หัวข้อเรื่องของบทความฉบับนี้เป็นอมตะวาจาที่อายุรแพทย์มักแนะนำบุคคลที่มีความดันโลหิตสูง และ/หรือเป็นเบาหวาน และ/หรือไตเสื่อม ให้ปฏิบัติเป็นประจำ ซึ่งในความเป็นจริงนั้นข้อแนะนำดังกล่าวเป็นวิถีทางปฏิบัติซึ่งแม้คนที่คิดว่าตนมีสุขภาพดีก็ควรกระทำ แต่ก็มักละเลยกัน
คนไทยชอบกินอาหารออกเค็มและขนมที่หวาน (มัน) มาก เพราะอาหารและขนมไทยหลายชนิดมีไขมันจากกระทิสูง พฤติกรรมดังกล่าวนี้ดูเหมือนเป็นวัฒนธรรมที่เราชื่นชอบ ดังปรากฏในรายการต่างของโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ ดังนั้นสุดท้ายจึงลงเอยในปัจจุบันว่า จำนวนคนไทยที่มีความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ตลอดจนโรคหัวใจ นั้นอยู่ในระดับน่าพอใจของมัจจุราช
ตัวผู้เขียนนั้นก็ไม่ได้รอดไปจาก Degenerative disease หรือ โรคแห่งความเสื่อมถอยของร่างกาย (ซึ่งพูดง่าย ๆ คือ โรคของผู้สูงอายุ) ที่กล่าวข้างต้นเช่นกัน อาการที่เป็นคือ ความดันโลหิตสูง ส่วนเบาหวานและโรคไตนั้นยังอยู่ในขั้นของความสุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นเมื่อใดก็ได้ ถ้าไม่ปฏิบัติตนตามที่แพทย์แนะนำ
ดังที่เคยเล่าอยู่บ่อย ๆ ว่าผู้เขียนออกกำลังกายแบบแอโรบิคเป็นประจำ ตามมาตรฐานที่ควรเป็นคือ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวันจำนวน 3 วัน และเหงื่อออกชุ่มอย่างน้อย 30 นาทีจำนวน 2 วัน พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลให้ผู้เขียนซึ่งสูง 170 เซ็นติเมตร สามารถคุมน้ำหนักให้อยู่ได้ที่ 70 + 1 กิโลกรัมในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อคำนวณเป็นค่าดัชนีมวลกายแล้วได้ผลออกมาที่ 24.22
ค่าดัชนีมวลกายดังกล่าวของผู้เขียนนั้น ถ้าเป็นฝรั่งก็ยังอยู่ในค่าดัชนีที่ยังไม่อ้วนเพราะไม่เกิน 25 อย่างไรก็ดีการมีค่าดัชนีมวลกายที่ 24.22 ของผู้เขียนนั้นเมื่อมายืนอยู่รวมกับคนไทยแล้วกลับกลายเป็นว่า ผู้เขียนอยู่ในเกณฑ์ของคนที่อ้วนระดับ 1 เพราะค่าที่เหมาะสมของคนเอเชียที่สูง 170 เซ็นติเมตรนั้นควรอยู่ในช่วง 18.5-22.9 (อ้างอิงจากเว็บของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล)
ทุกครั้งที่ผู้เขียนอ่านพบบทความที่บอกว่าค่าดัชนีมวลกาย 22.9 นี้คือ เส้นแบ่งสำหรับคนปรกติและคนที่ท้วมหรืออ้วนระดับ 1 นั้น ผู้เขียนมักรู้สึก “หัวร้อน” ขึ้นมาทุกที เพราะสำหรับคนที่มีอายุประมาณผู้เขียนแล้ว แค่ดัชนีที่ 25 ก็ยังยากสุด ๆ ที่จะไม่เกิน พอเอาค่า 22.9 มาเป็นเส้นแบ่งนั้นใครจะทำได้ ทั้งนี้เพราะเวลาดูข่าวโทรทัศน์ คนในข่าวที่อยู่ในวัยเดียวกับผู้เขียนนั้นมักมีพุง (มากกว่าผู้เขียน) แทบทั้งนั้น เขาเหล่านั้นจึงน่าจะมีค่าดัชนีมวลกายเกิน 25 แน่นอน
