in on August 6, 2019

กลูตาไธโอนดีต่อสาวผิวคล้ำ…จริงหรือ

read |

Views

เซลล์ในหลายอวัยวะของมนุษย์สร้างกลูตาไธโอนซึ่งเป็นไตรเป็บไตด์ (tripeptide) ซึ่งมีกรดอะมิโนสามชนิดคือ ซิสเทอีน (cysteine) กลูตาเมต (glutamate) และ กลัยซีน (glycine) เป็นองค์ประกอบขึ้นได้เอง ดังนั้นในทางโภชนาการจึงไม่ถือว่า กลูตาไธโอนเป็นสารอาหารจำเป็นสำหรับมนุษย์

เราสามารถพบกลูตาไธโอนได้ในผลไม้ (เช่น แตงโม จนครั้งหนึ่งคิดกันว่า การกินแตงโมหลาย ๆ ผลแล้วจะขาวขึ้น) ผักที่มีกลิ่นแรงหลายชนิด และเนื้อสัตว์ เหตุผลว่าทำไมกลูตาไธโอนถึงมีทั้งในพืชและสัตว์นั้น เพราะโดยธรรมชาติแล้วกลูตาไธโอนถูกใช้ในกระบวนการยับยั้งการก่อพิษ หรือใช้ในการขับสารพิษออกจากสิ่งมีชีวิต และถ้าคิดว่านี่คือ การล้างพิษ ก็คงเชื่อได้ว่า นี่คือตัวจริงเสียงจริง

ความรู้ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนยังไม่เคยพบว่า มีการอภิปรายทั้งในบทความของไทยและเทศคือ ในการตอบคำถามว่า กลูตาไธโอนนั้นถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายหรือไม่นั้นคือ การศึกษาทาง pharmacokinetics หรือที่คนไทยบัญญัติคำ ๆ นี้ว่า เภสัชจลนศาสตร์ (ซึ่งคงต้องอธิบายความง่าย ๆ ว่า มันคือ การเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของยาในเลือดเมื่อเวลาผ่านไป ผลที่ได้นั้นทำให้สามารถคำนวณอัตราการดูดซึม (absorption rate) ขับออก (elimination rate) และค่าครึ่งชีวิต (half life) ของยา)

เมื่อผู้เขียนเข้าใช้บริการของ ScienceDirect ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกรู้จักกันดี ก็ได้พบว่า มีเพียงงานวิจัยอยู่ 2 เรื่องเกี่ยวกับเภสัชจลนศาสตร์ของกลูตาไธโอนในคนซึ่งตีพิมพ์ใน วารสาร Pharmacological Research ชุดที่ 25 (Supplement 2) หน้าที่ 218-219 ปี 1992 และในวารสาร Toxicology Letters ชุดที่  64–65 หน้าที่ 757-761 ปี 1992 แต่น่าเสียดายที่งานวิจัยทั้งสองเป็นการศึกษาซึ่งใช้การฉีดกลูตาไธโอนเข้าเส้นเลือด ไม่ได้ให้อาสาสมัครกินทางปาก จึงบอกไม่ได้ว่า กลูตาไธโอนนั้นถูกดูดซึมเมื่อกินทางปากหรือไม่

ในระยะหลังมักมีบทความวิจัยที่พยายามบอกว่า กลูตาไธโอนถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้หรือไม่เช่น ผลงานชื่อ Effects of Oral Glutathione Supplementation on Systemic Oxidative Stress Biomarkers in Human Volunteers ในวารสาร The journal of alternative and complementary MEDICINE ชุดที่ 17 หน้าที่  827–833 ปี 2011 ซึ่งสรุปว่า ไม่ว่าจะให้อาสาสมัครกินกลูตาไธโอน 500 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน ผลสรุปคือ ไม่พบความแตกต่างของการเกิดผลิตภัณฑ์ที่เกิดเนื่องจากการออกซิเดชั่นของเบสในดีเอ็นเอ (8-hydroxy-2¢-deoxyguanosine) ในร่างกายอาสาสมัครทั้งกลุ่มได้รับกลูตาไธโอนและไม่ได้รับกลูตาไธโอน (ขออธิบายความว่า งานวิจัยนี้เป็นการวัดสิ่งที่เกิดเนื่องจากกลูตาไธโอนมากขึ้นหรือไม่ในทางอ้อม กล่าวคือ ถ้ามีกลูตาไธโอนสูง 8-hydroxy-2¢-deoxyguanosine ควรเกิดน้อยลง)

