in on May 26, 2016

สมอง-กลิ่น-ป่า

read |

Views

บ่ายวันหนึ่งกับคลื่นความร้อนแสนร้อนเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ฉันหยิบขวดน้ำเปล่าที่ทดลองเด็ดใบโรสแมรี่สดจากกระถางบนระเบียงบ้านมาหนึ่งกำ ใส่ลงไปแช่ในขวดน้ำตั้งแต่เช้า แค่เปิดขวด กลิ่นโรสแมรี่ก็พวยพุ่งออกมาแตะจมูก รู้สึกสดชื่นขึ้นมาอย่างประหลาด ยิ่งได้ดื่มน้ำเย็นๆ ฉ่ำกลิ่นโรสแมรี่จากขวดนั้น ยิ่งเหมือนได้ชุบชีวิตตื่นขึ้นมา มีเรี่ยวแรงขึ้นมาในบัดดล

บ่อยครั้ง เมื่อเดินในสวนหรือในป่า พลันมีกลิ่นหอมโชยว้าบผ่านมา ก็รู้สึกสดชื่นขึ้นมาทันทีเช่นกัน

กลิ่นของพืชมากับโมเลกุลน้ำมันหอมระเหยของพืชฟุ้งกระจายในอากาศ ลอยมาถึงต่อมรับกลิ่นของเรา บางครั้งมาจากดอกไม้ บางครั้งจากยางไม้ บางครั้งจากใบ หรือส่วนอื่นๆ ของพืช

นักวิทยศาสตร์ชาวญี่ปุ่นพบว่าสาร น้ำมันหอมระเหยจากพืชเป็นสาเหตุสำคัญตัวหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นเมื่อเดินในป่า หรือแม้แต่ดงไม้ในเมือง

เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่หมอญี่ปุ่นแนะนำให้คนออกไปบำบัด “อาบป่า” เพื่อสุขภาพ

การแพทย์โบราณหลายวัฒนธรรมสกัดน้ำมันหอมระเหยพืชนานาชนิดเพื่อใช้ในการรักษาสารพัดโรคภัยอาการป่วยมานานแล้ว ถือว่าเป็นยาสำคัญ จัดสรรแยกหมวดเป็นกลุ่มยาต่างๆ ปัจจุบันเราไม่ค่อยคิดว่ามันมีฤิทธิ์เดชอะไรมากมาย เพราะนิยมใช้จุดไอระเหยกันในสปา เลยมักคิดว่ามันก็ดีแค่เพื่อช่วยผ่อนคลายอารมณ์ ให้ใจร่มๆ ชื่นมืนเท่านั้น

มันรื่นรมณ์และอ่อนโยน แต่คุณสมบัติไม่เบาเลย

เมื่อโมเลกุลน้ำมันระเหยพืชลอยเข้าสู่ร่างกายเราผ่านจมูก สิ่งแรกที่เรารับรู้คือสัมผัสที่ต่อมรับกลิ่น ซึ่งส่งปฏิกิริยาต่อสมองส่วนต่างๆ แทบจะในทันที สมองส่วนสำคัญส่วนหนึ่งคือระบบสมองที่เรียกว่าลิมบิค (limbic system) เป็นสมองที่อยู่ส่วนลึก มีความเก่าแก่ทางวิวัฒนาการ ทำหน้าที่ด้านอารมณ์และความจำ เชื่อมโยงโดยตรงกับอัตราการเต้นของหัวใจ ความดัน การหายใจ ความเครียด และความสมดุลของโฮโมน บางครั้งจึงเรียกง่ายๆ ว่า “emotional brain” — สมองอารมณ์

กลิ่นมีพลังกระตุ้นความรู้สึกเราในระดับที่ลึกมาก มันสามารถแตะไปถึงความทรงจำเก่าแก่ในจิตไร้สำนึก ฉันไม่แน่ใจว่าเราสามารถย้อนความจำไปได้ถึงอายุเท่าไหร่ สำหรับตัวเองไอ้ที่จำได้แม่นๆ เป็นเรื่องเป็นราวซีนีมาสโคปก็ตอนสามขวบขึ้นมา แต่มันมีอะไรคลับคลาคล้ายว่าได้ดมดอกลั่นทมในอ้อมกอดแม่ที่โรงพยาบาล Bangkok Nursing Home ที่ฉันเกิด สมัยก่อนจะมีต้นลั่นทมใหญ่ๆ ปลูกเรียงรายเป็นแถวริมสนาม

