in on March 19, 2015

กล่องจักรยานบนถนน

read |

Views

รู้จักกล่องจักรยานไหม?

ถ้าพูดถึงกล่องจักรยาน หลายคนอาจนึกถึง กล่องบรรจุจักรยาน เพื่อป้องกันชิ้นส่วนเสียหายและให้การขนย้ายทำได้สะดวก  แต่มันยังมีอีกความหมายหนึ่ง เป็นเครื่องมือช่วยจัดระเบียบการจราจรบนท้องถนน

กล่องจักรยาน (Bike box) ในความหมายหลังนี้สามารถพบได้ตามแยกถนนในเมืองต่างๆ ที่เป็นมิตรกับจักรยาน แพร่หลายทั้งด้านสหรัฐอเมริกาและยุโรป

ถ้าเป็นฝั่งอังกฤษมักจะเรียกว่า Advanced stop line (ASL) หากจะแปลเป็นไทยอาจแปลได้ว่า เส้นหยุดรถขั้นสูง เป็นการออกแบบให้เส้นหยุดรถรอไฟแดงตามสี่แยกมี 2 เส้น เมื่อรถติดไฟแดง รถทุกคันจะต้องหยุดรอก่อนถึงเส้นหยุดรถเส้นแรก เพื่อเปิดพื้นที่ด้านหน้าให้จักรยาน (หรือบางแห่งอาจให้สิทธิ์มอเตอร์ไซค์หรือรถโดยสารประจำทาง) ไปจอดรอไฟแดงในเส้นหยุดรถที่สองด้านหน้าสุด เพื่อที่เวลาไฟเขียว พาหนะเหล่านั้นจะได้ออกตัวไปก่อน

พื้นที่ระหว่างเส้นหยุดรถเส้นแรกถึงเส้นหยุดรถเส้นที่สอง ดูเหมือนกล่องสี่เหลี่ยม จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า Advanced stop box ส่วนทางฝั่งอเมริกา มักเรียกง่ายๆ ว่า Bike Box หรือกล่องจักรยานกลางถนนนั่นเอง

กล่องจักรยานมีไว้ทำไม?

“กล่องจักรยาน” เป็นเครื่องมือจัดระเบียบจราจรเพื่อความปลอดภัยของทั้งผู้ใช้รถใช้ถนน จักรยานและคนเดินเท้า  มักจะใช้งานตามสี่แยกจราจรที่มีสัญญาณไฟ โดยใช้ร่วมกับถนนที่มีเลนจักรยานแบบถนนรอบวงเวียนใหญ่หรือถนนสาทรบ้านเรา

กล่องจักรยานช่วยให้จักรยานมาหยุดรถอยู่แถวหน้าสุดของแยก ซึ่งจะอำนวยให้ผู้ใช้จักรยานสามารถขี่ผ่านสี่แยกได้สะดวกขึ้น ไม่ว่าจะเลี้ยวซ้าย ตรงไป หรือเลี้ยวขวา ก็สามารถไปหยุดรอตามเลนต่างๆ ได้อย่างปลอดภัยขึ้น

ส่วนรถยนต์ที่อยู่แถวหลังก็จะสามารถมองเห็นจักรยานซึ่งเป็นพาหนะขนาดเล็กกว่าได้อย่างชัดเจน  ทำให้รถระวังจักรยานได้ง่ายขึ้น

สำหรับคนข้ามถนน  คำอธิบายใน Wikipedia เกี่ยวกับคำว่า ASL ระบุว่า การมี ASL จะช่วยให้คนเดินเท้ามีความปลอดภัยมากขึ้นเพราะจุดหยุดรถของพาหนะขนาดใหญ่อย่างรถยนต์อยู่ห่างจากทางม้าลายมากขึ้น จึงทำให้การข้ามถนนของคนเดินปลอดภัยมากขึ้น

อภิสิทธิ์ของจักรยาน ?

พอจินตนาการถึงถนนกรุงเทพฯ ที่การจราจรติดขัดมโหฬารทุกเช้าค่ำ หากสร้างความชอบธรรมให้จักรยานมาอยู่หน้าสุด ได้ไปก่อนเสมอ มันเป็นอภิสิทธิ์เกินไปหรือไม่ อาจมีการโทษกันว่าจักรยานออกตัวช้า ทำให้รถติด?

ที่จริงแล้ว กล่องจักรยาน เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการยอมรับการมีอยู่ของพาหนะจักรยาน และยอมรับสิทธิขั้นพื้นฐานที่ว่า คนทุกคนควรจะมีสิทธิในการสัญจรบนถนนซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะอย่างเท่าเทียมกัน เพราะกล่องจักรยานช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้จักรยาน

“รัฐจะจัดสรรเสื้อให้ คนตัวเล็กกับคนตัวใหญ่ อย่างไรจึงถือว่าเท่าเทียมกัน?”
คำถามคลาสสิกในชั้นเรียนกฎหมายขั้นต้นของมหาวิทยาลัยที่ผมเคยเรียนช่วยทำความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมได้อย่างดี

คนตัวเล็ก ได้เสื้อตัวใหญ่ ใส่ไม่ได้
คนตัวใหญ่ ได้เสื้อตัวเล็ก ใส่ไม่ได้
คนตัวเล็ก ได้เสื้อตัวเล็ก คนตัวใหญ่ได้เสื้อตัวใหญ่ ทุกคนใส่ได้ แต่เนื้อผ้าที่ได้ ได้ไม่เท่ากัน อย่างนี้คือเท่าเทียมหรือไม่?

