in on December 24, 2015

ข้าวนกกุลา… ช่วยชาวนาอนุรักษ์นก

read |

Views

“Eat Rice Save Bird”คือสโลแกนของ Ibis Rice ซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่ปลูกโดยชาวนาที่เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์นกหายากในกัมพูชาIbis Rice นับเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจอย่างยิ่งของการตอบโจทย์เรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่าพร้อมๆไปกับการพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดกับทรัพยากรธรรมชาติ

Ibis rice_branding

Ibis Rice หรือข้าวนกกุลา เป็นวิวัฒนาการล่าสุดในความพยายามของนักอนุรักษ์ที่ต้องการปกป้องสัตว์ป่าบริเวณที่ราบตอนเหนืออันกว้างใหญ่ของประเทศกัมพูชาโดยมีเป้าหมายสำคัญคือคือบรรดานกน้ำหายากหลายชนิดที่พบทำรังวางไข่ที่นี่เพียงแห่งเดียวในโลก ลองมาติดตามรูปแบบการอนุรักษ์สัตว์ป่าหายากที่ว่ากันว่าประสบความสำเร็จที่สุดแห่งหนึ่ง

ความโดดเด่นของที่ราบขนาดใหญ่ทางตอนเหนือของกัมพูชาที่รู้จักกันในชื่อ Northern Plains คือทุ่งหญ้าธรรมชาติผสมป่าเต็งรังและพื้นที่ชุ่มน้ำอันอุดมสมบูรณ์ซึ่งแทบหาไม่ได้อีกแล้วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความที่ประเทศกัมพูชาตกอยู่ในภาวะสงครามมายาวนานพื้นที่หลายแห่งรวมทั้งที่ราบตอนเหนือจึงกลายเป็นดินแดนต้องห้ามและตกสำรวจ ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยที่สำคัญที่สุดของสัตว์ในกลุ่มวัวป่าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะกูปรีและวัวแดงจนได้ชื่อว่าเป็น “เซเรงเกติ” แห่งเอเชีย

หลังสงครามสงบนักชีววิทยาจึงได้เริ่มกลับเข้าไปสำรวจพื้นที่แห่งนี้อีกครั้งตั้งแต่ปีค.ศ. 2000 แม้จะพบว่าสัตว์ป่าอย่างกูปรีถูกล่าจนสูญพันธุ์หมดไปแล้ว แต่ยังคงพอมีสัตว์หายากหลายชนิดเหลืออยู่ไม่ว่าจะเป็นช้าง เสือโคร่ง วัวแดง กระทิง ละมั่ง

การค้นพบที่น่าตื่นเต้นที่สุดของ Northern Plains ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่คือการสำรวจพบประชากรนกหายากระดับโลกหลายต่อหลายชนิดโดยเฉพาะนกน้ำขนาดใหญ่เช่น นกกระเรียน นกกระสาคอดำ นกตะกรุม นกตะกราม นอกจากนี้ยังพบนกแร้งได้ถึงสามชนิดได้แก่พญาแร้ง อีแร้งเทาหลังขาว และอีแร้งสีน้ำตาล

Ibis distribution

ที่โดดเด่นจนเป็นไฮไลต์สำหรับเกจินักดูนกทั้งหลายคงต้องยกให้ นกช้อนหอยดำ (White-shouldered Ibis) และนกช้อนหอยใหญ่ (Giant Ibis) ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) และจากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันที่นี่เป็นพื้นที่แห่งเดียวในโลกที่ยังมีรายงานการสร้างรังวางไข่ของนกทั้งสองชนิด

เมื่อนักอนุรักษ์ทราบถึงคุณค่าความสำคัญของพื้นที่จึงได้เริ่มต้นออกแบบโครงการอนุรักษ์ เพื่อลดภัยคุกคามสำคัญสามประการคือการลักลอบเก็บไข่นกมาขายการล่านกเพื่อเป็นอาหารและการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ธรรมชาติเพื่อทำการเกษตรตัวชี้วัดความสำเร็จที่สำคัญคือความอยู่รอดของนกใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้

