in on November 25, 2015

กาแฟใต้ร่มไม้… อนุรักษ์ป่าด้วยพืชเศรษฐกิจ

read |

Views

กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความต้องการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ข้อมูลล่าสุดระบุว่าคนเราดื่มกาแฟกันมากกว่า 5 แสนล้านแก้วต่อปีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เฉพาะช่วงทศวรรษที่ผ่านมาธุรกิจกาแฟมีมูลค่าสูงขึ้นเกือบหนึ่งเท่าตัว จะว่าไปคงเป็นเพราะวัฒนธรรมการดื่มกาแฟได้กลายเป็นค่านิยมร่วมของคนทั้งโลกไปแล้ว

bird-friendly-coffee

นักอนุรักษ์พบว่าเราอาจใช้กาแฟเป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์ป่าได้ แทนที่จะปล่อยให้กาแฟกลายเป็นพืชกินป่าเช่นเดียวกับพืชเศรษฐกิจอื่นๆ  กุญแจสำคัญอยู่ที่การย้อนกลับไปสู่วิถีการปลูกแบบดั้งเดิมและทำความเข้าใจนิเวศวิทยาของต้นกาแฟ

เป็นที่ทราบกันดีว่าสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกกาแฟก็คือภูมิอากาศแบบเขตร้อนตามแนวเส้นศูนย์สูตร ราวเส้นละติจูด 25 องศาเหนือลงมาถึงเส้นละติจูด 30 องศาใต้ ทุกวันนี้มีประเทศที่ปลูกกาแฟเชิงพาณิชย์กว่า 50 ประเทศทั่วโลกกระจายอยู่ตามเส้นรอบเอวโลก ประเทศที่ผลิตกาแฟมากที่สุดห้าอันดับแรกตามข้อมูลปีล่าสุดได้แก่ บราซิล เวียดนาม โคลัมเบีย อินโดนีเซีย และเอธิโอเปีย จะเห็นว่าล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงติดอันดับโลกทั้งสิ้น

shade-coffee-1

ในธรรมชาติกาแฟเป็นพันธุ์ไม้ที่พบในป่าดิบ ตำนานเล่าว่าชาวบ้านในประเทศเอธิโอเปียค้นพบกาแฟต้นแรกของโลกโดยบังเอิญ จากการที่แพะที่เลี้ยงเกิดไปกินเมล็ดกาแฟในป่าเข้าและเกิดอาการคึกคักเป็นพิเศษทั้งคืน ตั้งแต่นั้นมนุษย์จึงเริ่มนำกาแฟมาทำเป็นเครื่องดื่ม จนกลายมาเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมที่สุดของโลก

โดยธรรมชาติกาแฟจึงเป็นพืชที่ทนแสงแดดจัดไม่ได้และเติบโตอยู่ใต้ร่มไม้ในสภาพดินที่มีความชุ่มชื้น ป่าที่มีโครงสร้างพรรณไม้สลับซับซ้อนย่อมเอื้อต่อการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะนกนานาชนิด ต้นกาแฟที่ขึ้นอยู่ในป่าจึงไม่มีปัญหาเรื่องแมลงเลย เพราะมีกลุ่มนกกินแมลงคอยควบคุมศัตรูพืชให้

วิธีการปลูกกาแฟแบบดั้งเดิมจึงเป็นการปลูกต้นกาแฟแซมในป่าและปล่อยให้ธรรมชาติดูแล ชาวบ้านแค่ตัดแต่งกิ่งและคอยเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างเดียว

แต่กาแฟก็เหมือนพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นที่เมื่อมีความต้องการปริมาณมากๆ จึงมีการนำสายพันธุ์ดั้งเดิมมาปรับปรุง และปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด ในกรณีของกาแฟนั่นคือการปรับปรุงพันธุ์ให้เติบโตได้ดีในที่โล่ง ทนแสงแดดจัด เพื่อให้ต้นกาแฟออกผลมากๆ การปลูกกาแฟในช่วง 40-50 ปีหลังจึงกลายเป็นการปลูกแบบพืชเชิงเดี่ยวเพื่อให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยว ซึ่งนำไปสู่การบุกรุกพื้นที่ป่าเขตร้อนเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก

overview_245_001

กาแฟสายพันธุ์ใหม่แม้จะให้ผลผลิตสูงกว่าแต่มีโรคแมลงเยอะ แถมยังต้องอัดปุ๋ยเคมีเป็นประจำ เนื่องจากการปลูกในที่โล่งนำไปสู่การกัดเซาะหน้าดินยามฝนตก หน้าดินที่อุดมสมบูรณ์จึงค่อยๆหายไป เกษตรกรจึงต้องใช้ปุ๋ยเคมีอย่างต่อเนื่อง เพราะดินเสื่อมสภาพไปเรื่อยๆ

ในขณะที่การปลูกกาแฟแบบดั้งเดิมใต้ร่มไม้ในป่าไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงหรือใส่ปุ๋ยแต่อย่างใด เพราะธรรมชาติช่วยควบคุมศัตรูตามธรรมชาติและเติมปุ๋ยให้อยู่ตลอดเวลา เรียกว่าเป็นการปลูกแบบอินทรีย์ที่สมบูรณ์และมีความยั่งยืนสูงมาก ศูนย์วิจัยนกอพยพของสถาบันสมิธโซเนียนในสหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่บุกเบิกและส่งเสริมแนวคิดการปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ (shade-grown coffee) เนื่องจากพบว่าการเกษตรวิธีนี้สอดคล้องกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพได้เป็นอย่างดี  เพราะส่งเสริมให้มีการเก็บรักษาหย่อมป่าตามธรรมชาติเอาไว้

