ผู้เขียนจึงลังเลที่จะชวนคุยถึงวิถีชีวิตโบราณที่ตัวเองมองว่าสำคัญ มีเสน่ห์ และอยากเชื้อชวนให้พิจารณา
คิดเสียว่าป้าอยากแลกเปลี่ยนกันสนุกๆ ละกันนะ
คือผู้เขียนเป็นคนรุ่นเก็บพืชผักของกินริมทาง มันไม่ได้เป็นเพียงพฤติกรรมที่ติดมาจากแม่ ผู้เป็นนักพฤษศาสตร์มหาลัยป่าหลังบ้าน แต่สมัยผู้เขียนเป็นเด็กมันเป็นเรื่องปกติที่รถเมล์ต่างจังหวัดจะจอดให้แม่บ้านที่ร้องโหวกแหวกเรียกรถหยุด ได้ลงไปเก็บผักบุ้ง เก็บเห็ดโคน แม้ในเมืองกรุงเราก็เก็บพืชผักริมทางที่ปัจจุบันมองว่าเป็นวัชพืชกันเป็นกิจวัตรประจำวัน ทุกเย็นเวลาผู้เขียนเดินกลับจากโรงเรียนอนุบาลกับพี่เลี้ยง เราก็ต้องแวะเก็บยอดกระถิน ยอดตำลึง ยอดกะทกรก ฯลฯ มาประกอบสำรับมื้อเย็น
หลังบ้านถนนสุขุมวิทสมัยนั้นยังมีท้องทุ่งท้องนา และตามซอยก็มีคูหรือแนวดินอยู่สองข้างทาง มีพงพืช ต้นตะขบ มะขามเทศ เล่นไปเด็ดผลไม้ปลิ้นใส่ปากไป กะทกรกเป็นขนมสุดโปรด เพราะมันสวยวิจิตร ถ้าบอกว่ามันคือเสาวรสพื้นบ้านก็คงพอนึกภาพออก ดอกเหมือนนางฟ้าชาววังประดิษฐ์ ผลมันโตในห่อใบเลี้ยงโปร่งๆ ลายหยัก แลดูเหมือนผ้าลูกไม้ พอสุกจะเป็นสีส้ม หวานละมุนไม่เปรี้ยวเลย
โดยไม่รู้ตัว คน Gen F อย่างเรา (ย่อจาก Foraging Generation คนรุ่นเก็บกิน) ถูกหล่อหลอมให้รู้สึกมั่นใจในความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ เป็นอ้อมกอดของแม่ที่เราวิ่งไปหานมดูดได้ทุกเมื่อ
แต่เผลอแปล็บเดียว ภูมิประเทศรอบตัวก็เปลี่ยนไป ดินข้างตรอกซอยถูกดาดปูน พื้นที่หาผักถูกมองว่ารกรุงรัง จัดระเบียบใหม่เป็นพุ่มไม้ประดับ อาหารทั้งหมดของเราต้องซื้อจากตลาด จากซูเปอร์ เด็ก Gen X และ Gen Y รู้จักสารพัดเบอร์รี่ฝรั่ง กินบลูเบอร์รี่อเมริกัน แต่ไม่รู้จักลูกเถาคัน ดื่มน้ำเสาวรสปั่น แต่ไม่รู้จักกะทกรก ทาแยมสตรอเบอร์รี่ แต่ไม่เคยกินลูกตะขบ ซึ่งรสชาติใกล้เคียงชนิดไม่ต้องกวนน้ำตาล
แกงเขียวหวานเราปัจจุบันใส่แต่มะเขือเปราะมะเขือพวง เก๋ขึ้นนิดใส่ยอดมะพร้าว แกงเลียงใส่ข้าวโพดฝักอ่อนและผักตามสูตรอีกไม่กี่อย่าง ความหลากหลายของสำรับเครื่องปรุงเราหายไปพร้อมๆ กับดงพืชริมทาง
เหม่ ไม่ได้ตั้งใจจะบ่นเลยนะ จริงๆ เราก็ยอมรับว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาของวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมที่ลิ้นรับรสคนจะเปลี่ยนแปลงกันไปตามยุคสมัย คนไทยรุ่นย่ายายเราเหม็นนมเนย ให้กินขนมปังก็ไม่อิ่ม ต้องกินข้าว ถึงรุ่นเราล่ะ มาเลย เนยแข็งสิบๆ ชนิด กินได้หมด อร่อยดี
แต่ภายใต้วิกฤตสิ่งแวดล้อมในโลกยุคปัจจุบัน มันอดไม่ได้ที่จะย้อนกลับมาพิจารณาแนวทางการพัฒนาเมืองและการหายไปของอาหารฟรีๆ
