คงจะไม่ผิดหากจะบอกว่าไผ่คือพืชมหัศจรรย์เพราะนอกจากจะเป็นพืชที่โตเร็วที่สุดในโลกสามารถขึ้นได้ในแทบจะทุกสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศเป็นแหล่งอาหารเป็นที่พักอาศัยของทั้งสัตว์ป่าและมนุษย์มาแต่โบราณกาลไผ่ยังกลายมาเป็นทรัพยากรสำคัญในการตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนและอาจเป็นกุญแจที่ช่วยให้มนุษย์ฝ่าวิกฤติสิ่งแวดล้อมแก้ปัญหาความยากจนความมั่งคงทางอาหารและรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ในคราวเดียวกัน
ไผ่เป็นพืชที่มีลำต้นสูง อยู่รวมกันเป็นกอขนาดใหญ่ การขึ้นอยู่รวมกันทำให้มันสามารถทรงตัวได้ดีขึ้น รูปทรงของกอไผ่จำลองมาจากกอหญ้าเล็กๆที่เราคุ้นเคย เพราะความจริงไผ่คือหญ้ายุคโบราณที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่ 30-40 ล้านปีที่แล้วเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์กินพืชตั้งแต่อ้นเม่นหมูป่าไปจนถึงเก้งกวางกระทิงหรือแม้แต่ช้าง
ป่าไผ่ยังเป็นระบบนิเวศที่สำคัญ และเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ของโลกหลายชนิดเช่น แพนด้ายักษ์ (จีน) กอริลล่า (อูกันดา/รวันดา) ลีเมอร์ป่าไผ่ (มาดากัสการ์) ค้างคาวป่าไผ่ (จีน) ในอเมซอนมีรายงานว่านกอย่างน้อย 34 ชนิดพึ่งพาอาศัยป่าไผ่โดยเฉพาะยังไม่นับเห็ดรากว่าพันชนิดที่พบขึ้นอยู่กับกอไผ่หลายชนิดมีความเฉพาะเจาะจงกับไผ่ชนิดนั้นๆ
ไผ่สามารถโตได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลายมาก ตั้งแต่เขตแห้งแล้งไปจนถึงพื้นที่ชื้นแฉะหรือบนภูเขาสูง เพราะโดยธรรมชาติไผ่เป็นพืชที่ปรับตัวได้ดี ทั่วโลกมีไผ่กว่า1200 ชนิด ในไทยพบได้มากกว่า 60 ชนิด แต่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายประมาณ 10-20 ชนิดเท่านั้นเราจึงยังมีโอกาสศึกษาวิจัยคัดเลือกสายพันธุ์และพัฒนาการใช้ประโยชน์จากไผ่ได้อีกมากมาย
ไผ่เป็นทรัพยากรหมุนเวียนที่โตเร็วอย่างเหลือเชื่อและมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวสั้นมาก ไผ่บางชนิดสามารถโตได้กว่า 1 เมตรภายใน 24 ชั่วโมง ไผ่ส่วนใหญ่จึงโตเต็มที่และพร้อมเก็บเกี่ยวได้ภายในเวลา 1-3 ปีเท่านั้นในขณะที่ไม้เนื้อแข็งต้องใช้เวลานับสิบปีหรือมากกว่ากว่าจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
การปลูกไผ่ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยหรือใช้ยาฆ่าแมลงระบบรากที่กว้างขวางและแข็งแรงของไผ่ยังช่วยตรึงไนโตรเจนปรับปรุงคุณภาพดินให้ดีขึ้นและช่วยป้องกันการกัดเซาะหน้าดินนอกจากนี้ไผ่ยังไม่ต้องปลูกใหม่ทุกครั้งที่เก็บเกี่ยวเพียงเหลือหน่อและรากเอาไว้ไผ่ก็จะฟื้นคืนกลับมาได้อีกเท่ากับว่าเราสามารถมีไม้ใช้ได้อย่างยั่งยืนภายในระยะเวลาไม่กี่ปี
ไม้ไผ่เป็นพืชสารพัดประโยชน์ เราสามารถนำไผ่มาแปรรูปได้แทบจะทุกส่วน หน่อเพื่อการบริโภค ขุยนำมาทำเป็นปุ๋ย ใยใช้เป็นเครื่องขัดผิว ลำสำหรับใช้ในการก่อสร้าง ที่อยู่อาศัย หรือใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมในครัวเรือน อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ เฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบอย่างทันสมัยไปจนถึงตะเกียบที่ใช้กันอยู่ทั่วไป
