เมื่อพูดถึงภูกระดึง สิ่งที่คนส่วนใหญ่ที่เคยไปมากชอบกล่าวถึงคือคือเส้นทางขรุขระสูงชัน ต้นสนบนหน้าผาที่ผาหล่มสัก ที่เป็นแลนด์มาร์คดูตะวันตกดินที่ไม่ไปถือว่าไม่ถึง และดอกเมเปิ้ลสีแดงตามน้ำตกต่างๆ แต่ผู้เขียนอยากพูดถึงเรื่องขยะบนยอดภูมากกว่า
ผู้เขียนเพิ่งขึ้นภูกระดึงในช่วงหลังปีใหม่ ร้านค้าบอกว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่คนน้อย เพราะคนส่วนใหญ่คาดว่าคนจะเยอะเลย จึงหลีกเลี่ยงไปเที่ยวที่อื่น หลังเทศกาลคนเริ่มมาเที่ยววันละไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันคน ขณะที่ทางอุทยานฯ จำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวไม่เกินห้าพันคนต่อวัน
ภูกระดึงเป็นภูเขายอดตัดที่มีที่ราบด้านบนกว้างขวางมาก จากจุดเริ่มต้นในที่ทำการอุทยานแห่งชาติถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวบนยอดเขาระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร โดยช่วงต้นเป็นเนินเขาที่สูงชันระยะทาง 5.4 กิโลเมตร เมื่อขึ้นสู่ที่ราบบนยอดภูต้องเดินต่อไปยังที่พักอีกประมาณ 3.5 กิโลเมตร เวลาการเดินทางขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของผู้เดินระหว่าง 3-6 ชั่วโมง
เพราะต้องรองรับนักท่องเที่ยวมากไปและเส้นทางอันทรหดทำให้การขนของขึ้นลงกลายเป็นเรื่องใหญ่ ลำพังการขนสัมภาระของนักท่องเที่ยวและกินของใช้ประจำวันเพื่อไปรองรับนักท่องเที่ยววันละนับพันคนในบางวันก็มากเกินกำลังของพวกลูกหาบอยู่แล้ว ไม่นับของเหลือจากการกินการใช้ที่เรียกว่าขยะ
ก่อนหน้านี้บนยอดภูกระดึงประสบปัญหาขยะตกค้างเป็นจำนวนมาก ทางอุทยานฯ จึงริเริ่มทำโครงการที่หลากหลาย เช่น โครงการอาสาสมัครพิทักษ์ภูกระดึงที่จะมีอาสาสมัครจำนวนหนึ่งขึ้นไปเก็บขยะจากแหล่งท่องเที่ยวมาคัดแยกและกำจัด โครงการมัดจำบรรจุภัณฑ์สำหรับสิ่งของที่นักท่องเที่ยวนำขึ้นไปด้านบน โดยจะได้เงินมัดจำคืนเมื่อนำบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นกลับมาแสดง การเชื้อเชิญให้นักท่องเที่ยวเก็บขยะลงมาพื้นราบจำนวน 1 กิโลกรัมเพื่อแลกกับใบประกาศเกียรติคุณ
ผู้เขียนได้เข้าร่วมโครงการเก็บขยะแลกใบประกาศเกียรติคุณ นอกเหนือจากการเก็บขยะเฉพาะที่ตัวเองกินใช้แล้ว ยังเดินเก็บตามสองข้างทางพบว่า แหล่งท่องเที่ยวทั้งตามบริเวณหน้าผาที่ดูพระอาทิตย์ขึ้น–ตก และบริเวณน้ำตกไม่มีเศษขยะชิ้นใหญ่มากนัก ขยะส่วนใหญ่เป็นพลาสติกปิดฝาขวดพลาสติก ห่อลูกอม กระดาษทิชชูใช้แล้ว นานครั้งจะพบขวดพลาสติกหรือขวดเครื่องดื่มบำรุงกำลังชนิดขวดแก้ว
เป็นที่น่าสังเกตว่าสิ่งที่ซื้อขายกันมากที่สุดตามร้านค้าสองข้างทางตามจุดแวะพักต่างๆ และในร้านค้าบนยอดภูคือน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติก ร้านค้าทุกร้านจะมีน้ำดื่มน้ำบรรจุขวดและน้ำอัดลมตั้งเรียงราย น้ำขวดขนาด 2 ลิตร เมื่อขึ้นไปถึงยอดภูจะขายราคา 50-60 บาทขึ้นอยู่กับความใกล้ไกลของสถานที่ตั้ง หากตั้งอยู่ตามร้านค้าริมผาต่างๆ ถือว่าไกลที่สุดและแพงที่สุด ขณะที่ราคาที่พื้นราบราคาไม่เกิน 20 บาท ทั้งนี้เพราะค่าจ้างแบกหามก็กิโลกรัมละ 30 บาทแล้ว
ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนพูดถึงไม่ใช่เรื่องน้ำดื่มราคาแพง แต่เป็นเรื่องการสร้างขยะ อุทยานแห่งชาติภูกระดึงเคยเก็บสถิติว่านักท่องเที่ยวคนหนึ่งผลิตขยะวันละ 1.5 กิโลกรัม ดังนั้นเฉพาะช่วงวันหยุดเทศกาลจะมีขยะเกิดขึ้น 2-3 พันกิโลกรัมต่อวัน ถ้าคิดเฉพาะน้ำดื่ม นักท่องเที่ยว 1 คนดื่มน้ำวันละ 1 ขวด ก็เท่ากับว่าจะต้องขนน้ำขึ้นไป 1 พันขวด ก่อให้เกิดขยะพลาสติก 1 พันขวดและหากเป็นน้ำดื่มขวดเล็กปริมาณขวดก็จะเพิ่มขึ้นเท่าตัว
มองแง่การใช้แรงงาน แม้ลูกหาบเหล่านี้จะได้เงินค่าจ้างตามน้ำหนัก แต่หากมีทางเลือก ผู้เขียนขอเลือกทางอื่น เพราะรู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะต้องดื่มน้ำบนหยาดเหงื่อแรงงานของลูกหาบที่ระหว่างทางเห็นกับตาว่าพวกเขาต้องแบกของชนิด “อาบเหงื่อต่างน้ำ” และเห็นเส้นเอ็นปูดโปนแทบจะทะลุออกมาพ้นผิวหนังเลยทีเดียว
เป็นที่น่าประหลาดใจที่ทางอุทยานฯ มีการประชาสัมพันธ์เรื่องการใช้สถานที่วันละหลายรอบ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยได้ยินจากเสียงตามสายเลยคือการกล่าวถึงแหล่งน้ำดื่มทางเลือก ขณะที่ที่มีแหล่งน้ำเพื่อการชำระล้างให้บริการนักท่องเที่ยวอย่างพอเพียง จึงเท่ากับว่าเมื่อต้องการดื่มน้ำนักท่องเที่ยวต้องซื้อน้ำดื่มบรรจุขวด ส่วนร้านค้าต่างๆ ก็ขายเฉพาะน้ำดื่มบรรจุขวด ไม่มีน้ำดื่มอื่นให้บริการ มีเพียงครั้งเดียวที่คุณป้าที่ร้านค้าร้านหนึ่งเสนอขายน้ำฝนขวดขนาด 2 ลิตรราคา 30 บาทให้ ซึ่งผู้เขียนพร้อมจะซื้อ แม้จะไม่มั่นใจว่าใช่น้ำฝนจริงหรือไม่ก็ตาม
เมื่อถามไถ่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ารายหนึ่งว่าพวกเขาดื่มน้ำจากที่ไหน เขาบอกว่าพวกเขาจะดื่มน้ำจากแหล่งน้ำซับที่หาได้ในป่า ซึ่งแน่นอนว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่สามารถเดินไปยังแหล่งน้ำหรือกล้าดื่มกินน้ำจากน้ำซับเหล่านั้นเป็นแน่
ในมุมมองผู้เขียน การจัดการเรื่องน้ำดื่มที่สมควรทำอย่างยิ่งคือการติดตั้งเครื่องกรองน้ำที่ได้มาตรฐานเพื่อให้นักท่องเที่ยวมีทางเลือก หากเกรงว่าร้านค้าบนภูจะขาดรายได้ ก็เพียงแต่จัดสรรให้แต่ละร้านตั้งเครื่องกรองน้ำและกำหนดราคามาตรฐานในการเติมน้ำเพื่อให้ร้านค้ามีรายได้พอประมาณ
หากมีการจัดการที่ดี เราจะสามารถลดขยะบนยอดภูได้มหาศาล ขณะเดียวกันพวกลูกหาบก็สามารถประหยัดแรงกายไปขนสิ่งของจำเป็นอื่นๆ ได้อีกมาก เช่น ในช่วงที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่มีลูกหาบจำกัด นักท่องเที่ยวบางรายต้องแบกกระเป๋าเองหรือรอลูกหาบขนกระเป๋าตามขึ้นไปข้ามวันเลยทีเดียว
หากยังเป็นเช่นที่ผ่านมา แม้อุทยานแห่งชาติภูกระดึงจะประชาสัมพันธ์จะมีโครงการกำจัดขยะมากมาย แต่บนยอดภูยังมีน้ำดื่มบรรจุขวดขายอยู่อย่างแพร่หลายก็เท่ากับเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและวิ่งไล่ตามปัญหาขยะล้นภูอยู่นั่นเอง และโปรดอย่าเรียกร้องให้มีการสร้างกระเช้าเพื่อขึ้นไปลำเลียงขยะ เพราะปริมาณคนที่เพิ่มมากขึ้นจะยิ่งทำให้ขยะเพิ่มขึ้น ดังที่เห็นกันอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำทั่วไป