in on October 24, 2019

อยู่กับไมเกรน โดยไม่ต้องกินยาอันตราย

read |

Views

ช่วงวันที่ 7-8 สิงหาคม 2562 ปรากฏมีข่าวที่เป็นอุทาหรณ์แก่คนทั่วไป ถึงอันตรายในการใช้ยาเกินจำเป็น เนื้อข่าวมีประมาณว่า สตรีนางหนึ่งมีอาการปวดหัว (ซึ่งเดาเองว่าเป็นไมเกรน) แล้วไม่ไปหาหมอแต่เลือกซื้อยากินเองนานเป็นปี ระหว่างนั้นก็บ่นปวดหัวและปวดตามร่างกายเป็นระยะ ๆ พร้อมเป็นผื่นในลักษณะของการแพ้ สุดท้ายทนไม่ไหวจำต้องไปหาหมอเมื่ออาการทรุดหนัก ซึ่งหมอก็พยายามยื้อชีวิตได้นานถึง 12 ชั่วโมง แล้วเธอก็เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายโดยหมอระบุว่า เธออาจได้รับยาแก้ปวดในปริมาณสูงมากจนหัวใจรับไม่ไหว

ประเด็นที่น่าสนใจในข่าวนี้คือ หนึ่งอาการปวดหัวของเธอเป็นไมเกรนหรือไม่ เพราะการปวดหัวนั้นมีหลายลักษณะ (ผู้สนใจสามารถหาข้อมูลจากเว็บด้านการแพทย์ได้ไม่ยากนัก) และสองอาการที่เธอแพ้เกิดผื่นนั้นเป็นลักษณะผลข้างเคียงของยาที่ผู้ป่วยไมเกรนมักกินเพื่อแก้อาการปวดคือ NSAIDs (Non-steroidal anti-inflammatory drugs) หรือไม่

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้สังเกตเห็นจากคำสัมภาษณ์ของญาติผู้เสียชีวิตคือ ผู้เสียชีวิตนั้นเมื่อไม่ไปพบแพทย์เมื่อปวดหัวแล้ว ก็ได้ทำในสิ่งที่คนไทยทั่วไปทำกันคือ ซื้อยากินเองจากร้านขายยาซึ่งผู้เขียนเข้าใจเอาเองว่า เป็นร้านที่มีเภสัชกรมาช่วยคุมร้านตามช่วงเวลาที่ตกลงกัน คงไม่ใช่ร้านที่มีเภสัชกรเป็นเจ้าของ เนื่องจากชนิดของยาแก้ปวดที่หนังสือพิมพ์ออนไลน์บางฉบับนำภาพยา (ที่ญาติผู้ตายวางให้ดูบนเสื่อพลาสติก) มาเสนอประกอบข่าวนั้นปรากฏว่า มีความซ้ำซ้อนในชนิดของยากลุ่มเดียวกันที่เป็น NSAIDs ซึ่งยาเหล่านั้นต่างมีผลข้างเคียงคล้าย ๆ กัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ทำให้หัวใจวาย (ข่าวกล่าวว่า หมอที่ดูแลผู้ป่วยรายนี้ได้สันนิษฐานไว้ เพียงแต่ญาติผู้ป่วยใช้สิทธิในการปฏิเสธการผ่าศพพิสูจน์) ดังนั้นการกินยากลุ่มเดียวกันมากกว่าหนึ่งชนิดในครั้งเดียวกันจึงเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคที่เภสัชกรควรถามคนไข้ทุกครั้ง (นอกจากเรื่องการแพ้ยา) ว่า กินยาอะไรอยู่หรือไม่


ภาพจาก: http://www.phyathai-sriracha.com

สำหรับผู้เขียนซึ่ง (น่าจะเรียกได้ว่า) เป็นไมเกรนแบบมืออาชีพ ก็ไม่ไปหาหมอเช่นกัน แต่พยายามหาทางเอาตัวรอดมาจนทุกวันนี้ นี่คือประเด็นที่จะขอสื่อถึงผู้ที่อาจเป็นไมเกรนในลักษณะเดียวกับผู้เขียนว่า ยังมีทางเอาตัวรอดโดยไม่ต้องกินยาให้เสี่ยงเสียชีวิต เพราะการตายของสตรีผู้เคราะห์ร้ายนี้กลายเป็นอีกหนึ่งบทเรียนเตือนใจสำหรับผู้ที่จำต้องซื้อยามากินเองเพื่อเลี่ยงการไปหาหมอ เพราะ (อาจ) คิดว่าไม่ได้ป่วยร้ายแรงอะไรหรือเพราะการไปหาหมอที่โรงพยาบาลรัฐบางแห่งนั้นมันช่างเหนื่อยแสนสาหัสในการรอทุกขั้นตอนเป็นอย่างยิ่ง

