in on March 13, 2017

เหล้าเบียร์ละเหี่ยใจ (ต่อ)

read |

Views

ดังที่ทราบกันดีแล้วว่าเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์นั้นมีเอ็ททิลเเอลกอฮอล์เป็นสารหลักซึ่งทำให้เกิดความเมา เกือบ 30 ปีมาแล้ว ผู้เขียนได้มีโอกาสแปลความหมายของข้อมูลว่า เเอลกอฮอล์ในเลือดเท่าไรถึงทำให้เมาจนเกิดอันตรายในขณะขับรถบนถนน

จากนั้นนำข้อมูลที่ได้จากการทดสอบหาปริมาณเเอลกอฮอล์ที่ทำให้คนไทยต่างอาชีพเมาไปให้เพื่อนนักสถิติช่วยให้ความเห็นในการแปลข้อมูล สุดท้ายหลังจากทุกอย่างจบลงได้ผลออกมาว่า ระดับเเอลกอฮอล์ในเลือดเท่าใดจึงทำให้ต้องเสียค่าปรับและ/หรือต้องบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ

มีเกล็ดความรู้หนึ่ง จากการศึกษาครั้งนั้นซึ่งผู้เขียนจำได้คือ การหาระดับเเอลกอฮอล์ในเลือดที่ทำให้คนไทยเมานั้นพบว่า กรรมกรที่ใช้แรงงานมักคอแข็งกว่าไก่อ่อนเช่นนักศึกษามหาวิทยาลัย ทั้งนี้ก็เป็นไปตามหลักการชีวเคมีประมาณว่า เเอลกอฮอล์นั้นถูกจัดการเปลี่ยนแปลงให้เป็นพลังงานที่ตับ คนที่มีตับซึ่งมีประสบการณ์สัมผัสกับอัลกอฮอลบ่อยย่อมจัดการเเอลกอฮอล์ได้ดีกว่า เพราะมีการการผลิตเอ็นซัมเพื่อใช้เปลี่ยนแปลงเเอลกอฮอล์ให้เป็นพลังงานอย่างรวดเร็วกว่า  จึงมีสภาพที่คนทั่วไปเรียกว่าคอแข็งเมายาก

ส่วนอาสาสมัครนักศึกษาที่ไม่เคยดื่มเลยแต่ยอมพลีตนในการทดลองที่ถูกทำให้เมา เมาเละแบบไม่รู้เรื่องแม้ว่าในการศึกษานั้นให้ดื่มเหล้าแค่แก้วเดียว เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ที่ไม่เคยคิดจะดื่มเครื่องดื่มอัลกอฮอลทั้งหญิงและชายว่า อย่าได้มีทิฐิลองดื่มนอกบ้านเมื่อถูกใครท้าทาย มิเช่นนั้นอาจถูกประทุษร้ายได้ 

พิษภัยที่เกิดจากการดื่มเครื่องเเอลกอฮอล์จะขึ้นกับขนาดที่ดื่ม ความถี่ที่ดื่ม เพศ พันธุกรรม อายุ และอื่นๆ ซึ่งมีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ผู้ที่ดื่มพร้อมไปกับการกินอาหารมักเกิดความเป็นพิษช้ากว่า ยิ่งถ้าเป็นการดื่มปริมาณน้อยๆ เเอลกอฮอล์จะกระตุ้นให้น้ำย่อยออกมาย่อยอาหารได้ดีขึ้น แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดเป็นการดื่มไปพร้อมกับการได้รับยาที่มีฤทธิ์เกี่ยวกับระบบประสาทเช่น ยานอนหลับ (และยากลุ่มใกล้เคียง) ทั้งที่ต้องให้หมอเขียนใบสั่งแพทย์ไปซื้อได้เองจากร้านขายยา หรือเป็นยาเสพติด มักส่งผลให้ผู้ที่ดื่มและได้ยาพร้อมกันตายมาเสียนักต่อนัก เนื่องจากเกิดการกดระบบประสาทส่วนกลางส่วนที่ควบคุมการหายใจมากจนหยุดหายใจ

เวลาพูดถึงพิษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งที่จำเป็นต้องกล่าวถึงเกี่ยวกับขนาดของการดื่มคือ ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือด (Blood alcohol concentration หรือ BAC)ที่เกิดหลังการดื่ม

ในประเทศไทย พรบ. จราจรกำหนดไว้ว่า ผู้ขับขี่ต้องมีความเข้มข้นแอลกอฮอล์ในเลือดไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ ซึ่งวิเคราะห์ได้ด้วยเครื่องมือในห้องปฏิบัติการหรือใช้เครื่องเป่าลมหายใจที่ได้มาตรฐานก็จะคำนวณได้เป็นตัวเลข มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรของเลือด (คือ มิลลิกรัมเปอร์เซนต์)