อย่างไรก็ดีความที่ผู้เขียนไม่เคยสนใจงานด้านนี้ จึงไม่กล้าฟันธงว่า ผลการศึกษาเป็นอย่างไร อีกทั้งยังงง ๆ กับผลการศึกษาอยู่เพราะ จากการวัดผล Sun-protected arm ในตารางที่ 2 ของบทความวิจัยที่แสดงไว้ ปรากฏว่า กลูตาไธโอนสร้างความแตกต่างของระดับเม็ดสีบนแขนขวา แต่ไม่สร้างความต่างของระดับเม็ดสีบนแขนซ้าย ดังแสดงในรูปตารางบางส่วนที่ยกมาให้พิจารณา

สิ่งหนึ่งที่ขอตั้งเป็นข้อสังเกตคือ งานวิจัยนี้ได้ทุนวิจัยมาจาก Kyowa Hakko Bio (Tokyo, Japan) ซึ่งเมื่อถามอากู๋ (google) ว่าบริษัทนี้ทำมาหากินอะไร อากู๋ใช้เวลา 0.57 วินาที ก็บอกว่า เป็นบริษัทที่ขายสารชีวเคมีหลายชนิดซึ่งคงใช้การผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งกลูตาไธโอนเป็นหนึ่งในสินค้าชูโรง อย่างไรก็ดีผู้ทำการวิจัยก็ได้ประกาศว่า ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนแต่อย่างไร (The authors report no conflicts of interest in this work.) ในการทำวิจัยถึงผลของสารเคมีที่ผู้ให้ทุนผลิตสินค้าสู่ท้องตลาด ก็ต้อง (พยายาม) เชื่อกันหน่อยว่าเป็นดังนั้นจริง

แม้จะมีผลการทำวิจัยทางวิชาการที่ไม่ค่อยสอดคล้องกันเกี่ยวกับกลูตาไธโอนแล้วผิวขาวขึ้น และข้อมูลลักษณะนี้ก็แพร่ออกสู่สาธารณะชนแล้ว แต่ก็ยังไม่ตอบคำถามว่า ทำไมผู้บริโภคถึงยังต้องการกินกลูตาไธโอน ?????

ผู้เขียนขอเดาคำตอบนี้เอาเองว่า แม้ผู้บริโภคพอจะรู้บ้างแล้วว่า การกินกลูตาไธโอนนั้นดูไม่มีประโยชน์ เนื่องจากสารชีวเคมีนี้เป็นไตรเป็บไตด์ซึ่งควรถูกเอ็นซัม Tripeptide aminopeptidase ย่อยสลายออกเป็นกรดอะมิโนอิสระทั้งสาม เพื่อให้ร่างกายดูดซึมไปใช้งานตามปรกติ โดยไม่มีพันธะสัญญาว่า ต้องเอากรดอะมิโนทั้งสามที่ย่อยได้ไปสร้างเป็นกลูตาไธโอนใหม่ก็ตาม แต่ผู้บริโภคบางคนอาจแอบหวังว่า การทำงานของเอ็นซัม Tripeptide aminopeptidase ในลำไส้เล็กของตนคงหมดสภาพกระมัง ซึ่งอย่างไรก็ดีการพิสูจน์อย่างจริงจังว่ากลูตาไธโอนถูกดูดซึมหรือไม่นั้นคงต้องทำโดยใช้การติดฉลากสารรังสี (radioactive labeling) ให้กลูตาไธโอน แล้ววัดการดูดซึมในสัตว์ทดลองที่มีกระบวนการดูดซึมสารเทียบได้กับมนุษย์

กลูตาไธโอนที่ร่างกายสร้างเองตามธรรมชาตินั้นโดยหลักแล้วทำหน้าที่เป็น “โคเอ็นซัมของเอ็นซัม glutathione peroxidase” (ส่วนกรณีของการทำงานร่วมกับเอ็นซัม glutathione-S-transferase นั้น สารชีวเคมีนี้ทำหน้าที่เป็น substrate ของเอ็นซัมในการขับสารพิษออกจากร่างกาย จึงไม่ขอกล่าวถึงในบทความนี้) ซึ่งทำหน้าที่กำจัดสารเปอร็อกไซด์ซึ่งเกิดประจำในเซลล์และถ้ากำจัดไม่หมดสามารถก่อให้เกิด อนุมูลอิสระ ที่ก่อปัญหาต่อการทำงานของเซลล์ในร่างกายมนุษย์ ดังนั้นการกล่าวว่า กลูตาไธโอนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระนั้นจึงอาจดูคลาดเคลื่อนเพราะลักษณะการทำงานของกลูตาไธโอนนั้นไม่ใช่การทำงานแบบอิสระ ต่างจากกลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระเช่น ไวตามินซี ไวตามินเอ เบต้าแคโรทีน ไวตามินอี ฯ ซึ่งสารชีวเคมีในกลุ่มหลังนี้สามารถหยุดการเกิดอนุมูลอิสระได้ทันทีด้วยโมเลกุลสารเอง ไม่ต้องอาศัยเอ็นซัม