จากที่เกริ่นมานี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า การปวดหัวไมเกรนนำไปสู่ความเป็นความตายได้ ถ้าเป็นคนขาดความรู้ที่แท้จริงในการดูแลสุขภาพ ผู้เขียนจำได้ว่าในช่วงที่เรียนหนังสือตั้งแต่ชั้นประถมจนจบมัธยมต้นนั้น คุณครูผู้สอนวิชาสุขศึกษาได้พยายามสอนให้ความรู้แก่นักเรียนว่า การจะมีสุขภาพดีนั้นควรปฏิบัติตนเช่นใด (เท่าที่กระทรวงศึกษาธิการสมัยนั้นจะมีปัญญาหาความรู้มาทำเป็นแบบเรียน) ซึ่งแต่ก่อนนั้นคำว่า ไมเกรน ยังไม่เป็นที่รู้จักของสังคมไทย แต่มีคำว่า ลมตะกัง เป็นคำอธิบายอาการปวดหัวประเภทหนึ่งซึ่งใครไม่เป็นไม่รู้ และในภายหลังผู้เขียนก็มารู้ว่าอาการของลมตะกังคือ ปวดหัวไมเกรน นั่นเอง

ผู้เขียนขอไม่อธิบายอาการปวดหัวไมเกรนแบบที่เขียนกันในบทความของผู้รู้ต่าง ๆ ทั้งในตำรา หนังสือหรือเว็บต่าง ๆ (เพราะสิ่งที่เขียนนั้นอาจมาจากการแปลข้อมูลของฝรั่งหรือประสบการณ์ที่ผู้ประพันธ์มีเช่น ฟังอาการจากคนไข้หลาย ๆ คน) แต่จะเขียนจากประสบการณ์ซึ่งผู้เขียนมีอาการปวดหัวข้างเดียวสลับซ้าย-ขวาไปมาตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมต้นจนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งลักษณะอาการได้มีการเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและประสบการณ์ที่ผ่านพบว่า ควรทำตัวเช่นไรเพื่อป้องกันหรือแก้ไขเมื่อเริ่มเป็นไมเกรน

ในความรู้ที่สำนึกจากประสบการณ์ของผู้เขียนนั้น ไมเกรนเกิดจากความเครียดที่เกิดขึ้นต่อผู้เคราะห์ร้ายซึ่งได้แก่ ความเครียดที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น แสงจ้า เสียงดังหนวกหู อากาศที่ร้อนหรือเย็นเกินกว่าที่ร่างกายปรับตัวไหวและที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ อาหาร ซึ่งรวมทั้งอาหารที่มีกลิ่นหืนหรือมีผงชูรสมาก และรวมถึงการกินอาหารช้าหลังกำหนดที่ควรเป็น จนน้ำย่อยออกมาในกระเพาะอาหาร ตลอดถึงการดื่มกาแฟระหว่างท้องว่างแล้วมีน้ำย่อยออกมาผิดกาละเทศะ ฯลฯ และความเครียดที่เกิดจากภายในร่างกายคือ ความเครียดที่เกิดจากการทำงานใช้สมองแล้วหงุดหงิด ความเครียดจากอาการท้องอืดเช่น กินถั่วที่สุกไม่พอจึงย่อยยาก ความเครียดจากการนอนไม่พอหรือนอนดึกเกินไป ฯลฯ ซึ่งความเครียดทั้งสองประเภทของผู้เขียนนั้น ล้วนนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดไมเกรน

