in Wild Watch on November 2, 2014

รายงานกิจกรรม “BioBlitz 2014 บางกระเจ้า”

read |

Views

รายงานกิจกรรม “BioBlitz 2014 บางกระเจ้า” เมื่อเราเรียนรู้ธรรมชาติ

 

เรื่อง : เมธิรา เกษมสันต์

[1] BioBlitz คือ….

เคยได้ยินเรื่อง ‘ปฏิบัติการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพแบบสายฟ้าแลบ’  ไหม?

และนี่… คือครั้งแรกของเมืองไทย !!

กับการรวมตัวของนักธรรมชาติวิทยาครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นการระดมนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย พร้อมด้วยเหล่าอาสาสมัคร เพื่อมาร่วมกันลงแขกสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่คุ้งบางกระเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ในวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2557 โดยจะสำรวจสิ่งมีชีวิตกลุ่มต่างๆ ให้ได้มากที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง

และในครั้งนี้ เราแบ่งกลุ่มการสำรวจออกเป็น 13 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสัตว์ฟันแทะ กระรอก กระแต / กลุ่มค้างคาว/ กลุ่มนก /กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และปลา /กลุ่มแมลง / กลุ่มผีเสื้อ/ กลุ่มหิ่งห้อย/ กลุ่มไส้เดือน กิ้งกือ ตะขาบ หอย/ กลุ่มสัตว์หน้าดิน/ กลุ่มพันธุ์พืช/ กลุ่มสาหร่าย แพลงก์ตอน ไลเคน/ กลุ่มเห็ดรา

แน่นอนว่างานนี้ ต้องรวมนักวิจัยและนักชีววิทยาระดับท็อปของเมืองไทยไว้เพียบ ตั้งแต่สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย, กลุ่ม siamensis, กลุ่มรักษ์ผีเสื้อ, กลุ่ม ECA ม.มหิดล, คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ,  มหาวิทยาลัยรามคำแหง, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรมอุทยานฯ, กรมป่าไม้, BIOTEC, BEDO, กลุ่ม Big Trees, นิตยสารสารคดี, องค์กรเครือข่ายท้องถิ่นอย่างกลุ่มลำพูบางกระสอบและกลุ่มต้นกล้ากระเพาะหมู

……………………………………………………………………………………..

[2] ปี๊ดดดดดด…. เสียงนกหวีดปล่อยตัวเริ่มขึ้น

นักสำรวจกลุ่มต่างๆ เริ่มเดินหน้างานสำรวจทันที (มีกลุ่มนกที่แอบไปสำรวจตั้งแต่เช้าแล้ว เพราะนกจะหากินช่วงนั้นเยอะ) บางกลุ่มก็ถือแว่นขยายส่องตามต้นไม้ บ้างก็เงยมองฟ้า บ้างก็ก้มหน้าขุดดิน บ้างก็ต้องเดินลุยน้ำ บ้างก็ต้องลงโคลน บรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคักตื่นเต้น …

ในขณะที่คนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นนักวิจัยก็ไม่มีเหงา เพราะตรงฐานบัญชาการสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ มีกิจกรรมสนุกๆ ให้เรียนรู้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเดินดูนกตอนเช้า ดูผีเสื้อตอนบ่าย การวาดภาพธรรมชาติ กิจกรรมศิลปะกับต้นไม้โดยกลุ่ม Big Trees กิจกรรมนักสืบสายลมตรวจสอบคุณภาพอากาศผ่านทางไลเคน  กิจกรรม Beginner BioBlitz ที่จะพาเราไปเรียนรู้การเป็นนักสำรวจเบื้องต้น พร้อมทั้งกิจกรรมที่หลายคนรอคอย อย่างกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติกับหมอหม่อง รวมถึงไฮไลท์อย่างการพาไปดูหิ่งห้อยยามค่ำคืน

……………………………………………………………………………………..

[3] เราจะสำรวจไปทำไม ?

