อยู่ ๆ ก็มีผู้ติดตามบทความของผู้เขียนมาตลอดตั้งคำถามว่า ข้อมูลจากบทความหนึ่งชื่อ “เกือบเอาชีวิตไม่รอด ห้ามกินคู่กันเด็ดขาด มีพิษร้ายแรงเทียบเท่าสารหนู” ซึ่งลงไว้ในเว็บไทยเว็บหนึ่งในอินเตอร์เน็ทเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2018 (โดยมีคำบรรยายต่อว่า “ยังดีที่มา รพ. ทัน ไม่งั้นอาจถึงแก่ชีวิตได้? แพทย์เผยสาเหตุ..ของหญิงวัย 30 ที่ป่วยอยู่..แล้วกินกล้วยกับของเหล่านี้เข้าไปคู่กันโดยคาดไม่ถึงว่ามันจะอันตรายขนาดนี้?”) เป็นบทความที่น่าเชื่อหรือไม่ เพราะดูค่อนข้างแปลก
รายละเอียดต่อจากหัวข้อข่าวกล่าวว่า “….หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่ากล้วยหอมห้ามกินกับอะไรบ้าง เหมือนกับผู้ป่วยรายนี้ที่รับประทานกล้วยกับโยเกิร์ตเข้าไปพร้อมกัน พอเวลาผ่านไปสักพัก เขาเริ่มเกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรงจนทนไม่ไหว ทางบ้านจึงรีบพาส่ง รพ. แพทย์รีบเช็คดูอาการแล้วจึงรีบล้างท้องโดยด่วน พร้อมเผยว่าหญิงวัย 30 รายนี้ได้รับประทานอะไรเข้าไปหรือป่าว หญิงรายนี้เลยบอกแค่ว่าเขา รับประทานแค่กล้วยกับโยเกิร์ตเข้าไป แต่ไม่คิดว่าจะปวดท้องมากขนาดนี้…”
ท่านผู้อ่านบางคนอาจเคยพบบทความในลักษณะข้างต้นนี้มาบ้างพอควร ซึ่งเมื่ออ่านแล้วหลายคนก็คงผ่านไป แต่บางคนอาจคิดต่อว่า ทำไมมันถึงเป็นเช่นที่กล่าวในบทความ โดยเฉพาะเมื่อมีข้อความเหมือนหวังดีเพิ่มเติมว่า “….กล้วยหอมนั้นห้ามกินกับโยเกิร์ตเพราะการรับประทานพร้อมกันจะผลิตสารก่อมะเร็งได้ง่าย กล้วยหอมนั้นห้ามกินกับมันฝรั่งเพราะถ้ากินด้วยกันจะเกิดกระและผื่นแดงที่ข้างจมูก (ผื่นปีกผีเสื้อ) กล้วยหอมนั้นห้ามกินกับเผือกเพราะกินด้วยกันจะทำให้ท้องอืด กล้วยหอมนั้นห้ามกินกับเนื้อวัวเพราะกินด้วยกันจะทำให้ปวดท้อง กล้วยหอมนั้นห้ามกินกับมันเทศเพราะกินด้วยกันจะเกิดปฏิกิริยาทางชีวเคมีที่ไม่พึงประสงค์ทำให้ร่างกายไม่สบาย เป็นต้น…..”