ผู้เขียนได้พบว่า ในบทความที่บรรยายถึงไมเกรนในเอกสารต่าง ๆ มักกล่าวว่า ไมเกรนมีอยู่สองกลุ่มใหญ่ ๆ คือ ประเภทเป็นทันทีทันใดเมื่อได้รับการกระตุ้น และประเภทที่มีอาการเตือนคือ เห็นแสงวับ ๆ เมื่อหลับตา ซึ่งผู้เขียนคิดว่าตนเองอยู่ในกลุ่มหลัง รายละเอียดที่เป็นประสบการณ์คือ มุมมองของการมองเห็นแคบลงจากเดิมที่เป็น 180 องศาเป็นประมาณ 120 องศา พร้อมกับการขาดสมาธิในการมองสิ่งของ จากนั้นจึงเห็นแสงหยัก ๆ เป็นวงซึ่งเวียนขึ้น-ลง จากนั้นอาการไมเกรนมาตรฐานจึงเริ่มด้วยอาการปวดหัวข้างเดียวแบบเปลี่ยนไปซ้ายบ้างขวาบ้างแล้วจึงคลื่นไส้ ซึ่งเมื่อล้วงคอให้อาเจียนออกมาอาการปวดหัวจะทุเลา แต่ยังมีอาการปวดในระดับหนึ่งในวันรุ่งขึ้นราว 24 ชั่วโมงจึงทุเลาลง


ภาพจาก : https://www.posttoday.com/life/healthy/597171

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจควรรู้คือ กระบวนการอะไรที่ทำให้ผู้เคราะห์ร้ายปวดหัวไมเกรน ซึ่งแน่แท้ที่มันคงต้องเกี่ยวกับส่วนของสมองที่สลับกันปวดไปมา ซึ่งถ้าพิจารณาดูให้ดีจะพบว่า สิ่งเดียวที่เคลื่อนไหลได้ในสมองคือ เลือดที่อยู่ในเส้นเลือดเลี้ยงสมองนั่นเองที่สามารถก่อปัญหาได้ เนื่องจากเส้นเลือดมีคุณสมบัติในการขยายหรือหดตัวต่างไปจากขนาดปรกติ คำสันนิษฐานนี้ผู้เขียนได้พบว่ามีปรากฏในคลิป animation หนึ่งใน YouTube ที่อธิบายความว่า ไมเกรนเกิดได้อย่างไร โดยคลิปนั้นชื่อ Migraine Attack – Medical Animation 

คลิปดังกล่าวนั้นอธิบายโดยรวมว่า ไมเกรนเริ่มขึ้นเมื่อเซลล์ประสาทในสมองสร้างสัญญานจากระบบผิดไปจากเดิมเนื่องจากถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยภายในหรือภายนอกร่างกาย ก่อให้เกิดการปล่อยสารเคมีออกมาทำให้มีการขยายตัวของเซลล์ที่เป็นเส้นเลือดบางส่วนในสมอง จนบวมพองไปกระทบตัวรับความเจ็บปวด (pain receptor) รอบ ๆ เส้นเลือด แล้วมีการเริ่มส่งสัญญานไปยังศูนย์รวมของระบบประสาทเพื่อรับรู้ความเจ็บปวด อีกทั้งระบบประสาทในสมองนั้นมีกิ่งของเส้นประสาท 2 กิ่ง ยื่นไปสู่บริเวณจมูกและตา ดังนั้นผู้ที่ปวดหัวไมเกรนเช่นผู้เขียนจึงมีอาการปวดร้าวที่ดั้งจมูกและเบ้าตา ซึ่งมีผู้แนะนำในเอกสารทั่วไปว่าให้ใช้นิ้วมือนวดบริเวณดังกล่าว (ในสถานที่มืด) จะสามารถระงับความปวดได้ (ซึ่งไม่ค่อยเกิดผลต่อผู้เขียนนัก ยกเว้นเมื่อมีกาแฟมาผสมโรง)

