in on April 18, 2017

ทำใจเมื่อต้องกินสารพิษ (ตอนที่ 1)

read |

Views

ข่าวของการตรวจพบสารพิษ (กลุ่มที่เรียกว่า pesticides) ในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมีอยู่เป็นประจำบนหน้าหนังสือพิมพ์ทุกประเทศซึ่งประกาศว่า มีการพัฒนากระบวนการผลิตทางการเกษตรทันสมัยแล้ว

ทั้งนี้เพราะไม่ว่าสถานศึกษาใดในโลกนี้นำเทคโนโลยีที่คิดว่านำสมัยมาใส่ในการเรียนการสอนวิชาด้านการเกษตร ส่วนใหญ่มักพ่วงการใช้สารพิษในการกำจัดศัตรูพืชและสัตว์เข้าไปในระบบเกษตรกรรมแทบทั้งสิ้น จึงเหมือนเป็นประเพณีให้เกษตรกรส่วนใหญ่คิดว่ามันเป็นเรื่องถูกต้องและเป็นสิ่งจำเป็นต้องใช้

สำหรับเกษตรกร (ส่วนน้อย) ของบางประเทศพยายามจะใช้ระบบเกษตรอินทรีย์เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ก่อความเสี่ยงต่ออันตรายของผู้บริโภคน้อยกว่าและมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าเเต่ก็ยังดูไม่ชัดเจนในหลายประเทศ ทำให้ผู้เขียนมองไม่เห็นว่าสถานการณ์การพบสารพิษทางการเกษตรในอาหารของคนบนโลกใบนี้จะได้รับการแก้ไขให้หมดไปได้อย่างไรอีกทั้งบริษัทที่ค้าสารพิษกลุ่มนี้ก็ใหญ่โตมหาศาลมีพละกำลังสูงเป็นพิเศษ

สำหรับผู้ที่ต้องการอยู่ให้พ้นจากภัยสารพิษกลุ่มนี้ ถ้าท่านเชื่อว่าชาติหน้ามีจริงก็ขอให้อธิษฐานได้ไปเกิดใหม่ประเทศภูฏาน ซึ่งระบบการเกษตรแบบล่มจมเนื่องจากสารเคมียังเข้าไปไม่ถึง เพราะ Wikipedia ได้กล่าวถึงประเทศภูฏานว่า “In 2013 the government announced that Bhutan will become the first country in the world with 100 percent organic farming and started a program for qualification. This program is being supported by the International Federation of Organic Agriculture Movements (IFOAM)”

อีกตัวอย่างของการใช้สารเคมีด้านการเกษตร ซึ่งผู้บริโภคไม่ได้เรียนด้านการเกษตรก็มักจะนึกไม่ถึงคือ การใช้ยาปฏิชีวนะในรูป growth promoter สำหรับสัตว์ที่เลี้ยงแบบปศุสัตว์จะมีการสอนในสาขาวิชาหนึ่งด้านการเกษตรแผนปัจจุบัน ความถูกต้องในเรื่องนี้ท่านผู้อ่านอาจต้องตัดสินเอาเองหลังจากได้ไปอ่านบทความเรื่อง “Use of Antimicrobial Growth Promoters in Food Animals and Enterococcus faecium Resistance to Therapeutic Antimicrobial Drugs in Europe” เขียนโดย Center for Diseases Control and Prevention (CDC) ของสหรัฐอเมริการและบทความของ Food and Agriculture Organizatin (FAO) เรื่อง  “Antibiotic Growth-Promoters in Food Animals”

เนื่องจากเรื่องของ Growth promoter ซึ่งถูกใช้ในสัตว์เลี้ยงเพื่อบริโภคค่อนข้างสลับซับซ้อนดังนั้นจึงขอผ่านไปก่อน เพราะดูแล้วมันคงไม่มีทางเลี่ยงได้เลย ตราบใดที่เรายังไม่มีฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอินทรีย์สมบูรณ์แบบ ดังนั้นบทความสำหรับเดือนนี้และเดือนหน้าจึงขอเล่าสู่กันฟังในประเด็นของสารพิษทางการเกษตรซึ่งใช้ในพืชผัก เพื่อกระตุ้นให้เพิ่มความระมัดระวังในการกินผลิตภัณฑ์เหล่านี้เท่าที่ทำได้