ด้วยการนำของสถาบันสมิธโซเนียน นักสิ่งแวดล้อม เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ และบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านกาแฟ ทำให้มีการจัดประชุมกาแฟยั่งยืน (Sustainable Coffee Congress) ขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1996 เพื่อกระตุ้นให้มีการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการปลูกกาแฟ และหันกลับมาส่งเสริมวิธีการปลูกกาแฟใต้ร่มไม้เชิงอนุรักษ์

การประชุมดังกล่าวได้มีการนำเสนอผลการวิจัยที่พบว่าในแปลงปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ในป่ามีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก แปลงปลูกกาแฟใต้ร่มไม้บางแปลงในเม็กซิโกสามารถพบนกได้มากถึง 180 ชนิดเรียกว่ามีความหลากหลายแทบไม่น้อยกว่าในป่าธรรมชาติ

ผลจากการประชุมครั้งนั้นได้มีการพัฒนามาตรฐานกาแฟใต้ร่มไม้ขึ้นเพื่อเป็นหลักเกณฑ์ให้เกษตรกรที่ต้องการเข้าร่วมโครงการปรับปรุงแนวทางการปลูกให้ได้มาตรฐาน และได้รับการรับรองเพื่อสามารถส่งขายในราคาที่ดีกว่า ทั้งยังเพื่อป้องกันการสวมรอยและปลอมฉลากว่าเป็น “กาแฟใต้ร่มไม้”

มาตรฐานกาแฟใต้ร่มไม้ที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบันมีอยู่สามสี่แห่งหลักๆ ได้แก่ Bird Friendly© ของสถาบันสมิธโซเนียน ECO-OK© ของ Rainforest Alliance ORGANIC©  และ Fair Trade© จึงนับได้ว่ากาแฟใต้ร่มไม้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการทำการตลาดสีเขียวว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังยุคแรกๆ โดยผู้บริโภคมีส่วนโดยตรงในการกำหนดอนาคตของผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ หากผู้บริโภคมีความรับผิดชอบมากขึ้นและยินดีที่จะซื้อกาแฟที่มีการผลิตยั่งยืนกว่าในราคาที่สูงกว่า นั่นย่อมเป็นตัวกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาปลูกกาแฟใต้ร่มไม้กันมากขึ้น

bird-friendly-coffee2

ตลอดระยะเวลาเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมาได้มีการทำวิจัยเปรียบเทียบผลดีผลเสียของการปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ออกมามากมาย ซึ่งงานวิจัยส่วนใหญ่ได้ข้อสรุปตรงกันว่าหากดำเนินการตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่มีการกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด การปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ให้ผลดีกว่าการปลูกแบบอุตสาหกรรมกลางแจ้งในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่

รสชาติที่ดีกว่า เพราะในร่มเมล็ดกาแฟจะสุกช้าๆทำให้มีน้ำตาลในธรรมชาติสูงกว่า  ส่งผลให้กาแฟมีรสชาติที่ลุ่มลึกและมิติมากกว่า

ปลอดภัยกว่า เพราะไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงและสารเคมี ตรงข้ามกับวิธีปลูกแบบปกติที่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงสูงมาก

สิ่งแวดล้อมดีขึ้น เพราะการปลูกใต้ร่มไม้ช่วยทำให้เกิดความชุ่มชื้นในดิน ลดการกัดเซาะหน้าดิน และช่วยกักเก็บคาร์บอนไดอ็อกไซด์ได้มากกว่า

ความหลากหลายทางชีวภาพสูงขึ้น เพราะส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์หย่อมป่าที่เหลืออยู่ ทำให้เอื้อประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะนกอพยพ
JZBirdFriendly

ทุกวันนี้ตลาดกาแฟที่ปลูกใต้ร่มไม้ เติบโตขึ้นตามลำดับ และมีมูลค่ากว่า พันล้านบาทเฉพาะในตลาดที่สหรัฐอเมริกา แต่นั่นก็ยังคิดเป็นเพียง 1-2% ของมูลค่าตลาดกาแฟโดยรวมเท่านั้น  การส่งเสริมการปลูกกาแฟใต้ร่มไม้จึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก หากผู้ดื่มและผู้ขายกาแฟแสดงเจตจำนงที่ต้องการซื้อกาแฟจากระบบการผลิตที่ยั่งยืนมากขึ้น

สำหรับในประเทศไทย การส่งเสริมการปลูกกาแฟใต้ร่มไม้เชิงอนุรักษ์น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีอย่างหนึ่งที่สามารถส่งเสริมควบคู่ไปกับการฟื้นฟูป่าบนเขาหัวโล้นในหลายๆพื้นที่ เพราะอย่างน้อยก็เป็นทางเลือกให้เกษตรกรมีรายได้ที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและธรรมชาติรอบตัว

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: http://www.thebirdfoodstore.com/event/bird-friendly-native-plant-sale-with-carolina-heritage-nursery/
  2. ภาพจาก: http://nationalzoo.si.edu/scbi/migratorybirds/coffee/
  3. ภาพจาก: http://www.northbranchnaturecenter.org/BirdsAndBeans.html
เพชร มโนปวิตร

นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการเป็นนักเขียน นักแปลและนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการทำงานในองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าหลากหลายองค์กรตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีผลงานตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆมาแล้วกว่า 200 เรื่อง ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เริ่มเป็นคอลัมนิสต์ประจำให้มูลนิธิโลกสีเขียวมาตั้งแต่ปี 2546 และเปิดพื้นที่คอลัมน์ Natural Solution เพื่อต้องการนำเสนอข่าวดี กรณีศึกษาที่น่าเอาอย่าง รวมทั้งแนวคิดสำคัญที่อาจเป็นทางออกของการอนุรักษ์ธรรมชาติและวิกฤติการณ์ต่างๆของโลกในปัจจุบัน

Email

Share