ลักษณะข้อมูลดังกล่าวนั้นดูน่าสนใจ โดยเฉพาะในเรื่องของของกล้วยหอมและเรื่องของโยเกิร์ต ซึ่งบางคนกินแยกกันและบางคนกินผสมกัน (โดยเฉพาะฝรั่งหลายชาติอาจปั่นเป็น smoothie ดังปรากฏเป็นสูตรอาหารเช้าในเน็ทเมื่อใช้คำว่า banana and yogurt ใน google search) เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับการก่ออันตรายได้ของอาหารที่เราคุ้นชินนี้ ทำให้หลายท่านควรตั้งคำถามต่อไปว่า คำแนะนำนั้นอยู่บนฐานของความจริงเพียงใด
ในขั้นต้นนั้นเมื่อพิจารณาดูคำแนะนำ (ของผู้อาจหวังดี) อย่างละเอียดก็พบว่า คำแนะนำนั้นขาดที่มาหรือไม่ให้เหตุผลว่า ทำไมอยู่ ๆ ก็มาห้าม เหมือนโกรธกับแม่ค้าขายกล้วยหอม หรือเคืองพ่อค้าขายโยเกิร์ต ซึ่งก็คงไม่ใช่ ในฐานะที่ผู้เขียนเคยสอนวิชาที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในการบริโภคอาหารจึงได้พยายามสืบต่อว่า ข้อห้ามนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรหรือไม่
สุดท้ายเมื่อเข้าไปดูหลาย ๆ เว็บทั้งไทยและเทศที่แนะว่า ไม่ควรกินกล้วยหอมกับโยเกิร์ตแล้วก็พบว่า ต่างก็อาศัยข้อมูลพื้นฐานจากศาสตร์โบราณของชาวฮินดูคือ อายุรเวท (Ayurveda มาจากภาษาสันสกฤตว่า อายุส แปลว่าชีวิต และเวท แปลว่า ศาสตร์ รวมแปลว่า ศาสตร์แห่งชีวิต)
แต่เดิมผู้เขียนไม่ค่อยได้สนใจในศาสตร์นี้เท่าใดนัก ดังนั้นเมื่อจำเป็นต้องรู้เรื่องบ้างจึงไปค้นหาบทความที่เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ทเกี่ยวกับการที่อายุรเวทห้ามกินอาหาร ก็ได้พบบทความสั้น ๆ เรื่อง Food Combining เขียนโดย Vasant Lad ซึ่งเป็นสมาชิกในกลุ่มของ The Ayurvedic Institute ที่ตั้งอยู่ในรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ในการอ่านบทความดังกล่าวผู้เขียนได้พยายามทำความเข้าใจในเนื้อหาซึ่งค่อนข้างเข้าใจยาก เพราะหลายส่วนเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นก่อนมีการศึกษาที่เป็นวิทยาศาสตร์ยุคใหม่และก่อนการมีธรรมะเรื่อง กาลามสูตรของพระพุทธเจ้า
จากบทความของ Vasant Lad นั้นขอเล่าให้ผู้อ่านที่ไม่เคยสนใจในอายุรเวททราบดังนี้ว่า ผู้ที่เชื่อในศาสตร์ของอายุรเวทนั้นมักไม่ประหลาดใจนักที่ปัจจุบันยาแก้ท้องอืดกลายเป็นที่ต้องการของคนทั่วไป เพราะสภาวะท้องอืดนี้เกิดจากการกินอาหารที่นำมาผสมกันไม่ถูกหลักการกินตามศาสตร์ทางอายุรเวท
