in on December 22, 2016

ซูเปอร์บั๊ก เชื้อดื้อยาฆ่าไม่ตาย

read |

Views

หากดูหนังแอคชั่นที่มีผู้ร้ายโคตรอึดฆ่าไม่ตาย นั่นแหละเปรียบเทียบได้กับซูเปอร์บั๊กที่วงการแพทย์ทั่วโลกกำลังต่อสู้กันอย่างดุเดือดเพื่อกู้ชีพยาปฏิชีวนะตัวสุดท้าย และกู้ชีวิตผู้ติดเชื้อดื้อยาที่อาจเสียชีวิตได้ทุกเมื่อ แม้เป็นโรคเล็กน้อยอย่างท้องเสีย

ปัจจุบันภาวะดื้อยาปฏิชีวนะหรือยาต้านจุลชีพรุนแรงขนาดที่ลอร์ดจิม โอนีล นักเศรษฐศาสตร์ผู้ทำหน้าที่วิเคราะห์การดื้อยาปฏิชีวนะระดับโลกบอกว่า “ปัญหาอันลึกล้ำ” และงานวิจัยของรัฐบาลสหราชอาณาจักรระบุว่าหากสังคมโลกยังไม่จัดการกับภาวะดื้อยาปฏิชีวนะ ในปีคศ. 2050 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า ซูเปอร์บั๊กจะคร่าชีวิตชาวโลกมากกว่าโรคมะเร็ง และทั่วโลกจะเสียค่าใช้จ่ายเพื่อการนี้ถึง 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเทียบเท่ากับวิกฤตทางการเงินครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาเมื่อปีคศ. 2008 เลยทีเดียว

ภาวะดื้อยาปฏิชีวนะไม่ใช่เรื่องเล็กๆ องค์กรสหประชาชาติคงไม่ยกเป็นเรื่องวิกฤติเร่งด่วนถึงขั้นเชิญนายกรัฐมนตรีทั่วโลกไปร่วมประชุมและรับรองปฏิญญาเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยก็ไปด้วย

วงการแพทย์ยอมรับว่าทุกวันนี้เหลือยาปฏิชีวนะเพียงสองชนิดที่สามารถพิชิตการเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคท้องเสียได้อยู่หมัดคือโคลิสติน (colistin) และคาร์บาพีเนม (carbapenem) แต่ดูเหมือนที่พึ่งแห่งสุดท้ายกำลังพังทลายลงเมื่อตรวจพบยีน mcr-1 ในเชื้ออีโคไลซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคท้องเสีย ใน 30 ประเทศ ซึ่งยีนชนิดนี้ต้านทานต่อยาโคลิสติน นอกจากนี้ยังพบยีนที่ต้านทานยาคาร์บาพีเนมที่ชื่อ blaNDM-5 สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กลัวกันนักหนาก็คือเมื่อยีนทั้งสองตัวนี้ผนึกกำลังกันอยู่ในแบคทีเรียตัวเดียวกัน มันจะกลายเป็นซูเปอร์บั๊กที่ยาใดๆ ก็เอาไม่อยู่ ซึ่งภาวะนี้เกิดขึ้นแล้วในเยอรมนี เวเนซูเอล่า และจีน

ดูเหมือนมนุษย์เราจะเป็นเผ่าพันธุ์ที่ไม่แยแสหากภัยยังมาไม่ถึงตัว ต่อให้รู้ว่าภัยนั้นมาเคาะประตูอยู่หน้าบ้านก็ยังไม่ตระหนัก ดังนั้นเราจึงยังใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อกันต่อไปทั้งในคนและสัตว์ และเมื่อไม่สามารถหยุดการใช้ยาปฏิชีวนะแบบไม่จำเป็นได้ จึงเป็นการบ้านข้อใหญ่ของบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่จะต้องหาทางพิชิตซูเปอร์บั๊ก…แม้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทางก็ตาม

