in on June 6, 2015

ชีวิตทันใจ

read |

Views

สองสามเดือนมานี้ ผู้เขียนและครอบครัวได้มีโอกาสไปเที่ยวพักสมอง โดยเฉพาะให้ลูกชายคนโตได้พักรบกับจากการเรียนที่เคร่งเครียดเพราะต้องเตรียมตัวสอบเพื่อขึ้นชั้นใหม่ในปีหน้า ระบบการศึกษาของโรงเรียนรัฐบาลที่มาเลเซีย ต่างกับบ้านเราก็ตรงนี้ ที่เดือนกันยายนของทุกปี เด็กนักเรียนประถมชั้น ป.6 จะต้องนั่งทำข้อสอบตัดสินชะตาชีวิตเหมือนที่นักเรียน ม.6 บ้านเราสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย โดยมีข้อสอบ 5 วิชาหลัก คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษามาเลย์ ซึ่งมี 2 ชุดคือหลักภาษาและการเขียน ถ้าได้ A ทั้ง 5 วิชา ก็สบายใจได้ว่าจะได้เข้าเรียนโรงเรียนดีๆ ที่มีรางวัลคุณภาพเป็นตัวรับรอง

5521186803_423676589f_z

แต่ถ้าได้ A  น้อยตัว ก็ทำใจร่มๆ เอาไว้ หากโชคดีหน่อย โรงเรียนมัธยมหันมาพิจารณาคุณสมบัติอื่นๆ เช่น กิจกรรมเสริม การเป็นสารวัตรนักเรียน และความสามารถพิเศษทั้งกีฬาและศิลปะ ก็อาจได้จะถูกคัดเลือก แม้ว่าจะขาด A ไปสักตัวสองตัว

นอกจากข้อสอบตอน ป.6 นี้จะมีความสำคัญแล้ว ก็ยังมีข้อสอบของ ม.3 ที่ชี้ชะตาสายการเรียนว่าจะเป็นวิทย์หรือศิลป์ และข้อสอบม.5 ที่ฟาดลงมาว่าจะได้เรียนในมหาวิทยาลัยรัฐหรือไม่นั้น รออยู่ข้างหน้าในหนทาง 11 ปี ของการเรียนในวัยเยาว์ และด้วยเหตุนี้เอง ชีวิตประจำวันของครอบครัวเมืองจึงวางอยู่บนตารางที่แน่นเอี๊ยด แม้ว่าโรงเรียนจะมีการเรียนการสอนแค่ครึ่งวัน แต่ผู้ปกครองกว่าครึ่งหนึ่งจะจัดตารางเรียนพิเศษให้ลูกตลอดสัปดาห์ รับจากโรงเรียน กลับบ้านเปลี่ยนเสื้อผ้า ทานข้าวกลางวัน แล้วก็กระโดดขึ้นรถไปยังโรงเรียนสอนพิเศษ โชคดีที่รถไม่ติดหนุบหนับ การกระโดดไปมาในแต่ละที่จึงเป็นไปได้จริง

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ เป็นชีวิตประจำวันของครอบครัวเพื่อนๆ ที่รายล้อมตัว ส่วนผู้เขียนเอง เลี่ยงที่จะจัดคิวติววิชาตามโรงเรียนพิเศษต่างๆ ให้ลูก เพราะถือว่าวัยเด็กมีครั้งเดียว ถ้าไม่มีเวลาเล่นและใช้ชีวิตอย่างเด็กๆ ในตอนนี้ ก็คงจะน่าเสียดายไม่น้อย ลูกๆ จึงเรียนพอเอาตัวรอด แม่ช่วยวิชาไหนได้ก็ว่ากันไป ลูกครึ่งจากตอนเหนือ (ของมาเลเซีย) อย่างลูกชายของผู้เขียน จึงต้องทำใจร่มๆ ไปกับการสอบตัดสินชะตาชีวิตที่กำลังรออยู่ในอีก 3-4 เดือนข้างหน้านี้ จะมีก็แต่วิชาภาษามาเลย์ปราบเซียนท้องถิ่นเป็นที่ขึ้นชื่อ ซึ่งผู้เขียนจนปัญญาที่จะช่วยเหลือ แต่นับว่าโชคดีที่ได้ครูมาสอนพิเศษให้ถึงบ้าน