อายุรเวทนั้นเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับการบำบัดโรคและอาการผิดปรกติของร่างกาย ซึ่งมีส่วนหนึ่งของศาสตร์นี้กล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารที่ต้องเลือกให้ถูกถ้าจะผสมกันก่อนกิน (ประเด็นนี้เป็นคนละเรื่องกับการกินอาหารให้ครบถ้วนเพื่อโภชนาการที่ดี ซึ่งได้จากการเลือกจากอาหารห้าหมู่ดังที่เป็นที่รู้กันแล้วในกลุ่มผู้บริโภคที่สนใจสุขภาพทั่วไป….ผู้เขียน) ผู้ปฏิบัติทางอายุรเวทเชื่อว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับความสมดุลทางอาหารนั้นเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของพลังในการย่อยอาหารในทางเดินอาหาร กระบวนการนี้เป็นการส่งต่อสารอาหารให้แก่เนื้อเยื่อ ตลอดไปจนถึงเซลล์เพื่อดำรงซึ่งการมีชีวิตของร่างกาย
ตามความเชื่อทางอายุรเวทที่เกี่ยวกับอาหารนั้น ผู้เขียนจับใจความได้ประมาณว่า อาหารแต่ละชนิดมีความเฉพาะในรสชาติ ความเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการให้พลังงานและผลที่เกิดหลังการย่อยต่างกัน ดังนั้นหนทางในการถูกย่อยของอาหารแต่ละชนิดจึงแตกต่างกัน การนำอาหารสองอย่างขึ้นไปมาผสมกันนั้นจำต้องคำนึงถึงกระบวนการย่อยอาหารที่ถูกผสมนั้นว่า ไม่ขัดขวางกัน เพราะสุดท้ายแล้วความไม่เหมาะสมของการผสมอาหารนั้นอาจก่อให้เกิดสารพิษขึ้นมาได้ ซึ่งต่างจากการกินอาหารดังกล่าวแต่ละชนิดต่างเวลากัน อาหารทั้งหมดนั้นกลับช่วยให้ร่างกายดำรงชีวิตได้ (ประเด็นนี้น่าสนใจมาก เสียดายที่ในบทความดังกล่าวไม่ได้ยกตัวอย่างซึ่งอาจมีในคัมภีร์อายุรเวทตัวจริง…ผู้เขียน)
บทความของ Vasant Lad กล่าวถึงความเชื่อทางอายุรเวทว่า การผสมอาหารที่ไม่เข้ากันนั้นอาจก่อให้เกิดการย่อยที่ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้มีการหมัก จนก่อให้เกิดกาซในทางเดินอาหาร ซึ่งถ้าเกิดนานไปอาจส่งผลให้เกิดโรค (ข้อความประมาณนี้พอยอมรับได้ว่าจริงในบางส่วน เช่นการกินถั่วหลายชนิดมากเกินไป น้ำตาลกลุ่มไตรโอสซึ่งมนุษย์ย่อยไม่ได้จึงเคลื่อนลงสู่ลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่จะย่อยต่อแล้วปล่อยกาซออกมา จนเกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ชาวฮินดูคงพบปัญหานี้มานานแล้วเพราะในสมัยโบราณชาวฮินดูที่เป็นพราหมณ์ส่วนใหญ่เป็นมังสวิรัติซึ่งต้องอาศัยถั่วเป็นแหล่งของโปรตีนหลัก…ผู้เขียน) ตัวอย่างที่ Vasant Lad ยกให้เห็นคือ การกินนมกับกล้วยนั้นทำให้เกิดการยับยั้งการย่อยในกระเพาะอาหาร ปรับเปลี่ยนจุลินทรีย์ธรรมชาติที่มีในลำไส้ใหญ่จนเกิดการสร้างสารพิษที่ก่อให้เกิดอาการไซนัสอักเสบ หนาว ไอ และแพ้อาหาร โดยมีคำอธิบายทางอายุรเวทประมาณว่า แม้ว่าอาหารทั้งสองนั้นให้พลังเย็นต่อร่างกาย แต่ผลที่เกิดขึ้นหลังการย่อยแล้วกลับต่างกันโดยกล้วยนั้นให้รสเปรี้ยวแต่นมให้รสหวาน ส่งผลให้ระบบการย่อยอาหารสับสนจนเกิดสารพิษและความไม่สมดุลต่าง ๆ ได้ (ความในย่อหน้านี้เห็นด้วยในบางส่วนและไม่เห็นด้วยในหลายส่วน…..ผู้เขียน)
