in on August 10, 2022

ป่าของคนเมือง

read |

Views

การใช้ชีวิตอยู่ที่มาเลเซียในช่วงสิบสามปีที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกว่าคงจะคิดถึงมากที่สุดเมื่อย้ายกลับเมืองไทย คือการที่มีพื้นที่ป่าของคนเมืองให้ได้ใช้เป็นที่ออกกำลังกาย เข้าถึงธรรมชาติได้อย่างไม่ยากเย็น ทั้งคนที่พักอาศัยอยู่ในเมืองอย่างกัวลาลัมเปอร์และรัฐสลังงอร์ และคนที่อยู่ในรัฐต่างๆ

ในรัศมี 50 กิโลเมตรของกรุงกัวลาลัมเปอร์และรัฐสลังงอร์ มีผืนป่าและภูเขาลูกย่อมๆ สำหรับให้คนไปเดินออกกำลังกายหรือปีนเขาไม่ต่ำกว่าสิบแห่ง โดยเป็นพื้นที่ป่าแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ สวนสาธารณะ สวนป่า ซึ่งได้เปลี่ยนสถานภาพจากการใช้ประโยชน์มาเป็น “ป่าของคนเมือง” ไปโดยปริยาย เพราะไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของเมือง ก็สามารถเดินทางไปยังผืนป่าเหล่านี้ได้ภายใน 1 ชั่วโมง ในวันหยุดหรือวันที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ ผู้เขียนเองก็ชอบที่จะไปเดินออกกำลังกายในป่าเหล่านี้ เปลี่ยนบรรยากาศจากลู่วิ่งมาเป็นเส้นทางลาดชันของเนินเขา เรียกเหงื่อได้ดี แถมมีเสียงนกให้ได้ยินเป็นระยะๆ

 

แม้ว่าจะมีหลายคนรู้สึกตะขิดตะขวงใจว่า ทำไมเอาผืนป่ามาให้คนเดินออกกำลังกายกันอย่างพลุกพล่าน กิจกรรมต่างๆ อาจจะทำให้สัตว์ป่ากลัวหรือหายไป ความจริงแล้ว ป่าคนเมืองเหล่านี้มีลักษณะเป็นเหมือนเกาะกลางทะเลที่ถูกตัดขาดจากป่าผืนอื่นๆ ด้วยถนนหลายสายและบ้านเรือนหลายแห่ง สัตว์ใหญ่ๆ ที่เคยอยู่ในป่า ก็คงล้มหายตายจากไปด้วยเหตุผลนานัปการในช่วงระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ที่เหลืออยู่ก็มีแต่ลิง กระรอก กระแต งู แมลง สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และสัตว์เลื้อยคลานตัวเล็กตัวน้อยที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่ ส่วนนกที่สามารถบินไปไหนมาไหนได้ ก็คงไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ ตราบใดที่ยังมีต้นไม้ให้ทำรัง และอาหารให้กิน

ที่น่าสนใจกว่าการเก็บป่าไว้เฉยๆ คือการทำให้คนเข้าถึงป่าและธรรมชาติได้ ลำพังการสอนตามหน้าหนังสือหรือหน้าจอเครื่องมือสื่อสารที่บอกให้รักธรรมชาติและป่าไม้อยู่ปาวๆ นั้น คงจะเป็นเรื่องยากหากว่าคนเหล่านั้นไม่เคยได้เดินในป่า หรือเคยได้รับประโยชน์โดยตรงจากป่า ไม่เหมือนกับคนที่มาออกกำลังกาย ขี่จักรยานเสือภูเขา หรือวิ่งแฮชเฮ้าส์ในป่าเหล่านั้น  การเปลี่ยนประโยชน์การใช้พื้นที่ป่าให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนเมือง จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม หรือไปทำหน้านิ่วคิ้วขมวดใส่ ผู้เขียนเองก็ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่ดูแลป่าชุมชนเมืองโกตาดามันซารา (Kota Damansara Community Forest Society) นับตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่นี่

