in on November 12, 2018

“กาแฟสัญญาใจ”…สัญญานะว่าจะไม่ทิ้งขยะ

read |

Views

ฤดูหนาวมาถึงแล้ว เป็นสัญญาณว่าเทศกาลเดินป่ามาถึงแล้วเช่นกัน ฉันเชื่อว่าฤดูกาลท่องเที่ยวป่าเขาในปีนี้จะมีความเปลี่ยนแปลง

ที่พูดเช่นนี้เพราะฉันได้พบสัญญาณเชิงบวกจากการท่องเที่ยวครั้งล่าสุดที่น้ำตกปิตุ๊โกลและดอยมะม่วงสามหมื่น อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

เช้าตรู่ขณะที่กำลังเตรียมตัวออกเดินทางจากจุดกางเต้นท์ไปยังดอยมะม่วงสามหมื่น ฉันเห็นคนกลุ่มเล็กๆ 3-4 คนจัดแจงปูผ้าใบริมทางเดินแล้วนำเครื่องชงกาแฟขนาดใหญ่พร้อมเครื่องบดและอุปกรณ์อื่นๆ ออกมาตั้ง คนหนึ่งทำหน้าที่บดกาแฟ อีกคนทำหน้าที่ชง พลางร้องเรียกผู้คนที่เดินผ่านให้แวะชิมฟรี

ฉันสาวเท้าไปตามกลิ่นหอมกรุ่นของกาแฟและคำเชื้อเชิญ สั่งคาปูชิโน่ร้อน และถามไถ่ที่มาของพวกเขา

“โอ๊ค” ชายหนุ่มที่ทำหน้าที่ชงกาแฟเล่าว่าพวกเขามาจากกลุ่ม “อาสาเที่ยว” กลุ่มท่องเที่ยวที่อยากให้คนไปเที่ยวได้อะไรมากกว่าไปเที่ยว ในฐานะคนรักกาแฟ เขาและกลุ่มจึงเลือกทำสิ่งที่รักและถนัดด้วยการซื้อเครื่องชงกาแฟร็อกซ์เอสเปรสโซ่มูลค่าเกือบหมื่นที่มีคุณสมบัติพิเศษคือเป็นเครื่องชงกาแฟแรงดันสูงที่ให้รสชาติและกลิ่นหอมกรุ่นราวกับเครื่องชงกาแฟชั้นดีโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า

พวกเขาหอบหิ้วเครื่องทำกาแฟและอุปกรณ์ไปทุกที่ที่ไปเที่ยว เพื่อทำกาแฟสดและเครื่องดื่มร้อนอื่นๆ แจกนักท่องเที่ยวโดยไม่เลือกว่าเป็นพวกเขาพวกใคร สิ่งเดียวที่พวกเขาต้องการตอบแทนคือคำมั่นสัญญาจากผู้ดื่มว่าจะนำขยะจากการกินใช้ของตัวเองทุกชิ้นติดตัวกลับไปด้วย

เป็นที่มาของ “กาแฟสัญญาใจ”

“สัญญาแล้วนะ” เขาร้องบอกขณะที่ฉันจิบคาปูชิโน่ร้อนๆ หอมกรุ่น

“ชัวร์อยู่แล้ว” ฉันตอบน้ำเสียงหนักแน่น ทุกครั้งที่เดินป่าฉันคงนึกถึง “สัญญาใจ” ที่มีต่อกัน

เป็นคำขอที่ไม่มากเกินไปเลย หากนักท่องเที่ยวทุกคนทำตามคำมั่นสัญญาก็จะส่งผลกระทบอันยิ่งใหญ่ต่อธรรมชาติ เพราะขยะในเขตอุทยานแห่งชาติเกือบร้อยทั้งร้อยก็มาจากนักท่องเที่ยวนั่นเอง

โอ๊คและคณะไม่ได้มาที่นี่เป็นครั้งแรก หลายปีก่อนเขาเคยมาเที่ยวน้ำตกปิตุ๊โกลก่อนที่น้ำตกนี้จะเป็นที่รู้จักในหมู่นักเดินป่า เมื่อนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น วันหยุดยาวบางช่วงมีนักท่องเที่ยวนับพันคน ขยะก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ครั้งหนึ่งเด็กๆ ในหมู่บ้านเคยตั้งคำถามกระทบใจเขาว่า “พวกพี่มาบ้านผมเพื่อทิ้งขยะหรือ”

ไม่มีใครอยากให้บ้านตัวเองเป็นที่ทิ้งขยะ ช่วงปิดเทศกาลท่องเที่ยวปีที่แล้ว กลุ่มชาวบ้านและเยาวชนจาก 8 หมู่บ้านรอบๆ น้ำตกปิตุ๊โกลจึงรวมกลุ่มกันเก็บขยะจากน้ำตกปิตุ๊โกลและดอยมะม่วงสามหมื่นลงสู่พื้นราบ ปริมาณขยะมากถึงเกือบ 1,000 กิโลกรัม

ส่วนฤดูกาลท่องเที่ยวปีนี้ พวกเขาจัดระเบียบการท่องเที่ยวด้วยการกำหนดให้ลูกหาบและนักท่องเที่ยวลงทะเบียนขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ที่นำเข้าไปและปริมาณที่นำออกมา โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีขยะตกค้างในแหล่งท่องเที่ยวให้น้อยที่สุด

กิจกรรมของกลุ่มอาสาเที่ยวเป็นตัวอย่างของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรรณรงค์ให้เกิดขึ้นมากๆ เพื่อแก้ปัญหาขยะล้นแหล่งท่องเที่ยวทุกแห่งที่เป็นที่นิยม

ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชระบุว่าแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวลงทะเบียนเข้าเขตอุทยานแห่งชาติถึง 16 ล้านคน และมีเพียงร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เก็บรวบรวมขยะจากจุดท่องเที่ยวลงมายังจุดที่กำหนด

เมื่อจิตสำนึกรักธรรมชาติของนักท่องเที่ยวผสมเข้ากับนโยบายการจัดการขยะของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชล่าสุด ที่ห้ามนักท่องเที่ยวนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งเข้าไปในเขตอุทยานฯ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา และกำหนดให้นักท่องเที่ยวนำขยะกลับออกมากำจัดนอกเขตอุทยานซึ่งมีผลมีบังคับใช้ในฤดูกาลท่องเที่ยวนี้เป็นต้นไป ฉันจึงมีความหวังว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในแหล่งท่องเที่ยวป่าเขาในบ้านเรา

ส่วนความหวังของฉันจะเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องคอยติดตามตรวจสอบการบังคับใช้นโยบายกันต่อไปค่ะ


ขอบคุณภาพหัวเรื่องจาก http://www.greenpeace.org

ขอบคุณภาพถ่ายประกอบจาก http://www.rsatieow.com/

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

คุยประเด็นสิ่งแวดล้อมกับอดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

Email

Share