Vasant Lad ยกตัวอย่างอาหารที่ก่อปัญหาในลักษณะเดียวกันเพิ่มเติมพร้อมให้เหตุผลแบบแขก ๆ ว่า ไม่ควรดื่มนมพร้อมไปกับแตงต่าง ๆ แม้ว่าอาหารทั้งสองให้พลังเย็นต่อร่างกาย แต่นมนั้นมีฤทธิ์ส่งผลให้เกิดการถ่ายท้องในขณะที่แตงช่วยระบายปัสสาวะ โดยปรกติแล้วนมนั้นต้องการเวลาในการย่อยมากกว่าแตง นอกไปจากนี้กรดในกระเพาะอาหารนั้นก็เป็นที่ต้องการในการย่อยแตงส่งผลให้นมตกตะกอน (curdle) ซึ่งไม่ดีต่อการย่อยอาหาร (ความในข้อนี้ดูแปลกเพราะ ในความเป็นจริงทางสรีรวิทยาการย่อยอาหารแล้ว แตงนั้นไม่มีส่วนใดที่ควรถูกย่อยในกระเพาะอาหารเนื่องจากมีโปรตีนต่ำ น้ำตาลในแตงจะถูกย่อยด้วยน้ำย่อยจากตับอ่อนในลำไส้เล็ก และส่วนใหญ่ของแตงนั้นคือ ใยอาหาร จะไม่ถูกย่อยจึงเคลื่อนไปสู่ลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ความรู้ทางสรีรวิทยาที่ตรงข้ามกับความรู้ทางอายุรเวทคือ การตกตะกอนของนมในกระเพาะอาหารนั้นจริงแล้วเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นกับโปรตีนทุกชนิดก่อนที่จะถูกย่อยบางส่วนด้วยเอ็นซัมเป็บซินในกระเพาะอาหาร แล้วจึงส่งต่อให้ถูกย่อยจนสำเร็จด้วยเอ็นซัมจากตับอ่อนในลำไส้เล็ก…ผู้เขียน)
นอกจากคำแนะนำในการกินอาหารที่ไม่เข้ากันทางอายุรเวทแล้ว ข้อมูลลักษณะเดียวกันนี้ย่อมต้องมีในชนชาวจีนซึ่งมีรากฐานทางวัฒนธรรมที่นานไม่ต่างจากชาวอินเดีย ผู้เขียนได้พบข้อมูลที่เป็นข้อห้ามในการกินอาหารที่ไม่เหมาะกันของชาวจีนซึ่งเขียนโดยฝรั่งคนหนึ่ง (ซึ่งไม่อธิบายเหตุผลว่า ทำไมจึงห้าม เพียงแต่บอกว่าคนจีนเชื่อเท่านั้น ซึ่งเมื่อสังเกตจากสำนวนของบทความก็บอกได้ว่าเจ้าของบทความก็ไม่เชื่อเรื่องที่เขียนนัก….ผู้เขียน) ในบทความชื่อ Dangerous food combinations ซึ่งปรากฏในเว็บ martalivesinchina.wordpress.com เมื่อวันที่ 27 เดือนตุลาคม 2016 โดยกล่าวประมาณว่า อย่ากินมะเขือเทศพร้อมกุ้ง (กุ้งมีบางอย่างที่เมื่อผสมกับมะเขือเทศกลายเป็นพิษ) น้ำผึ้งพร้อมต้นหอม (ก่อปัญหากับดวงตา) ไก่พร้อมผักชีฝรั่ง (มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันอ่อนลง) เนื้อเห็ดพร้อมเนื้อลา (ทำให้เส้นเลือดแดงทำงานผิดปรกติ) แครอทพร้อมหัวไชเท้า (ลดประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันและทำให้เกิดการติดเชื้อในเลือด) มันฝรั่งพร้อมลูกพลับ (อาจเกิดนิ่วในไตได้) เป็นต้น
ความเชื่อเรื่องการกินอาหารของชาวจีนก็คงไม่ต่างจากชาวอินเดีย กล่าวคือ อาศัยประสบการณ์จดจำและบันทึกจากผลที่เกิดกับการกินอาหารต่าง ๆ แล้วก่ออันตรายแก่คนบางคน (ซึ่งอาจไม่ใช่ทุกคน) โดยปราศจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์แนวปัจจุบัน