นั่นสิ… นี่คงเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย

เราจะไปรู้ทำไมว่า ที่นี่มีปลากี่สายพันธุ์?  มีไส้เดือนกี่ชนิด?  มีนกกี่สปีชีส์?  รู้แล้วได้อะไรขึ้นมา?

คำตอบแรก คงต้องขอยกคำพูดของพี่อ้อย- ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว ที่บอกไว้ว่า

“เพราะว่าเราไม่ได้อยู่บนโลกนี้แต่เพียงลำพัง บนโลกใบเดียวกันนี้ ยังเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตอีกมากมายกว่า 9 ล้านสปีชีส์ ซึ่งทั้งหมดนั้นคือเพื่อนร่วมโลกของเรา สุภาษิตจีนบทหนึ่งบอกไว้ว่า ปัญญาอย่างแรกเริ่มจากการเรียกชื่อสิ่งต่างๆ ให้ถูก”

แต่นอกเหนือไปจากการได้รู้จักชื่อ สำคัญไปกว่านั้นคือการได้เข้าใจถึงพฤติกรรม เข้าใจว่าเพื่อนร่วมโลกของเราแต่ละชนิดใช้ชีวิตอย่างไร กินอะไรเป็นอาหาร ซึ่งนำมาสู่ความเชื่อมโยงว่าสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดสำคัญต่อกันอย่างไร เช่น นกบางชนิดช่วยควบคุมแมลงให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม บางชนิดก็ช่วยกระจายพันธุ์พืช หรืออย่างปลวกที่หลายคนเกลียด มันคือนักรีไซเคิลชั้นดีที่ช่วยย่อยไม้ผุในป่าให้กลายเป็นดิน ทำให้วงจรแร่ธาตุหมุนเวียนต่อไปได้ เช่นเดียวกับกิ้งกือที่ทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลาย ส่วนตัวเหี้ยคอยกินซาก มีอาชีพเป็นเทศบาลประจำสวน การมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ คือสิ่งที่ทำให้ระบบนิเวศทั้งหมดอยู่ในภาวะสมดุล

แล้วการศึกษาอย่างละเอียด ก็ทำให้เรายิ่งรู้ลึกขึ้นไปอีกว่า นกแต่ละชนิดก็กินแมลงในต่างรูปแบบกัน บางชนิดคุ้ยหาแมลงตามพื้นดิน บางชนิดโฉบกินกลางอากาศ บางชนิดกระโดดหาตามกิ่งไม้ บางชนิดก็เจาะหาหนอนในเนื้อไม้ ช่วยให้ต้นไม้ไม่ตายเพราะถูกหนอนทำลาย อีกทั้งนกแต่ละชนิดยังหากินในถิ่นอาศัยที่ต่างกัน บางชนิดต้องป่าดิบ บางชนิดขอป่าโปร่ง บางชนิดต้องป่าดิบราบต่ำ บางชนิดขอป่าดิบเขา ดังนั้น การสร้างเขื่อนแล้วคิดว่าเดี๋ยวนกก็บินหนีไปอยู่ที่อื่นได้ จึงเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง

ด้วยความที่ทั้งหมดเชื่อมโยงกันอยู่ด้วยสายใยอันซับซ้อน  นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เราต้องเรียนรู้มัน

เพราะถ้าเราไม่รู้ถึงความเชื่อมโยงเหล่านี้ เราก็อาจเผลอทำลายมันไปโดยไม่รู้ตัว เราอาจสร้างคันคอนกรีตริมน้ำ ที่ทำลายแหล่งอาศัยของปลา ทำลายแหล่งอาศัยของหิ่งห้อยชนิดใหม่ของโลก และโชคร้ายกว่านั้น เราอาจไปทำลายอะไรบางอย่าง ที่เรียกว่าเป็น keystone species ซึ่งหมายถึงชนิดพันธุ์ที่เป็นเสาหลัก เหมือนหินก้อนกลางของประตูโค้งโรมัน ที่ถ้าขาดหินก้อนนี้ไป ประตูทั้งหมดจะพังลงมา เช่น ต้นไทรที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์นานาชนิด หรือปลาซิวข้าวสารที่เป็นทั้งอาหารของปลาอีกหลายสายพันธุ์ อีกทั้งยังช่วยควบคุมปริมาณของแพลงก์ตอนสัตว์ ซึ่งจะไปควบคุมปริมาณของแพลงก์ตอนพืชอีกที ถ้าขาดชนิดพันธุ์นี้ไป ระบบก็เสี่ยงต่อการเสียสมดุล