ดูเหมือนจะมีแสงสว่างรำไรที่ปลายอุโมงค์ ขณะนี้ชู ลัม (Shu Lam) นักศึกษาปริญญาเอกวัย 25 ปี แห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นกำลังขมักเขม้นหาวิธีต่อสู้กับซูเปอร์บั๊กโดยพัฒนาพลาสติกโพลิเมอร์รูปทรงดาวหกแฉกที่มีชื่อเรียกสั้นๆ ว่าสแนปป์ (SNAPPs)  ที่จะทำให้เนื้อเยื่อของเชื้อแบคทีเรียฉีกขาด แบคทีเรียจะเครียดและหันไปฆ่าตัวตาย จากการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่าโพลิเมอร์ชนิดนี้สามารถต่อสู้กับซูเปอร์บั๊กได้ถึง 6 ชนิด เมื่องานวิจัยของเธอได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Microbiology บรรดานักวิทยาศาสตร์พาชื่นชมว่าเป็นการก้าวข้ามอันยิ่งใหญ่ที่สามารถเปลี่ยนหน้าตาของการแพทย์แผนใหม่ได้เลยทีเดียว วิธีการนี้ยังดีกว่าและแตกต่างจากการใช้ยาปฏิชีวนะฆ่าแบคทีเรียตรงที่ไม่มีผลข้างเคียงจากการใช้ยา งานวิจัยชิ้นนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองกับซูเปอร์บั๊กในห้องปฏิบัติการ และมีตัวอย่างหนึ่งที่ทดลองในหนู

งานวิจัยแห่งความหวังอีกชิ้นหนึ่งคือการสะกัดโมโลกุลที่อยู่ในมูลหนอนแมลงที่มักปรากฏตัวตามซากพืชและสัตว์ที่เน่าเปื่อยเพื่อนำมาใช้เป็นยาฆ่าซูเปอร์บั๊ก โครงการนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการการใช้หนอนเพื่อรักษาแผลเน่าเปื่อยหรือเรียกว่าหนอนบำบัด เมื่อนำหนอนแมลงที่ทำความสะอาดแล้วจำนวนนับร้อยตัวใส่ไว้ในแก้วใส่น้ำสะอาดทิ้งไว้ข้ามคืน น้ำในโหลจะกลายเป็นสีน้ำตาลซึ่งมีโมเลกุลที่สามารถต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียได้ ว่ากันว่าโมเลกุลในอึหนอนแมลงจะเป็นยาปฏิชีวนะตัวใหม่ของโลก ซึ่งขณะนี้มีการจดสิทธิบัตรในชื่อซีราติซิน (Seraticin)

นับเป็นการย้อนแย้งที่น่าขัน ขณะที่เราคิดว่าแบคทีเรียแสนสกปรก แต่นักวิทยาศาสตร์กลับค้นพบยากำจัดเชื้อดื้อยาซูเปอร์บั๊กในอึของหนอนที่ชอนไชอยู่ในเนื้อเน่าๆ  “ปัญหาอยู่ที่เรามักพบตัวหนอนเหล่านี้อยู่ในซากศพ อุจจาระ และความตาย ซึ่งวัฒนธรรมเรามองว่าน่าขยักแขยง” นักวิจัยมหาวิทยาลัยสวันเซีย สหราชอาณาจักรกล่าว

…เมื่อถึงเวลานั้นคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธยาปฏิชีวนะตัวใหม่ที่มาจากอึของของหนอนแมลงกระมัง

อ้างอิง
  1. http://www.sciencealert.com/the-science-world-s-freaking-out-over-this-25-year-old-s-solution-to-antibiotic-resistance
  2. http://globalnews.ca/news/3010379/heres-why-maggots-could-be-key-to-killing-antibiotic-resistant-superbugs/
  3. ภาพจาก: http://www.telegraph.co.uk/
  4. ภาพจาก: http://www.taradthong.com/webboard/index.php
  5. ภาพจาก: http://www.kasetkawna.com/เเมลงหวี่ขาวดื้อยา
ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

คุยประเด็นสิ่งแวดล้อมกับอดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

Email

Share