ผู้เขียนได้ระบุในตอนต้นว่า การดื่มกาแฟเมื่อท้องว่างนั้นส่งผลต่อการกระตุ้นให้เกิดไมเกรน ซึ่งตรงกับข้อมูลที่ปรากฏโดยทั่วไปทั้งในสิ่งพิมพ์ที่เป็นรูปเล่มและอินเตอร์เน็ต เหตุผลในประเด็นนี้คือ เป็นที่สังเกตว่าปริมาณกรดที่หลั่งออกมาด้วยอิทธิพลของคาเฟอีนในกาแฟโดยไม่มีอาหารในกระเพาะนั้น ส่งผลให้เกิดความเครียดต่อร่างกายจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเส้นเลือดในสมอง ซึ่งหมายความเป็นการขยายตัวของเส้นเลือดตามกระบวนการที่อยู่ในคลิปที่ผู้เขียนกล่าวถึงข้างต้น อย่างไรก็ดีถ้าท่านผู้อ่านไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผลของคาเฟอีนจะพบว่า คาเฟอีนนั้นมีฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดต่าง ๆ หดตัว นัยว่าเพื่อเพิ่มความดันโลหิตให้นำคาเฟอีนไปออกฤทธิ์ในสมองเพื่อลดอาการง่วงนอน และทำให้เซลล์ต่าง ๆ ได้รับออกซิเจนเพิ่มขึ้นจนร่างกายสดชื่น ดังนั้นการที่คิดว่าคาเฟอีนหรือกาแฟนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการไมเกรน อาจเป็นการสรุปที่คลาดเคลื่อน ซึ่งจริงแล้วควรระบุว่าต้นเหตุจริงคือ กรดเกลือที่กระเพาะหลั่งออกมามากผิดกาละเทศะหลังการดื่มกาแฟเมื่อท้องว่าง

กรดเกลือในกระเพาะนั้นมักหลั่งออกมาพร้อมการหลั่งโปรตีนที่เรียกว่า เป็บซินโนเจน (pepsinogen) ซึ่งต้องถูกกรดเกลือกระตุ้นให้กลายเป็นเอ็นซัมเป็บซินเพื่อทำหน้าที่ย่อยโปรตีน ดังนั้นการดื่มกาแฟระหว่างท้องว่างจึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการที่เอ็นซัมเป็บซินที่ได้ต้องย่อยโปรตีนที่เป็นเนื้อกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นความเครียดหนึ่งของร่างกาย ดังนั้นวิธีลดความเสี่ยงในกรณีนี้คือ การกินอาหารที่มีโปรตีนพร้อมไปกับการดื่มกาแฟเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดไมเกรน

สิ่งหนึ่งที่น่าคิดคือ เมื่อไมเกรนได้เกิดขึ้นแล้ว (ซึ่งอนุมานว่า เส้นเลือดในสมองเริ่มบวมแล้ว) การดื่มกาแฟเพื่อให้ได้คาเฟอีนเข้าสู่เส้นเลือดในสมองนั้น น่าจะเป็นวิธีช่วยทำให้เส้นเลือดหดตัวลงสู่สภาพปรกติก่อนไมเกรนจะเกิดแบบสมบูรณ์ ณ.ตอนนี้ต้องเข้าใจว่า มันมีความแตกต่างกันในกระบวนการระหว่าง การดื่มกาแฟก่อนเกิดไมเกรน และ การดื่มกาแฟหลังเกิดไมเกรน


ภาพจาก : https://www.sanook.com/women/36925/

บทความหนึ่งในวารสาร The Journal of Headache and Pain ปี 2016 เรื่อง Caffeine discontinuation improves acute migraine treatment: a prospective clinic based study ได้ทดสอบในอาสาสมัคร 108 คนซึ่งมีอาการปวดหัวไมเกรนและมีการใช้ยาแก้อาการเป็นประจำแล้วพบว่า ความรุนแรงของการปวดหัวลดลงเมื่อเลิกเสฟผลิตภัณฑ์ที่มีคาเฟอีน อย่างไรก็ดีในบางส่วนของบทความได้กล่าวถึงคาเฟอีนว่า เป็นทั้งสารกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางและสารทำให้เส้นเลือดในสมองหดตัว ดังนั้นสารนี้จึง อาจเป็นทั้งตัวกระตุ้นหรือหยุดยั้งการเกิดไมเกรนได้

ผู้เขียนได้พบข้อมูลที่น่าสนใจในวารสาร The Journal of Headache and Pain ปี 2017  เรื่อง Caffeine in the management of patients with headache ซึ่งกล่าวโดยสรุปว่า คาเฟอีนปริมาณมากกว่า 110 มิลลิกรัม เช่น 130 มิลลิกรัม ถูกใช้เป็นตัวช่วยในการเพิ่มฤทธิ์ของยาแก้ปวดคือ acetaminophen (พาราเซตามอล), acetylsalicylic acid (แอสไพริน), และ ibuprofen ในการบำบัดอาการปวดหัวอย่างเฉียบพลันที่เกิดจากความเครียด (ซึ่งรวมถึงไมเกรน) ได้ดีขึ้น