สำหรับการใช้กลูตาไธโอนเพื่อทำให้ผิวขาวขึ้นนั้น ผู้เขียนไปพบข้อมูลในเว็บหนึ่ง (www.skinmythsvsfacts.com/skin-whitening-injections) ซึ่งบอกว่า การค้นพบว่า กลูตาไธโอนทำให้ผิวขาวได้นั้นเป็นความบังเอิญในการสังเกตว่า หลังการฉีดสารนี้ (ด้วยเข็ม) เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังรับเคมีบำบัด โดยหวังว่ากลูตาไธโอนจะช่วยลดผลข้างเคียง (ผมร่วง คลื่นไส้ อาเจียน ฯ) เนื่องจากยาเคมีบำบัดที่ใช้นั้น ปรากฏว่าผู้ป่วยนั้นมีผิวขาวขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการที่กลูตาไธโอนไปยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินของผิวหนัง คงไม่ประหลาดใจที่บทความที่ผู้เขียนพบกล่าวว่า ผลการค้นพบนี้ทำให้บริษัทที่ขายเครื่องสำอางรีบตะครุบโอกาสที่จะขายเครื่องสำอางสูตรใหม่ที่ผสมกลูตาไธโอนทันที โดยไม่ได้สนใจว่า มันได้ผลจริงหรือไม่

อย่างไรก็ตามกรณีการใช้กลูตาไธโอนในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัดนั้นผู้เขียนคิดว่า เป็นความผิดพลาดอย่างแรงที่ใช้กลูตาไธโอนในขณะที่ได้รับยา เพราะยาที่เป็นเคมีบำบัดเช่น cyclophosphamide, chlorambucil, mitomycin C ฯลฯ นั้น โดยตัวยาเองแล้วเป็นสารก่อกลายพันธุ์ (ซึ่งบางชนิดนั้นผู้เขียนเคยใช้เป็นสารก่อกลายพันธุ์มาตรฐานในการศึกษาเพื่อพิสูจน์ว่า สารอาหารอะไรบ้างที่ต้านการก่อกลายพันธุ์ได้) และเป็นสารก่อมะเร็งด้วย ดังนั้นทั้งแพทย์และพยาบาลผู้ควบคุมการให้ยาทุกคนจึงทราบดีถึงอันตรายนี้

ประเด็นที่สำคัญคือ ในการใช้สารก่อมะเร็งเพื่อเป็นเคมีบำบัดนั้น เป็นการใช้สารเคมีในขนาดที่สูงเกินการก่อมะเร็งแล้ว และสูง (ในขนาดที่เรียกว่า toxic dose) จนสามารถฆ่าเซลล์ที่เกิดใหม่ทุกเซลล์ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเซลล์มะเร็ง เซลล์เม็ดเลือดต่าง ๆ ที่พัฒนาจาก stem cells ในไขกระดูก รวมทั้งเซลล์ซึ่งร่างกายสร้างทดแทนเซลล์ที่หมดอายุเป็นประจำเช่น เซลล์เอ็พปิตีเลียวของผนังทางเดินอาหาร ซึ่งผลของการฆ่าเซลล์ที่เกิดใหม่แบบกวาดเรียบนี้จึงทำให้ผู้ป่วยมักมีระดับเม็ดเลือดขาวต่ำระหว่างการใช้ยา (ติดเชื้อง่าย) เบื่ออาหารเพราะต่อมรับรสไม่มีเซลล์ใหม่ ๆ มาทดแทน รวมไปถึงคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งผู้ป่วยจำต้องยอมทนอาการดังกล่าว

การฉีดกลูตาไธโอนเข้าทางเส้นเลือดนั้น เป็นเพิ่มปริมาณกลูตาไธโอนที่สามารถไปทำปฎิกิริยากับยา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ปรกติที่กลูตาไธโอนต้องทำเมื่อเจอสารแปลกปลอมในร่างกายแบบไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ซึ่งอาจส่งผลให้การใช้เคมีบำบัดอาจไม่ได้ผลไปเนื่องจากยาถูกทำลายทิ้งก่อนออกฤทธิ์

