in on June 9, 2015

ค่าเก็บขยะ…เพิ่มเงินเพิ่มประสิทธิภาพ?

read |

Views

เรื่องขยะจะไม่ใช่เรื่องเล็กและไร้สาระเหมือนชื่ออีกต่อไป เมื่อภาพใหญ่เชิงนโยบายรัฐบาลประกาศให้ขยะเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งพ่วงมาพร้อมกับการออกกฎหมาย และส่งเสริมการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขยะจนทำให้หุ้นของบริษัทกำจัดขยะในตลาดหลักทรัพย์พุ่งพรวดพราด

ส่วนภาพย่อยใกล้ตัวครอบคลุมทุกครัวเรือน คือคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บค่ากำจัดขยะได้ครัวเรือนละ 150 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้ให้เก็บได้ไม่เกิน 70 บาทต่อครัวเรือน จึงเท่ากับว่าเพดานการเรียกเก็บเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว แต่หากเปรียบเทียบการจัดเก็บจริงในปัจจุบันที่ 20 บาท ต่อครัวเรือน เท่ากับเพิ่มขึ้นถึง 750 เปอร์เซนต์เลยทีเดียว

ตัวเลขดังกล่าวมาจากการศึกษาและวิจัยว่าคน 1 คนสร้างขยะ 1 กิโลกรัมต่อวัน โดยเฉลี่ยแต่ละครัวเรือนมีสมาชิก 5 คน เท่ากับสร้างขยะ 150 กิโลกรัม ค่ากำจัดขยะเฉลี่ย 1 บาทต่อกิโลกรัม เท่ากับเดือนละ 150 บาท โดยทางภาครัฐเชื่อว่าการเพิ่มค่าจัดเก็บขยะจะกระตุ้นให้ประชาชนทิ้งขยะน้อยลง ด้วยการคัดแยกขยะที่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ก่อนนำไปทิ้ง

นั่นจึงถือเป็นหลักการที่ดี เพราะปัจจุบันจังหวัดน้อยใหญ่ในบ้านเรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาขยะล้นเมือง เนื่องจากปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้นขณะที่ที่ฝังกลบลดน้อยลงเนื่องจากจำนวนขยะเต็มหรือล้นพื้นที่ ส่วนการกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาเผาก็เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมทั้งควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก และสารก่อมะเร็งไดออกซิน

ที่สำคัญแม้บางจังหวัดจะมีเตาเผาขยะประสิทธิภาพสูง แต่ลักษณะขยะไม่เหมาะสมกับความสามารถของเตาเผาเนื่องจากไม่มีการคัดแยก ก็ทำให้เตาเผาพังก่อนเวลาอันควร ในบางจังหวัดสุดท้ายก็ต้องย้อนกลับมาใช้วิธีฝังกลบเช่นเดิม ดังนั้นกระแสการสร้างโรงไฟฟ้าขยะโดยไม่มีแผนจัดการขยะที่ต้นทางจึงไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน

หากย้อนมาดูวิธีการจัดเก็บขยะในบ้านเราจะพบว่า ยังเป็นเพียงการขนย้ายไปสู่ปลายทางเท่านั้น แม้ขณะนี้กระแสการรณรงค์เรื่องการคัดแยกขยะจะได้ผล โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม คนเหล่านี้สละเวลาคัดแยกขยะ เช่น ขวดแก้ว พลาสติก ขยะอันตราย และขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่าการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางเป็นแนวทางการจัดการขยะที่ดีที่สุด เพราะหากการคัดแยกมีประสิทธิภาพจะเหลือขยะที่ไม่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้และต้องกำจัดประมาณ 10-20 เปอร์เซนต์เท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติกลับกลายเป็นว่ารถขนขยะมักจะเก็บขยะทุกประเภทเข้าด้วยกัน ทำให้ผู้คัดแยกขยะหมดกำลังใจไปตามๆ กัน