ความจริงไผ่สามารถแปรรูปได้หลากหลายมากและสามารถนำมาแทนที่การใช้ไม้ได้เกือบทุกประเภทตั้งแต่กระดาษแผ่นปูพื้นเฟอร์นิเจอร์ถ่านวัสดุก่อสร้างถ้าเทียบกันใยต่อใยเส้นใยของไผ่แข็งแกร่งพอๆกับเหล็กทนทานพอๆกับซีเมนต์และมีโอกาสผิดรูปบิดงอจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมน้อยกว่าไม้เนื้อแข็งอื่นๆ
อุปสรรคสำคัญในอดีตของการใช้ไม้ไผ่มาเป็นวัสดุก่อสร้างคือการป้องกันแมลงกิน ไม้ไผ่ที่ไม่ได้รับการฆ่าเชื้อจะถูกแมลงเจาะกินและเปื่อยย่อยสลายอย่างรวดเร็ว คนจึงติดภาพว่าถ้าเป็นวัสดุอุปกรณ์ที่ทำจากไม้ไผ่จะมีอายุการใช้งานไม่นาน หรือนำมาใช้ได้เฉพาะกับโครงสร้างอาคารชั่วคราว ที่เน้นความประหยัด ราคาถูก
แต่ Elora Hardy นักออกแบบรุ่นใหม่ชาวแคนาดาไม่คิดอย่างนั้น ความที่เติบโตที่บาหลีและคลุกคลีอยู่ในโรงเรียน Green School ที่ John Hardy พ่อของเธอบุกเบิกให้เป็นต้นแบบโรงเรียนทางเลือกที่เน้นสอนเรื่องความยั่งยืนเธอพบว่าเมื่อใช้เกลือบอแรกซ์ฆ่าเชื้อไม้ไผ่ก็จะมีอายุการใช้งานไม่น้อยไปกว่าไม้ชนิดอื่นๆเลยเธอจึงผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบกับความสามารถของช่างฝีมือชาวบาหลีและคุณสมบัติมหัศจรรย์ของไผ่ที่แข็งแกร่งยืดหยุ่นแต่น้ำหนักเบา
Elora ทำให้การออกแบบสถาปัตยกรรมจากไม้ไผ่หลุดพ้นไปจากนิยามแบบเดิมๆ อาคาร3-4ชั้นที่ทำด้วยไม้ไผ่ทั้งหลังดูหรูหรา สวยงาม และมีฟังก์ชั่นต่างๆครบครันไม่แพ้อาคารหรูๆแห่งอื่นๆ Elora พิสูจน์ให้เห็นว่าการนำไม้ไผ่มาใช้เป็นวัสดุหลักของการก่อสร้างนั้นเป็นไปได้ ตอนนี้เธอยังคงมุ่งมั่นพัฒนางานออกแบบด้วยไม้ไผ่ในนามบริษัท Ibuku ที่แปลได้ว่าแผ่นดินแม่และขยายกลุ่มลูกค้าออกไปเรื่อยๆตั้งแต่อาคารสำนักงานไปจนถึงโรงแรมระดับห้าดาว
ความจริงเราเห็นนวัตกรรมการออกแบบวัสดุอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่นำไม้ไผ่มาใช้เป็นส่วนประกอบมากมาย ตั้งแต่จักรยาน ลำโพง เคสมือถือ เคสคอมพิวเตอร์ ปลอกคีย์ไดรฟ์ ฟองน้ำขัดผิว เบียร์ หรือแม้แต่เสื้อผ้า แต่เจ้าแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนด้วยไม้ไผ่คงจะไม่มีใครเกินประเทศจีนไปได้ กรณีศึกษาที่น่าสนใจมากคือ เมือง Anji ในมณฑล Zhejiang ที่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้สำเร็จด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ใช้ไม้ไผ่เป็นพื้นฐาน
แต่เดิมเมือง Anji เป็นภูมิภาคที่มีไม้ไผ่ขึ้นมากอยู่แล้ว แต่อุตสาหกรรมแปรรูปไม้ไผ่ยังค่อนข้างจำกัดอยู่กับผลิตภัณฑ์ไม่กี่อย่าง เช่นกระดาษ ตะเกียบ และลำไม้ไผ่ที่ใช้ทำโครงสร้างชั่วคราว ทำให้เกิดเศษไม้ไผ่เหลือเป็นจำนวนมากซึ่งผู้ประกอบการก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร จึงเกิดการรวมตัวกันของภาครัฐ ภาคธุรกิจและสถาบันวิจัยต่างๆ โดยนำเอาแนวความคิดเรื่อง Zero waste มาใช้ และเพิ่มมูลค่าและระบบการจัดการด้วยการจัดแบ่งหมวดหมู่การแปรรูป และพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงใหม่ๆอาทิแผ่นปูพื้นคุณภาพสูง งานฝีมือ ถ่านไม้ไผ่ ปุ๋ยขุยไผ่ ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากไผ่ทุกส่วนอย่างเต็มที่ ส่งผลให้เกิดการสร้างรายได้ในชุมชนมากขึ้นถึง 220% ภายในเวลาแค่ 10 ปี