ในปัจจุบันนี้การหาความจริงว่า “อาหารใดที่ถูกระบุว่ามีประโยชน์หรือโทษ ทั้งกรณีกินเดี่ยวหรือกินเป็นของผสมนั้นมีผลจริงต่อสุขภาพประชาชนหรือไม่” ยังไม่ได้รับการสนับสนุน เนื่องจากงานวิจัยในแนวนี้ดูไม่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง (แม้จะมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคทั่วไป) เนื่องจากผลงานที่ได้คงไม่นำสู่การจดสิทธิบัตรเพื่อสร้างตัวเงินหรือส่งผลต่อตัวเลขจีดีพีของรัฐบาลประเทศใดกระมัง
ในการค้นข้อมูลเกี่ยวกับอายุรเวทเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับอาหารที่ห้ามกินพร้อมกันนั้น ผู้เขียนยังได้พบบทความอีกหนึ่งบทความชื่อ Viruddha Ahara: A critical view ซึ่งเขียนโดย M. Sabnis (www.ayujournal.org/text.asp?2012/33/3/332/108817) ผู้ซึ่งอธิบายถึงเรื่องราวของ Viruddha Ahara ซึ่งเป็นแนวคิดเฉพาะเรื่องที่อธิบายไว้ในอายุรเวท (Ayurveda) โดยคำว่า Viruddha Ahara นั้นหมายถึง ปฏิสัมพันธ์ต่อกันระหว่างอาหารกับอาหาร ซึ่งรวมถึงปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบในอาหารระหว่างการแปรรูปอาหาร ในขณะที่คำที่มีความหมายถึง อาหารที่ไม่เข้ากัน นั้นอายุรเวทใช้คำศัพท์ว่า Viruddha Anna
บทความของ M. Sabnis นั้นให้ความรู้ประมาณว่า ศาสตร์ด้านอายุรเวทนั้นมีความชัดเจนในการกำหนดว่า อาหารบางชนิดซึ่งรวมถึงการผสมกันของอาหารบางชนิดสามารถขัดขวางการเผาผลาญเพื่อให้ได้พลังงานจากอาหารในเนื้อเยื่อ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงการยับยั้งกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อหรือปรับเปลี่ยนให้เนื้อเยื่อทำงานตรงข้ามไปจากเดิม ดังนั้นจึงมีการกำหนดรายละเอียดถึงอาหารซึ่งไม่ควรกินร่วมกัน อาหารซึ่งต้องกินในสัดส่วนที่เหมาะสม และอาหารซึ่งต้องกินให้ถูกเวลาหรือฤดูกาล เพื่อป้องกันการเกิดผลเสียจากการกิน
- Sabnis ยกตัวอย่างการกินอาหารที่ไปด้วยกันไม่ได้ตามหลักอายุรเวท ซึ่งก่ออันตรายต่อร่างกาย (โดยไม่ได้ให้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์….ผู้เขียน) ได้แก่ กินปลากับนม กินน้ำผึ้งกับเนยใสหรือกีในสัดส่วนที่เท่ากัน (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 226) พ.ศ.2544 เรื่อง เนยใสหรือกี (Ghee) ระบุว่า เนยใสหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม หรือครีม หรือเนย ซึ่งใส่จุลินทรีย์หรือไม่ก็ตาม โดยแยกธาตุน้ำนมไม่รวมมันเนยและระเหยเอาน้ำออก) ดื่มน้ำร้อนหลังจากกินน้ำผึ้ง กินอาหารที่ไม่ถูกต้องตามกาลเวลา เช่น กินอาหารรสฉุนในฤดูร้อนและอาหารรสเย็นในช่วงฤดูหนาว ดื่มน้ำเย็นทันทีหลังดื่มชาร้อนหรือกาแฟร้อน เป็นต้น
ตามหลักทางอายุรเวทนั้น ได้มีการทำบัญชีรายชื่ออาหารที่ไม่เข้ากันซึ่งถ้ามีการบริโภคเข้าไปพร้อมกันแล้ว ผู้บริโภคอาจเกิดปัญหาความเสื่อมสมรรถภาพทางเพศไปจนอาจเป็นหมันได้ ผู้ที่สนใจในรายชื่ออาหารที่ส่อให้เกิดปัญหาดังกล่าวนั้นสามารถตามเข้าไปดูในเว็บดังกล่าวที่ M. Sabnis เขียนบทความไว้