ดังนั้นโดยสรุปแล้ว แม้ว่าการฉีดกลูตาไธโอนเข้าเส้นเลือด (อาจ) ทำให้ผิวขาวได้เพราะไปลดการสร้างเม็ดสี สิ่งหนึ่งที่ผู้ส่งเสริมการใช้กลูตาไธโอนควรสนใจคือ การลดเม็ดสีที่ผิวหนังนั้นมีผลข้างเคียงไปถึงปริมาณเม็ดสีในจอตาที่ลดลงจนเสี่ยงต่อการตาบอดหรือไม่ ซึ่งถ้าต้องการอ่านเป็นภาษาไทยก็สามารถไปดูได้ที่ www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/139/กลูตาไธโอน-Glutathione-ตอนที่2-ยาฉีด-ยากิน-และยาทา

ในทางวิชาการนั้นเราพอเข้าใจกันว่า ร่างกายรักษาระดับกลูตาไธโอนไว้ระดับหนึ่ง (ซึ่งไม่ควรมีผลกับระดับของเม็ดสีเมลานินที่ผิวหนัง) ซึ่งหมายความว่า มีการขับกลูตาไธโอนส่วนเกินออกจากร่างกายหรือเปลี่ยนไปใช้งานอื่น อีกทั้งเชื่อกันโดยทั่วไปว่า เป็นไปได้ยากสำหรับผู้ที่กินอาหารครบห้าหมู่ซึ่งมีสุขภาพดีจะมีสารชีวเคมีนี้ต่ำกว่าระดับที่ร่างกายต้องการ ดังนั้นการเพิ่มหรือลดระดับของสารชีวเคมีชนิดนี้ในร่างกายจึงเป็นเรื่องยาก นักวิชาการส่วนใหญ่จึงไม่แนะนำให้ไปยุ่งกับระดับสารนี้ในร่างกายเรา โดยปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งระดับของกลูตาไธอนนั้นก็จะค่อย ๆ ลดไปตามความสามารถของระบบสร้างสารนี้ที่ลดลงตามเวลาที่ผ่านไป กล่าวคือ คนที่ผิวคล้ำจะค่อย ๆ ขาวขึ้นเมื่อแก่ตัว

ในด้านหนึ่งนักวิชาการบางคนเชื่อว่า มนุษย์สามารถกระตุ้นให้ระดับกลูตาไธโอนเพิ่มขึ้นได้โดยเพิ่มการบริโภคกรดอะมิโนคือ ซิสเทอีน ในอาหารเช่น เนื้อสัตว์ งา ตลอดจนผักตระกูลกระหล่ำต่าง ๆ ซึ่งมีธาตุกำมะถันสูง รวมถึงการเพิ่มการกินอาหารที่มีวิตามินซี ธาตุซีเลเนียม สูงเป็นต้น แต่สิ่งสำคัญที่ผู้เขียนขอย้ำคือ ควรทำความเข้าใจก่อนว่า แม้มีการเพิ่มองค์ประกอบของการสร้างกลูตาไธโอนคือ กรดอะมิโนจากอาหารก็ตาม ระบบการสร้างกลูตาไธโอนในเซลล์ต่าง ๆ โดยเฉพาะในตับมีความสามารถสร้างได้ในระดับจำกัดเพื่อความเหมาะสมของระดับกลูตาไธโอนในร่างกาย เพราะโดยธรรมชาติแล้วร่างกายเรามักไม่สร้างอะไรสะสมเกินความจำเป็น ยกเว้นกรณีเดียวคือ การสะสมไขมันเมื่อกินอาหารที่ให้พลังงานเกิน ซึ่งกำลังเป็นปัญหาทั่วโลกใบนี้

 

เเก้ว กังสดาลอำไพ

ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ เป็นนักพิษวิทยาที่กินเงินบำนาญ จึงมีเวลาเขียนบทความเกี่ยวกับความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์อาหารและโภชนาการ ในคอลัมน์ กินดีอยู่ดี โดยใช้ประสบการณ์ที่เคยดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ สอน วิจัยและเป็นประธานหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการในมหาวิทยาลัยมหิดลนาน 31 ปี มาเขียนบทความกึ่งวิชาการที่ประชาชนทั่วไปน่าจะได้รู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคและการเลือกกินอาหารที่ปลอดภัยมีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อจะได้ไม่ถูกลวงในภาวะสังคมปัจจุบันที่แทบจะเชื่อใครไม่ได้เลยในอินเตอร์เน็ท

Email

Share