อย่างไรก็ดีในใจผู้เขียนเองก็แอบคิดลึก ๆ ว่า คนที่ปฏิบัติตนเองดี ออกกำลังกายเสมอ กินอาหารให้เหมาะสมก็คงมีค่าดัชนีมวลกายที่ 22.9 ได้ แล้วทำไมผู้เขียนถึงทำบ้างไม่ได้ สุดท้ายเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว (เขียนบทความนี้ในเดือนสิงหาคม) ผู้เขียนกลับมานั่งทบทวนพฤติกรรมการกินแล้วก็พบว่า ทุกครั้งที่ออกกำลังกายเหนื่อยกลับมาบ้าน สิ่งที่มักกระทำคือ ดื่มน้ำอัดลมชนิดใสไม่มีสีแต่หวาน 1 แก้ว ด้วยคิดว่าเพื่อตอบแทนการออกกำลังกายในวันนั้น ดังนั้นจึงได้ข้อสรุปว่า น้ำหวานนั้นน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ดัชนีมวลกายคงอยู่แค่เกือบ 25 ไม่ยอมลดสักที
เพื่อพิสูจน์ว่าการลดหรือเลิกกินอะไรหวาน ๆ น่าจะทำให้ค่าดัชนีมวลกายดีขึ้น ผู้เขียนจึงยกเลิกการซื้อน้ำอัดลมรวมถึงลดการดื่มกาแฟแบบ 3 in 1 เหลือเพียงวันละ 1 ซอง ในตอนกินอาหารเช้า สิ่งที่ปรากฏต่อมาเมื่อเวลาผ่านไป 2 เดือนคือ น้ำหนักตัวค่อย ๆ ลดจาก 70 กิโลกรัม เป็น 68 กิโลกรัม และเมื่อผ่านไป 4 เดือนก็อยู่ในช่วง 66 + 1 กิโลกรัม ดังนั้นเมื่อนำตัวเลข 66 กิโลกรัมไปคำนวณค่าดัชนีมวลกายก็ได้ออกมากเป็น 22.84 ซึ่งเป็นค่าของน้ำหนักที่เหมาะสมของคนเชีย แม้จะค่อนข้างปริ่มต่อการขยับไปเป็นผู้ที่อ้วนระดับ 1 ก็ตาม
โดยสรุปแล้วสิ่งที่ผู้เขียนต้องการบอกคือ ปัจจัยหนึ่งที่สร้างโอกาสให้เรามีน้ำหนักเกินอย่างแน่นอนคือ อาหารหวาน ซึ่งเป็นจริงตามที่แพทย์แนะนำว่า อย่ากินหวาน นั่นเอง ดังนั้นผู้เขียนจึงเข้าไปตั้งคำถาม (ทั้งไทยและอังกฤษ) กับอากู๋ (Google) ประมาณว่า มีโอกาสไหมที่ประชาชนจะลดการดื่มน้ำหวานได้ คำตอบที่ได้จากอากู๋ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษดูจะคล้ายกันว่า เป็นไปได้ด้วยการขึ้นภาษีเครื่องดื่มตามความหวานที่อยู่ในขวดเครื่องดื่มนั้น
จากเว็บ www.bangkokbiznews.com มีหัวข้อข่าวหนึ่งที่น่าสนใจคือ “กรมสรรพสามิตเดินหน้าจัดเก็บภาษีความหวาน ดีเดย์ 16 กันยายนนี้ ด้าน อย. ออกโลโก้ทางเลือกสุขภาพ หวังเปลี่ยนพฤติกรรมติดทานหวานของคนไทย” โดยผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต ให้ข้อมูลประมาณว่า มาตรการหนึ่งที่ภาครัฐจะบังคับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาคนไทยติดรสหวาน คือ การจัดเก็บภาษีสินค้าตามความหวาน โดยมีเกณฑ์ว่า หากสินค้าผสมน้ำตาลมากกว่า 6-10 กรัม และ 10 กรัมขึ้นไปต่อ 100 มิลลิลิตร ก็จะถูกจัดเก็บภาษีในระบบใหม่ ซึ่งผลจากการที่รัฐเป็นห่วงสุขภาพประชาชนนั้นจะทำให้รัฐเก็บภาษีได้เพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และ 25 ของราคาขายปลีก ตามลำดับ
เครื่องดื่มที่ถูกเสนอให้จัดเก็บภาษีความหวานนี้ประกอบด้วย น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลังและเครื่องดื่มเกลือแร่ น้ำผลไม้และน้ำพืชผัก เครื่องดื่มชนิดผง เครื่องดื่มชนิดเข้มข้น ซึ่งในกรณีนี้รวมถึงเครื่องดื่มที่หวานตามธรรมชาติซึ่งไม่ได้ใส่น้ำตาลเพิ่มด้วย เพราะเครื่องดื่มกลุ่มหลังนี้สามารถทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบคือ ความอ้วนจากน้ำตาลได้เช่นกัน
