in on July 5, 2018

ตื่นเถิดชาวไทย…ขยะอิเล็กทรอนิกส์

read |

Views

ข่าวการตรวจจับโรงงานลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่องเมื่อเร็วๆนี้ เป็นการปลุกให้สังคมไทยตื่นมารับรู้ว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลกจำนวนมหาศาลซ่อนอยู่ในบ้านเรานี้เอง

เมื่อไม่นานมานี้องค์กรสิ่งแวดล้อมสากลเผยแพร่สารคดีชาวจีนและชาวอินเดียยากจนนั่งคัดแยกวัสดุมีค่าท่ามกลางกองขยะอิเลคทรอกนิกส์ที่สูงท่วมหัว ซึ่งเป็นภาพที่น่าอนาจใจ ทว่าเมื่อปีที่แล้วประเทศจีนตื่นตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จึงยุติการอนุญาตนำเข้าขยะอิเลกทรอนิกส์และขยะอันตรายจากทั่วโลก ดังนั้นขยะอิเลกทรอนิกส์ที่รอเคลื่อนย้ายจึงเปลี่ยนทิศทางมายังประเทศไทย และคนที่นั่งอยู่ท่ามกลางกองขยะดังกล่าวกลายเป็นคนไทยและแรงงานต่างชาติ

 

การคัดแยกของมีค่าจากขยะอิเลกทรอนิกส์เป็นธุรกิจที่หอมหวาน สหพันธ์การสื่อสารโทรคมนาคมสากล (ITU) คาดการณ์ว่า ในปีพ.ศ. 2559 การคัดแยกวัสดุมีค่าในขยะอิเลกทรอนิกส์ทั่วโลกมีมูลค่า 55,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท ทองคำแม้จะมีปริมาณน้อยสุดคือ 500 เมตริกตันแต่มีมูลค่าสูงสุดประมาณ 6.93 แสนล้านบาท พลาสติกปริมาณมากสุดคือ 12.2 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 5.77 แสนล้านบาท

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าในปีพ.ศ. 2559 ตลาดรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยมีมูลค่า 4,770 ล้านบาท และคาดว่าปี 2560 จะมีมูลค่าประมาณ 4,920-5,000 ล้านบาท โดยขยะอิเล็กทรอนิกส์ 1 ตันสร้างมูลค่าได้ 67,100 บาท

อาจมีคำถามว่าหากเป็นธุรกิจที่หอมหวานจริง ทำไมประเทศต่างๆ จึงพยายามผลักดันขยะอิเลกทรอนิกส์ไปให้พ้นเขตแดนของตัวเอง คำตอบคือในประเทศพัฒนาแล้วซึ่งมีมาตรฐานความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมและค่าแรงงานสูง การคัดแยก รีไซเคิล และการกำจัดขยะดังกล่าวมีต้นทุนสูงกว่าผลักภาระไปยังประเทศอื่นหลายเท่า  และต่อให้กำจัดดีอย่างไรก็ยังคงมีสารเคมีอันตรายตกค้างอยู่ในดินน้ำและอากาศอยู่นั่นเอง การผลักไสไปยังประเทศที่กฎหมายอ่อนแอและมีช่องโหว่จึงง่ายและถูกกว่า

เมื่อประเทศจีนซึ่งเป็นแหล่งรองรับขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลกมีกฎหมายห้ามนำเข้า โดยในปีพ.ศ. 2560 ห้ามนำเข้าขยะอันตรายจำนวน 69 ประเภท และประกาศเพิ่มอีก 24 ประเภท  และสิ้นปีพ.ศ. 2562 จะประกาศห้ามนำเข้าเพิ่มอีก 32 ประเภท จึงเป็นเหมือนการปิดประตูประเทศในการรับขยะอันตรายอย่างสิ้นเชิง  กลุ่มคนที่ทำงานธุรกิจเกี่ยวกับการนำเข้าจึงย้ายฐานการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์มายังประเทศไทย ทั้งนี้จากการจับกุมล่าสุดพบว่าเจ้าของโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลขยะดังกล่าวมีเจ้าของเป็นคนจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และจากการตรวจจับรอบล่าสุดพบว่าโรงงานเหล่านี้ละเมิดกฎหมายโดยมีการสำแดงเท็จ เช่น แจ้งว่าเป็นขยะพลาสติกและสินค้ามือสอง เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกำหนดในอนุสัญญาบาเซลซึ่งห้ามขนส่งขยะอิเลกทรอนิกส์จากประเทศพัฒนาแล้วไปยังประเทศกำลังพัฒนา

ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่าปัจจุบันมีโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับใบอนุญาตจำนวน 132 แห่ง มีขยะจากภาคอุตสาหกรรมและการนำเข้าปี 2560 จำนวนกว่า 6 หมื่นตัน แบ่งเป็นจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศ 7,400 ตัน และการนำเข้า 53,000 ตัน จากการขออนุญาตนำเข้าอย่างถูกกฎหมายปีละ 1.1 แสนตัน และขณะนี้ในประเทศไทยมีขยะอิเลคทรอกนิกส์กองอยู่ 4 แสนตัน โดยจำนวนนี้ 2-3 แสนตันยังไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้

 

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าการตรวจจับและเปิดเผยกลโกงและเส้นทางขนย้ายขยะอิเล็กทรอนิกส์มายังประเทศไทยเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เนื่องด้วยกฎหมายบ้านเราเปิดช่องโหว่ให้มีการนำเข้าและบางครั้งกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เอื้อต่อการทำงานร่วมกันหรือขัดแย้งกันเอง เช่น  กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอำนาจหน้าที่ออกใบอนุญาตโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลขยะอิเลกทรอนิกส์ แต่หากโรงงานดังกล่าวอยู่ในพื้นที่การนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) ผู้มีหน้าที่ควบคุมตรวจสอบคือกนอ. หรือกระทรวงอุตสาหกรรมมีหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมคัดแยกและรีไซเคิลขยะ ขณะที่กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานที่ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสินค้าอันตรายเท่านั้น

