in on April 3, 2017

จากเต่าออมสินถึงกวางผาเชียงดาว

read |

Views

ข่าวเต่าออมสินกินเหรียญเสี่ยงทายนับพันเหรียญจนต้องเข้ารับการผ่าตัดและตายในที่สุดเป็นข่าวช็อกโลกที่มนุษย์กระทำต่อสัตว์ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทว่ามีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงเช่นนี้อีกมากมาย

เมื่อเร็วๆ นี้ผู้เขียนไปร่วมกิจกรรมเก็บขยะบนดอยหลวงเชียงดาว สถานที่ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นในหมู่นักท่องเที่ยวแนวผจญภัยทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เพื่อนชาวต่างชาติที่อยู่อาศัยในเมืองไทยบอกผู้เขียนว่า ดอยหลวงเชียงดาวกำลังเป็นที่กล่าวขวัญในหมู่เพื่อนๆ ชาวต่างชาติที่อาศัยในเมืองไทยด้วยเช่นกัน…เรียกได้ว่าถนนนักเดินป่าทุกสายมุ่งสู่ดอยหลวงเชียงดาว

ยืนยันได้จากสถิติของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ช่วงฤดูท่องเที่ยวปีที่แล้วระหว่างพฤศจิกายน 2558 -มีนาคม 2559 รวม 5 เดือน มีผู้ขออนุญาตขึ้นดอยหลวงจำนวน 7,532 คน ส่วนฤดูท่องเที่ยวปีนี้ระหว่างพฤศจิกายน 2559-กุมภาพันธ์ 2560 รวม 4 เดือน มีผู้ขออนุญาตขึ้นดอยหลวง 19,059 คน หรือ 2.5 เท่า และหากรวมสถิติเดือนมีนาคมเข้าไปด้วยจะมากกว่านี้

การเก็บขยะครั้งนี้มีอาสาสมัครจากทั่วประเทศเข้าร่วมประมาณ 60 คน เก็บขยะบริเวณจุดกางเต้นท์ และตามเส้นทางท่องเที่ยวหลักคือยอดสูงสุดและสันกิ่วลม เก็บขยะได้ 152 กิโลกรัม ขณะที่จิตอาสาเก็บขยะอีกกลุ่มหนึ่งเก็บขยะได้ประมาณ 20 กิโลกรัม เปรียบเทียบกับปีที่แล้วที่เก็บได้ 136 กิโลกรัม และจากการคัดแยกขยะ สิ่งที่พบมากที่สุดคือกระดาษทิชชูและทิชชูเปียกซึ่งเกินกว่าครึ่ง ตามด้วยขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋องเบียร์และปลากระป๋อง ถุงพลาสติก และกระป๋องแก๊สหุงต้มซุกซ่อนตามสุมทุมพุ่มไม้และซอกหินบริเวณที่พัก

นิคม พุทธา แห่งศูนย์เยาวชนเชียงดาว ผู้ริเริ่มโครงการเก็บขยะบนดอยหลวงเชียงดาวกล่าวว่า  นักท่องเที่ยวที่ใช้เวลาอยู่บนดอยหลวง 3 วัน 2 คืน จะผลิตขยะคนละประมาณ 1 กิโลกรัม แสดงว่าเมื่อปีที่แล้วมีขยะประมาณ 7,500 กิโลกรัม ส่วนปีนี้มีขยะอย่างน้อย 19,000 กิโลกรัม นั่นหมายความว่าขยะส่วนใหญ่ถูกเก็บลงเขาไปแล้ว แต่ยังมีขยะตกค้าง โดยเฉพาะขยะจากการชำระล้างที่ไม่สามารถเก็บลงไปได้

“ช่วงปิดเขาเป็นเวลาเจ็ดเดือน สัตว์ป่าเช่นกวางผาจะลงมาหากินในเขตที่พัก ปกติสัตว์กินพืชต้องการกินเกลือรสเค็มที่มีแคลเซียม เนื่องจากขยะเหล่านี้โดยเฉพาะทิชชูเปียกมีความเค็มจึงกลายเป็นอาหารของสัตว์ป่าและป็นอันตรายต่อสัตว์เนื่องจากย่อยสลายยากและเมื่อสองปีที่แล้วมีลูกกวางผาตกหลุมอุจจาระตายไปหนึ่งตัว เราจึงวางแผนว่าในปีหน้าเราจะรณรงค์ลดการใช้ทิชชูเปียกบนดอยหลวง”