แค่เรียกชื่อก็ผิดเสียแล้ว

เว็บของ Toxics Action Center (www.toxicsaction.org) ซึ่งเป็นขององค์กรเอกชนในพื้นที่ของสหรัฐอเมริกาส่วนที่เรียกว่า New England ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศซึ่งประกอบด้วย 6 รัฐ ได้แก่ รัฐคอนเนตทิคัต รัฐนิวแฮมป์เชียร์ รัฐเมน รัฐแมสซาชูเซตส์ รัฐโรดไอแลนด์ และรัฐเวอร์มอนต์ โดยมีเมืองบอสตันเป็นเมืองขนาดใหญ่ในเขตนี้คนไทยรู้จักดี มีบทความเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสารกำจัดสัตว์รังควาน หรือ pesticide บทความนี้มีความน่าสนใจบางประการที่ผู้เขียนขอนำมาเล่าให้ทราบเป็นข้อมูลเพื่อเทียบว่าเหมือนหรือต่างจากบ้านเรา

สารกำจัดสัตว์รังควานนั้นคนไทยทั่วไปมักเรียกกันผิดๆ ว่า ยาฆ่าแมลง ทั้งที่คำว่า ยา ควรหมายถึง วัตถุที่เป็นเภสัชเคมีภัณฑ์หรือเภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปสำหรับใช้ในการวินิจฉัย บำบัด บรรเทา ป้องกันอาการเจ็บป่วยของมนุษย์หรือสัตว์ ซึ่งก่อให้เกิดผลดีกับสุขภาพต่อโครงสร้างหรือการกระทำหน้าที่ใดๆ ของอวัยวะในร่างกาย ไม่ใช่ก่อให้เกิดการตายนอกจากนี้ศัตรูของพืชพันธุ์ทางการเกษตรไม่ได้มีเฉพาะแมลงเท่านั้นเเต่ยังมีสัตว์กัดแทะเช่นหนูหนอนพยาธิ์เชื้อราและอื่นๆ

สิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ สารกำจัดสัตว์รังควานมีอีกชื่อหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษ คนไทยไม่ค่อยคุ้นกันคือ Economic poison ซึ่งเข้าใจว่าคำๆนี้ยังไม่มีศัพท์บัญญัติที่เป็นภาษาไทย

การใช้สารพิษกลุ่มนี้มักมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการปัญหาที่เกิดเนื่องจากศัตรูพืชมีความรุนแรงเกินกว่าจะใช้เพียงวิธีการตามธรรมชาติ ปัจจุบันกลายเป็นทางออกที่ง่ายและสบายสำหรับเกษตรกรทั่วไป จึงทำให้การใช้สารพิษกลุ่มนี้ระบาดจากไร่นาเข้าสู่วิถีความเป็นอยู่ของมนุษย์ ทั้งในบ้าน โรงภาพยนต์ ที่ทำงาน สถานศึกษา ป่าไม้ สนามกอล์ฟ เครื่องบิน เรือสำราญ และอื่นๆ ซึ่งเป็นสภาวะแวดล้อมของมนุษย์ทุกวันนี้ ทั้งเจตนาและไม่เจตนา ด้วยผู้ที่มีความรู้และไร้ความรู้โดยสิ้นเชิงในเรื่องของอันตรายเนื่องจากสารพิษกลุ่มนี้ ซึ่งหลายครั้งมีการใช้วิธีฉีดพ่นสารพิษ จนบางส่วนของละอองน่าจะพลัดเข้าจมูกของผู้ใช้สาร ซึมผ่านผิวหนัง ปนเปื้อนในน้ำและอาหารที่เราดื่มและกินทุกวัน

ปฐมบทของการพบปัญหา

ในปี ค.. 1962 นักสิ่งแวดล้อมสตรีชื่อ Rachel Carson (ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาทางทะเล) เขียนหนังสือซึ่งเป็นตำนานด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเรื่องหนึ่งชื่อ Silent Spring หนังสือเล่มนี้กระตุ้นให้คนอเมริกันเกิดความตื่นตัวถึงปัญหาการใช้ดีดีทีในทางการเกษตรและสาธารณสุขที่ปราศจากการควบคุมที่ถูกต้องจนทำให้ดีดีทีปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารและก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งมีชีวิตที่เป็นผู้ล่าในลำดับที่สูงขึ้นไป

