติไทย หัวใจเอเลี่ยน

read |

Views

เมื่อเดือนก่อนผู้เขียนเดินทางมาลงที่สนามบินดอนเมือง ในระหว่างที่รอรับกระเป๋าอยู่ที่สายพาน ก็เหลือบไปเห็นสวนญี่ปุ่นที่จัดวางไว้อย่างสวยงาม มองๆดูแล้วเห็นมีไม่กี่สิ่งที่เป็นของไทย แค่เฟิร์นเท่านั้นเองมั้งที่เป็นต้นไม้ไทย นอกนั้นไม่ว่ากล้วยไม้  หญ้า ต้นไม้ประกอบอื่นๆ ล้วนเป็นเอเลี่ยนต่างชาติทั้งสิ้น  แขกไปใครมา ก็ไม่ได้สัมผัสความเป็นไทยในสนามบินไทยเลย

phl0019

พอกันกับในอุทยานแห่งชาติของไทยวันนี้ที่อดีตนักวิชาการป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชท่านหนึ่งบอกว่า มากกว่าร้อยละ 90 ของอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศตอนนี้ มีแต่เอเลี่ยนสปีชี่ส์และการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติที่ผิดหลักการของอุทยานแห่งชาติ

หลายคนอาจจะคงเคยสังเกตเห็นบ้างเวลาไปเที่ยวในอุทยาแห่งชาติตามที่ต่างๆ เช่น บางแห่งก็มีแผ่นป้ายหรือเก้าอี้โฆษณาอุปกรณ์สื่อสารที่สีสันโดดเด่นไม่เข้ากับสภาพธรรมชาติ บางแห่งก็มีการปรับแต่งใช้ปูนเข้าไปปั้นเสริมน้ำตกหรือก้อนหิน  บางแห่งถึงกับเปลี่ยนทางน้ำ  ทำน้ำตกเทียม หรือการจัดตกแต่งสวนด้วยพรรณไม้ฉูดฉาด สีสัน รูปทรงแปลกตา

นพรัตน์ นาคสถิตย์ อดีตนักวิชาการป่าไม้ซึ่งปัจจุบันเป็นกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อธิบายว่า ในหลักการของอุทยานแห่งชาตินั้นก็มีไว้เพื่อให้คนเข้าถึงและศึกษาธรรมชาติด้วยสภาพธรรมชาติอันเป็นเฉพาะถิ่นของพื้นที่นั้นๆ เพื่อความรู้และความเข้าใจในธรรมชาติ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นหลักการจัดการอุทยานแห่งชาติที่เป็นสากลจึงต้องประกอบด้วยหลักการใหญ่ๆ คือ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติ ไม่มีการนำเอาพืชและสัตว์ต่างถิ่นเข้ามาปะปนหรือตกแต่ง ให้บริการด้านความรู้ทางธรรมชาติของพื้นที่นั้นๆเป็นหลักมากกว่าการเสพความสวยงาม และให้บริการด้านความปลอดภัย

นพรัตน์บอกว่า ตรงกันข้าม มากกว่า 90% ของอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย ทำผิดหลักการสากลอันนี้ทั้งหมด  โดยมีทั้งการปรับเปลี่ยนทางน้ำปรับเปลี่ยนขุดถมพื้นที่จนแตกต่างไปจากสภาพธรรมชาติและบางแห่งเกิดผลกระทบทางกายภาพขึ้นแล้วนอกจากนี้เกือบทุกแห่งนิยมนำเอาพืชพันธุ์ไม้ที่เป็นเอเลี่ยนสปีชี่ส์เข้าไปตกแต่งประดับประดาแบบสวนสาธารณะหรือสวนตามโรงแรมรีสอร์ทซึ่งเป็นวัตถุประสงค์คนละอย่างกัน

9132scene160409_130557

ส่วนเรื่องของการให้ความรู้ที่จะต้องมีในศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (visitor center) นั้น นพรัตน์บอกว่า ไม่มีการดูแลและให้บริการด้านนี้อย่างชัดเจน  ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวกลายเป็นอาคารห่วยๆ ร้างๆที่แทบไม่มีองค์ความรู้อะไรเลย  นักท่องเที่ยวที่เข้าไปเที่ยวในอุทยานแห่งชาติก็ไม่ได้รับประโยชน์ในการศึกษาธรรมชาติให้สมกับวัตถุประสงค์ของการมีอุทยานแห่งชาติ

เงินที่อุทยานแห่งชาติเก็บค่าบริการเข้าพื้นที่ไปกว่า 40 ปี หายไปไหน เอาไปทำอะไร ที่จริงเงินพวกนี้ต้องกลับมาตอบแทนคืนสู่นักท่องเที่ยวในการพัฒนาศูนย์บริการนักท่องเที่ยวให้มีความรู้ความเข้าใจในระบบนิเวศธรรมชาติและทรัพยากรของประเทศเรา

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมากในระยะ 10 ปีมานี้ เมื่อถามถึงสาเหตุ อดีตนักวิชาการท่านนี้ก็อธิบายว่า มีปัจจัยหลายอย่าง เริ่มแรกก็ตั้งแต่ความรู้ความสามารถของทั้งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่นั้นๆ ไปจนถึงระดับผู้บริหารกรมฯ ที่ระยะหลังผู้ที่ขึ้นสู่ตำแหน่งต่างๆ เหล่านั้นไม่ได้มาจากความรู้ความสามารถ ไม่ได้มาจากสาขาวิชาที่มีความเชี่ยวชาญ แต่มาจากการวิ่งเต้นตำแหน่ง การแบ่งพรรคแบ่งพวก  นอกจากนี้แล้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติบางแห่งที่ต้องการทำโครงการพัฒนาศูนย์บริการนักท่องเที่ยว พัฒนการสื่อความหมายธรรมชาติ หรือพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของอุทยานแห่งชาติก็ต้องมีเงินทอนให้กับขั้นตอนต่างๆ ถึง 30% ที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติบางแห่งก็ไม่เอาด้วยกับวิธีแบบนี้

การป้องกันการบุกรุกทำลายป่ายังเป็นปัญหาลุกลามไปเรื่อยๆ ทวงคืนผืนป่ายังต้องรบกันชาวบ้านอีกมาก อุทยานแห่งชาติที่ควรจะทำหน้าที่ของมันในการให้ความรู้ให้คนเข้าใจในกลไกธรรมชาติเพื่อร่วมกันป้องกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติกลับไม่สามารถบรรลุเป้าได้ แต่ตรงกันข้ามพืชพันธุ์เอเลี่ยน แนวความคิดเอเลี่ยน กลับกำลังแผ่ขยายรุกหนักเข้าไปในพื้นที่ธรรมชาติทุกที

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: http://www.phitsanulokplaza.com/t07.html
  2. ภาพจาก: https://commons.wikimedia.org/wiki
จิตติมา บ้านสร้าง

รายงานสถานะการณ์สิ่งเเวดล้อมในบ้านเมืองกับนักข่าวสาว ผ่านมุมมองเเละเเง่คิดต่างๆ เเบบล้วงลับเจาะลึก

Email

Share