ที่ดินและป่าไม้เป็นของล้ำค่า ดังนั้นจึงมักมีข่าวการบุกรุกป่าและที่สาธารณะอยู่เนืองๆ บางเรื่องสะเทือนใจราวกับละครดราม่า แต่เมื่อมองลึกลงไปจะพบว่าเรื่องราวในชีวิตจริงบางทีก็ “ดราม่า” ยิ่งกว่าละคร เกี่ยวกับคนเลวที่มักเป็นคนรวยนักการเมืองและข้าราชการที่เข้าถึงทรัพยากรและกระบวนการยุติธรรมแล้วผลักให้ฝ่ายพระเอกหรือคนจนตกอยู่ในฐานะลำบากหรือถูกกระทำอย่างอยุติธรรม
ตายายเก็บเห็ดติดคุก 15 ปี
ปี 2553 สองสามีภรรยาที่สื่อเรียกว่า “ตายาย” เข้าไปเก็บเห็ดในอุทยานป่าสงวนดงระแนง จังหวัดกาฬสินธุ์ ขณะเดียวกันนั้นก็มีกลุ่มลักลอบตัดไม้อยู่ในป่า เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ คนตัดไม้หลบหนีไป ส่วนตายายตกใจทิ้งมอเตอร์ไซด์วิ่งหนีเช่นกัน เมื่อตายายอยากได้รถมอเตอร์ไซด์คืน ตำรวจจึงบอกให้เซ็นสารภาพว่าเป็นคนตัดไม้ เมื่อคดีเข้าสู่ศาล ทนายความก็บอกตายายให้รับสารภาพเพื่อเรื่องจะได้จบเร็วๆ ผลปรากฎว่าศาลตัดสินจำคุกสองตายายเป็นเวลา 15 ปี
เมื่อรู้เรื่องสื่อสังคมออนไลน์ทั้งสงสารและเห็นใจจึงรณรงค์ด้วยการเขียนตัวอักษร “Free คุณตาคุณยายเก็บเห็ด” ลงบนฝ่ามือแล้วแชร์ข้อความผ่านเฟสบุคเพื่อให้สังคมเห็นถึงความอยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรมที่เริ่มตั้งแต่การจับกุมของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ อัยการ ไปจนถึงศาล
ชาวบ้านรุกป่าจ่ายค่าโลกร้อนไร่ละ 1.5 แสน
กลายเป็นข่าวใหญ่เมื่อระดับชาติและระดับโลกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ เป็นโจทย์ฟ้องร้องคดีแพ่งข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าและเป็นตัวการทำให้โลกร้อนขึ้นกับชาวบ้านและเกษตรกรในกลุ่มเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยจำนวน 19 คดี 34 ราย รวมค่าเสียหายทั้งสิ้นกว่า 13 ล้านบาท โดยคำนวณค่าเสียหายด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของกรมอุทยานฯ ซึ่งประกอบด้วยค่าสูญเสียธาตุอาหาร ค่าทำให้ดินไม่ดูดซับฝน ค่าทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นท่าโดยการแผดเผาของดวงอาทิตย์ ค่าทำใด้ดินสูญหาย ค่าทำให้อากาศร้อนมากขึ้น ค่าทำให้ฝนตกน้อยลง ค่าความเสียหายจากป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง รวมมูลค่าทั้งประมาณประมาณ 150,000 ต่อไร่
ประเด็นที่ถกเถียงในสังคมก็คือการนำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาและไม่ได้รับการยอมรับโดยคณะผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายและวิทยาศาสตร์มาใช้ในศาล จนกลายเป็นคดีแรกๆ ของโลกที่ฟ้องร้องชาวบ้านเรียกร้องค่าเสียหายที่ทำให้โลกร้อน ส่วนจำเลยอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถปฏิบัติตามกระบวนการยุติธรรมที่กำหนดให้ฝ่ายจำเลยหาหลักฐานมาพิสูจน์ว่าตัวเองไม่ผิดตามข้อกล่าวหา เพราะเป็นเกษตรกรยากจนที่ไม่มีแม้แต่เงินประกันตัวเอง
“คนจนนอนคุกเพราะบุกรุกที่ตัวเอง”…จำคุก 6 เดือนไม่รอลงอาญา
ปี 2556 นายเด่น คำแหล้ อายุ 62 ปี และนางสุภาพ คำแหล้ อายุ 58 ปี สามีภรรยาจำเลยในคดีบุกรุกสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ถูกศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำคุกเป็นเวลา 6 เดือนโดยไม่รอลงอาญา และเมื่อยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราว ปรากฎว่าศาลไม่อนุญาติ โดยให้เหตุผลว่าเกรงจะหลบหนี เป็นเหตุให้กลุ่มชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานประมาณ 100 คนปักหลักประท้วงโดยชูป้ายประท้วง “คนจนนอนคุกเพราะบุกรุกที่ตัวเอง”
ที่มาของคดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2516 มีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามประมาณกว่า 290,000 ไร่ และมีโครงการสวนป่าโคกยาวเพื่อปลูกต้นยูคาลิปตัส ต่อมาในปี 2528 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และกองกำลังทหารพรานอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกินเดิม โดยสัญญาว่าจะจัดสรรที่ดินแห่งใหม่ให้รายละ 15 ไร่ แต่พื้นที่จัดสรรมีเจ้าของเป็นผู้ครอบครองอยู่แล้ว ชาวบ้านจึงกลับไปทำกินที่สวนป่าโคกยาวซึ่งเป็นที่ทำกินเดิม และมติคณะรัฐมนตรีปี 2553 เห็นชอบให้ชาวบ้านสามารถเข้าทำประโยชน์ในสวนป่าได้โดยไม่มีการข่มขู่ กักขัง และดำเนินคดีในช่วงที่กำลังมีการแก้ไขปัญหา แต่ชาวบ้านในพื้นที่ยังคงประสบปัญหาถูกคุกคามและจับกุมและดำเนินคดีดังกล่าว