ท่านผู้อ่านคงพอจับประเด็นได้บ้างว่า การกินอาหารแล้วเกิดผลเสียต่อร่างกายมนุษย์นั้นน่าจะมีอยู่จริง เพราะศาสตร์โบราณของอินเดียและจีนซึ่งถือว่ามีอิทธิพลต่อความเชื่อของคนที่อยู่ในส่วนที่เรียกว่า อินโดจีน นั้นไม่น่าเป็นที่ประหลาดใจนัก เพียงแต่ความรู้ในศาสตร์โบราณนั้นเป็นเรื่องของการเก็บข้อมูลที่ยังขาดการทำวิจัยเพื่อพิสูจน์ความจริง อีกทั้งปัจจุบันยังมีประเด็นที่เราพอทราบกันว่า มนุษย์นั้นมีความหลากหลายทางพันธุกรรมในระดับที่หาผู้ที่เหมือนกันไม่ได้เลย (แม้แฝดเหมือนที่มาจากไข่ใบเดียวกัน เมื่อเวลาผ่านไป อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมจะส่งผลให้การแสดงออกทางพันธุกรรมเริ่มต่างกันออกไป ซึ่งเป็นอิทธิพลในลักษณะที่เรียกว่า epigenetic effect ซึ่งผู้เขียนได้เขียนบทความในลักษณะนี้บ้างแล้ว) ดังนั้นการที่ใครคนใดคนหนึ่งจะเกิดปัญหาเนื่องจากการกินอะไรสักอย่างหรือของผสมมากกว่าหนึ่งอย่างนั้น ย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้อย่างไม่น่าประหลาดใจ
เรื่องของการห้ามกินอาหารบางชนิดตามกาลเวลาที่มักมีการแนะนำเห็นในอินเตอร์เน็ทอีกเรื่องหนึ่งคือ ไม่ควรดื่มกาแฟหลังบ่ายโมงหรือหลังอาหารเย็น เพราะทำให้นอนหลับยากในช่วงกลางคืน คำแนะนำนี้เป็นจริงในบางคน แต่ก็ไม่เป็นจริงกับบางคนเช่นผู้เขียน ซึ่งดื่มกาแฟแล้วก็สามารถนอนหลับได้ถ้าไม่มีเรื่องกังวลอยู่ในใจ อีกทั้งกาแฟนั้นมีส่วนช่วยอย่างมากในการช่วยให้นอนหลับได้ในคืนที่เพิ่งกลับถึงบ้านหลังอุบัติการณ์รถติดแบบวินาศสันตะโรในวันที่ฝนตกหนัก (แล้วมีน้ำฝนรอการระบายเพราะไม่สามารถไหลไปลงอุโมงค์ระบายน้ำมูลค่าหลายพันล้านบาทได้) ผู้เขียนขอลองอธิบายปรากฏการณ์นี้ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ประมาณว่า
การย่อยสลายเพื่อทำลายสารแปลกปลอมเช่น แคฟฟีอีนในกาแฟซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้คนนอนหลับเร็วช้าต่างกันนั้นนั้น ขึ้นกับความแตกต่างในความสามารถของระบบเอ็นซัมกลุ่มหนึ่งในตับ ซึ่งถูกกำหนดความสามารถในการทำงานด้วยพันธุกรรมของแต่ละคน ซึ่งโดยสรุปแล้วคนที่ดื่มกาแฟแล้วนอนหลับได้ไม่ยากนั้น เป็นผู้ที่มีระบบเอ็นซัมทำลายแคฟฟีอีนเร็วมาก อาจสังเกตได้จากกลิ่นกาแฟที่ถูกขับออกมาพร้อมปัสสาวะอย่างรวดเร็วในครั้งแรกที่เข้าห้องน้ำหลังดื่มกาแฟ ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคควรพยายามสังเกตผลของการกินอาหารใด ๆ ของตนเองคือ เมื่อกินแล้วก่อปัญหาต่อสุขภาพซ้ำซากหรือไม่ ถ้าพบว่าใช่ก็ควรเลิกกิน และก่อนที่จะลองกินอะไรใหม่ ๆ ก็ควรกินแต่เพียงเล็กน้อยก่อน เพื่อสังเกตและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดจากการกินสิ่งใหม่นั้น