ดังนั้น การรู้จักระบบนิเวศและรักษามันไว้ จึงไม่ใช่แค่เรื่องของไส้เดือนพันธุ์หนึ่ง ปลาพันธุ์หนึ่ง แต่มันหมายถึงการรักษาความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งเผ่าพันธุ์

และนั่นก็คือสิ่งสำคัญด้านที่หนึ่ง คือ ‘ความรู้’

ส่วนด้านที่สองที่ตามมาพร้อมๆ กัน คือ ‘ความรัก’

เราอาจไม่ต้องเป็นถึงขั้นนักวิจัย แต่เพียงแค่เราได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งมาสัมผัสกับธรรมชาติ มาเงยหน้าดูนก ก้มหน้ามองดอกไม้ สอดส่ายสายตาหาผีเสื้อหรือสัตว์เล็กๆ บนผิวดิน  เมื่อเราได้ unplug จากคอมพิวเตอร์ และ reconnect กับธรรมชาติ เราก็จะรู้สึกว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้คือเพื่อน รู้สึกผูกพันและไม่อยากให้ใครมาทำลาย

ดังเช่นที่หมอหม่อง- นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ เคยพูดไว้ว่า

“ผมคิดว่าหากเด็กรุ่นใหม่อยู่แต่กับห้างสรรพสินค้าอย่างเดียว อยู่กับไอแพด ไอโฟนอย่างเดียว โดยไม่เคยสัมผัสกับธรรมชาติเลยผมไม่คิดว่าเขาจะแคร์ เขาอาจจะรู้ข้อมูลมากมาย รู้จักสัตว์ทั่วโลกจากรายการโทรทัศน์ ซึ่งสมองอาจจะโต แต่หัวใจเหี่ยวเพราะไม่เคยรู้สึกผูกพัน ไม่รู้สึกว่าธรรมชาติเป็นเพื่อนแล้วเขาจะแคร์ธรรมชาติหรือ แล้วโลกใบนี้จะฝากใครดูแล คงจะกลายเป็นโลกที่ทุกคนบริโภคกันอย่างเดียว”

“ความจริงประเทศเรามีมรดกทางธรรมชาติเยอะมาก แต่เราไม่ค่อยรู้จักมัน  อย่างพูดถึงนกฮัมมิงเบิร์ดทุกคนรู้จัก แต่พอพูดถึงนกกินปลีกลับไม่ค่อยมีใครรู้จัก พูดถึงยีราฟ ม้าลาย เด็กๆ ทุกคนรู้จัก แต่พูดถึงชะมด อีเห็น เรากลับไม่รู้ว่ามันหน้าตายังไง ถ้าเราไม่รู้ว่าบ้านเรามีอะไรดี โจรขึ้นบ้านที เราก็ปล่อยให้เขาเอาไปหมด”

………………………………………………………………………………………

[4] ค่ำคืน :  ค้างคาว และหอยจิ๋ว

กลับมาที่สวนศรีนครเขื่อนขันธ์

แม้เวลาจะล่วงเลยดึกดื่นเข้าไปทุกที แต่นักวิจัยหลายกลุ่มยังไม่หยุดทำงาน

กลุ่มหอยยังคงส่องหอยขนาดจิ๋วใต้กล้องจุลทรรศน์ กลุ่มนกยังออกสำรวจนกกลางคืน กลุ่มแมลงยังเปิดไฟล่อแมลงอยู่อีกที่หนึ่ง แต่ที่ตื่นเต้นที่สุดก็เห็นจะเป็นกลุ่มค้างคาว ที่กำลังจับค้างคาวมาวัดขนาดและเก็บ DNA อยู่ตรงฐานบัญชาการ… ค้างคาวที่หน้าตาน่ารักแบบนี้ คือค้างคาวกินผลไม้ (ตาโตเพราะใช้มองยามค่ำคืน) ในขณะที่ค้างคาวกินแมลง หน้าตาจะดูประหลาดๆ หน้ามู่ทู่ หูกางใหญ่ เพราะใช้เป็นตัวสะท้อนสัญญาณโซนาร์ เดินทางด้วยระบบเสียง ฉะนั้น มันจึงมีตาเล็กมาก