ในภูมิภาคแม่น้ำโขงเองก็ได้มีการพัฒนาโครงการ Mekong Bamboo Initiative เพื่อมุ่งพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรรายย่อยในเวียดนาม ลาวและกัมพูชา เพราะเล็งเห็นว่าไม้ไผ่เป็นตัวเลือกที่เหมาะ ปลูกง่าย แปรรูปสะดวก โดยเน้นพัฒนาธุรกิจจากไผ่สามส่วนหลักๆ คือ งานฝีมือ หน่อไม้เพื่อการบริโภค และการแปรรูปเป็นวัสดุก่อสร้าง
ในทางการตลาดไม้ไผ่มีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมากเพราะความนิยมที่กำลังฮิตติดตลาดในยุโรปและอเมริกา พร้อมกับนวัตกรรมใหม่ๆที่เกิดขึ้นทำให้มีการนำไม้ไผ่มาใช้แทนที่ไม้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มูลค่าผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ทั่วโลกเพิ่มจาก 7 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปี 2007 เป็น 6 หมื่นล้านเหรียญ ภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี ส่วนภูมิภาคแม่น้ำโขงมีส่วนแบ่งตลาดในปัจจุบันอยู่ราว 300-400 ล้านเหรียญ และตั้งเป้าที่จะเพิ่มมูลค่าให้ได้ 1.2 พันล้านเหรียญภายในปี 2017 และสร้างงานให้ชุมชนราว 1.2 ล้านคน
ประเทศทางแอฟริกาเองก็เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมจากไม้ไผ่อย่างจริงจังโดยมีจีนเป็นผู้สนับสนุนและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เช่นความร่วมมือระหว่างเอธิโอเปียเคนยาอูกานดาเป็นผู้ผลิตโดยมีจีนเป็นพี่เลี้ยงพร้อมกับเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศรับซื้อ
ประเทศไทยของเราเป็นพื้นที่ที่มีไผ่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติมากมายอยู่แล้ว อีกทั้งยังรู้จักนำไผ่มาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลายมาเป็นเวลานาน สิ่งที่ยังขาดคือการเชื่อมต่อระหว่างผู้ประกอบการรายย่อยและนโยบายส่งเสริมอย่างต่อเนื่องจริงจังของภาครัฐ ซึ่งเชื่อได้ว่าหากทำอย่างเป็นระบบ ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยและโอกาสในการพัฒนาธุรกิจประเภทนี้ก็ไม่น่าจะน้อยหน้าใคร
ภายหลังการประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ปารีสไม้ไผ่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวคาร์บอนต่ำเพราะการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยไม้ไผ่จะเร่งให้มีการปลูกพืชชนิดนี้มากขึ้นซึ่งช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งชีวมวลที่เกิดจากไผ่ถูกสะสมในส่วนของรากและผิวดินในปริมาณมากซึ่งเป็นการช่วยกักเก็บคาร์บอนอย่างถาวรนอกจากนี้ตัวอย่างจากจีนก็พิสูจน์แล้วว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ไผ่ช่วยแก้ปัญหาความยากจนให้กับเกษตรกรรายย่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การปลูกไม้ไผ่ยังช่วยฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำและฟื้นฟูสภาพที่ดินที่เสื่อมโทรมได้ดีชุมชนที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรอย่างไม้ไผ่ได้ย่อมมีความสามารถในการับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มากขึ้นเพราะไม้ไผ่เป็นทั้งแหล่งอาหารวัสดุในการสร้างบ้านเรือนต้นทุนต่ำและเป็นทางเลือกในการพัฒนาอาชีพที่ไม่มีวันสิ้นสุด
บางทีทางออกสำคัญของปัญหาสารพันที่มนุษย์กำลังเผชิญหน้าอาจซ่อนอยู่ในกอหญ้ายักษ์โบราณที่ชื่อว่าไผ่นี่เอง