ข่าวใหญ่เมื่อปลายปีที่แล้วในแวดวงปะการังคือ งานวิจัยใหม่ที่ยืนยันว่าสารเคมีหลายชนิดที่พบในครีมกันแดดมีส่วนทำให้แนวปะการังเสื่อมโทรมลง เพราะสารเคมีเหล่านั้นฆ่าปะการังวัยอ่อน ทำลาย DNA จนปะการังไม่ขยายพันธุ์ และยังทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาวอีกด้วย นั่นหมายความว่า เราทุกคนที่ใช้ครีมกันแดดยามเที่ยวทะเลมีส่วนทำร้ายปะการัง
งานวิจัยชิ้นนี้เปิดตัวออกมาในช่วงที่กำลังเกิดปรากฎการณ์ฟอกขาวระดับโลกครั้งใหญ่ที่สุดที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายปี 2014 จนถึงช่วงกลางปี 2016 สร้างความเสียหายให้กับปะการังทั่วโลกโดยเฉพาะที่ออสเตรเลีย จึงยิ่งเกิดคำถามสำคัญว่ามนุษย์จะช่วยปะการังปรับตัวกับสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้อย่างไรบ้าง หรือเราทุกคนกำลังยิ่งซ้ำเติมแนวปะการังที่กำลังอ่อนแอปางตาย
งานวิจัยชิ้นใหม่ยืนยันว่
นักวิจัยประมาณว่าทุกปีมีครีมกันแดดมากถึง 14,000 ตัน ที่นักท่องเที่ยวใช้ถูกชะล้างลงสู่แนวปะการังในทะเล นอกจากนี้ยังมีครีมและเครื่องสำอางเป็นจำนวนมากปนเปื้อนออกมากับท่อระบายน้ำหลังจากเราชำระล้างร่างกาย คาดกันว่าอาจมีปะการังมากถึง 1 ใน10 ของโลกที่กำลังถูกคุกคามด้วยสารเคมีเหล่านี้ เพราะแนวปะการังส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลสำคัญที่่มีกิจกรรมของมนุษย์
สารเคมีสี่ชนิดที่นักวิจัยพบว่าฆ่าปะการังและทำให้ปะการังฟอกขาว คือ Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3) Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate) 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben ตัวสุดท้ายเป็นวัตถุกันเสียที่ทำให้ปะการังฟอกขาว ตัวที่ร้ายที่สุดคงจะเป็น Oxybenzone หรือ BP3 เพราะรบกวนระบบสืบพันธุ์ ทำให้ตัวอ่อนปะการังโตแบบผิดรูป หรือไม่ก็พิการและตายไปเลย นอกจากนี้ Oxybezone ยังเป็นส่วนผสมที่ใช้อย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดกว่า 3500ยี่ห้อทั่วโลก
บางคนอาจบอกว่าทะเลตั้งกว้างใหญ่ครีมกันแดดแค่นิดหน่อยจากนักท่องเที่ยวไม่น่าจะสร้างปัญหาได้ แต่สิ่งที่งานวิจัยค้นพบก็คือ สารเคมีแม้ปริมาณเพียงน้อยนิด แค่ 1 หยดต่อสระน้ำมาตรฐาน 6 สระ (62 parts per trillion) ก็ส่งผลกระทบต่อปะการังแล้ว ผลการตรวจค่าความเข้มข้นของ Oxybenzone ตามแนวปะการังที่ฮาวายรอบเกาะ Maui และ Oahu พบว่ามีความเข้มข้นอยู่ระหว่าง 800-19,000 parts per trillion และที่ Virgin Island National Park อยู่ที่ 250,000 parts per trillion นั่นหมายความว่าความเข้นข้นของ Oxybenzone ตามแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งในปัจจุบันสูงกว่าระดับปลอดภัยไปมาก และกำลังส่งผลร้ายแรงต่อแนวปะการังดังกล่าวในระยะยาว
ภายหลังการประชุมปะการังนานาชาติ ครั้งที่ 13 ที่ฮาวายเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สมาชิกวุฒิสภา Will Espero ของรัฐฮาวายได้ประกาศว่าเขาจะผลักดันกฏหมายห้ามใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของ Oxybenzone ในรัฐฮาวาย ภายในต้นปี 2018 เพื่อเป็นการปกป้องระบบนิเวศทางทะเล “ทะเลของเราคือสิ่งแวดล้อมที่เป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการพัฒนาเศรษฐกิจ การยกเลิกการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังและสัตว์ทะเลอื่นๆเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องผลักดันในการเปิดประชุมสภาสมัยหน้า”
ตัวอย่างครีมกันแดดที่ไม่มีส่
ปราศจากสาร Oxybenzone และสารเคมีอื่นๆที่ทำร้ายปะการั
ในขณะที่บ้านเรา การรับรู้เกี่ยวกับผลกระทบของครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารดังกล่าวยังอยู่ในวงจำกัด ยังไม่มีกฎหมายตัวไหนที่ห้ามใช้สารเคมีดังกล่าว ถ้าอย่างนั้นระหว่างนี้เราทำอะไรได้บ้าง
• ปัจจุบันยังไม่มีการควบคุมมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อแนวปะการัง (Reef safe) วิธีที่ดีที่สุดคือการ
พิจารณาส่วนผสมของผลิตภัณฑ์นั้นๆด้วยตัวเอง
• เลือกครีมกันแดดที่ปลอดภัยต่อแนวปะการัง โดยพิจารณาจากส่วนผสมในฉลากของผลิตภัณฑ์ ไม่ใช้ครีมกันแดด
ที่มีส่วนผสมของ oxybenzone และ สารเคมีอื่นๆข้างต้น (Octinoxate 4-MBC และButylparaben)
• ใช้ครีมกันแดดแบบกันน้ำ (Water resistant) เพราะอย่างน้อยก็เกิดการชะล้างระหว่างอยู่ในน้ำน้อยกว่า
• ใช้ครีมกันแดดที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ (biodegradable) เพื่อให้แน่ใจว่าสารต่างๆ จะไม่เกิด
การตกค้างและย่อยสลายอย่างสมบูรณ์ในธรรชาติ
• ใช้ครีมกันแดดอย่างเหมาะสมไม่มากเกินไปในบางกรณีเราอาจใช้หมวกเสื้อแขนยาวและร่มเพื่อช่วยลดความ
จำเป็นในการใช้ครีมกันแดดในปริมาณมากๆ
• ช่วยกันบอกต่อเกี่ยวกับผลกระทบของสารเคมีในครีมกันแดดที่มีต่อปะการังและระบบนิเวศในทะเล
ปัจจุบัน PADI หรือสมาคมผู้ฝึกสอนดำน้ำอาชีพ และผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศหลายแห่งแนะนำให้นักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงการใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของ Oxybenzone และใช้เฉพาะครีมกันแดดที่ใช้สินแร่เป็นฐาน เช่น Zinc oxide ซึ่งไม่ละลายน้ำและตกตะกอนสู่ก้นทะเลได้อย่างปลอดภัย
หากเราช่วยกันลดผลกระทบจากมนุษย์ในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ไม่เหมาะสมและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดที่ไม่ทำร้ายปะการังเราย่อมมีส่วนช่วยต่อลมหายใจและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับปะการังหยัดยืนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้น
…………………………………………………………………….
อ่านคำอธิบายเพิ่มเติมโดยทีมนักวิจัยได้ที่ลิงค์นี้ครับ >>> NEW SCIENTIFIC STUDY FINDS CORAL REEFS UNDER ATTACK FROM CHEMICAL IN SUNSCREEN LOTIONS