การจัดสรรให้ทุกคนสามารถใช้ถนนเพื่อการสัญจรได้อย่างปลอดภัยนั่นแหละคือความเท่าเทียม

ทุกวันนี้รถยนต์ส่วนตัวครองพื้นที่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของถนน เราจึงต้องการการจัดสรรใหม่ที่เป็นธรรม Bike box จึงไม่ใช่อภิสิทธิ์ของจักรยาน

กล่องจักรยานบนถนนเมืองไทย

หลายเดือนก่อนมีแคมเปญรณรงค์ยกใหญ่ของตำรวจจราจร ว่าด้วยเรื่อง 5 จอม “จอมล้ำ” เป็นหนึ่งในเรื่องที่กวดขัน

จัดระเบียบไม่ให้พาหนะต่างๆ หยุดรถรอไฟแดงทับเส้นหยุด เพราะที่ผ่านมาละเลยจนไปทับทางม้าลายจนคนเดินเท้าข้ามถนนไม่สะดวก ไหนจะยังเจอจอมฝ่า ที่ชอบแทรกเลนมาฝ่าไฟแดงเสียอีก ทำให้คนข้ามถนนต้องเสี่ยงตายเกินควร

ผ่านมาไม่กี่เดือน เรื่องอื่นเข้ามายึดหน้าข่าวกระแสหลัก ความแข็งขันของเจ้าหน้าที่ก็ลดหายไป

หากโทษแต่ผู้บังคับใช้กฎหมายหย่อนยาน ไม่วิเคราะห์ดูรากปัญหา เรื่องก็จะวนไปมา เหมือนกรอเทปดู เมื่อมีแคมเปญออกมาใหม่

สาเหตุหนึ่งของ “จอมล้ำ” คือปัญหาจราจรติดขัด ใครๆ ก็อยากไปเร็ว โดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์ เมื่อไฟแดงแสดงขึ้น รถยนต์จอดพอดีเส้น มอเตอร์ไซค์ไต่ช่องว่างระหว่างรถยนต์เพื่อไปหยุดอยู่แถวหน้าสุดของขบวนรถติด

แต่ด้านหน้าไม่มีพื้นที่ว่างเหลือ มอเตอร์ไซค์คันอื่นยังทยอยเบียดเสียดขึ้นมา มอเตอร์ไซค์คันหน้ามีน้ำใจ เขยิบมาเกยทับทางม้าลายเพื่อให้คันตามมาอยู่แถวหน้าได้อีก

จักรยานก็ต้องทำเช่นนี้เหมือนกัน เพื่อประโยชน์ด้านความปลอดภัย อยู่แถวหน้า ออกตัวก่อน ทุกคนด้านหลังเห็นการเคลื่อนไหว อาจช้าไม่ทันใจรถยนต์นิดหน่อย แต่ก็ทำให้รถระวังเราได้ และที่สำคัญ ใครจะไปทนจอดติดหลังท่อไอเสียได้ไหว ปั่นเลือดลมสูบฉีดมาเหนื่อยๆ จะทนสูดควันพิษได้อย่างไร

หากนำกล่องจักรยานมาใช้บนถนนเมืองไทย สำหรับบริบทบ้านเราที่มอเตอร์ไซค์มีสัดส่วนการใช้งานสูง อาจจัดสรรให้ใช้พื้นที่กล่องร่วมกันกับจักรยาน  น่าจะช่วยแก้ปัญหาจอมล้ำ เปิดพื้นที่ให้คนเดินข้ามถนนได้อย่างสะดวกและปลอดภัย เพิ่มความมั่นใจในการใช้จักรยานสัญจรอย่างชัดเจน

หากรัฐไทยเห็นความสำคัญและยอมรับการมีอยู่ของจักรยาน (และมอเตอร์ไซค์) ควรพิจารณาปัญหานี้จากรากเหง้าของมัน และจัดระบบจราจรให้ทุกคนยอมรับได้อย่างเป็นธรรม  “กล่องจักรยาน” เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ควรพิจารณา

ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์

"ชีวิตการเดินทางในชีวิตประจำวันบนถนนเเสนจะยุ่งยาก เเถมต้องเจอกันคนอัดเเน่นบนรถเมล์เรามีจักรยานอยู่ที่บ้านทำไมไม่ลองเอามาขี่ดู" ชายหนุ่มผู้คร่ำหวอดอยู่กับวงการจักรยาน นักรณรงค์ฝ่ายรณรงค์มูลนิธิโลกสีเขียวและเป็นผู้พัฒนาเเผนที่จักรยานในกรุงเทพจนกลายมาเป็นเเอปพลิเคชัน "ปั่นเมือง" ในที่สุด เพื่อมีเป้าหมายสูงสุดคือการทำให้กรุงเทพเป็นเมืองจักรยาน

Email

Share