เมื่อแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ตำรวจจราจรสามารถตรวจหาระดับแอลกอฮอล์ในเลือดหลังดื่มออกมาจากสถานเริงรมย์ได้ภายในเวลา 5 นาที โดยระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ขึ้นสูงสุดภายในเวลา 30 – 45 นาทีหลังการดื่ม

ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาว่าคนไทยกินเหล้าหรือเบียร์เท่าใดจึงมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดไม่เกินระดับที่ พรบ.จราจร ยอมได้  สำหรับผู้อ่านที่สนใจว่า ดื่มเท่าใดจึงขับรถแล้วไม่ถูกจับปรับนั้นสามารถไปอ่านข้อมูลดังกล่าวได้ที่ http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=141

อย่างไรก็ดีผู้เขียนไม่สนับสนุนให้ลองดื่มเพื่อพิสูจน์ว่าจะถูกจับหรือไม่ หลังจากได้ข้อมูลจากเว็บของศิริราชที่ระบุข้างต้น เพราะผู้เขียนได้กล่าวแล้วว่า การจัดการกับแอลกอฮอล์ในเลือดนั้นขึ้นกับความสามารถของแต่ละบุคคล ดังนั้นถ้ายังรักจะผิดศีลข้อ 5 ก็ควรดื่มที่บ้านแล้วเมาหลับไปเลยจะได้ไม่ต้องเสียเงินและเวลาในห้องขัง และสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ เสียหน้าเพราะถูกจับเมื่อเมาแล้วขับเหมือนดาราหลายคนที่ต้องเสียเวลาไปบำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณะแบบไม่ได้ตั้งใจจริง

ค่ากำหนดของ BAC หรือความเข้มข้นแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่รถที่ทำให้ถูกจับปรับได้นั้นต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น อัฟกานิสถาน (ซึ่งน่าจะรวมถึงประเทศที่พลเมืองส่วนใหญ่เป็นมุสลิม) และเนปาล (ซึ่งตอนนี้เป็นคอมมิวนิสต์) ใช้ตัวเลขร้อยละ 0.00 คือ มีไม่ได้ สำหรับอัลบาเนีย มอรอคโคและสวีเดนยอมที่ร้อยละ 0.02 โดยที่อินเดียยอมที่ร้อยละ 0.03 ฮ่องกง ออสเตรเลีย อัฟริกาใต้และสมาชิกส่วนใหญ่ของสหภาพยุโรปยอมให้เท่ากับไทยคือ ร้อยละ 0.05 สำหรับประเทศที่ยอมให้มีกลิ่นเหล้าในรถ (ที่ออกมากับลมหายใจ) มากหน่อยคือ แคนาดา สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สิงคโปร์และบราซิล ซึ่งยอมที่ร้อยละ 0.08

อาจกล่าวได้ว่าค่า BAC นั้นเป็นตัวกำหนดความเป็นหรือตายของผู้ดื่ม Wikipedia ให้ข้อมูลประมาณว่า ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดระหว่างร้อยละ 0.03-0.12 นั้นทำให้อารมณ์ผู้ดื่มรื่นเริง บันเทิงใจ เกิดความมั่นใจในตนเอง (แบบไม่เคยเป็น ซึ่งทำหลายคนเปลี่ยนจากคนหน้าบางเป็นหน้าหนาทำสิ่งเลวร้ายเช่น ขโมยรูปสับปะรังเคของทางเดินในโรงแรมได้) เข้าสังคมระดับล่างได้แบบไม่เคอะเขิน เลิกกังวลใจ (ชั่วคราว) ในปัญหาที่มีอยู่ ผิวหน้าของคนที่ผิวขาวเริ่มแดงพร้อมเปียกเหงื่อ การตัดสินใจไม่เป็นตามเหตุผลที่สมควรและที่สำคัญคือ เริ่มเสื่อมความสามารถในการควบคุมกล้ามเนื้อจึงมักเดินโซเซ จับสิ่งของไม่ถนัด เป็นต้น