หลังจากดูค้างคาวจนหนำใจ เราก็แวะมาคุยกับกลุ่มนักวิจัยหอย

และนี่เป็นครั้งแรกที่เราได้รู้จัก ‘หอยจิ๋ว’ ขนาด 1 มิลลิเมตร (เล็กสุดได้ถึง 0.5 มิลลิเมตร) ชนิดที่ถ้าเดินผ่านเอง คงนึกว่าเป็นเศษกรวด แต่หอยว่าจิ๋วแล้ว ทีมวิจัยยังบอกว่า สามารถมีปูเสฉวนบางชนิดที่อาศัยอยู่ในหอยจิ๋วนี้ได้อีก นั่นแปลว่ามันต้องตัวเล็กม้ากกกก…

ผศ. พงษ์รัตน์  ดำรงโรจน์วัฒนา จากมหาวิทยาลัยบูรพา ผู้นำทีมวิจัยหอย ซึ่งอาจารย์เล่าให้ฟังว่า ในเมืองไทยมีหอยถึง 6,000-7,000 ชนิด ความสำคัญที่เราต้องทำวิจัยก็คือ ถ้าเราไม่รู้เลยว่าบ้านเรามีอะไร เราก็จะไม่รู้ถึงความสำคัญของมัน เช่น ถ้าเราไม่รู้ว่าหอยบางกลุ่มมีถิ่นอาศัยเฉพาะเขาหินปูน แล้วเราระเบิดไป เราก็อาจสูญเสียสปีชีส์หนึ่งไปตลอดกาลเลยก็ได้

หรือมองอีกแง่หนึ่ง การเรียนรู้ธรรมชาติ ก็สามารถนำเอาความรู้มาประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้ เช่น การออกแบบเลียนธรรมชาติ (biomimicry) เช่น หอยแมลงภู่มีขนเป็นเส้นๆ ไว้ยึดเกาะหิน ความรู้นี้นักวิทยาศาสตร์ก็เอามาประยุกต์ใช้เป็นกาวใต้น้ำ หรือความแน่นหนึบของตีนตุ๊กแก ก็เอามาประยุกต์เป็นกาวบนบก  พอนำแนวคิดสองอันมาผสมกัน ก็ประยุกต์กลายเป็นกาวที่ใช้ได้ทั้งในน้ำและบนบก  หรือแม้แต่อวัยวะของหอยที่ใข้ครูดหินปูนกิน ก็ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบมีดตัดโลหะ

นอกจากนั้น การรู้จักวงจรชีวิตของหอย ก็ช่วยในเรื่องของการเฝ้าระวังโรคระบาดได้ เพราะหอยบางชนิดเป็นพาหะของปรสิต เช่น พยาธิใบไม้ในตับ แต่ที่น่าสนใจคือมีหอย 2 ชนิดที่หน้าตาเหมือนกันมาก ชนิดหนึ่งนำโรคพยาธิใบไม้ในตับ อีกชนิดไม่นำ ถ้าเราไม่ศึกษาและไม่รู้ ก็อาจเข้าใจผิดได้

“อย่างหอยเสียมแม่น้ำแคว ผมว่าอีกไม่นานคงสูญพันธุ์ เพราะลำน้ำด้านบนมีการสร้างเขื่อนแล้วปล่อยทรายลงมา ทำให้ตัวอ่อนโตไม่ได้  ถ้าเราต้องสูญเสียบางชนิดพันธุ์ไปเพราะความไม่รู้ ผมว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย… เพราะถ้าสิ่งที่มีอยู่เราไม่รักษาไว้ อีกไม่นานลูกหลานเราคงได้เห็นมันแต่แค่ในโหลดอง”

…………………………………………………………………………….