สำหรับแนวทางในการจัดเก็บภาษีความหวานนั้น เริ่มจากการให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนส่วนผสมของน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ในช่วง 2 ปี คือ 16 กันยายน 2560-30 กันยายน 2562 แล้วถ้าหากรายใดทำได้ก็จะได้สิทธิในการเสียภาษีเท่าเดิม ส่วนผู้ประกอบการใดที่งอแงปรับสูตรช้ากว่า จะได้รับรางวัลจากรัฐบาลคือ ถูกเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้า ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป
ภาษีความหวานนี้น่าจะตรงกับภาษาอังกฤษว่า Sugary drink tax หรือ Soda tax ซึ่งเป็นการเก็บภาษีจากสินค้าซึ่งใช้น้ำตาลทรายเป็นส่วนประกอบในการผลิตมากเกินไป จนน่าจะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพแก่ประชาชน ผู้เขียนเข้าไปใน Wikipedia และพบว่า มีบทความเกี่ยวกับ Sugary drink tax ที่น่าสนใจมาก จึงขอเล่าถึงบางส่วนดังนี้
Wikipedia ให้ความรู้ว่า ภาษีดังกล่าวนั้นถูกกำหนดขึ้นโดยรัฐบาลหวังว่า ประชาชนจะลดการดื่มน้ำหวานต่าง ๆ ได้แก่ น้ำอัดลม เครื่องดื่มเกลือแร่ และเครื่องดื่มชูกำลัง (energy drinks) เพราะสินค้าแพงขึ้น ความจริงอย่างหนึ่งที่ตามมาคือ ไม่ว่าประเทศใดที่หวังออกภาษีนี้มักถูกต่อต้านจากผู้ผลิตน้ำหวานรายใหญ่ทั้งหลาย ในขณะที่องค์การอนามัยโลกให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ด้วยเหตุผลที่ว่า ถึงรัฐจะได้ภาษีจากสินค้าเหล่านี้สักเท่าใด แต่ค่าใช้จ่ายในการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ที่มีน้ำตาลเข้าไปเกี่ยวข้องเช่น เบาหวาน น้ำหนักเกิน นั้นมหาศาลกว่ามากนัก
มีข้อมูลจากอินเตอร์เน็ทกล่าวว่า แนวโน้มการดื่มน้ำอัดลมนั้นลดแล้วในประเทศที่พัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่กำลังเติบโตเป็นอย่างดีในประเทศที่ยังไม่รวยจริง (ซึ่งน่าจะรวมประเทศที่พยายามพัฒนา) ดังนั้นในเรื่องของภาษีความหวานนั้น เดนมาร์ค (ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาไปนานแล้ว) ได้เริ่มใช้เมื่อ ค.ศ. 1930 จนถึงปี 2013 รัฐบาลเดนมาร์คก็ดำริในการเลิกกฏหมายนี้โดยการออกกฏหมายที่กว้างคือ Fat tax ที่มีการบังคับเก็บภาษีอาหารทุกชนิดที่ทำให้อ้วน แต่ปรากฏว่าระบบภาษีใหม่นั้นไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากประชาชนสามารถข้ามพรมแดนเข้าไปในเยอรมันและสวีเดน เพื่อซื้ออาหารที่ทำให้อ้วนต่าง ๆ เช่น นม เนย ไอศกรีม ได้ในราคาที่ถูกกว่า ดังนั้นในปี 2014 เดนมาร์คจึงหันกลับมาใช้กฏหมายเดิมกับน้ำอัดลมต่อไป