เมื่อเมาได้ที่เพราะมีแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึงระดับระหว่างร้อยละ 0.09-0.25 ร่างกายเริ่มอ่อนเปลี้ยเพลียแรง บางคนก็สงบพร้อมสลบไปเลย ถ้ายังตื่นอยู่ร่างกายจะเริ่มเสียสมดุล การมองเห็นเริ่มมัว (ส่วนใหญ่คงจำใครไม่ได้แม้แต่ภรรยาซึ่งเกรงใจหนักหนา) เริ่มเดินโซเซ ซึ่งสภาพร่างกายระดับนี้ถ้าขับรถเมื่อไรก็มักได้ไปสัมปรายภพพร้อมพาผู้อื่นไปด้วย ในต่างประเทศตำรวจจราจรมักให้ผู้ที่ขับรถไม่ค่อยตรงทางต่างจากคนอื่นหยุดขับแล้วลงเดินบนเส้นสีที่ตีไว้ริมถนนเพื่อจ่ายใบสั่ง แต่คนไทยหัวหมอมักอ้างภายหลังว่าไม่เมาจึงจำเป็นต้องจับเป่าเครื่องวัดระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจซึ่งสัมพันธ์กับระดับที่อยู่ในเลือด

เมื่อระดับแอลกอฮอล์ในเลือดขึ้นถึงระดับร้อยละ 0.18-0.30 ผู้ดื่มมักแสดงอาการจิตใจว้าวุ่น ส่งผลให้ทำในสิ่งไร้สาระต่าง ๆ พูดลิ้นพันกัน (คล้ายคนที่พูดรัวเร็วในงานประมูลสินค้า) เวียนหัว ตาลายและเริ่มอาเจียนให้คนในบ้านต้องปวดหัวกับการทำความสะอาด หลายคนถ่ายทางปากเรี่ยราดในห้องน้ำแล้วลื่นล้มหัวกระแทกโถส้วมถึงตายหรือพิการได้

จุดที่ผู้ดื่มเริ่มหมดสภาพของความเป็นคนคือ เมื่อระดับเเอกอฮอล์ในเลือดสูงถึงระหว่างร้อยละ 0.25-0.40 .จุดนี้ผู้ดื่มมักลืมว่าตัวเองเป็นใคร (เพราะมักชอบถามคนอื่นว่า รู้ไหมว่าผมเป็นใคร) อาจหมดสภาพในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าแบบว่า โดนทำไฟเย็นก็ไม่เจ็บ ระบบรับกลิ่นของจมูกเริ่มเสื่อม และที่น่าสนใจคือ ผู้ที่เมาในขั้นนี้อาจตายได้เนื่องจากระบบหายใจเริ่มถูกกดจนแผ่วลง หรือตายจากการสำลักอาเจียนที่คายออกมาในช่วงเมาหมดสติ และเมื่อระดับแอลกอฮอล์ขึ้นถึงระหว่างร้อยละ 0.35-0.8 ผู้ดื่มนั้นจะเริ่มเข้าสู่สภาวะหลับไม่ตื่น (coma) ซึ่งอาจลืมหายใจแล้วตายไปเลย จึงมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่พิศมัยการดื่มหนักนั้นว่า ควรทำพินัยกรรมไว้ก่อนแต่เนิ่น ๆ ลูกหลานจะได้ไม่เดือดร้อนทะเลาะกันภายหลังโดยเฉพาะผู้ที่เมาแล้วมีแม่บ้านมากกว่าหนึ่งคนโดยไม่เจตนา

ผู้เขียนเคยพบข่าวในหนังสือพิมพ์สมัยเรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกาว่า มีผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากการกินอาหารเนื้อหมัก (เช่น ไส้กรอก หมูแฮม) ที่ผลิตไม่ดี มีสารพิษบอททูลินซึ่งเกิดจากแบคทีเรียชื่อ Clostridium botulinum เป็นประจำ ทั้งนี้เพราะเมื่อนักดื่มเมาถึงระดับสูญเสียความสามารถในการดมกลิ่นแล้วจะไม่ได้กลิ่นกาซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (หรือกาซไข่เน่าซึ่งมีกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรงที่แบคทีเรียจสร้างระหว่างการสร้างสารพิษนั้น) จึงทำให้ผู้เมาถึงระดับนี้สามารถกินอาหารที่มีสารพิษพร้อมกลิ่นเหม็นได้สบาย จากนั้นก็ตายเนื่องจากสารพิษทำให้ระบบหายใจล้มเหลว

โดยทั่วไปแล้วผู้ที่ดื่มเหล้าหนักแล้วไม่ตายมักมีอาการติดสุราเรื้อรัง ซึ่งเป็นลักษณะของคนที่ขาดการดื่มไม่ได้และต้องเพิ่มปริมาณที่ดื่มขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่ตามมาคือ สุขภาพเริ่มเสื่อมโทรมเพราะขาดสารอาหาร (ดังที่กล่าวข้างต้นแล้วคนที่ดื่มหนักมักอิ่มเนื่องจากได้พลังงานจากแอลกอฮอล์สูง) โดยทั่วไปแล้วอายุขัยของผู้ติดสุรานั้นสั้นกว่าคนที่ไม่ดื่มราว 10 ปี