เป็นที่น่าสังเกตว่าการใช้ทิชชูเปียกได้รับความนิยมมาพร้อมๆ กับการเติบโตของกิจกรรมเดินป่า บริษัททัวร์และกลุ่มเดินป่ามักแนะนำให้ลูกทัวร์นำทิชชูเปียกติดตัวเช่นเดียวกับของใช้จำเป็นอื่นๆ โดยเฉพาะการไปดอยหลวงเชียงดาวซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำบนยอดเขา น้ำกินน้ำใช้ต้องให้ลูกหาบขนไปจากพื้นราบเท่านั้น

ในฐานะคนเดินป่าผู้เขียนเห็นว่าเรามีทางเลือกอื่นแทนการใช้ทิชชูเปียกเพื่อชำระล้างร่างกาย เช่น ใช้กระดาษทิชชูชนิดหนาพรมน้ำหรือใช้ผ้าขนหนูขนาดเล็กชุบน้ำเพื่อเช็ดตัวเป็นต้น และหากพอมีเวลาเราสามารถทำทิชชูเปียกใช้เองโดยหาวิธีทำจากอินเตอร์เนต ซึ่งดีต่อป่า ดีต่อสัตว์ และดีต่อสุขอนามัยเพราะปราศจากสารเคมีที่ก่อให้เกิดการแพ้ (ดูตัวอย่างวิธีทำทิชชูเปียกที่วิดีโอด้านล่าง

เมื่อพูดถึงสัตว์ป่ากับขยะ ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ช้างป่าบนภูกระดึงทำร้ายคนงานเก็บขยะถึงแก่ชีวิต ขณะที่ขับรถขนขยะเปียกไปยังบ่อขยะที่อยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเพียง 1 กิโลเมตร โดยคาดการณ์ว่าช้างป่าซึ่งมักมาหาอาหารบริเวณบ่อขยะกินอยู่เสมอหวงขยะ เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าขยะจากการท่องเที่ยวทำให้ช้างป่าเปลี่ยนพฤติกรรม ขณะที่นิคม พุทธาเล่าว่าสมัยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่อุทยานเขาใหญ่ เมื่อผ่ากระทิง เก้ง กวางที่เสียชีวิตพบลูกกอล์ฟและพลาสติกในท้องของสัตว์เหล่านั้น นอกจากนี้ผู้มามาร่วมกิจกรรมเก็บขยะในครั้งนี้ยังเล่าให้ผู้เขียนฟังว่าจากการผ่าท้องหมูป่าที่ตายในป่าแถบภาคตะวันออกพบถุงพลาสติกอุดบริเวณทางเดินอาหาร ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้หมูป่าเสียชีวิต

ชะตากรรมของสัตว์เหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับชะตากรรมของเต่าออมสิน แม้จะว่าเป็นสัตว์ป่าที่อยู่อาศัยในป่าลึกห่างไกลจากผู้คน นั่นคือได้รับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์

ถามว่านักท่องเที่ยวที่อยากไปดื่มด่ำกับธรรมชาติหรือทำภารกิจท้าทายสามารถทำอะไรได้บ้าง จากประสบการณ์การเก็บและคัดแยกขยะครั้งนี้พบว่าเราควรคำนึงอยู่เสมอว่าการเดินป่าของเราคือการก้าวเข้าไปในสถานที่ที่เปราะบางทั้งสภาพพื้นที่และผู้อยู่อาศัยอย่างสัตว์ป่า เราควรเคารพพื้นที่ด้วยการไม่ทำกิจกรรมที่ทำลาย เช่น ไม่เก็บดอกไม้และไม่ทิ้งสิ่งของเหลือใช้ใดๆ ที่เป็นอันตรายต่อพื้นที่และผู้อยู่อาศัย ควรเก็บของกินของใช้ซึ่งถือเป็นของแปลกปลอมบนเขาลงมาให้ได้มากที่สุด และของที่เก็บมาไม่ได้ก็ควรเลือกใช้ของที่ย่อยสลายง่าย เช่น การใช้ทิชชูกระดาษแทนทิชชูเปียก เป็นต้น

เพียงแค่นี้เราก็จะได้ชื่อว่าเป็นนักพิชิตหรือนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ช่วยคงความศักดิ์สิทธิ์และอุดมสมบูรณ์ของขุนเขาที่ยิ่งใหญ่อย่างดอยหลวงเชียงดาวและสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างกวางผาเชียงดาว รวมถึงขุนเขาและสัตว์ป่าอื่นๆ ได้แล้วค่ะ

อ้างอิง
  1. ภาพดอยหลวงเชีงดาวจาก: http://amrobon.blogspot.com/2014/11/blog-post_20.html
  2. วิดีโอทำทิชชู่เปียกจาก: https://www.youtube.com/watch?v=6LnOAWbKLow
ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

คุยประเด็นสิ่งแวดล้อมกับอดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

Email

Share