ป่าชุมชนเมืองโกตาดามันซารานี้ ได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบของการใช้พื้นที่ป่าให้เกิดประโยชน์กับชุมชนที่อยู่รอบๆ ป่า ซึ่งกว่าครึ่งนั้นเป็นชนชั้นกลางที่มีรายได้สูงและมีบ้านอยู่ในพื้นที่รอบๆ ป่าแห่งนี้ เท่าที่ผ่านมาตลอดสิบกว่าปี ผู้เขียนได้ไปช่วยสอนกิจกรรมเด็กๆ อบรมเนเจอร์ไกด์ให้กับอาสาสมัครของกลุ่ม รวมทั้งช่วยจัดทำแผ่นป้ายข้อความให้ความรู้ตามเส้นทางธรรมชาติ เพื่อให้ผู้คนที่เข้ามาเดินป่ากันเองได้ความรู้อย่างละนิดหน่อยกลับไปด้วย แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ป้ายทั้งสิบกว่าจุดเหล่านั้นถูกมือดีและลิงซนทำลายจนไม่เหลือ ลิงซนยังพอทนได้ เพราะพูดกันไม่รู้เรื่อง แต่คนที่เข้าไปตั้งใจทำลายป้ายเหล่านั้นนี่ซิ…ฮึ่ม…

ความสัมพันธ์ของป่ากับคนอีกด้านหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครได้นึกถึงนัก คือการที่ชื่อชุมชนและเมืองต่างๆ มีที่มาที่ไปอันเนื่องมาจากลักษณะภูมิประเทศ มาเลเซียฝั่งแหลมมลายูนี้ มีภูมิประเทศเป็นแนวเขาสลับไปมาเพราะได้รับอิทธพลจากการที่มีแนวเขาติติวังสาปูดโป่งอยู่ตรงกลางแหลม รัฐสลังงอร์และเมืองกัวลาลัมเปอร์มีที่ตั้งอยู่ทางตอนปลายๆ แนวเขา มีเขาหลายลูกกระจัดกระจายไปทั่ว ทำให้มีลุ่มน้ำใหญ่น้อยหลายแหล่งจนกลายเป็นที่มาของชื่อเมืองต่างๆ ซึ่งก็คงจะคล้ายๆ กับเมืองไทย ที่เรียกชุมชนที่ตั้งหลักแหล่งใกล้น้ำด้วยคำขึ้นต้นว่า “บาง” เช่น บางกอก บางขุนเทียน บางคล้า บางกระดี่ บางลำภู เป็นต้น ต่างกันที่ว่าเมืองในมาเลเซียเหล่านี้จะถูกเรียกทับชื่อแม่น้ำที่ไหลผ่าน (Sungai “สุไหง” ในภาษามลายูแปลว่าแม่น้ำ) เช่น สุไหงบุโล สุไหงเบซี สุไหงเว สุไหงวัง สุไหงเพนชาลา เป็นต้น

ประสาเด็กลุ่มเจ้าพระยา ตอนที่ย้ายมาอยู่ใหม่ๆ ผู้เขียนชอบมองหาว่าแม่น้ำที่เป็นที่มาของชื่อเมืองเหล่านั้นอยู่ตรงไหน หน้าตาเป็นอย่างไร แต่แล้วก็ต้องเลิกตามหาเพราะความหดหู่ที่เกิดขึ้นตามมา ก็กว่าครึ่งของแม่น้ำเหล่านั้นมีหน้าตาคล้ายท่อระบายน้ำ หรือไม่ก็ถูกเสริมผนังคอนกรีตเพื่อให้เป็นทางระบายน้ำฝนออกจากเมืองใหญ่เวลาที่ฝนตกหนักๆ

ก็คงจะด้วยเหตุผลคล้ายๆ กับการที่คนไม่รู้จักป่า เพราะไม่รู้สึกว่าได้รับประโยชน์โดยตรงจากป่า กับแม่น้ำเหล่านั้นก็เหมือนกัน เมื่อไม่ได้ใช้แม่น้ำโดยตรง จึงไม่รู้จักประโยชน์ของแม่น้ำมากไปกว่าการเป็นทางระบายน้ำ คราวนี้ เวลาจะรณรงค์หรือให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์สิ่งใดๆ ก็ตาม เราคงต้องตอบคำถามให้ได้อย่างชัดเจนว่า สิ่งที่ต้องการอนุรักษ์กับกลุ่มคนที่อยากให้มีส่วนร่วมนั้น มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร เอื้อประโยชน์ระยะสั้น ระยะยาวให้กับพวกเขาอย่างไร

ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share