ที่ผ่านมา เมืองเป็นศูนย์กลางความเจริญ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ เป็นที่หาเงิน มันจึงเป็นตัวดูดซับทรัพยากรจากทั่วสารทิศ ส่งไฟฟ้า ส่งน้ำ ส่งอาหารเข้ามาป้อน กลายเป็นว่าพลังงานที่เราใช้ผลิตและส่งอาหารเข้าถึงปาก มีปริมาณสูงกว่าพลังงานแคลอรี่ที่อาหารนั้นให้แก่ร่างกายเรา บ้าไปแล้ว
แต่ถ้าเรามองว่าเมืองไม่ได้เป็นศูนย์เศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว มันยังเป็นถิ่นอาศัยของมนุษย์ เราก็จะเปลี่ยนมาออกแบบเมืองให้เป็นมิตรต่อชีวิตมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าคนเมืองน่าจะสามารถเข้าถึงปัจจัยสี่ได้โดยไม่ต้องพึ่งเงินเป็นปัจจัยไปหมดทุกเม็ด ทำไมเราต้องจ่ายเงินเพื่อซื้ออาหารดีมีประโยชน์ทุกมื้อ ถ้าเมืองผลิตอาหารเองได้บ้าง เมืองจะเริ่มวิวัฒนาการเปลี่ยนจากปรสิตดูดเลือด มาเป็นตัวอะไรที่มีชีวิตชีวาน่ารักขึ้น
การผลิตอาหารไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบสวนผักคนเมืองเท่านั้น แต่อาจเป็นสวนผลไม้ชุมชนในวัด หรือสวนผลไม้สาธารณะบนพื้นที่รถไฟย่านมักกะสัน และรวมไปถึงพืชผลริมทางที่เราสามารถเก็บกินได้
ในด้านเศรษฐกิจ มันมีมูลค่ามากกว่าลดงบจ่ายตลาด การรื้อฟื้นวัฒนธรรมเก็บกินเปิดประตูสู่พลังสร้างสรรค์ของอาหารไทยให้กว้างไกลไปได้อีก การรู้จักใช้เครื่องปรุงและสมุนไพรที่หลากหลายขึ้น มีกลิ่นรสสัมผัสสลับซับซ้อนต่างๆ นานา เป็นจุดแข็งที่เติบโตมาจากรากพื้นถิ่น มีศักยภาพต่อยอด “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ของแท้อย่างยั่งยืน
เมื่อเราเริ่มเก็บกิน โลกทัศน์ของเราก็เปลี่ยนไปตามการสังเกตและรับรู้ เพื่อนวิศวกรไฟฟ้าคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าภูมิประเทศของเขาเปลี่ยนไปมากมายตั้งแต่เขาหันมาขี่จักรยาน หลังจากนั่งรถยนต์มาชั่วชีวิตตั้งแต่จำความได้ อยู่ๆ เขาก็เห็นรายละเอียดตามรายทางที่ไม่เคยสังเกตมาก่อน มันให้ความหมายแก่โลกของเขาอย่างที่ไม่เคยสัมผัส การเก็บกินก็เช่นกัน มันสร้างแผนที่เมืองในหัวเราที่ไม่ได้มีแต่จุดหมายปลายทาง หากเต็มไปด้วยชีวิตรายทาง แปรเปลี่ยนไปตามฤดูกาล
ตามรายทางนั้นมีเรื่องราวให้จดจำ มีความสัมพันธ์ระหว่างเรากับดอกผักปลาบและด้วงเต่าทองเก้าจุด เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่ประกอบขึ้นด้วยหลายชีวิตต่างสายพันธุ์ เราไม่เหงา เพราะเราไม่โดดเดี่ยว เรามั่นคงในธรรมชาติอุดมสมบูรณ์
และเราเป็นอิสระ เพราะเราตระหนักรู้ในพลังของตนเอง เราดูแลตัวเองได้ หาอาหารเองได้
ใครๆ ทุกรุ่นต่างก็เป็น Gen F กันได้
F for Forage & Free
กรุงเทพธุรกิจ ตุลาคม 2557