ระบบการวางเส้นทางของรถเมล์ที่นี่ ที่ทำให้เราไม่สามารถกระโดดขึ้นรถเมล์ไปไหนมาไหนได้อย่างกรุงเทพฯ (ลองนึกดูว่าถ้าทุกครั้งที่ต้องการเดินทางจากสุขุมวิทหรือสีลมเพื่อไปวงเวียนใหญ่นั้น เราต้องนั่งรถเข้าไปยังสนามหลวงซะทุกครั้งไป ใช้เวลารอรถและต่อรถเกือบ 2 ชั่วโมง รถและมอเตอร์ไซค์บนถนนในกรุงเทพฯ คงมีมากกว่านี้อีกหลายเท่า) เด็กๆ จึงต้องใช้ชีวิตแบบให้ทันใจพ่อแม่ผู้มีหน้าที่รับส่ง การไปไหนมาไหนด้วยรถยนต์จึงเป็นเรื่องปกติ

PKetam51

เมื่อเร็วๆ นี้ สี่คนพ่อแม่ลูกชวนกันไปเที่ยวเกาะเล็กๆ ที่อยู่ใกล้กับท่าเรือพอร์ตกลาง (คล้ายๆ ท่าเรือคลองเตยบ้านเรา) โดยไปขึ้นรถไฟคอมมิวเตอร์จากสถานีใกล้บ้านที่วิ่งตรงดิ่งไปสุดสายที่ท่าเรือ แล้วก็เดินไปต่อเรือเฟอร์รี่เพื่อไปยังเกาะปู  หรือ Pulau  Kertam (หลังจากซื้อตั๋วรถไฟเสร็จสรรพก็ชวนกันนั่งรอที่ชานชาลา รถไฟแต่ละเที่ยวทิ้งช่วงห่างกันเกือบๆ ครึ่งชั่วโมง ขณะที่นั่งคอย เจ้าคนเล็กก็เริ่มตั้งคำถามว่าทำไมเราไม่ขับรถไปเอง ทำไมต้องมานั่งรอรถไฟแบบนี้ และอีกหลายทำไม ด้วยความที่ไม่เคยได้ใช้บริการขนส่งมวลชนในกิจวัตรประจำวัน

คำถามเหล่านั้นเอง สะกิดใจผู้เขียนว่า ลูกๆ กำลังเติบโตในวิถีชีวิตที่ต่างไปจากที่ตัวเองเติบโตมาโดยสิ้นเชิง พวกเขาไม่เคยต้องนั่งรอหรือยืนรอรถเมล์ ไม่ต้องเดินออกจากซอยท่ามกลางแดดร้อนระอุจนเหงื่อชุ่มเสื้อผ้า จะไปไหนก็กระโดดขึ้นรถโดยมีพลขับ (พ่อหรือแม่) พาไปถึงจุดหมายอย่างแสนสบาย การเรียนรู้ที่จะต้องอดทนกับเรื่องเหล่านี้ จึงหายไปจากกิจวัตรประจำวัน และโดนสรุปเหมารวมว่าเด็กรุ่นใหม่ ไม่มีความอดทน… ผู้เขียนเองก็ได้คิดว่า เราต่างหากที่ไม่เปิดโอกาสให้ลูกๆ ได้เผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องใช้ความอดทนมากกว่า

หลังจากได้ขึ้นรถไฟผู้โดยสารตัวเล็กก็สนุกสนานและตื่นเต้นไปกับมุมมองของเมืองที่ต่างจากการนั่งรถ  ผู้เขียนเลยหาโอกาสพูดคุยเรื่องของการรอคอยว่าพวกเราโชคดีแค่ไหนที่ไม่ต้องรอรถแบบนี้ทุกวันเวลาไปโรงเรียน นานๆ ได้รอทีก็จงรู้จักที่จะรอโดยไม่บ่น ขากลับจึงเป็นการเดินทางกลับด้วยทัศนคติใหม่ นั่งรอรถไฟด้วยความเข้าใจเป็นอย่างดี

สัปดาห์ไหนว่างๆ จะพาไปนั่งรอรถเมล์หรือรถไฟอีก ฝึกไว้ อีกหน่อยจะได้รู้จักรอสาวโดยไม่บ่น…

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: Uwe Schwarzbach
  2. ภาพจาก: http://blog.pulauketam.com
ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share