สำหรับฟินแลนด์นั้นได้นำการเก็บภาษีลักษณะนี้มาใช้ในปี 2011 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่ฮังการีได้เริ่มใช้การเก็บภาษีในลักษณะเดียวกันภายใต้ชื่อ Public health product tax ที่ครอบคลุมถึงอาหารที่มีการใช้น้ำตาลแบบเกินเลย ดังนั้นโดยหลักการที่ดีเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนแล้ว ประเทศในสหภาพยุโรปดูมีความตั้งใจในการออกกฏหมายเก็บภาษีในลักษณะนี้แทบทุกประเทศ โดยดูรายละเอียดได้จากรายงาน Food taxes and their impact on competitiveness in the agri-food sector (ec.europa.eu/DocsRoom/documents/5827/attachments/1/translations/en/renditions/pdf)
สำหรับประเทศอื่นที่สนใจในการออกภาษีลักษณะนี้โดยหวังว่า เป็นการบรรเทาปัญหาโรคอ้วนของประชาชนนั้นมีหลายประเทศอาทิเช่น เม็กซิโกได้เริ่มเก็บภาษีนี้ในปี 2013 สหราชอาณาจักรในปี 2016 อัฟริกาใต้ได้เริ่มใช้ในปี 2017 นี้แล้ว ส่วนสหรัฐอเมริกานั้นเป็นกรณีที่น่าศึกษาเป็นพิเศษเพราะแต่ละรัฐสามารถออกกฏหมายท้องถิ่นได้ และเป็นประเทศซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทแม่ของอุตสาหกรรมน้ำอัดลมระดับมหึมาของโลก ดังนั้นถึงมีผู้ต้องการให้กฏหมายลักษณะนี้ออกมาใช้ครอบคลุมทั้งประเทศ แต่ในความเป็นจริงค่อนข้างลำบากมากหน่อย (เพราะใคร ๆ ก็รู้ว่า ในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นต้นตำรับของทุนนิยมนั้นดูเหมือนว่า แข็งเท่าแข็งเงินง้างอ่อนได้ดังใจ) ดังนั้นจึงมีเพียงแค่ 2 เมืองคือ เบอรค์เลยในมลรัฐแคลิฟอร์เนียและฟิลาเดลเฟียในมลรัฐเพนซิลเวเนียที่มีภาษีในลักษณะดังกล่าวในปัจจุบัน
หลังกฏหมายภาษีออกมาบังคับในสองเมืองดังกล่าวของสหรัฐอเมริกา ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ออนไลน์ที่ตรวจพบคือ ชุมชนได้รับเป็นการตอบแทนอย่างสมน้ำสมเนื้อจากผู้ประกอบการคือ การปลดพนักงานของโรงงานน้ำอัดลมจำนวนหนึ่งออก เพื่อก่อให้เกิดความกดดันจากครอบครัวที่ตกงาน เนื่องจากภาษีดังกล่าวต่อรัฐบาลท้องถิ่นของเมืองนั้น
ข้อมูลเกี่ยวกับการขึ้นภาษีสินค้าที่ให้ความหวานซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพนั้น ก่อให้เกิดความเร่าร้อนตั้งแต่ปี 2015 เมื่อมีข่าวลือจากการแพร่จดหมายอิเล็คทรอนิคที่ให้ข้อมูลว่า งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นนั้นถูกครอบงำด้านการเงินจากอุตสาหกรรมน้ำอัดลมต่าง ๆ โดยผู้ประกอบการนั้นพยายามชี้นำให้ผลการศึกษาเป็นไปในทางที่บอกว่า น้ำอัดลมนั้นไม่มีผลที่มีนัยสำคัญหรือเป็นแค่ปัจจัยเล็ก ๆ ต่อการทำลายสุขภาพ ทั้งโรคอ้วนและเบาหวาน อย่างไรก็ตามข่าวลือก็ย่อมเป็นแค่ข่าวลือ ใบเสร็จที่แท้จริงนั้นใครเลยจะปล่อยให้หลุดออกมาได้ ยกเว้นใบเสร็จปลอมที่ติดพุงซึ่งหลามออกมาของนักดื่มน้ำหวานทั้งหลาย
