in on April 21, 2016

จักรยานเป็นไปได้

read |

Views

ผมเริ่มเขียนคอลัมน์ Bike Lane ตีพิมพ์ในนิตยสาร A Day มาตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2554 จนถึงวันนี้ นับเป็นระยะเวลา 4 ปีมาแล้ว

กระแสจักรยานในยุคนี้ เริ่มเติบโตจากความนิยมฟิกเกียร์ในหมู่วัยรุ่น ก่อนหน้านั้นเพียงเล็กน้อย  ตอนนั้นใครๆ ก็คิดว่ามันอาจเป็นกระแสวูบวาบเพียงชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น  จนฟิกเกียร์เริ่มนิยมในหมู่คนทำงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นช่างภาพ สถาปนิกหรือนักโฆษณา  เราเริ่มเห็นจักรยานสีสันสวยสดมีพื้นที่ในสื่อออนไลน์บ่อยขึ้น  พร้อมๆ ไปกับการพัฒนามุมมองที่มีต่อจักรยาน จากของเล่นวัยเด็กหรือพาหนะคนจน กลายเป็นพาหนะอินดี้ นอกกระแส สวยงาม เก๋ไก๋ จนถูกขนานนามว่าเป็น งานศิลปะเคลื่อนที่ได้

เรื่องราวของจักรยานอาจจะจบอยู่แค่นั้นหากไม่มีการเชื่อมโยงเข้ากับประเด็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมือง หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกใช้จักรยานเป็นตัวชี้วัดและสัญลักษณ์ของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เพราะจักรยานเป็นพาหนะขนาดเล็กที่ใช้พื้นที่และพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก อีกทั้งยังส่งเสริมสุขภาพ ความสัมพันธ์ในสังคมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งกว่าพาหนะใดๆ

 

วิถีจักรยานจึงเป็นการลงทุนที่น้อยแต่ได้ผลตอบแทนมากในหลายมิติและมาแรงในยุคศตวรรษที่ 21 นี้ ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่เป็นที่สนใจในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก

หลายปีที่ผ่านมาเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เอื้อต่อวิถีจักรยานในเมืองใหญ่ต่างๆ ซึ่งไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในประเทศที่มีวัฒนธรรมจักรยานเหนียวแน่นอีกต่อไป วิถีจักรยานกำลังเติบโตและเบ่งบานไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ร่ำรวยหรือยากจนอย่างไร  โบโกต้า จาการ์ต้า  กัวลาลัมเปอร์  ไทเป สิงคโปร์ เริ่มถูกพูดถึงในฐานะเมืองจักรยานมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับเมืองไทยกระแสจักรยานครั้งนี้อยู่มาราว 5 ปีแล้ว  หากเปรียบเทียบกับเมืองจักรยานอื่นๆ ดูเหมือนเรายังต้องพัฒนาอีกไกล แต่เทียบกับอดีตที่ผ่านมา ใช่ว่าเราจะไม่คืบหน้า  ลองมาทบทวนกันดูว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างครับ

1.จำนวนคนปั่นจักรยานเพิ่มขึ้น

น่าเสียดายว่าประเทศไทยเรายังไม่เก็บสถิติจำนวนการปั่นจักรยาน จึงไม่มีตัวเลขมาอ้างอิงได้ว่ามีจำนวนคนปั่นจักรยานเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน  แต่ทุกคนสามารถรับรู้ได้จากประสบการณ์ตรง  ก่อนกระแสจักรยาน น้อยครั้งนักที่จะได้เห็นชาวจักรยานปั่นสัญจรบนถนน หากไม่ใช่โอกาสพิเศษอย่างกิจกรรมคาร์ฟรีเดย์ แต่ทุกวันนี้ เราเห็นคนปั่นจักรยานในเมืองเป็นเรื่องปกติ หากดูสถิติคนมาร่วมงานบางกอกคาร์ฟรีเดย์  จากปี 2553 มีคนลงทะเบียนร่วมงานราว 4,000 คน  เป็น 25,000 คนในปี 2557  และในปี 2558 นี้ มีผู้สนใจร่วมลงทะเบียนกิจกรรม  bike for mom ทั่วประเทศสูงถึง 294,863 คน เฉพาะในกรุงเทพฯ ยอดสมัครเต็ม 40,000 คน ภายในวันเดียว

ตอนแรกๆ ที่ผมเริ่มทำงานรณรงค์เรื่องจักรยานกับ กทม.  คำถามที่ภาครัฐมักถามคือ สร้างทางจักรยาน แล้วรับประกันไหมว่าจะมีคนมาปั่น  เมืองร้อน รถเยอะ ควันพิษเพียบ จะมีคนปั่นเหรอ  ทุกวันนี้ คนปั่นเยอะขึ้นมากจนไม่มีใครถามคำถามนี้แล้ว

2.ผู้คนรับรู้ถึงการมีอยู่ของจักรยานมากขึ้น

เมื่อมีคนปั่นจักรยานมากขึ้นไม่ว่าจะเชิงกีฬา ท่องเที่ยว หรือเพื่อการสัญจร  การได้เห็นจักรยานทั้งบนท้องถนนและบนสื่อต่างๆ มากขึ้น ทำให้ผู้คนรับรู้ถึงการมีอยู่ของจักรยานมากขึ้น  แม้คิดเป็นสัดส่วนแล้วจำนวนคนขี่จักรยานประจำอาจมีน้อยกว่าจำนวนคนใช้พาหนะยอดนิยม เช่น รถยนต์ มอเตอร์ไซค์อย่างเทียบไม่ติด แต่การยอมรับในสิทธิการใช้ถนนร่วมกันและรับรู้การมีอยู่ของจักรยานเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าจำนวนจักรยานที่เพิ่มขึ้นเสียอีก