การออกแบบรูปแบบโครงการที่ดีคือการเชื่อมโยงเป้าหมายการอนุรักษ์ซึ่งในที่นี้คือ “นก” เข้ากับมาตรการต่างๆ และมีระบบการตรวจวัดผลที่ชัดเจนคือการสำรวจติดตามประชากรนกอย่างใกล้ชิด

พูดง่ายๆโจทย์สำคัญที่สุดคือจะทำอะไรก็ตามต้องทำให้นกเป็นพระเอกทำให้ชุมชนที่อยู่บริเวณนั้นรู้สึกว่าการที่มีนกอยู่เป็นผลประโยชน์โดยตรงต่อพวกเขา และนำไปสู่การฟื้นฟูประชากรนกหายากเมื่อมีกรอบคิดชัดเจนการดำเนินการอนุรักษ์ในพื้นที่ก็เดินหน้าเต็มตัว

โครงการแรกคือการจ้างชาวบ้านมาเป็นเจ้าหน้าที่ในโครงการปกป้องรังนก (Bird Nest Protection Program) เพื่อแก้ปัญหาการลักลอบเก็บไข่นกมาขาย กติกามีอยู่ว่าเมื่อชาวบ้านเจอรังนก ก็ให้มารายงานและทำหน้าที่เป็นยามเฝ้ารัง การทำเช่นนี้พวกเขาจะมีรายได้จากการเฝ้ารังนกทุกวันตั้งแต่พบรังไปจนกว่าลูกนกจะออกจากรัง ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่จากองค์กรอนุรักษ์คอยตรวจสอบและติดตามผล

วิธีการดังกล่าวลงทุนไม่มากและสามารถเปลี่ยนนักล่าในชุมชนมาเป็นนักอนุรักษ์ได้อย่างรวดเร็วเพราะเห็นผลประโยชน์ชัดๆตรงๆ สร้างรายได้อย่างถูกกฎหมายให้กับชาวบ้าน แทนที่จะต้องเสี่ยงหารายได้ด้วยการล่าหรือการขโมยลูกนกซึ่งผิดกฎหมาย นอกจากจะลดปัญหาการเก็บไข่ไปขายได้แล้ว การเฝ้าระวังรังยังช่วยให้นกถูกรบกวนน้อยลงและมีโอกาสประสบความสำเร็จในการสร้างรังวางไข่มากขึ้นส่งผลให้ประชากรนกหลายชนิดเพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างชัดเจน

โครงการที่สองคือการส่งเสริมการท่องเที่ยวดูนกหายากโดยมุ่งไปยังชุมชนเล็กๆที่อยู่ใกล้บริเวณที่นกทำรังวางไข่ที่สุดและคัดเลือกเอานกช้อนหอยดำและนกช้อนหอยใหญ่มาเป็นตัวชูโรง ในแง่การอนุรักษ์นกทั้งสองชนิดมีความสำคัญมากเพราะเป็นหนึ่งในนกน้ำที่หายากที่สุดในโลกส่วนในแง่การตลาด “Rare items” ก็ย่อมดึงดูดกลุ่มนักดูจากต่างประเทศได้ง่าย

ภายในชุมชนมีการจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาหมู่บ้าน” และคณะกรรมการซึ่งมีหน้าที่จัดการการท่องเที่ยวในนามของชุมชน รายได้หลักของกองทุนนี้มาจากนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักดูนกที่จะบริจาคเงินคนละประมาณ 30 เหรียญสหรัฐในกรณีที่พวกเขาได้เห็นนกที่อยากเห็นสมใจ สมาชิกในชุมชนยังได้ประโยชน์จากการบริการที่พักแบบโฮมสเตย์ บริการอาหาร เครื่องดื่ม หรือทำหน้าที่เป็นไกด์ท้องถิ่น

โครงการที่สามคือการส่งเสริมการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและป้องกันการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ธรรมชาติไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม อันเป็นที่มาของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Ibis Rice หรือข้าวนกกุลา

