in on May 14, 2018

ความภูมิใจใน “เรา”

read |

Views

กาลครั้งหนึ่งไม่กี่ปีมานี้ เมื่อพิธีกรเปิดคำถามจากฟลอร์ในงานเสวนา วัยรุ่นคนหนึ่งก็ยกมือขึ้นถามด้วยความสุภาพแต่สงสัยจริงจังว่า ทำไมคุณวิทยากร x จึงภูมิใจในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมดีงามของบรรพบุรุษ หวงแหนมากมาย แม้ว่าตัวเองไม่ได้เป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เหล่านั้นเลย

บางคนฟังแล้วอาจคันอวัยวะส่วนล่าง ช่างอหังการไร้สำนึกถึงรากเหง้าอะไรเช่นนั้น แต่ฉันทึ่งกับคำถามนี้มาก มันแสดงถึงสติปัญญาที่ฉันไม่เคยมีในวัยเดียวกัน

มันเป็นปรากฎการณ์ที่เราทุกคนน่าจะถามตัวเอง เพราะเชื่อว่าทุกคนน่าจะเคยมีอาการเช่นนี้ อย่างน้อยก็ในบริบทต่างๆ กันไป

ลองพิจารณาดู ทำไมเราจึงมีความภูมิใจกับกลุ่มหมู่อะไรที่เราถือว่าเป็น “พวกเรา” ปลื้มเปรมยกย่องกับความสำเร็จของใครก็ตามที่โยงใยกับพวกของเรา ภูมิใจเสมือนเป็นความสำเร็จของตัวเราเอง ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ลงขันทำอะไรให้มันเกิดขึ้นมา

อย่างต่ำเลยก็เป็นกับทีมฟุตบอล ไม่ได้รู้จักมักจี่เขาเลย แต่เขาชนะแล้วเราฟินเว่อร์

บางคนกับบรรพบุรุษ ปู่ทวดฉันเคยสร้างโน่นนี่ เป็นนั่นนู่น ภูมิใจมาก ใครอย่าแตะอย่าว่า ทั้งๆ ที่เราก็เกิดไม่ทัน ไม่เคยรู้จักปู่ทวดคนเป็นๆ

บางคนกับสถาบันที่เคยเรียนมา คนจากโรงเรียนฉันเก่ง ฉันเลยเก่งไปด้วย บางคนกับคนร่วมภูมิลำเนา บางคนกับคนร่วมชาติ บางคนกับเชื้อชาติพันธุกรรม แค่มีเลือดไทยผสมแต่เป็นพลเมืองอเมริกา คนไทยก็ภูมิใจมาก

บางคนกับชีวิตร่วมสายพันธุ์ มองว่ามนุษย์ช่างฉลาดเก่งกาจกว่าสัตว์อื่น ทั้งๆ ที่ความเก่งทั้งหลายของมนุษย์ที่หยิบยกมาภาคภูมิใจกัน ล้วนเป็นสิ่งที่เราในฐานะปัจเจกทำเองไม่เป็น ไม่ได้มีความสามารถของมนุษย์ที่เราชื่นชม ถามจริง เรากี่คนสร้างรถยนต์ได้เอง สร้างคอมพิวเตอร์ได้เอง สักกี่คนประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมเปลี่ยนโลก ส่วนใหญ่เราเป็นผู้บริโภค แถมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ สัมผัสรับรู้โลกอย่างไร มีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร อาจมั่นใจอีกว่าพวกมันไม่มีความรู้สึกนึกคิด

พอถามว่ารู้ได้ไงว่ามันไม่มี ก็อ้างคำบอกเล่าในศาสนา ศาสดาคัมภีร์ว่าอย่างนี้ งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ว่ายังไงกันบ้างไม่สน

ในทางกลับกัน เราจะอายมากถ้าสมาชิกใดใน “พวกเรา” ไปทำอะไรแย่ๆ ที่เราไม่ชอบ คนไทยไปต่างแดนประพฤติตนอย่างไร้ความอ่อนไหวต่อขนบธรรมเนียมหรือมารยาทท้องถิ่น เราจะอายมากกว่าถ้าเห็นคนชาติอื่นทำ และถ้าคนต่างชาติวิจารณ์สังคมเรา คนไทยหลายคนจะโกรธเสมือนเขาด่าตัว ทั้งๆ ที่หลายครั้งก็เป็นเรื่องที่เราวิจารณ์กันเอง

ทำไมเราต้องแบกภาระรับผิดชอบกับการกระทำของคนไทยคนอื่นที่เราไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่ได้เลือกให้เขาเป็นผู้แทนเรา ในทางกลับกัน ทำไมเราจะต้องโมเมแบกรับเป็นตัวแทนคนไทยทั้งสังคม เมื่อคนถิ่นอื่นพูดถึงแง่มุมในสังคมไทยที่เราไม่สมาทาน