หนังสือของ Rachel เล่มนี้เป็นต้นตอของการก่อให้เกิดหน่วยงานสำคัญของสหรัฐอเมริกาชื่อ U.S. Environmental Protection Agency หรือ U.S.EPA ซึ่งกำลังตกอยู่ในสถานะการอันล่อแหลมที่อาจถูกลดขนาดและความสำคัญโดยรัฐบาลปัจจุบันของสหรัฐอเมริกา (ติดตามข่าวได้จากบทความเรื่อง “Donald Trump taking steps to abolish Environmental Protection Agency” เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2017 ใน www.theguardian.com)

ดีดีทีนั้นเริ่มสะสมในแพลงตอนซึ่งเป็นอาหารของสัตว์น้ำขนาดเล็ก จากนั้นการสะสมสารพิษนี้เข้มข้นขึ้นในระดับที่สูงกว่าความเข้มข้นที่ปนเปื้อนในน้ำ โดยมีปลาเล็กเป็นขั้นต่อไปที่ส่งผลต่อไปถึงปลาที่ใหญ่ขึ้น จนเมื่อนกอินทรีย์หัวล้าน (bald eagle ซึ่งความจริงไม่ได้หัวล้านแต่อย่างไร เพียงแต่มีขนหัวสีขาวซึ่งทำให้เมื่อมองไกล ๆ เหมือนไม่มีขนหัว) กินปลาเข้าไป ดีดีที ก่อให้เกิดผลข้างเคียงในสัตว์ปีกโดยลดการสะสมแคลเซียมที่เปลือกไข่ ทำให้ไข่จากแม่นกที่มีดีดีทีในตัวกลายเป็นไข่ที่มีเปลือกเปราะบาง ลูกนกฟักออกมาจึงตายเป็นส่วนใหญ่ จำนวนนกอินทรีย์หัวล้านที่ลดลงเป็นสัดส่วนผกผันต่อการใช้ดีดีทีที่เพิ่มขึ้น ปรากฏการณ์นี้เป็นสัญญานที่ส่งผลให้นักสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกาสำนึกได้ว่าสารเคมี” (ที่ทำให้ผู้ประดิษฐ์คือ Paul Hermann Müller ซึ่งได้รางวันโนเบลในปี ค.. 1948) ได้ก่อปัญหาต่อสิ่งมีชีวิตในโลกนี้แล้ว

จากเวลาที่ผ่านไปหลังจากหนังสือ Silent Spring ออกจากโรงพิมพ์มากระตุ้นให้มนุษย์ได้รู้จักผลร้ายของดีดีทีนั้น จนปัจจุบันนี้ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตของมนุษย์เสี่ยงอันตรายเนื่องจากสารเคมีน้อยลงเลย เพราะเมื่อมีการลดการใช้ดีดีทีในทางเกษตรกรรรม สารพิษชนิดอื่นที่ดูเลวร้ายกว่าก็ได้ถูกค้นคิดนำมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสารพิษเหล่านี้ต่างก่อปัญหาทางสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจของมนุษย์อย่างหลากหลาย

ในเดือนพฤษภาคม ค.. 2010 นั้นนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมอนทรีล ประเทศแคนาดาได้ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา พิมพ์รายงานชิ้นหนึ่งซึ่งให้ข้อมูลว่า สารกำจัดศัตรูพืชซึ่งตกค้างบนผักและผลไม้นั้นเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการสมาธิสั้น (attention-deficit hyperactivity disorder หรือ ADHD) ของเด็ก ซึ่งส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้มีพฤติกรรมในการปล่อยปละละเลยไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ มีความอยู่ไม่สุขและซุกซนผิดปรกติ พร้อมไปกับอารมณ์หุนหันพลันแล่น อาการเหล่านี้ดูคล้ายอาการปรกติของวัยรุ่นไทยสมัยนี้ซึ่งก่อให้เกิดข่าว ลุงวิศวะยิงวัยรุ่นที่เข้าล้อมรถ หรือ โจ๋ 18 คนเสียบไขควงในกระโหลกผู้เคราะห์ร้าย เป็นต้น