[5] สรุปผล

เช้าวันที่ 2 พฤศจิกายน 2557 เวลา 10.00 น. ครบกำหนดเวลา 24 ชั่วโมงแห่งการสำรวจ แต่ละทีม ต่างผลัดกันมารายงานผลให้กลุ่มอื่นได้ฟัง

เริ่มจากกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบ 10 ชนิด เป็นค้างคาว 3 ชนิด
นอกจากหมา แมว หนู แล้ว ที่นี่ก็ยังมีเพื่อนร่วมโลกน่ารักๆ อย่างกระรอก กระแต กระจ้อน รวมถึงค้างคาว (กระรอกกับกระแต ถือว่าเป็นคนละวงศ์กัน โดยกระรอกเป็นสัตว์ฟันแทะ กินผลไม้เป็นหลัก ชอบหากินบนต้นไม้ ส่วนกระแตจะชอบกินแมลงหรือสัตว์เล็กๆ มากกว่า มักหากินบนพื้นดิน ส่วนกระจ้อนเป็นญาติของกระรอก)

นก 82 ชนิด
ที่นี่ต้องถือเป็นสวรรค์ของนกอพยพ เพราะหลังจากมันรอนแรมผ่านมหาสมุทรมายาวไกล บริเวณนี้คือพื้นที่สีเขียวแห่งแรกที่มันพบ นี่จึงเป็นจุดแวะพักเติมพลังชั้นดี มีอาหารหลากหลาย ความหลากหลายของนกที่นี่จึงมาก มีทั้งนกแซวสวรรค์ที่หางยาวเฟื้อยราวกับริบบิ้นห่อของขวัญ มีหัวขวานเขียวป่าไผ่ที่หายไปจากหลายพื้นที่เนื่องจากถิ่นอาศัยถูกทำลาย เป็นหนึ่งในหลายสายพันธุ์ที่ยืนยันถึงความสำคัญของปอดใกล้เมืองแห่งนี้  มีนกเปล้าคอสีม่วงฝูงใหญ่ ซึ่งบ่งชี้ว่าที่นี่อุดมสมบูรณ์ มีลูกไม้สุกให้กินตลอดปี

สัตว์เลื้อยคลาน 14 ชนิด
เช่น งูหัวกะโหลก งูเขียวหางไหม้ตาโต  งูก้นขบ รวมถึงเต่าดำ เต่านา (ชอบอยู่ในนา กินหอยเชอร์รี่ ใครไปปล่อยเต่านี้ในแม่น้ำ ถือว่าทำบาปทีเดียว)  และที่ขาดไม่ได้คือเทศบาลประจำสวนอย่างตัวเหี้ย  ฯลฯ

สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 7 ชนิด
เช่น อึ่งอ่างบ้าน คางคกบ้าน อึ่งน้ำเต้า ปาดบ้าน  เขียดงูเกาะเต่า (เป็นเขียดที่ตัวยาวคล้ายงู ไม่มีขา) ฯลฯ

ปลา 47 ชนิด
มีทั้งปลาน้ำจืดและน้ำกร่อย มีทั้งปลาระบบนิเวศน้ำนิ่งและน้ำไหล ดาราเด่นต้องยกให้ปลาบู่รำไพ – ปลาที่โดนคุกคามแหล่งที่อยู่จนตกอยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ แต่ยังเจอได้ที่นี่  รวมทั้งปลาดุกด้านที่ใกล้สูญพันธุ์เช่นกัน และที่น่าดีใจคือเรายังเจอปลาตะเพียนทองและตะเพียนขาว ซึ่งบ่งชี้ว่าคุณภาพน้ำยังใช้ได้ เพราะสองชนิดนี้เป็นปลาที่ต้องการออกซิเจนเยอะในการหายใจ แต่ก็น่าหวั่นใจตรงที่ไม่ใช่ทุกจุดที่คุณภาพน้ำจะดี ถ้าเทียบกับปีก่อนๆ คุณภาพน้ำถือว่าแย่ลง