ผู้เขียนขอให้ความรู้ด้านเภสัชวิทยาพื้นฐานเล็ก ๆ น้อย ๆ ประการหนึ่ง แก่ผู้ที่ไม่มีโอกาสศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพเลยนั่นคือ ยาแก้ปวดที่ใช้ในการบำบัดอาการไมเกรนนั้น เป็นยาแก้ปวดทั่วไปในกลุ่มที่เรียกว่า NSAIDs ซึ่งเป็นสารเคมีที่ออกฤทธิ์ทำหน้าที่ขัดขวางการทำงานของเอ็นซัมชื่อ ไซโคลอ็อกซีจีเนส (cyclooxygenase) ซึ่งสำคัญมากต่อการสร้างสารชีวเคมีในร่างกายชื่อ พรอสตาแกรนดิน (prostaglandin)

พรอสตาแกนดินนั้นเป็นสารชีวเคมีที่มีหลายบทบาท โดยบทบาทหนึ่งไปเกี่ยวข้องต่อการเกิดอาการอักเสบที่ส่วนใหญ่แสดงออกด้วยอาการบวมแดงของบริเวณที่เกิดปัญหา ตัวอย่างที่เราพบได้ในชีวิตประจำวันเช่น เมื่อถูกหนามกุหลาบ (ที่มีการปนเปื้อนของแบคทีเรีย) ตำแล้วไม่บ่งออกจะเกิดหนอง ในกระบวนการอักเสบจนเกิดหนองนั้น พรอสตาแกรนดินเป็นตัวกระตุ้นให้สิ่งต่าง ๆ (ทั้งที่เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวและสารชีวเคมีอื่น ๆ) ที่เกี่ยวข้องในการเกิดการอักเสบมารวมตัวกันส่งผลให้เกิดการทำลายเซลล์แบคทีเรีย แต่สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้คือ เซลล์ของร่างกายที่อยู่รอบบริเวณที่เป็นแผลติดเชื้อนั้นก็ต้องตายสลายกลายเป็นหนองด้วย ดังนั้นเมื่อเกิดการอักเสบและมีความเจ็บปวด เราจึงจำเป็นต้องมีกระบวนการลดความเจ็บปวดโดยลดการเกิดพรอสตาแกรนดิน เพื่อลดการมารวมตัวของปัจจัยที่ทำให้เกิดหนอง ซึ่งนี่คือบทบาทของยากลุ่ม NSAIDs

ดังนั้น NSAIDs จึงก้าวเข้ามามีบทบาทที่เกี่ยวกับการปวดหัวไมเกรน และมีการกำหนดเป็นแบบแผนการบำบัดไมเกรนพื้นฐานทั่วไป (ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้วไม่เคยได้ผลเพราะลองกินยาพาราเซ็ตตามอลทีละ 2 เม็ดแล้ว ปวดยังไงก็ยังงั้นต้องล้วงคอให้อาเจียนทุกที และไม่เคยทราบว่าผู้ปวดหัวไมเกรนท่านอื่นได้ผลหรือไม่) พร้อมทั้งยาแก้ปวดหัวไมเกรนของบางตำรับนั้นได้มีการเติมคาเฟอีนเข้าไปด้วย เพื่อช่วยทำให้เส้นเลือดในสมองที่บวมได้หดตัวลงเป็นปรกติ นอกจากนี้หลายเว็บไซต์ซึ่งเป็นที่รวมของข้อมูลเกี่ยวกับการปวดหัวเช่น https://headaches.org ได้พูดเกี่ยวกับผลของกาแฟในบทความชื่อ Does Caffeine Trigger or Treat Headaches? ในลักษณะที่ผู้เขียนเข้าใจคือ กาแฟนั้นเป็นได้ทั้งผู้เริ่มหรือผู้หยุดอาการไมเกรน ขึ้นกับว่าจังหวะที่กาแฟเข้ามามีบทบาทนั้นเป็นเวลาไหนของช่วงการปวดหัว