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการบูรณะนิเวศกล่าวว่าเมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมคัดแยกและฝังกลบขยะ ระหว่างปีพ.ศ.2547-2558 กรมโรงงานอุตสาหกรรมก็ทะยอยออกประกาศกระทรวงยกเว้นให้ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ผลิต ผู้มีไว้ครอบครอบ ขยะอิเลกทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีวัตถุ และของเสียอันตรายอื่นๆ ไม่ต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ. วัตถุดิบอันตราย พ.ศ. 2535 และเพื่อควบคุมจัดการขยะภายในประเทศ จึงมีประกาศคสช. ฉบับที่ 4/2559 มีผลบังคับใช้เมื่อ 20 มกราคม 2560 อนุญาตให้สร้างโรงงานคัดแยกและฝังกลบ (ประเภท 105) และโรงงานรีไซเคิล (ประเภท 106) ที่ใดก็ได้โดยไม่ต้องผ่านกฎหมายผังเมืองและไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทำให้มีการขยายตัวก่อตั้งโรงงานหลายพื้นที่ในจังหวัดรอบกรุงเทพมหานคร

กฎหมายระเบียบและข้อตกลงการค้าระหว่างชาติถือเป็นอีกช่องโหว่หนึ่ง เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง กล่าวไว้ในการแถลงข่าว “เปิดปูมกรณีการนำเข้าขยะพิษ” ว่าตามข้อตกลงการค้าเสรีที่ประเทศไทยลงนามร่วมกับประเทศต่างๆ จำนวน 14 ฉบับ เช่น ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย, ไทย-นิวซีแลนด์, อาเซียน-จีน ฯลฯ เปิดโอกาสให้มีการเคนำเข้าของเสียทุกประเภท เช่น ขยะอิเล็กทรอกนิกส์ ขยะพลาสติก ขยะเคมี ซึ่งขยะในที่นี้หมายรวมถึง “ของที่รวบรวมได้ในภาคีซึ่งไม่สามารถใช้ต่อไปได้ตามความมุ่งประสงค์เดิมหรือไม่สามารถใช้ต่อไปได้”

“สรุปได้ว่าขยะคือสินค้า ส่งมาให้คนไทยมาประกอบกิจกรรมได้ จึงเหมือนเนื้อที่เขากินแล้ว เหลือเศษเนื้อ ให้คนไทยแย่งกัน และปล่อยให้คนไทยอยู่กับตะกั่วและทองแดง ส่วนทองกับแพลตินัมส่งคืนกลับบ้านเขาไป”  เพ็ญโฉมกล่าว

สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ว่าในเชิงนโยบายของประเทศ เรามองขยะอิเล็กทรอกนิกส์อย่างไรและวางตำแหน่งของประเทศไทยอย่างไร จากนั้นบูรณาการกฎหมายเพื่อปกป้องสุขภาพของคนไทยและสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องและปฏิบัติได้ ไม่ใช่แต่ละหน่วยงานของรัฐแยกกันทำงานตามหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแบบแยกส่วน สุดท้ายไม่มีใครสามารถก้าวล่วงเข้าไปในพื้นที่ดูแลของอีกฝ่ายได้ และที่สำคัญคือภาคประชาชนต้องสามารถตรวจสอบได้

ประเด็นสำคัญในการเคลื่อนไหวเรื่องนี้คือการป้องกันไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งรองรับขยะอิเลกทรอนิกส์จากทั่วโลก ขณะที่กลไกการคัดแยกและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากการใช้ในประเทศยังสามารถดำเนินการได้ แต่ดูเหมือนว่าผู้ประกอบการค้าของเก่าในบ้านเรากำลังวิตกกังวลกับการกวาดล้างครั้งนี้  ดังที่ดร.สมไทย วงษ์เจริญประธานกรรมการโรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์กล่าวว่าขณะนี้ทางกลุ่มวงษ์พาณิชย์สั่งห้ามรับซื้อขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้ว และร้านขายของเก่าที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายจำนวน 3 หมื่นร้านก็หยุดรับซื้อขยะอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน ซึ่งหากร้านรับซื้อของเก่าหยุดรับซื้อขยะอิเล็กทรอนิกส์นาน 1 เดือน จะทำให้มีขยะอิเลกทรอนิกส์ตกค้างกองเป็นภูเขาเลากาอยู่ทั่วไป …จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องรีบดำเนินการสร้างความเข้าใจกับร้านขายของเก่าเหล่านี้

เหนือสิ่งอื่นใดขยะอิเล็กทรอนิกส์คือการจัดการที่ปลายทาง สิ่งที่ต้องทำไปพร้อมกันคือการให้รณรงค์และให้ความรู้กับผู้บริโภคในการใช้สินค้าอิเลกทรอนิกส์อย่างรู้คุณค่าเพื่อสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้น้อยลง และออกกฎหมายให้ผู้ผลิตมีส่วนร่วมในการจัดการขยะอิเลกทรอนิกส์ด้วยการมีนโยบายรับคืน เรียกว่าเป็นการติดตามสินค้าอย่างครบวงจรตั้งแต่การผลิตจนถึงปลายทางการใช้งาน

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

คุยประเด็นสิ่งแวดล้อมกับอดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

Email

Share