กรมควบคุมมลพิษระบุว่า ในปี พ.ศ. 2556 มีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยทั่วประเทศ 2,490 แห่ง ในจำนวนนี้มีการกำจัดที่ถูกต้อง 466 แห่ง คิดเป็น 19 เปอร์เซนต์ ที่เหลือประมาณ 2,000 แห่ง หรือ 81 เปอร์เซนต์กำจัดไม่ถูกต้อง อีกปัญหาที่สำคัญคือขยะตกค้างสะสม กรมควบคุมมลพิษจัดอันดับจังหวัดสะอาด และจังหวัดสกปรกโดยพิจารณาจากปริมาณขยะตกค้างสะสม แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้สะท้อนภาพความเป็นจริงมากนัก จะเห็นได้ว่ากรุงเทพมหานครซึ่งผลิตขยะใหม่ถึงวันละประมาณ 1 หมื่นตันได้ชื่อเป็นจังหวัดสะอาดที่สุด เนื่องจากไม่มีขยะตกค้างสะสมเลย เพราะขยะส่วนใหญ่ถูกส่งไปกำจัดในจังหวัดรอบข้าง เช่น นครปฐม และสมุทรปราการ เป็นต้น

ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงอยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะออกแนวทางปฏิบัติการจัดเก็บขยะใหม่หรือไม่อย่างไร หากภาครัฐใช้โอกาส “ขยะเป็นวาระแห่งชาติ” ปฏิรูประบบการจัดเก็บและกำจัดขยะ ก็จะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเลยทีเดียว ดังที่มีผู้ลงมือทำและประสบความสำเร็จมาแล้วในต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

สำหรับต้นแบบจัดการขยะของประเทศญี่ปุ่นจะได้รับ “คู่มือการอยู่อาศัย” จากเทศบาลท้องถิ่น โดยผู้อยู่อาศัยต้องปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด ในคู่มือจะให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดการขยะ การแยกประเภทขยะ วันและเวลาที่เทศบาลท้องถิ่นจะมาจัดเก็บขยะ ซึ่งการแยกขยะที่ต้นทางจากครัวเรือนของประชาชนญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะต้องแยกขยะอย่างน้อย 8 ประเภท ก่อนนำส่งให้เทศบาลท้องถิ่นนำไปจัดการ ดังต่อไปนี้

1. ขยะเปียกที่เป็นเศษอาหาร จะต้องแยกน้ำและเศษอาหารออกจากกันก่อนทิ้ง
2. ฉลากสินค้าพลาสติก
3. ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากแก้ว
4. ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติก
5. ผลิตภัณฑ์กระป๋อง
6. กระดาษชนิดต่างๆ
7. ขยะอันตราย
8. ขยะที่มีขนาดใหญ่ เช่น เฟอร์นิเจอร์ จะต้องโทรนัดหมายให้เจ้าหน้าที่มารับ และต้องเสียค่าใช้จ่าย

ส่วน “การทิ้งขยะ” ทุกครัวเรือนจะต้องนำขยะไปวางที่จุดกำหนดการเก็บขยะแต่ละประเภท ตามวันและเวลาที่ระบุไว้ โดยเทศบาลกำหนดเวลาทิ้งขยะไม่เกิน 8 โมงเช้า

สุดท้ายหากพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าการเพิ่มเงินค่าจัดเก็บและกำจัดขยะได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ใครบ้างจะไม่อยากจ่าย ในทางตรงกันข้าม หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกระทำตัวเป็นศรีธนญชัยปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดด้วยการเพิ่มค่าจัดเก็บ แต่ไม่ปรับปรุงวิธีการจัดเก็บและกำจัด ใครล่ะจะยอมจ่ายเพิ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งหากคิดค่าจัดเก็บขยะจำนวน 150 บาทต่อเดือน เปรียบเทียบกับเงินเบี้ยชราขั้นต้นที่ 600 บาท ก็เท่ากับ 1 ใน 4 ของรายได้ส่วนนี้เลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.oknation.net/blog/KunchilaGolf/2015/03/14/entry-2

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://pixabay.com/th/
  2. ภาพจาก: http://www.thaihealth.or.th/Content/24557
ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

คุยประเด็นสิ่งแวดล้อมกับอดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

Email

Share