ด้วยข้อมูลต่าง ๆ ที่ผู้เขียนได้อ่านพบและจากประสบการณ์ที่หวังดิ้นรนให้มีสิ่งที่ช่วยหยุดหรือผ่อนอาการปวดหัวไมเกรน ผู้เขียนจึงตัดสินใจลองใช้การดื่มกาแฟที่ชงไม่เข้มนัก (ราวครึ่งช้อนชาต่อถ้วยโดยไม่ต้องเติมน้ำตาล) ทันทีที่เริ่มมีสัญญานเตือนคือ ไม่สามารถมีสมาธิในการทำงาน มุมการมองเห็นเริ่มแคบ และเห็นแสงหยัก ๆ ซึ่งพบว่าหลังการดื่มกาแฟแล้วนั่งหลับตา (ซึ่งจะดีที่สุดเมื่อได้ที่เงียบ) ราว 10-15 นาที อาการเริ่มต้นของไมเกรนจะหายไป ไม่เกิดอาการปวดหัว ซึ่งดีกว่าการกินยากลุ่ม Ergotamine (จริงแล้วเป็นยาอันตรายเพราะเป็นสารพิษจากเชื้อรา) ที่มีชื่อสามัญว่า Cafergot พร้อมกับยาแก้ปวด NSAID คือ พาราเซ็ตตามอล ซึ่งได้ผลดีแต่จะยังทำให้ปวดหัวในวันรุ่งขึ้น

ปฏิบัติการดื่มกาแฟระงับไมเกรนนี้ผู้เขียนทำในต่างกรรมต่างวาระเป็นสิบกว่าครั้ง ซึ่งรวมถึงวันหนึ่งที่มีสภาวะที่มีการเตือนว่ากำลังจะไมเกรนเมื่อหยุดรถติดไฟแดง และอีกครั้งในขณะโดยสารรถแท็กซีเพื่อไปประชุม (แล้วลืมใส่แว่นดำในวันที่แดดจ้า) ทั้งสองครั้งนี้ผู้เขียนไม่มีปัญญาชงกาแฟจึงใช้วิธีอมท็อฟฟีที่มีส่วนผสมเป็นกาแฟแท้จำนวน 2 เม็ด (ท็อฟฟีนี้นักเรียนและนักศึกษาไทยส่วนใหญ่มักรู้ดีว่ายี่ห้ออะไร เพราะมีการใช้อย่างแพร่หลายในช่วงดูหนังสือก่อนสอบ) แล้วหลับตาสักพัก อาการเตือนไมเกรนได้หายไปและไม่มีอาการปวดหัวตามมาซึ่งทำให้สามารถปฏิบัติภาระกิจที่ตั้งใจไว้ได้ต่อไป

ผู้เขียนได้เคยพบข้อมูลในบางเว็บของฝรั่งที่มีความคิดเช่นเดียวกัน แล้วแนะนำให้กินคาเฟอีนเม็ดซึ่งมีขายในลักษณะยาที่ไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ ซึ่งปัจจุบันทาง อย. ของสหรัฐอเมริกากำลังหาทางเปลี่ยนความง่ายในการซื้อคาเฟอีนเม็ดให้ยากขึ้น เนื่องจากคาเฟอีนบริสุทธิ์ในปริมาณที่มากแค่ 1 ช้อนชา สามารถฆ่าผู้บริโภคได้ ดังนั้นแฟนคลับไมเกรนจึงไม่ควรเสี่ยงโดยไม่จำเป็น เพราะมีทางที่ปลอดภัยกว่าคือ การพกท็อฟฟีที่มีส่วนผสมกาแฟแท้ในกระเป๋าเพื่อหยิบมาอมได้เมื่อเริ่มมีอาการเตือนไมเกรน จริงไม่จริงลองทำดูแล้วจะรู้ครับว่า ท่านจะโชคดีเหมือนผู้เขียนที่พบทางออกนี้หรือไม่

เเก้ว กังสดาลอำไพ

ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ เป็นนักพิษวิทยาที่กินเงินบำนาญ จึงมีเวลาเขียนบทความเกี่ยวกับความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์อาหารและโภชนาการ ในคอลัมน์ กินดีอยู่ดี โดยใช้ประสบการณ์ที่เคยดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ สอน วิจัยและเป็นประธานหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการในมหาวิทยาลัยมหิดลนาน 31 ปี มาเขียนบทความกึ่งวิชาการที่ประชาชนทั่วไปน่าจะได้รู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคและการเลือกกินอาหารที่ปลอดภัยมีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อจะได้ไม่ถูกลวงในภาวะสังคมปัจจุบันที่แทบจะเชื่อใครไม่ได้เลยในอินเตอร์เน็ท

Email

Share