in on May 28, 2015

ตัดวงจร “ฆ่าช้างเอางา”

read |

Views

ไม่น่าเชื่อว่าคนไทยจะมีงาช้างไว้ในครอบครอบครอง เฉพาะที่แจ้งจดทะเบียนสิ้นสุดเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมามากถึง 38,000 ราย คิดเป็นน้ำหนักงาช้าง 200 ตัน หรือ 2 แสนกิโลกรัม

เหตุที่มีผู้มาจดทะเบียนงาช้างมากมายเช่นนี้ เพราะจากนี้ไป ผู้ที่ครอบครองงาช้างที่ไม่ได้จดทะเบียนกับทางการถือว่าผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติงานช้าง พ.ศ. 2558 มีโทษปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท ส่วนร้านค้างาช้างที่ไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 2 ของประเทศผู้ค้างาช้างผิดกฏหมายของโลก เป็นรองจากประเทศจีน ขณะที่งาช้างที่ค้าขายกันอยู่ในตลาดโลกส่วนใหญ่มักถูกลักลอบนำเข้ามาจากประเทศในแถบทวีปแอฟริกา ดังนั้นทั้งไทยและจีนถึงมักถูกสังคมโลกกล่าวหาและกดดันว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ช้างแอฟริกาถูกฆ่าเอางาจนใกล้สูญพันธุ์

กรกฎาคม 2557 องค์กรเครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า TRAFFIC เปิดเผยผลการสำรวจตลาดค้างาช้างของประเทศไทยในปี 2556 พบว่า จำนวนร้านค้าที่ขายผลิตภัณฑ์จากงาช้างเพิ่มขึ้นจาก 61 ร้าน เป็น 105 ร้าน แม้ว่าพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 กำหนดว่าร้านค้างาช้างจะต้องลงทะเบียนมีใบอนุญาตในการค้างาช้างก็ตาม ส่วนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากงาช้างเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว จาก 5,865 ชิ้น เป็น 14,512 ชิ้น ขณะที่ปริมาณงาช้างสูงสุดที่ได้จากช้างเลี้ยงในประเทศมีประมาณ 650 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยกว่าที่พบเห็นในตลาดกรุงเทพฯ มาก จึงหมายความว่าผลิตภัณฑ์งาช้างในท้องตลาดส่วนใหญ่มาจากนอกประเทศซึ่งก็คืองาช้างแอฟริกานั่นเอง

การจดทะเบียนครอบครองงาช้างบ้านจึงถูกนำมาใช้ ทั้งเพื่อให้รู้จำนวนการครอบครองงาช้างที่มีอยู่แล้วเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบในอนาคต และเพื่อลดกระแสกดดันจากนานาชาติผ่านทางอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) และกระแสสังคมซึ่งในช่วงหลังๆ มีนักร้องดาราและบุคคลผู้ทรงอิทธิพลของโลกออกมาเรียกร้องให้ปกป้องช้างใกล้สูญพันธุ์อยู่เนืองๆ โดยหลักการคือภายหลังการจดทะเบียนงาช้างบ้านเสร็จสิ้น หากมีงาช้างเพิ่มขึ้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นช้างแอฟริกา ทางการก็จะสามารถตรวจสอบกับฐานข้อมูลและจับกุมดำเนินคดีได้ง่ายขึ้น

ยังไม่มีใครตอบได้การจดทะเบียนครอบครองงาช้างบ้านจะช่วยลดการลักลอบค้างาช้างในบ้านเราได้มากน้อยเพียงใด เพราะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้การลงทะเบียนงาช้างและผลิตภัณฑ์งาช้างจะเสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา แต่ยังมีข่าวการจับกุมการลักลอบนำเข้างาช้างอยู่เนืองๆ ล่าสุดเมื่อ 27 เมษายนนี้มีกรมศุลกากรจับกุมงาช้างครั้งใหญ่ได้ถึง 511 กิ่ง มูลค่าสูง 200 ล้านบาท ขณะที่ 3 เดือนแรกของปี 2558 ไทยสามารถจับกุมงาช้างได้กว่า 1,302 ชิ้น น้ำหนักรวมกว่า 2,000 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 205 ล้านบาท ส่วนในปี 2557 กรมศุลกากรจับกุมงาช้างได้ 11 คดี รวมประมาณ 50 ชิ้น น้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท

การค้างาช้างเป็นกระบวนการข้ามชาติที่ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ลุล่วงได้โดยประเทศใดประเทศหนึ่ง ย้อนกลับไปดูในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาจะเห็นความเคลื่อนไหวระดับสากลในการสะกัดกั้นการค้างาช้างผิดกฏหมายอย่างต่อเนื่อง แนวทางที่หลายประเทศนำมาใช้คือการทำลายงาช้างที่จับกุมได้ เพื่อไม่ให้งาช้างเหล่านี้หลุดเข้าสู่วงจรการค้าอีกครั้ง

พฤศจิกายน 2556 สหรัฐอเมริกาทำลายงาช้างของกลางจำนวน 6 ตันด้วยวิธีการบดจนละเอียด จากนั้นนำผงงาช้างที่บดละเอียดไปสร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงช้างที่ถูกฆ่าตาย ซึ่งทางการผู้รับผิดชอบบอกว่าเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์เพื่อบอกผู้ค้างาช้างว่า “ฉันจะเอาจริงแล้วนะ”

มกราคม 2557 เมืองกังซู กวางตุ้ง ประเทศจีนบดทำลายงาช้างแท่งและงาช้างแกะสลักจำนวน 6.1 ตัน

กุมภาพันธ์ 2557 ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกของยุโรปที่ทำลายงาช้างจำนวน 3 ตัน โดยจัดพิธีขึ้นที่บริเวณหอไอเฟล ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ โดยเชิญบุคคลสำคัญของโลก เช่น เจ้าฟ้าชายชาลส์แห่งอังกฤษ และผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังเดวิด แคเมรอนมาเป็นสักขีพยาน

พฤษภาคม 2557 ฮ่องกงเริ่มต้นทำลายงาช้าง 1 ตันจากจำนวนที่ต้องทำลายทั้งสิ้น 30 ตัน นับเป็นทำลายงาช้างครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ด้วยวิธีบดให้ละเอียดแล้วนำไปเข้าเตาเผาความร้อนสูงจนกลายเป็นเถ้าถ่าน งาช้างเหล่านี้ถูกจับกุมได้ตั้งแต่ปี 2546 ส่วนใหญ่มีต้นทางมาจากทวีปแอฟริกา

10 มีนาคม 2558 เคนยาประเทศต้นทางงาช้างเผางาช้างที่จับกุมได้ภายใน 1 ปี จำนวน 15 ตัน

ในบ้านเรายังไม่มีเคยมีการเผาทำลายงาช้างมาก่อน แม้มีความพยายามขอมติคณะรัฐมนตรีให้เผางาช้างของกลางที่ชำรุด จำนวน 5,000 กิโลกรัม แต่เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557 คณะรัฐมนตรีมีมติไม่เห็นชอบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเตรียมเสนอเรื่องเข้าไปสู่คณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ปัจจุบันมีงาช้างของกลางในสังกัดกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชประมาณ 5,000 กิโลกรัม และกรมศุลกากรจำนวนกว่า 7,000 กิโลกรัม รวม 1.2 หมื่นกิโลกรัมหรือ 12ตัน มูลค่ากว่า 600 ล้านบาท โดยปัจจุบันงาช้างขายกันในตลาดมืดกิโลกรัมละ 30,000-50,000 บาท

ขณะที่คนกลุ่มหนึ่งมองว่าการทำลายงาช้างของกลางจะช่วยลดปริมาณงาช้างที่จะเข้าสู่วงจรการค้างาช้าง แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งเห็นแย้งว่ายิ่งลดปริมาณลง งาช้างยิ่งเป็นของหายากราคาแพง ซึ่งจะกระตุ้นให้มีการลักลอบตัดงาและฆ่าช้างมากยิ่งขึ้น

ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่านโยบายใดดีที่สุดจนกว่าจะลองดู บางครั้งนโยบายดีแต่การปฏิบัติและบังคับใช้ไม่มีประสิทธิภาพ คงเป็นเช่นเดียวกับการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพรรณพืชหายากอื่นๆ ที่การปราบปรามอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะจุดเริ่มต้นความต้องการสินค้ามาจากความเชื่อที่สั่งสมมาจากรุ่นสู่รุ่น เช่น การกินชิ้นส่วนเสือช่วยเสริมพลัง การกินหูฉลามบำรุงร่างกาย ดังนั้นการตัดวงจรการค้าพืชและสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่ได้ผลดีที่สุดก็คือการเปลี่ยนแปลงความเชื่อเดิมหรือสร้างชุดความคิดใหม่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ว่าการกินใช้ชิ้นส่วนของพืชและสัตว์หายากคืออาชญากรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องยากแต่ควรค่าแก่ความพยายามเพราะจะส่งผลในระยะยาวสู่คนรุ่นต่อไป

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: Reuters
ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

คุยประเด็นสิ่งแวดล้อมกับอดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

Email

Share