สำหรับการเก็บภาษีตามความหวานของเครื่องดื่มนั้น โดยภาพรวมจากงานวิจัยในวารสาร Archives of Internal Medicine ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2010 กล่าวว่า จากการศึกษาในคนหนุ่มสาว 5115 คน (อายุ 18-30 ปี) ในช่วงปี 1985-2006 ทำให้คำนวณได้ว่า ถ้าภาษีนี้ถูกบังคับใช้ควรก่อให้เกิดการลดลงของยอดขายน้ำอัดลม โดยประเมินได้ว่า ภาษีร้อยละ 18 ที่จ่ายเมื่อซื้อน้ำอัดลมนั้นสามารถทำให้ผู้บริโภคชะงักการซื้อดื่มซึ่งช่วยลดการรับพลังงานเข้าสู่ร่างกายได้ถึง 56 แคลอรีต่อคน ซึ่ง (ตามหลักวิธีคำนวณแล้ว) ทำให้ลดน้ำหนักตัวได้ถึง 2 กิโลกรัมต่อคนต่อปี (ท่านผู้อ่านโปรดฝันหวานตามไปสักพักแล้วค่อยสะดุ้งตื่นเมื่ออ่านบทความนี้ใกล้จบ)
มีข้อมูลที่น่าสนใจซึ่งได้จากการศึกษาที่มหาวิทยาลัย Duke University และ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เมื่อปี 2010 ได้ผลออกมาในแนวเดียวกัน และได้ตั้งประเด็นเพิ่มว่า ถ้าภาษีเครื่องดื่มที่หวานด้วยน้ำตาลถูกเปลี่ยนให้สูงขึ้นเป็นร้อยละ 20 ถึง 40 แล้วมันน่าจะไม่มีผลอะไรต่อการลดการได้รับพลังงาน (แม้ว่ายอดขายน้ำหวานลดลง) เนื่องจากเมื่อสินค้าแพงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ผู้บริโภคจะหันไปกินอาหารกลุ่มอื่นซึ่งให้ความหวานในระดับเดียวกัน และแล้วในปี 2016 การคาดคิดทางวิชาการดังปรากฏในผลการศึกษาของสองมหาวิทยาลัยนั้นได้มีผู้ทำการศึกษาและรายงานว่า ควรเป็นจริง ดังข้อมูลต่อไปนี้
เว็บในสหราชอาณาจักรชื่อ health.spectator.co.uk ได้ลงบทความเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2016 เรื่อง A sugar tax to make us slimmer? It’s not as simple as that โดยมีส่วนหนึ่งของบทความกล่าวถึงการศึกษาโดย Australia’s Obesity Policy Coalition (ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนในประเทศออสเตรเลียที่พยายามหาทางปรับเปลี่ยนปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เด็กออสเตรเลียอ้วนเอา ๆ) ว่า การขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นร้อยละ 20 นั้น (เป็นความหวังว่า) จะช่วยลดการดื่มเครื่องดื่มกลุ่มนี้ได้ราวร้อยละ 12.6 ซึ่งน่าจะเป็นการช่วยชีวิตคนได้มากกว่า 1600 คน และเมื่อตีเป็นมูลค่าของเงินคำนวณได้อย่างน้อยปีละ 400 ล้านเหรียญดอลลาร์ออสเตรเลีย
ในบทความเดียวกันนั้นยังกล่าวว่า สำหรับในสหราชอาณาจักรซึ่งมีการพูด ๆ ๆ และพูดซ้ำซากในการรณรงค์ต่าง ๆ พร้อมแสดงผลที่ได้จากรูปแบบจากการคำนวณทางคอมพิวเตอร์ว่า การขึ้นภาษีแล้วจะได้ผลเช่นเดียวกับในออสเตรเลีย คำกล่าวเหล่านี้ไม่น่าประหลาดใจนักเพราะคนพูดได้เชื่อในหลักการง่าย ๆ ว่า ถ้าราคาสินค้าขึ้นการขายควรลดลง ซึ่งน่าจะส่งผลให้พลังงานที่มีการรับเข้าสู่ร่างกายลดลงเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดีผู้เขียนบทความ A sugar tax to make us slimmer? It’s not as simple as that ได้แสดงความเห็นว่า แนวความคิดว่า คนจะบริโภคสินค้าน้อยลงเมื่อมันแพงขึ้นนั้นเป็น ความคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ (มัก) ง่ายเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนวณเป็นตัวเลขแบบที่องค์กรเอกชนของออสเตรเลียแสดง ทั้งนี้เพราะอะไรก็ตามที่คนชอบนั้น การได้มาซึ่งสิ่งที่ชอบนั้นบางครั้งไม่ได้ขึ้นกับราคาของสินค้าเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าประชาชนเห็นว่า สินค้าหนึ่งที่ชื่นชอบมีราคาเพิ่มขึ้นจนไม่คุ้มกับการจ่ายเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการ (ในที่นี้คือ รสหวาน) นั้น ประชาชนอาจหันไปหาสิ่งอื่นซึ่งย่อมเยาว์กว่า แต่ตอบสนองความต้องการเดิมได้ โดยไม่พะวงที่จะคิดถึงผลเสียอื่น ๆ ที่มักตามมา
ในสหรัฐอเมริกานั้นได้มีการศึกษาประเด็นผลการขึ้นภาษีความหวานในน้ำอัดลมต่อสุขภาพประชาชน และตีพิมพ์เป็นบทความทางวิชาการใน Journal of Public Economics ชุดที่ 94 หน้าที่ 967-974 ประจำเดือนธันวาคม 2010 เรื่อง The effects of soft drink taxes on child and adolescent consumption and weight outcomes. โดยบทความนี้ได้สรุปสุดท้ายว่า เมื่อภาษีน้ำหวานเพิ่มขึ้น การดื่มน้ำหวานก็ลดลง แต่ความอ้วนของประชาชนจะยังเพิ่มขึ้นในลักษณะเดิม เพราะเมื่อไม่ดื่มน้ำหวาน (ซึ่งให้พลังงาน) ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเลี่ยงไปรับพลังงานจากอาหารอื่น เช่น น้ำผลไม้ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากน้ำผลไม้ และนมรวมทั้งผลิตภัณฑ์นมปรุงแต่งให้หวานต่าง ๆ
ถ้าคิดเพื่อช่วยปลอบใจผู้ริเริ่มการใช้ภาษีความหวานว่า ความอ้วนที่เกิดจากน้ำผลไม้และนมนั้นน่าจะดูดีกว่าความอ้วนที่ได้จากน้ำใส่สีรสหวาน เพราะน้ำผลไม้และนมย่อมมีสารอาหารที่ดีอยู่บ้าง ดังนั้นความสำเร็จบางส่วนของการเพิ่มภาษีความหวานในหลายประเทศคือ การเปลี่ยนแหล่งอาหารที่ให้พลังงาน ซึ่งเดิมไร้คุณค่าทางโภชนาการโดยสิ้นเชิงให้ดูมีคุณค่าขึ้น ดังนั้นในขั้นต่อไปนั้นสิ่งที่รัฐควรหาทางทำให้สำเร็จคือ กระตุ้นให้ประชาชนหันมาออกกำลังกายเพื่อหยุดยั้งความอ้วนที่เกิดจากพลังงานที่ได้รับเกิน (ถึงแม้ไม่ได้มาจากน้ำตาล) ในแต่ละวัน สำหรับผู้เขียนเองนั้นคิดว่า มาตรการในการลดหย่อนภาษีเงินได้เป็นพิเศษแก่ผู้ที่มีดัชนีมวลกายในระดับปรกติดูน่าจะมีความหมายต่อผู้บริโภคบ้างพอควร
อีกประเด็นหนึ่งซึ่งยังเป็นปัญหาที่รอการแก้ไขคือ มีผู้บริโภคบางส่วนหันไปดื่มน้ำหวานชนิด Diet ซึ่งสามารถลดปริมาณพลังงานที่เข้าสู่ร่างกายได้ชัดเจน แต่การกลับว่าปรากฏว่า ผู้บริโภคผู้นั้นมักให้รางวัลตนเองด้วยการกินขนมที่คิด (เอาเอง) ว่าไม่น่าจะหวานเท่าใดนักแทน หรือกินอาหารชนิดซึ่งมองไม่เห็นน้ำตาลเพราะเป็นแป้งเช่น พิสซ่าและ/หรือโดนัท เพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งสุดท้ายก็ได้รับพลังงานเกินอยู่ดี ดังนั้นผู้ที่นิยมดื่มน้ำหวานชนิดที่ใช้น้ำตาลเทียมนั้น ควรทำดีต่อตัวเองให้ตลอดโดยไม่ให้รางวัลตนเอง ภาวะน้ำหนักตัวไม่เหมาะสมตามหลักสากลก็น่าจะลดได้