ในการกล่าวถึงอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ที่เกิดเนื่องจากการใช้สารกำจัดศัตรูพืชนั้น ปัญหานี้ใหญ่มหาศาลเกินกว่าที่นักการเมืองและนักวิชาการเฉพาะสาขาในหลายประเทศคำนึงถึง เหตุที่ต้องกล่าวเช่นนี้เพราะบางประเทศแม้มีบุญในการมีบุคคลากรที่สามารถปรับเปลี่ยนการเกษตรให้อยู่ในรูปแบบที่ใช้วิถีทางธรรมชาติในการควบคุมศัตรูพืชได้ แต่กรรมยังบังตาให้ไม่มีการใช้อำนาจยกเลิกการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อพืช สัตว์และมนุษย์ ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องกินอาหารที่มีสารพิษกลุ่มนี้ปนเปื้อนไม่รู้จบ

ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในมนุษย์

ปัญหาการทำลายสุขภาพมนุษย์เนื่องจากสารกำจัดสัตว์รังควานนี้ มีตั้งแต่ทำให้ตายไปจนถึงการทำให้ร่างกายอ่อนแอเล็กน้อย และที่มักคาดไม่ถึงคือ การก่อภัยอันใหญ่หลวงต่อชีวิตในระยะยาว ทั้งนี้เพราะสารกำจัดสัตว์รังควานหลายชนิดสามารถกดระบบภูมิต้านทานในคนให้ต่ำลง ซึ่งแสดงออกในลักษณะที่ผู้รับสารพิษกลุ่มนี้เป็นโรคติดเชื้อง่ายไปจนถึงสิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ การที่ระบบภูมิต้านทานอ่อนแอลงในบางครั้งก็เอื้อให้มีการแสดงออกด้วยการเป็นมะเร็งได้ ท่านที่สนใจสามารถไปอ่านบทคัดย่อ (www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/9498903) ของบทความวิชาการชื่อ “Pesticides and cancer” ซึ่งบทความทั้งฉบับปรากฏในวารสาร Cancer Causes Control เมื่อปี 1997 บทความนี้เขียนโดย Dr. Dich และคณะ ซึ่งเป็นอาจารย์ในภาควิชา Cancer Epidemiology ของสถาบัน Karolinska Institute and Radiumhemmet มหาวิทยาลัย Karolinska University ประเทศสวีเดน

นอกจากนี้สารกำจัดสัตว์รังควานบางชนิด เมื่อทำปฏิกิริยาทางเคมีเชื่อมกับโปรตีน (เกิดขึ้นในกระแสเลือดของมนุษย์) ผลิตภัณฑ์ที่ได้นั้นสามารถแสดงตนเป็นสารที่กระตุ้นให้มีการสร้างแอนติบอดี้ของระบบภูมิต้านทาน ความจริงเป็นแนวทางที่ใช้อธิบายว่า การที่ผู้ป่วยบางคนเกิดอาการแพ้ต่อสารกำจัดศัตรูพืช ทั้งที่สารเหล่านี้ไม่ใช่โปรตีนนั้น เป็นเพราะสารเหล่านี้มีคุณสมบัติทางชีววิทยาที่เรียกว่า แฮปเท็น (hapten)

โดยทฤษฏีแล้ว สิ่งที่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสัตว์ชั้นสูงสร้างแอนติบอดี้ได้นั้นต้องมีคุณสมบัติเป็น โปรตีน เช่น ผนังเซลล์ของแบคทีเรียมีโปรตีนหลายชนิดเป็นองค์ประกอบสำคัญสามารถกระตุ้นให้ร่างกายเราสร้างแอนติบอดี้ออกมาทำลายแบคทีเรียนั้นๆเมื่อเกิดการติดเชื้อครั้งที่สองอีกตัวอย่างคือการที่โปรตีนบางส่วนที่อยู่บนผนังเม็ดเลือดเรานั้นเป็นตัวกำหนดไม่ให้มีการสร้างแอนติบอดี้ทำลายเม็ดเลือดของเราเองแต่ถ้ามีการให้เลือดของคนอื่นซึ่งเป็นเลือดคนละกลุ่มกับเลือดของเราโปรตีนของผนังเม็ดเลือดที่ต่างกันจะกระตุ้นให้ร่างกายเราสร้างแอนตีบอดี้ขึ้นมาทำลายเม็ดเลือดที่แปลกปลอมนั้นถ้ามีการให้เลือดผิดเป็นครั้งที่สอง