พอบอกแม่ แม่แปลกใจมาก เล่าให้ฟังว่าตอนแม่คลอดฉันที่นั่น แม่จะอุ้มฉันไปเดินในสวน และชูตัวฉันขึ้นไปดมดอกลั่นทม อีกครั้งที่ฉันต้องไปนอนโรงพยาบาลนั้นเป็นตอนอายุ 8 เดือน ฉันโดนแมลงภู่ต่อย แพ้รุนแรงเกือบตาย แม่ก็ได้อุ้มไปดมดอกลั่นทมที่นั่นอีก ฉันจำอะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์แมลงภู่ไม่ได้เลย แต่ดูเหมือนว่าจะจำสัมผัสกลิ่นลั่นทมเต็มหน้าได้

เมื่อวันก่อน เพื่อนคนหนึ่งก็เล่าว่านางเอาดอกนาซิสซัสหอมกรุ่นมาปักแจกันที่ออสเตรเลีย ความทรงจำมากมายถูกปลุกขึ้นมา เสมือนระลึกชาติได้

เฮเลน เคลเลอร์ นักเขียนตาบอดหูหนวกชาวอเมริกัน ถึงกับบอกว่า “กลิ่นคือพ่อมดมากฤิทธิ์เดช ส่งเราข้ามแดนได้หลายพันไมล์ และข้ามขวบปีทั้งช่วงชีวิตเรา”

บางครั้ง ความทรงจำฝังลึกไม่ได้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวในชั่วชีวิตนี้ แต่เป็นความทรงจำที่เก็บและถ่ายทอดมาตามดีเอ็นเอรุ่นแล้วรุ่นเล่า จนกลายเป็นสันชาตญานของเผ่าพันธุ์มนุษย์ เป็นความสัมพันธ์ร่วมของเผ่าพันธุ์เรากับธรรมชาติ ซึ่งสามารถถูกกระตุ้นขึ้นมาได้ เรื่องนี้ออกจะยาวและซับซ้อน และต้องขอเก็บไว้เขียนเป็นเรื่องหนึ่งแยกออกไปต่างหาก ตรงนี้แค่อยากบอกว่าเรามีความสุขในธรรมชาติร่วมกันในฐานะมนุษย์ที่เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง และปัจจัยหลายอย่างในการสัมผัสธรรมชาติสามารถปลุกมันขึ้นมาได้

นอกจากกลิ่นต้นไม้จะส่งผลกระทบอย่างลึกล้ำต่อสภาพจิตใจและภาวะทางกายผ่านระบบสมอง โมเลกุลจากสารระเหยน้ำมันพืชยังเคลื่อนเข้าสู่ปอด ทำปฏิกิริยากับระบบหายใจได้อีกหลายทาง งานวิจัยจำนวนมากพบว่าน้ำมันหอมระเหยพืชส่วนใหญ่มีคุณสมบัติโดดเด่นเป็นแอนตี้แบคทีเรียบ้าง แอนตี้ไวรัสบ้าง แอนตี้เชื้อราบ้าง พวกมันจึงเกื้อหนุนระบบภูมิต้านทานและช่วยบำบัดรักษาร่างกาย

ฉันพยายามหาข้อมูลจากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลก พบว่าเรายังไม่เข้าใจกลไกการทำงานของมันดีนัก เรารู้ว่ามันช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ตัวร้าย แต่ยังไม่เข้าใจว่ามันทำงานร่วมกับจุลินทรีย์ดีๆ อย่างไร ทีมนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัยชิบาที่ศึกษาประโยชน์จากสังคมจุลินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อมนุษย์ที่ออกไปเดิน “อาบป่า” พบว่าน้ำมันหอมระเหยในป่าสนที่เขาศึกษาช่วยส่งเสริมเกื้อกูลจุลินทรีย์ดีๆ เหล่านั้น คือสร้างภาวะที่เป็นมิตรแก่การดำรงอยู่ของพวกมัน

กับพืชเอง สารน้ำมันระเหยมีบทบาทหลากหลาย ใช้ปกป้องเชื้อโรคต่างๆ บ้าง ใช้กลิ่นดึงดูดสัตว์ให้เข้ามาผสมเกสรบ้าง และบางครั้งก็ใช้ขับไล่ศัตรูให้อยู่ห่างๆ หรือใช้เป็นพิษสกัดการแข่งขันจากพืชอื่นๆ

น้ำมันหอมระเหยจากพืชบางชนิดจึงเป็นโทษ โดยเฉพาะถ้ารับเข้าไปในปริมาณมากเกิน ถ้าเราจะฟื้นฟูป่าหรือปลูกป่าขึ้นมาในเมือง ให้คนเมืองได้ออกไปอาบป่าเป็นประจำ มันต้องเป็นป่าที่มีพืชหลากหลายสายพันธุ์ ความหลากหลายของพวกมันจะช่วยควบคุมสารเคมีที่ปล่อยออกมาให้อยู่ในภาวะสมดุล

อยากมีป่าหอมๆ ให้อาบในเมืองจังเลย


กรุงเทพธุรกิจ, พฤษภาคม 2559

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share