โบนันซารุกป่าทำสนามแข่งรถ…จะจบอย่างไร
จู่ๆ สนามแข่งรถโบนันซ่าเขาใหญ่ นครราชสีมาที่เจ้าของซึ่งเป็นนักธุรกิจและอดีตนักการเมืองเคยออกสื่อว่าเป็นสนามแข่งรถที่ยาวที่สุดในประเทศไทย (3 กิโลเมตร) และสะดวกสบายเพราะมีที่พักค้างคืนในสนามแข่งก็กลายเป็นสนามแข่งรถที่สร้างบนพื้นที่ป่าสงวน โดยกรมป่าไม้เปิดเผยว่ามีการบุกรุกป่าสงวนรวม 103 ไร่ ล่าสุดกรมป่าไม้จึงแจ้งโบนันซ่าเขาใหญ่ให้รื้อถอนสนามแข่งรถกับบ้านพักอีก 16 หลัง ภายใน 30 วัน
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือเลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. ออกมาเปิดเผยว่าก่อนหน้านี้ทางโบนันซ่าอ้างมาตลอดว่ามีเอกสาร น.ส.3 และ ส.ค.1 แต่จากการตรวจสอบพบว่าการออกใบ น.ส.3 ก. จำนวน 5 แปลง หรือประมาณ 50 ไร่ โดยมิชอบ ขณะที่ดินอีกประมาณ 100 ไร่ ไม่พบว่ามีการออก น.ส. 3 ก.โดยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวน แห่งชาติป่าเขาเสียดอ้า เขานกยูง และเขาอ่างหิน และที่จริงสำนักงาน สปก.นครราชสีมารู้อยู่แล้วว่าโบนันซ่าก่อสร้างรีสอร์ทและสนามแข่งรถรุกล้ำพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติประมาณ 79 ไร่ แต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ ทำให้ไม่มีข้าราชการคนใดเข้าไปดำเนินการเอาผิด เพราะไม่ต้องการมีปัญหากับนักการเมือง
จึงเป็นเรื่องน่าติดตามว่าการดำเนินคดีในกรณีโบนันซ่าจะลงเอยอย่างไร จะมีการจำคุกแบบไม่รอลงอาญาเหมือนกรณีตายายข้างต้นหรือไม่ ต้องเสียค่าปรับเท่าใด ที่สำคัญจะมีการนำคดีดังกล่าวเข้าสู่ศาลปกครองแผนกคดีสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับกรณีการบุกรุกป่าเพื่อสร้างรีสอร์ทที่วังน้ำเขียว นครราชสีมาหรือไม่ ซึ่งหากนำคดีเข้าสู่แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ศาลจะพิจารณาเรื่องค่าเสียหายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ค่าฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และค่าเสียหายที่ไม่มีตัวเลขเชิงพาณิชย์ เช่น ความสูญเสียของระบบนิเวศด้วย ซึ่งน่าติดตามเช่นกันว่าจะมากหรือน้อยกว่ามูลค่าตามแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่กรมอุทยานฯ ใช้ฟ้องร้องชาวบ้านข้างต้น
ทุกย่างก้าวและบทสรุปในคดีโบนันซ่าจะเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความเหมือนและความต่างของกระบวนการยุติธรรมระหว่าง “คนจน” กับ “คนรวย” ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
เกณฑ์คำนวณค่าเสียหายของป่าต้นน้ำตามหลักการแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของกรมอุทยานฯ
1. การทำให้สูญหายของธาตุอาหาร คิดค่าเสียหาย 4,064 บาทต่อไร่ต่อปี
2. ทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน 600 บาทต่อไร่ต่อปี
3. ทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่ โดยการแผดเผาของดวงอาทิตย์ 52,800 บาทต่อไร่ต่อปี
4. ทำให้ดินสูญหาย 1,800 บาทต่อไร่ต่อปี
5. ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 45,453.45 บาทต่อไร่ต่อปี
6. ทำให้ฝนตกน้อยลง คิดค่าเสียหาย 5,400 บาทต่อไร่ต่อปี
7. มูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่าสามชนิด คือ
7.1 การทำลายป่าดงดิบค่าเสียหายจำนวน 61,263.36 บาท
7.2 การทำลายป่าเบญจพรรณ ค่าเสียหายจำนวน 42,577.75 บาท
7.3 การทำลายป่าเต็งรัง ค่าเสียหายจำนวน 18,634.19 บาท
เมื่อนำค่าเฉลี่ยของมูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่าสามชนิด (ตามข้อ7.1-7.3) ซึ่งมีค่าเท่ากับ 40,825.10 บาทต่อไร่ต่อปี มารวมกับมูลค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม (ข้อ1-6) จำนวน 110,117.60 บาทต่อไร่ต่อปี รวมมูลค่าทั้งหมดเท่ากับ 150,942.70 บาท แต่เพื่อความสะดวกกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชคิดค่าเสียหายจำนวน 150,000 บาทต่อไร่ต่อปี
ที่มา : http://goo.gl/CIpumH