กลุ่มแมลง พบทั้งหมด 145 ชนิด เป็นผีเสื้อ 45 ชนิด และหิ่งห้อย 4 ชนิด
ข้อมูลที่น่าตื่นเต้นคือ ในสวนสาธารณะศรีนครเขื่อนขันธ์สามารถพบหิ่งห้อยบกซึ่งตามปกติหายากได้ ในขณะที่บริเวณป่าลำพูบางกระสอบ พบหิ่งห้อยน้ำกร่อยเยอะมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริเวณแห่งนี้ยังคงความอุดมสมบูรณ์  อีกทั้งคุ้งบางกระเจ้าแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ที่ ดร.อัญชนา ท่านเจริญ ได้ค้นพบหิ่งห้อยน้ำจืดชนิดใหม่ของโลก

หอย  53 ชนิด และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ 33 ชนิด
ตัวที่เป็นไฮไลต์ เช่น ‘กิ้งกือกระบอกเหลือง’  ซึ่งทำหน้าที่ย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ จนนักวิจัยให้ฉายาว่า “พันขามหาสมบัติ คืนความสมบูรณ์สู่แผ่นดิน”

‘ไส้เดือนสะเทินน้ำจืด’ มีติ่งเล็กๆ คล้ายปีกยื่นออกมาสองข้าง ที่น่าตื่นเต้นคือยังไม่เคยมีรายงานการพบเจ้าตัวนี้ในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง เลย อีกทั้งกำลังอยู่ในระหว่างรอการศึกษาว่า อาจเป็นชนิดใหม่ของโลก

‘ตะขาบขายาว’ที่ทั้งความสวยและความประหลาดรวมอยู่ในตัวเดียวกัน  รวมถึง ‘ตะขาบบ้าน’  ที่แม้จะมีพิษร้าย แต่ความจริงแล้วมันก็มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศมาก เพราะมันเป็นผู้ล่าในระบบนิเวศหน้าดิน ถ้าผู้ล่าหายไป ปริมาณแมลงที่เป็นเหยื่อก็อาจเพิ่มขึ้นจนเสียสมดุล

กลุ่มพืช พบทั้งหมด 170 ชนิด
มีชนิดที่สำคัญอย่างเช่น ‘ไทร’ซึ่งไทรแต่ละชนิดก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันสุกตลอดทั้งปี ทำให้นก กระรอก ค้างคาว และสัตว์กินผลไม้ต่างๆ มีอาหารกินไม่ขาดช่วง

ต่อด้วยกลุ่มสาหร่ายและแพลงก์ตอน พบทั้งหมด 42 ชนิด
ความสำคัญคือชนิดของแพลงก์ตอนที่เจอ สามารถบ่งชี้คุณภาพของน้ำได้ ทำให้เราได้รู้ว่า บริเวณตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง คุณภาพน้ำค่อนข้างแย่ ในขณะที่ทางเหนือน้ำของลำน้ำสายเดียวกัน กลับมีคุณภาพดี นั่นแปลว่าตลาดน้ำส่งผลต่อคุณภาพน้ำอย่างชัดเจน อีกทั้งมีข้อมูลเสริมว่า การให้อาหารปลาในปริมาณที่มากเกินไป ก็ส่งผลให้คุณภาพน้ำแย่ลงได้ เพราะทำให้ปริมาณแพลงก์ตอนเพิ่มขึ้น ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง

กลุ่มไลเคน พบทั้งหมด 17 ชนิด
ไฮไลต์ :  ไลเคน Physcia undulata ซึ่งไม่เคยเจอในสวนสาธารณะ กทม. เลย (เพราะมันชอบอากาศดีกว่า)