ปัจจุบัน วาทกรรมถนนเป็นพื้นทีสาธารณะที่ทุกคน มีสิทธิ์ใช้เพื่อการสัญจรร่วมกัน เป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปแล้ว

3.คนรักจักรยานเพิ่มขึ้น
สิ่งสำคัญยิ่งกว่าจำนวนคนขี่จักรยานคือการมีคนรักการขี่จักรยานเพิ่มขึ้นต่างหาก   บางประเทศมีคนขี่จักรยานมากมาย แต่เขาขี่เพราะจำเป็น ไม่ได้ขี่เพราะหลงใหลในจักรยาน แต่บ้านเรา แม้ยังมีอุปสรรคอยู่มาก ข่าวอุบัติเหตุจักรยานถูกประโคมอยู่เสมอ อาจทำให้นักปั่นหน้าใหม่สะดุดไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้คนปั่นประจำอยู่แล้วเลิกปั่น

4.ผู้สมัครผู้ว่าราชการ กทม. ที่เป็นตัวเก็งทุกคนมีนโยบายเพื่อจักรยาน
นโยบายส่งเสริมการใช้จักรยานกลายเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งในการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2556 หากเทียบกับสมัยก่อนหน้า (ปี 2552) เรื่องจักรยานแทบไม่ถูกพูดถึงเลย การให้ความสำคัญกับนโยบายจักรยานของนักเลือกตั้ง ย่อมสะท้อนถึงมุมมองด้านบวกของสังคมที่มีต่อจักรยาน

5.ระบบจักรยานสาธารณะเกิดขึ้นในหลายเมืองใหญ่
แม้นักการเมืองจะมีนโยบายด้านจักรยานมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติ เรามักไม่ค่อยเห็นความคืบหน้ามากนัก เช่นในปี 2552 ทางจักรยานใน กทม. มีทั้งหมด 31 เส้น 232 กิโลเมตร  ปี 2557  กทม. ก็ยังมีทางจักรยานไม่ต่างจากเดิม แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีอะไรคืบหน้าเลย เรามีระบบ”ปันปั่น” ให้เช่าจักรยานสาธารณะในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2555 และแพร่หลายไปหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ อุดรธานี โคราช พิษณุโลก เป็นต้น

6.จักรยานสร้างงานที่หลากหลาย
ในอดีต เมื่อนึกถึงธุรกิจกับจักรยาน นอกจากร้านขาย ร้านซ่อม เราก็คงนึกถึง จักรยานขายปลาหมึก ลอตเตอรี่ และสาวยาคูลท์เท่านั้น

ปัจจุบันธุรกิจจักรยานเติบโตแตกแขนงไปมากมายหลายด้าน  เริ่มจากทัวร์ท่องเที่ยว  บริการรถ service สำหรับทริปปั่นส่วนตัว  ธุรกิจรับดูแลและทำความสะอาดจักรยาน  นิตยสารเฉพาะเรื่องจักรยาน  ละครที่พระเอกขึ่จักรยาน  ร้านเช่าจักรยานประกอบฉาก  งานเทศกาลจักรยานขนาดใหญ่  ธุรกิจส่งของโดยจักรยานอย่าง Bikexenger และ ปลูกปั่น ก็กำเนิดขึ้นในยุคนี้  ประกันจักรยาน ที่เมื่อก่อนเป็นไอเดียที่แทบจะถูกหัวเราะเยาะใส่  ปัจจุบันมีเกิดขึ้นจริงแล้ว

ผมคิดว่าใน พ.ศ. นี้เรามีปัจจัยต่างๆ ถึงพร้อมแล้ว เหลือเพียงแต่ เจตจำนงทางการเมืองที่หนักแน่นในการเปลี่ยนเมืองเพื่อรถยนต์ให้เป็นเมืองเพื่อคนอยู่ ด้วยการจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนตัวในเขตเมืองหนาแน่น และพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีมาตรฐานและเป็นโครงข่ายสอดคล้องไปกับการสร้างเมืองให้เป็นมิตรกับจักรยานมากขึ้น  เวลา 4 – 5 ปีที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนคำว่าจักรยาน “เป็นไปไม่ได้” ให้ “เป็นไปได้”  อนาคตต่อจากนี้จะไปในทิศทางไหน พวกเราทุกคนล้วนคือผู้กำหนด

ที่มา : นิตยสาร a day ฉบับที่ 181

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: http://chocola-222.exteen.com/20100325/entry
  2. ภาพจาก: http://travel.kapook.com/view98832.html
  3. ภาพจาก: http://www.thaisri.com/news_list.php?page=5&order=&type=&lang=
  4. ภาพจาก: http://www.thaimtb.com/forum/viewforum.php?f=1
ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์

"ชีวิตการเดินทางในชีวิตประจำวันบนถนนเเสนจะยุ่งยาก เเถมต้องเจอกันคนอัดเเน่นบนรถเมล์เรามีจักรยานอยู่ที่บ้านทำไมไม่ลองเอามาขี่ดู" ชายหนุ่มผู้คร่ำหวอดอยู่กับวงการจักรยาน นักรณรงค์ฝ่ายรณรงค์มูลนิธิโลกสีเขียวและเป็นผู้พัฒนาเเผนที่จักรยานในกรุงเทพจนกลายมาเป็นเเอปพลิเคชัน "ปั่นเมือง" ในที่สุด เพื่อมีเป้าหมายสูงสุดคือการทำให้กรุงเทพเป็นเมืองจักรยาน

Email

Share