ก่อนอ่านบทความนี้ ขอให้คุณหยิบปากกาขึ้นมาวาดรูปพระจันทร์เสี้ยวอย่าได้คิดมาก นึกยังไงก็วาดเลยวาดเสร็จแล้ว ลองดูว่าพระจันทร์เสี้ยวของคุณหันทำมุมอย่างไร เป็นเสี้ยวเอียงๆ เสี้ยวแนวนอน หรือเสี้ยวแนวตั้ง? ไม่มีรูปไหนวาดผิด มันขึ้นอยู่กับว่าคุณตั้งใจจะวาดพระจันทร์เสี้ยวที่มองเห็นจากสถานที่แห่งใดในโลก (และถ้าละเอียดมากๆ ก็ให้สังเกตเวลาดูฤดูกาลด้วย) ถ้าอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร พระจันทร์จะยิ้ม เป็นเสี้ยวแนวนอน ขยับขึ้นเหนือมานิดอย่างที่กรุงเทพ ยิ้มก็เบี้ยวนิดนึง มุมปากด้านหนึ่งขยับสูงขึ้นมาหน่อย
แต่ถ้าขึ้นเหนือในแนวยุโรป มันจะเสี้ยวเอียงค่อนไปด้านข้าง ฝรั่งจึงพูดถึงวงจรพระจันทร์ในรอบเดือนว่า wax หรือ wane อันมีความหมายว่า พอกหนาขึ้นหรือฟีบลง คือปัดไปมาด้านข้าง ในขณะที่ไทยเราพูดถึงข้าง “ขึ้น” และข้างแรม คือปัดไปมาขึ้นลง up หรือ down
ทีนี้กลับมาดูรูปที่คุณวาด พระจันทร์เสี้ยวของคุณเอียงทางไหน? ไม่รู้ว่าของคุณวาดอย่างไร แต่เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่จะวาดจันทร์เสี้ยวเอียงแบบฝรั่ง
ตอนเด็กๆ ผู้เขียนเองก็วาดมันเอียงแบบฝรั่ง ลองค้นกูเกิ้ล เด็กไทยปัจจุบันก็วาดเป็นพระจันทร์ฝรั่งเช่นกัน โลโก้พระจันทร์เสี้ยวไทยก็เป็นพระจันทร์ฝรั่ง หันไปดูธงชาติสิงคโปร์ ตั้งอยู่บนแนวเส้นศูนย์สูตรแท้ๆ แต่จันทร์เสี้ยวพี่โปร์ยังเป็นอาณานิคมอังกฤษอยู่เลย มาเลย์ก็เหมือนกัน จะแถว่าวาดจากมุมมองในอวกาศก็กระไรอยู่ ภาพถ่ายในอวกาศมันมาหลังธงพวกนี้
เราเห็นพระจันทร์กันมาแต่เด็ก ก่อนจะได้ไปเมืองนอกเมืองนา แต่อิทธิพลของภาพวาดพระจันทร์ในหนังสือนิทาน การ์ตูน และสื่อต่างๆ กลับมีอำนาจยึดสมองเราเหนือข้อเท็จจริงที่เห็นต่อหน้าต่อตาในธรรมชาติ
ไม่แน่ใจว่าปรากฎการณ์ “พระจันทร์ยิ้ม” เมื่อสองปีก่อน ที่เป็นข่าวไปทั่วประเทศท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง จะสามารถลบล้างชิปฝังภาพพระจันทร์เสี้ยวฝรั่งในสมองคนไทยไปได้บ้างหรือไม่ แต่ประเด็นที่อยากชวนตั้งข้อสังเกตก็คือ ทำไมความจริงที่เราเห็นตรงหน้าจึงมีพลังน้อยกว่าความเชื่อที่ถ่ายทอดกันมาในสังคม
เมื่อเรียนจบกลับมาเมืองไทยใหม่ๆ ฉันต้องเผชิญกับปรากฎการณ์ที่ความเชื่อในสังคมมีอิทธิพลเหนือข้อเท็จจริงอีกหลายครั้ง เรื่องใกล้ตัวเป็นเรื่องการจัดการป่าไม้ นักวิชาการกลุ่มหนึ่งพยายามโปรโมทชุมชนที่เขาทำงานอยู่ด้วยว่าจัดการป่าได้ดีเลิศอย่างไรบ้าง พาสื่อไปลงพื้นที่เป็นประจำ ฉันก็ตามไปดู แล้วก็อึ้ง เพราะป่าที่พวกเขาจัดสรรให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กลายเป็นป่าสนปลูก ไม่มีความหลากหลายทางชีวภาพและความสลับซับซ้อนในโครงสร้างระบบนิเวศเฉกเช่นป่าธรรมชาติ ส่วนป่าที่ใช้สอยจนโทรมเป็นป่าดิบเขาธรรมชาติ มีร่องรอยบุกรุกแผ้วถางใหม่ๆ เพื่อเปิดพื้นที่บนเขาชันทำการเกษตร ไม่จำเป็นต้องจบนิเวศป่าไม้มาก็มองเห็นได้ว่าเป็นการจัดการป่าที่ไม่ยั่งยืน แต่มันกลับถูกยกยอว่าเป็นกรณีตัวอย่าง ไม่มีใครแตกแถววิพากษ์วิจารณ์ ทุกคนเชื่อคำอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญกันหมด
วาทกรรมสวยหรูมีพลังเหนือข้อเท็จจริงตรงหน้า จำนิทานเรื่องเสื้อคลุมจอมพลได้ไหม (ขออนุญาตเปลี่ยนตำแหน่งตัวละครในนิทาน เนื่องจากสังคมอยู่ในภาวะบ้าจี้ผิดปกติ) ช่างตัดเสื้อหลอกท่านจอมพลว่าเสื้อหรูราคาแพงลิบที่จัดทำให้พิเศษตัวนี้งดงามเกินบรรยาย แต่ผู้มีบุญตาถึงเท่านั้นจึงจะมองเห็น ท่านจอมพลและหมู่นายเหล่ารอบตัวก็ไม่กล้ายอมรับว่าแท้จริงแล้วตัวมองไม่เห็นอะไรเลย ก็ใส่เสื้อออกเดินกลางถนนต่อหน้าประชาชี ทุกคนก็ได้แต่ออกปากว่าเสื้อตัวนี้งามนัก จนเด็กคนหนึ่งร้องขึ้นตามที่เห็นจริงว่า “ดูสิ ท่านจอมพลแก้ผ้า”
ความต้องการความเห็นชอบชื่นชมยอมรับจากผู้คนในสังคมรอบตัวเป็นเรื่องปกติ และเข้าใจได้ แต่เราคงต้องขาดความมั่นใจในตัวเองเป็นอย่างมาก ที่จะปฏิเสธความจริงอันย้อนแย้งง่ายๆ ที่จ้องตาเราอยู่ตรงหน้า โดยเฉพาะกับเรื่องที่เรารู้สึกว่าเราไม่มีความรู้ มันง่ายกว่าที่จะยอมรับการสรุปตีความของบุคคลที่สังคมเคารพ ถ่ายทอดผลิตซ้ำจนกลายเป็นความจริงของคนหมู่มาก หรือในบางกรณีก็เป็นความจริงของคนหมู่น้อยที่เก๋เท่สุดล้ำจนเราอยากเก๋แบบนั้นกันบ้าง
นี่คือที่มาที่ไปของฉันในการริเริ่มพัฒนาเครื่องมืออ่านความเป็นไปในธรรมชาติสภาพแวดล้อมรอบตัวให้แก่สาธารณะและเยาวชนตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน ภายใต้ชื่อนักสืบสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ อาทิ นักสืบสายน้ำ นักสืบชายหาด นักสืบสายลม เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงได้ ตรวจสอบกันและกันได้ ผู้เชี่ยวชาญก็ยังมีบทบาทสูงในการศึกษาเพิ่มเติม อย่างละเอียดในแนวลึก แต่ไม่ใช่ผู้สงวนสิทธิอำนาจทางปัญญาแต่ผู้เดียว
เล่าๆ มานี่ก็ใช่ว่าตัวเองจะไม่ตกหลุมมายาความเชื่อ ความคิดความเชื่อของเราทั้งหมดล้วนถูกปั้นหลอมมาจากประสบการณ์และวัฒนธรรมที่เราคลุกคลี แต่ก็น่าสนใจว่าเราสลัดหลุดจากความเชื่อต่างๆ ไปได้อย่างไร ด้วยความเชื่อชุดใหม่จากกลุ่มผู้มีอำนาจต่อชีวิตเรากลุ่มใหม่หรืออย่างไร?
ฉันเริ่มสังเกตเห็นความแตกต่างของพระจันทร์และความซื่อบื้อของตนเองเมื่อไปเรียนที่อังกฤษ ความแตกต่างของทั้งภาษา ภูมิอากาศ และวัฒนธรรม เขย่าโลกส่วนตัวกระเจิดกระเจิง คืนหนึ่งในช่วงสองเดือนแรกที่ไปถึง เกิดพายุฟ้าร้องฟ้าผ่า รุนแรงจนเป็นเรื่องที่ทุกคนพูดถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ฉันเอะใจมาก ที่ไทยแลนด์บ้านตูฝนฟ้ามันก็โครมครามอย่างนี้เป็นประจำ ไม่เห็นมีไร แบบนี้มันแปลกเหรอ ก็เริ่มสังเกตฟ้าฝนมากขึ้น มีอะไรแปลกแตกต่างอีกล่ะ ..อ้าว เฮ้ย! พระจันทร์บ้านตูจริงๆ มันไม่ได้เป็นอย่างนี้นี่หว่า
อยู่ๆ ภาพจริงที่เคยเห็น ก็ทะลุภาพจากนิทานในความจำออกมาได้
มันเกิดขึ้นในภาวะที่ฉันเคว้งคว้างโดดเดี่ยว ไม่มีอะไรให้ยึดเหนี่ยว นอกจากธรรมชาติตรงหน้า ในขณะที่ฉันพยายามหาทางทำความเข้าใจกับโลกใหม่ ต้องนึกภาพว่าในยุคนั้น จดหมายจากครอบครัวใช้เวลาเดินทางเป็นอาทิตย์ ไม่มีเฟซไทม์ ไม่มีสไกบ์ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือแม้แต่เครื่องแฟ๊กซ์ ซึ่งสมัยนี้เลิกใช้กันไปแล้ว
เราต้องการความสัมพันธ์กับคนในสังคม แต่บางครั้ง ความสันโดษก็พาเรากลับมาสู่ความเป็นกลาง เปิดโอกาสให้เรามองอะไรๆ ได้ตรงๆ
ศาสตร์ไพ่ยิบซีให้พระจันทร์เป็นสัญลักษณ์ของปัญญาซ่อนเร้นอันลึกลับ
ก็แล้วคืนนี้คุณเห็นพระจันทร์เป็นอย่างไร ?