ความภูมิใจหรืออับอายใน “พวกเรา” มาจากการสร้างความรู้สึกร่วมบางอย่างจนเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ แต่เด็กรุ่นใหม่รู้สึกร่วมแบบนี้น้อยกว่าคนรุ่นเก่า เขาโฟกัสที่ปัจเจกตัวเอง มันไม่ใช่เรื่องของการพัฒนาอัตตาอีโก้เอาดีแต่ตัวเองอย่างที่คนรุ่นเก่าหลายคนมอง แต่เป็นความรับผิดชอบส่วนตัว เขาไม่เคลมเครดิตที่เขาไม่ได้ลงมือ และไม่ขอรับภาระที่เขาไม่ได้ก่อ

เพราะเขามองอย่างปัจเจก เขาจึงสงสัยจริงๆ ว่าทำไมคนรุ่นเก่าอย่างวิทยากร x จึงรู้สึกเป็นเจ้าของความดีงามโบราณที่ตัวเองไม่ได้เป็นผู้สร้าง

จริงๆ เราก็เข้าใจกันดีว่า แม้ไม่ได้เป็นผู้สร้าง ไม่ได้เป็นผู้เล่น แต่การเชียร์ก็เป็นการกระทำที่มอบพลังให้แก่สิ่งอันเป็นของ “พวกเรา”  การรักษาสืบสานมรดกตกทอดจึงเป็นบทบาทที่มีคุณค่าและความหมายในตัวมันเอง

บทบาทของผู้สนับสนุนให้ความหมายในชีวิตได้ง่ายโดยไม่ต้องตั้งคำถามมาก เพราะมีผู้อื่นกำหนดความหมายมาให้ไว้แล้ว มันยากกว่าสำหรับเด็กรุ่นใหม่ ความเป็นปัจเจกทำให้เขาต้องพยายามรู้จักตัวเองให้มากขึ้นเพื่อจะค้นหาความหมายในชีวิต เมื่อหาไม่พบ มันเคว้งคว้าง ไร้จุดหมาย ไร้ค่า สับสน จนซึมเศร้า

มันเป็นธรรมชาติธรรมดามากๆ ของมนุษย์ที่จะอยากเป็นส่วนหนึ่งของอะไรที่ดีงามทรงพลัง เพราะเราไม่ได้ปรากฎตัวขึ้นมาและดำรงอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว เราจึงโหยหาที่จะโยงใยเพื่อเติมเต็ม

แม้แต่คนที่แสนสันโดษก็โหยหา เพียงแต่ไม่ได้หาเอาจากกลุ่มคนในสังคม เขาได้จากธรรมชาติ ทั้งที่อยู่ในตัวและนอกตัว

เมื่อเรารื้อฟื้นความสัมพันธ์กับธรรมชาติ สิ่งที่เราได้มาโดยอัตโนมัติคือความตระหนักรู้ดั้งเดิม ว่าเราผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายความสัมพันธ์ที่มหัศจรรย์สลับซับซ้อนและยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา มันโยงเรากับบรรพบุรุษที่เราภูมิใจ โยงเรากับสัตว์ที่เคยไม่เห็นค่า และทุกสิ่งที่เราทำก็มีความหมาย แม้แต่การหายใจ ซึ่งมักถูกหยิบขึ้นมาพูดเป็นโจ๊กของความไร้ค่า ว่าดีแต่หายใจออกปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ใส่โลกไปวันๆ ให้โลกร้อน

เราแลกเปลี่ยนลมหายใจกับต้นไม้และเสริมสร้างบรรยากาศโลกต่างหาก

ก่อนจะเปิดคอมขึ้นมาเขียนบทความในวันนี้ ฉันมีหัวเรื่องให้เลือกเขียนอยู่ 3 เรื่อง แต่พอเข้าอินเตอร์เนต คำพูดของจอน ยัง นักสื่อธรรมชาติชาวอเมริกันก็ปรากฎขึ้นมาว่า

“เรามีระบบประสาท (nervous system) เรามีระบบไหลเวียนของโลหิต (circulatory system) แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักคือเรายังมีระบบโยงใยอีกด้วย (connective system) เราโหยหาที่จะผูกพันโดยสัญชาติญาน ผูกพันกับธรรมชาติ กับครอบครัว กับชุมชน และกับส่วนที่อยู่ลึกที่สุดในตัวเราเอง”

ฉันจึงตัดสินใจเขียนเรื่องนี้


กรุงเทพธุรกิจ, พฤษภาคม 2561

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share