กลุ่มเห็ดรา  พบ 55 ชนิด
ไฮไลต์ที่น่าประทับใจคือ ‘เห็ดแซ่ม้า’ ดอกเล็กๆ สีชมพูสวยมาก บานเป็นกลุ่มราวดอกไม้ ซึ่งปกติเจอในป่าที่อุดมสมบูรณ์ การเจอที่นี่ได้แปลว่าระบบนิเวศของที่นี่ต้องดีเยี่ยมในระดับหนึ่ง เช่นเดียวกับเห็ด Laccaria ที่ปกติจะเจอเฉพาะในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เท่านั้น นักวิจัยเองยังตื่นเต้นที่ได้เจอมันที่นี่

สรุปคือ
ใน 24 ชั่วโมงนี้ เราสำรวจพบสิ่งมีชีวิตรวมทั้งหมด 675 ชนิด (เบื้องต้นที่จำแนกได้ ยังมีมากกว่านี้ที่ต้องจำแนกในห้องทดลอง ติดตามผลได้ที่ https://www.facebook.com/bioblitzthailand)

………………………………………………………………………….

[6] ตัวเลขนี้บอกอะไร?

ดร.อ้อย หรือ ดร.สรณรัชฎ์  กาญจนะวณิชย์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว ได้สรุปปิดท้ายว่า

“ถ้าเทียบกับของฝรั่งเขาได้เยอะกว่าเรา ของเราพื้นที่ 19.2 ตร.กม. ได้ 675 ชนิด ส่วนไอร์แลนด์พื้นที่เล็กกว่าเราตั้งเยอะ 3.2 ตร.กม. เขาได้ 1,116 ชนิด หรือที่เซ็นทรัลปาร์ค นิวยอร์ก 3.4 ตร.กม. ได้ 834 ชนิด…

“ทำไมฝรั่งได้เยอะกว่าของเรา ปัจจัยหนึ่งก็เพราะเรายังมีนักชีวะหรือนักวิทยาศาสตร์น้อย ในงาน BioBlitz ที่อเมริกา มีนักวิทยาศาสตร์อาชีพมากัน 350 คน มีนักนิยมธรรมชาติที่มาเป็นอาสาสมัคร 2,000 คน แต่ของเราทีมสำรวจมีแค่ 200 คน คนทั่วไป 120-150 คน แต่พวกเราก็หวังว่างาน BioBlitz แบบนี้ จะช่วยสร้างเทรนด์และเปิดเวทีให้คนได้มองเห็นความสนุกสนาน ความน่าสนใจของงานทางชีวะ ได้เห็นว่านักชีวะอย่างพวกเราก็กิ๊บเก๋ไม่แพ้นักร้อง

“สิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่เราเจอในครั้งนี้ สะท้อนว่าเรายังมีอะไรดีๆ เหลืออยู่อีกมากมาย ถึงเราจะได้เท่านี้ แต่ชนิดที่เราพบก็สะท้อนคุณภาพเหนือปริมาณ เรามีตัวเด็ดๆ ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ แสดงถึงระบบนิเวศที่หาไม่ได้แล้วในละแวกนี้ นั่นคือคุณค่าของพื้นที่บางกระเจ้า โจทย์คือเราจะออกแบบการพัฒนาต่อไปอย่างไร ให้เราสามารถอยู่กับเพื่อนร่วมโลกเหล่านี้ได้ คนอยู่ได้ สิ่งมีชีวิตอื่นอยู่ได้ มันอยู่ที่การออกแบบ ซึ่งถ้าเราทำได้ พื้นที่กระเพาะหมูบางกระเจ้าจะเป็นพื้นที่ที่เก๋ และเป็นตัวอย่างได้เลยว่าอยู่แบบศตวรรษที่ 21 มันต้องอย่างนี้…”

———————————–
อ่านเรื่องราวของ BioBlitz กับเรื่อง “เปิดประตูสู่ห้องเรียนธรรมชาติกับหมอหม่อง” ที่ >>> คลิ๊กที่นี่ <<<

เเละติดเรื่องราวของธรรมชาติ สรรพสัตว์ และความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งได้เพิ่มเติมที่ >>> http://krajibnoi.blogspot.com/

Green world Foundation

ข่าว และ บทความจากทีมงานมูลนิธิโลกสีเขียว เพื่อความเข้าใจในสิ่งแวดล้อมไทย

Email

Share