IMG_20150401_125001

ปกติชาวนามีแนวโน้มขยายที่ทำกินออกไปเรื่อยๆและไม่ชอบให้นกมาหากินในพื้นที่นาของตัวเองถ้ามีโอกาสก็อาจจะล่ามากินเป็นอาหารอีกด้วย นักอนุรักษ์จึงพยายามสร้างแรงจูงใจให้ชาวนาเปลี่ยนมุมมองต่อนกเหล่านี้เสียใหม่

โดยทำข้อตกลงกันว่าหากชาวนาหันมาทำนาแบบอินทรีย์และปล่อยให้นกหากินในพื้นที่แปลงนาตามธรรมชาติพวกเขาจะสามารถขายข้าวได้ในราคาสูงมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องไปถางป่าเพิ่มขยายพื้นที่ผลิตภัณฑ์ข้าวนกกุลาจึงถือกำเนิดมาตั้งแต่นั้น

“ไม่บุกเพิ่มไม่ล่านกไม่ใช้สารเคมี”ถ้าทำได้ไม่เพียงแต่จะขายข้าวได้ในราคาดีเท่านั้นแต่กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการยังมีส่วนร่วมในผลกำไรโดยรวมทั้งหมดของข้าวยี่ห้อนี้อีกด้วย ปัจจุบัน Ibis Rice กำลังมาแรงและไปได้สวย โดยสามารถขยายตลาดไปขายตามหัวเมืองใหญ่ๆ เช่นเสียมราฎ รวมทั้งเมืองหลวงอย่างพนมเปญเรียบร้อยแล้ว โรงแรมระดับหรูและร้านอาหารหลายแห่งในเสียมราฎก็เริ่มหันมาใช้ข้าวนกกุลา เพราะแม้ราคาจะสูงกว่าแต่ก็เป็นการตลาดได้อย่างดีว่าช่วยสนับสนุนกิจกรรมอนุรักษ์

ยิ่งมีชาวนาเข้าร่วมโครงการมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นหลักประกันว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขต Northern Plains จะมีความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นคนเมืองในพนมเปญก็มีส่วนสำคัญในการสร้างแรงจูงใจดังกล่าว ด้วยการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ข้าวนกกุลา

ibis_rice_farmershotel buy ibis rice

การเลือกใช้นกมาเป็นเงื่อนไขทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างแนวทางการจัดการคือการเฝ้ารังนกการท่องเที่ยวและการทำนาแบบยั่งยืน เข้ากับ เป้าหมายการอนุรักษ์คือ กลุ่มนกหายากอย่างชัดเจน ถ้าไม่มีนก หรือถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติเสื่อมโทรม ทั้งการท่องเที่ยวดูนก รายได้จากการเฝ้ารังนกและผลิตภัณฑ์ข้าวนกกุลา ก็จะไม่มีวันประสบความสำเร็จ และไม่มีผลประโยชน์ต่างๆ ตามมาให้กับชุมชน นับเป็นการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจให้ชุมชนหันมาเป็นแนวร่วมกับงานอนุรักษ์ ทั้งยังขยายตลาดและสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในเมืองอีกด้วย

ข้าวนกกุลาจึงเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจของการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ส่งเสริมการการพัฒนาอย่างยั่งยืนของชุมชนไปด้วยพร้อมกัน

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://www.linkedin.com/pulse/head-finance-vacancy-ibis-rice-nicholas-spencer
  2. ภาพจาก: Wildlife Conservation Society (WCS)
เพชร มโนปวิตร

นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการเป็นนักเขียน นักแปลและนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการทำงานในองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าหลากหลายองค์กรตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีผลงานตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆมาแล้วกว่า 200 เรื่อง ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เริ่มเป็นคอลัมนิสต์ประจำให้มูลนิธิโลกสีเขียวมาตั้งแต่ปี 2546 และเปิดพื้นที่คอลัมน์ Natural Solution เพื่อต้องการนำเสนอข่าวดี กรณีศึกษาที่น่าเอาอย่าง รวมทั้งแนวคิดสำคัญที่อาจเป็นทางออกของการอนุรักษ์ธรรมชาติและวิกฤติการณ์ต่างๆของโลกในปัจจุบัน

Email

Share