ส่วนในกรณีของสารกำจัดสัตว์รังควานชนิดที่มีคุณสมบัติเป็น แฮปเท็น สามารถจับตัวกับโปรตีนบางชนิด ได้เป็นสารประกอบรูปแบบใหม่ที่ทำให้ร่างกายเราตอบสนองสารประกอบใหม่เสมือนว่ามันมีคุณสมบัติเป็นโปรตีนแปลกปลอม จึงกระตุ้นให้มีการสร้างแอนตีบอดี้ที่มีความจำเพาะกับสารกำจัดสัตว์รังควานนั้นๆ ได้

ความสามารถในการเป็นแฮบเท็นของสารกำจัดสัตว์รังควานนั้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถคิดค้นวิธีตรวจหาสารกำจัดสัตว์รังควานที่ปนเปื้อนในอาหาร ด้วยวิธีการตรวจวัดทางวิทยาการภูมิต้านทาน (Immunological assay) ซึ่งมีความไวและจำเพาะค่อนข้างสูง อีกทั้งสามารถทำได้เร็วและสามารถพัฒนาให้มีค่าใช้จ่ายถูกลง การพัฒนาในลักษณะนี้มีส่วนดีในด้านหนึ่งแต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ไปลดจำนวนผู้ที่สนใจทำงานวิจัยเพื่อพิสูจน์ว่า การแพ้สารกำจัดสัตว์รังควานนั้น เกิดเนื่องจากการที่ผู้เคราะห์ร้ายได้สัมผัสสารพิษในปริมาณน้อย จากนั้นสารพิษได้ใช้คุณสมบัติในการเป็นแฮปเท็นกระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้

ปัญหาการขาดข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวกับศักยภาพการเป็นแฮปเท็นของสารกำจัดสัตว์รังควานนี้ คงไม่มีใครกล่าวโทษเหล่านักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยาได้ เพราะการวิจัยเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ในการวิเคราะห์สารพิษในห้องปฏิบัติการนั้น เมื่อมีการครอบครองลิขสิทธิ์ขึ้นมาก็หมายถึงเงินมหาศาลคุ้มเหนื่อยกว่าการทำงานวิจัย เพื่อให้เกิดความรู้ด้านวิชาการซึ่งให้ผลตอบแทนเป็นตัวเงินต่ำกว่า อีกทั้งคงยังไม่มีองค์กรของรัฐบาลประเทศใดสนใจในปัญหาประเด็นนี้นัก

ด้วยเหตุนี้เราจึงพบข้อมูลแบบบอกกันปากต่อปากว่า หลายครั้งที่ผู้เคราะห์ร้ายมีอาการปวดศีรษะ ถึงขั้นอาเจียนออกมาในบางครั้งหลังการสัมผัสสารกำจัดสัตว์รังควานแบบไม่ตั้งใจ การรักษาพยาบาลก็จะเป็นไปตามมีตามเกิดเพื่อแก้ไขอาการที่เกิด โดยไม่ใส่ใจในสาเหตุว่าอะไรคือตัวกระตุ้นอาการนั้น ท่านที่สนใจในประเด็นดังกล่าวสามารถไปอ่านข้อมูลซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในบางประเทศได้จากบทความเรื่อง “Effects of Pesticides on the Immune System” ที่ www.aehf.com/articles/A51.htm

>>> โปรดติดตามบทสรุปของบทความหัวข้อนี้ในเดือนหน้าครับ

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://www.nachi.org/pesticides.htm
  2. ภาพจาก: http://www.toxicsaction.org/
  3. ภาพจาก: https://www.nrdc.org/stories/story-silent-spring
  4. ภาพจาก: https://nutanicha1.wordpress.com/
เเก้ว กังสดาลอำไพ

ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ เป็นนักพิษวิทยาที่กินเงินบำนาญ จึงมีเวลาเขียนบทความเกี่ยวกับความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์อาหารและโภชนาการ ในคอลัมน์ กินดีอยู่ดี โดยใช้ประสบการณ์ที่เคยดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ สอน วิจัยและเป็นประธานหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการในมหาวิทยาลัยมหิดลนาน 31 ปี มาเขียนบทความกึ่งวิชาการที่ประชาชนทั่วไปน่าจะได้รู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคและการเลือกกินอาหารที่ปลอดภัยมีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อจะได้ไม่ถูกลวงในภาวะสังคมปัจจุบันที่แทบจะเชื่อใครไม่ได้เลยในอินเตอร์เน็ท

Email

Share