สำหรับผู้ที่ดื่มปริมาณน้อยหรือมีการเพิ่มครั้งละไม่มากนัก มักชอบยกข้อมูลที่มีผู้กล่าวว่า แอลกอฮอล์ในขนาดพอเหมาะอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ สมองขาดเลือด เบาหวาน ทำให้อายุยืนยาวได้ แต่ส่วนมากแล้วมักเป็นการยากสำหรับผู้ดื่มประจำที่ไม่เพิ่มปริมาณในการดื่ม เพราะเมื่อได้ลงติดเหล้าเสียแล้วอะไร ๆ ก็ขวางไม่ได้ (ท่านที่สนใจประเด็นนี้ ผู้เขียนใครแนะนำให้ไปดูภาพยนต์เรื่อง ไอ้ฟัก หรือ คำพิพากษา ซึ่งมีให้ดาวน์โหลดได้ในอินเตอร์เน็ต) ส่วนผลเสียระยะยาวที่อาจเกิดแก่ผู้ที่คิดว่าตนดื่มเพื่อสุขภาพคือความดันโลหิตสูงหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะและสมองขาดเลือด

มักมีผู้ที่ยังลังเลใจว่า ทำตัวอย่างไรดีในสังคมที่มีคนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันจัง จึงมักถามใครต่อใครว่า เราควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ ซึ่งในทางวิชาการนั้นมีการกล่าวว่า เพียงการดื่มหนึ่งดริ้งค์ต่อวันก็สามารถกระตุ้นการเกิดมะเร็งที่ เต้านม ตับ ทางเดินอาหารส่วนไส้ตรง คอหอย ปาก และหลอดอาหารได้แล้ว อย่างไรก็ตามยังพอมีงานวิจัยหลายชิ้นกล่าวถึงแอลกอฮอล์ว่าดีต่อหัวใจ ซึ่งผู้อ่านควรต้องพิจารณาว่า บทความนั้นเขียนโดยใครและมีใครค้ำชูอุปถัมภ์หรือไม่ วารสารวิชาการที่ดีจะกำหนดให้ผู้เขียนต้องแจ้งถึงการมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) เพื่อป้องกันนักวิชาการที่หากินด้วยการรับจ้างเขียนบทความให้ประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ

มูลนิธิหัวใจของออสเตรเลีย (Australia’s Heart Foundation) แนะนำว่า ถ้าต้องการหัวใจที่แข็งแรงไม่ควรดื่มเครื่องดื่มอัลกอฮอลซึ่งรวมถึงไวน์ อย่างไรก็ตามถ้ายังถวิลหาความเมาก็ไม่ควรดื่มเกิน 2 ดริ้งค์ต่อวันไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ซึ่งเป็นไปตามที่องค์การอนามัยโลกที่แนะนำเช่นกันว่า หัวใจจะแข็งแรงถ้ากินอาหารที่ดีต่อสุขภาพและหมั่นออกกำลังกายโดยไม่ต้องไปใส่ใจกับคำแนะนำ (โง่ ) ให้ดื่มไวน์

ภาพจาก: heartfoundation

จากข้อดีเพียงน้อยนิดและข้อเสียอันมากล้นของการดื่มแอลกอฮอล์ที่มีนักวิชาการกล่าวถึงนั้น ผู้บริโภคควรตัดสินใจอย่างไรดี เว็บ www.webmd.com มีบทความเรื่อง FAQ: Alcohol and Your Health ซึ่งเป็นการหาข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ทั้งด้านหัวใจ มะเร็ง ระบาดวิทยา และอายุรแพทย์ เพื่อให้ความกระจ่างต่อความเสี่ยงและประโยชน์ที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งสุดท้ายคำตอบนั้นก็ไม่แน่ชัดนัก (เพราะผู้เชี่ยวชาญบางคนก็ดวดเป็นประจำ) แต่อย่างน้อยก็มีข้อมูลที่ดูตรงกับที่ได้จากเว็บอื่น ๆ ดังนี้

ผู้ที่ยังไม่ติดสุรานั้นถ้าไม่ดื่มต่อก็จะดีมาก เช่นเดียวกับหญิงมีครรภ์ก็ควรถือศีลข้อห้าอย่างเหนียวแน่นลูกจะได้มีสุขภาพดี เหตุสำคัญที่ทำให้การตอบคำถามเกี่ยวกับผลของแอลกอฮอล์และสุขภาพเป็นเรื่องยากเพราะ มันเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลซึ่งมีความต่างกันในรายละเอียดของร่างกาย พูดง่ายๆ คือ มันน่าจะขึ้นกับพันธุกรรม เพศสภาพ ความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม และสังคมของการประกอบอาชีพ

มีคำแนะนำหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจคือ ถ้าท่านยังไม่ได้คิดจะดื่มก็จงอย่าได้คิดดื่มเลยเพราะท่านจะได้ไม่ต้องเสี่ยงหัวก้อยว่า ผลที่ได้รับจากการดื่มนั้นดีหรือเลว ส่วนท่านที่ดื่มอยู่แล้ว สิ่งที่ควรทำคือ ลดปริมาณการดื่มเป็นหนึ่งดริ้งค์สำหรับหญิงและสองดริ๊งค์สำหรับชาย ที่สำคัญคือ ผู้ที่ถูกประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหรือกำลังเป็นมะเร็ง ให้รีบหยุดการดื่มทันทีเผื่อท่านอาจมีบุญได้อยู่ต่อไปอีกสักพัก

แม้การดื่มเหล้าก่อให้เกิดความสุขเพลิดเพลินเจริญใจ แต่มันเป็นความรู้สึกสุขหลอก ๆ ที่เมื่อฤทธิ์เหล้าคลายลงความทุกข์ย่อมกลับมา พุทธศาสนาจึงได้กล่าวถึงโทษของการดื่มสุราว่า ทำให้เสียทรัพย์ ไม่ทำการงาน ชอบก่อการทะเลาะวิวาทเพราะขาดสติควบคุมตนเองไม่ได้ สุขภาพอ่อนแอเกิดโรค(เช่น ตับแข็ง โรคกระเพาะ โรคหัวใจ เส้นโลหิตในสมองแตก โรคทางระบบประสาท) เสียชื่อเสียงถูกเหยียดหยามว่าเป็นคนไม่ใส่ใจทำมาหากิน ขาดความละอายโดยมักแสดงตนเอะอะโวยวายและทำอุจาดในที่สาธารณะ จนสุดท้ายสติปัญญาเสื่อมถอยคิดไม่ออก หลงลืม ปัญญาเสื่อม

มีผู้ครองธรรมท่านหนึ่งแถวรังสิตคลองสองกล่าวไว้ในอินเตอร์เน็ตว่า เหล้าอาจไม่ได้มีโทษเฉพาะชาตินี้เท่านั้น ยังอาจมีโทษติดตัวผู้ดื่มข้ามภพข้ามชาติ (ถ้าท่านเป็นคนเชื่อในภพชาติ) ทำให้เกิดใหม่เป็นคนใบ้เพราะเวลาเมาในชาตินี้มักพูดไม่ค่อยรู้เรื่องเหมือนมีลิ้นจุกปาก พอเกิดใหม่เลยชินต่อการพูดลักษณะดังกล่าวจึงกลายเป็นใบ้ กรรมจากการดื่มน่าจะทำให้เกิดใหม่เป็นคนบ้าได้เพราะชาตินี้เวลาเมามักมีประสาทหลอนในเรื่องต่าง ๆ อีกทั้งเมื่อเกิดใหม่อาจเป็นคนปัญญาอ่อนเพราะขณะเมาในชาตินี้มักคิดอะไรไม่ค่อยออกจึงชินต่อการไม่ใช้สมองคิด สุดท้ายอาจเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานเดินสี่ขาลำตัวขนานไปกับพื้นโลก เพราะในชาติปัจจุบันต้องคลานตามพื้นเนื่องจากครองสติควบคุมกล้ามเนื้อแขนขาไม่ได้นั้นแล

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://www.pexels.com/photo/alcohol-auto-automotive-beer-288476/
  2. ภาพจาก: https://www.heartfoundation.org.au/healthy-eating/food-and-nutrition/drinks
เเก้ว กังสดาลอำไพ

ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ เป็นนักพิษวิทยาที่กินเงินบำนาญ จึงมีเวลาเขียนบทความเกี่ยวกับความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์อาหารและโภชนาการ ในคอลัมน์ กินดีอยู่ดี โดยใช้ประสบการณ์ที่เคยดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ สอน วิจัยและเป็นประธานหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการในมหาวิทยาลัยมหิดลนาน 31 ปี มาเขียนบทความกึ่งวิชาการที่ประชาชนทั่วไปน่าจะได้รู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคและการเลือกกินอาหารที่ปลอดภัยมีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อจะได้ไม่ถูกลวงในภาวะสังคมปัจจุบันที่แทบจะเชื่อใครไม่ได้เลยในอินเตอร์เน็ท

Email

Share