in on March 10, 2022

ต้นไม้พูดได้

read |

Views

ตอนเราเป็นเด็ก นิทานต่างๆ ในทุกวัฒนธรรมจะเต็มไปด้วยสัตว์และต้นไม้พูดได้ พวกมันเป็นชีวิตริมทางทั่วไป ไม่ใช่สัตว์วิเศษแห่งดินแดนมหัศจรรย์ในโพรงกระต่ายที่อลิศตกลงไป บางเรื่องถึงกับเริ่มต้นด้วย “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในยุคสมัยที่คนยังคุยกับสัตว์ได้..”

พวกเราที่เติบโตมาในสังคมสมัยใหม่เห็นมันเป็นเพียงนิทานเรื่องแต่งสนุกๆ ให้เด็ก แต่แล้วเราก็พบว่า ณ วันนี้ ยังคงมีชนเผ่าล่าสัตว์หาของป่าดั้งเดิมบางแห่งที่พูดคุยกับสัตว์และต้นไม้ได้จริงๆ

ชนเผ่าเอสกิโมหรืออินูอิทในอลาสก้ามีวัฒนธรรมที่ผูกพันแน่นแฟ้นกับวาฬ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับวาฬลึกซึ้งกว่าการเป็นผู้ล่าและเหยื่อ พวกเขาสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้

เมื่อปี ค.ศ.1986 แฮรี่ บราว์เวอร์ เอสกิโมวัย 61 ได้รับสารจากลูกวาฬหัวคันศรที่อยู่แถวบ้านของเขาห่างออกไป 1,000 ไมล์ บอกเรื่องราวของแม่มันที่ถูกกลุ่มผู้ชายบนเรือแคนูฆ่าตายด้วยฉมวก เขาเห็นหน้าคนฆ่าทั้งหมด ซึ่งรวมถึงลูกชายของเขาเอง เมื่อตรวจสอบข้อมูลก็พบว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง นักวิทยาศาสตร์จึงเข้าไปหาความรู้เกี่ยวกับชีวิตวาฬจากคนเผ่านี้เพื่อพัฒนาแนวทางการอนุรักษ์วาฬให้ดีขึ้น

ต้นไม้ก็เช่นกัน จากการสอบถามหมอยาในชนเผ่าโบราณทั่วโลก นักมนุษย์วิทยาพบว่าความรู้เรื่องคุณสมบัติของสมุนไพรต่างๆ ไม่ได้มาจากการลองถูกลองผิดอย่างที่พวกเราคนสมัยใหม่โมเมเข้าใจกัน แต่เป็นสารที่ได้รับมาจากตัวต้นไม้เอง

พจนา จันทรสันติ เขียนไว้ในหนังสือ แด่ชายหนุ่มและหญิงสาว (2554) ว่า “ผมมีความเชื่อว่าการสื่อสารของมนุษย์โบราณก่อนที่จะเกิดภาษาขึ้นนั้น ใช้การส่งและรับคลื่นความรู้สึกนึกคิดโดยตรง ซึ่งปัจจุบันเราเรียกกันว่า ‘โทรจิต’ อันเป็นวิชาที่สาบสูญ การสื่อสารของมนุษย์ในครั้งกระนั้นจึงตรงเต็มและปราศจากการบิดเบือนเฉไฉ

และด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นไปได้ว่า การสื่อสารนี้มิได้จำกัดอยู่ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เท่านั้น แต่ได้รวมไปถึงการสื่อสารกับสัตว์ พืช ก้อนหิน และธาตุมูลต่างๆ ในโลกธรรมชาติด้วย ด้วยเหตุที่การสื่อสารนั้นไม่จำเป็นต้องอาศัยเสียง ถ้อยคำ หรือภาษา ทว่าใช้กระแสคลื่นการพลังชีวิตโดยตรง ดังนั้นเองมนุษย์จึงสามารถสื่อสารกับสิ่งทั้งมวลในโลกธรรมชาติได้อย่างเต็มเปี่ยม”

พจนามองว่านิทานคนคุยกับสัตว์เป็นร่องรอยของทักษะนี้ที่เหลือทิ้งไว้ในวัฒนธรรม

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการประดิษฐ์ภาษาศัพท์แสงเพื่อสื่อสารกันในหมู่มวลมนุษย์เป็นความสามารถมหัศจรรย์ของสปีชี่ส์เรา ในวันนี้เรามีภาษาที่ยังใช้พูดคุยกันถึงประมาณ 6,500 ภาษาในโลก มันเปิดประตูบานใหญ่สู่การพัฒนาอารยธรรมซับซ้อนของมวลมนุษย์ ภาษาเป็นเครื่องมือถ่ายทอดวิทยาการความรู้ต่างๆ สร้างสรรค์วรรณกรรม เรื่องเล่า ศาสนา ปรัชญา จนรวมหมู่มนุษย์ขึ้นเป็นสังคมมีความเชื่อคล้ายกันขึ้นมาได้  แต่บนเหรียญอีกด้านภาษาศัพท์แสงก็ทำให้เราลืมภาษาสากลที่ชีวิตร่วมโลกอื่นๆ ใช้สื่อสารระหว่างกัน

สังคมสมัยใหม่ที่เราเติบโตมาปฏิเสธโทรจิต มองว่าเป็นเรื่องงมงาย ใช้หลอกลวงคนอื่น หรือไม่ก็คิดว่าเป็นพรสวรรค์พิเศษของคนบางคนเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วมันเป็นผัสสะประเภทหนึ่งที่เราวิวัฒนาการขึ้นมาร่วมกับชีวิตต่างสายพันธุ์อื่นๆ เราแค่หลงลืมมันไป

ร่างกายโฮโมเซเปี้ยนของเราในวันนี้ยังคงเป็นร่างกายคล้ายร่างเดิมที่บรรพบุรุษเราใช้สื่อสารกับสรรพสิ่งในโลกธรรมชาติและเอาตัวรอดจากเสือเขี้ยวดาบ เราแค่ไม่ได้ใช้อวัยวะและอายตนะทั้งหมดที่เรามีอย่างเต็มที่เท่านั้นเอง เพราะวิถีชีวิตเราเปลี่ยนไปพร้อมกับเทคโนโลยีและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในชั่วอายุคนเพียงรุ่นเดียว

ความสามารถในการสื่อสารกับชีวิตร่วมโลกอื่นๆ ของเราจึงยังคงอยู่ เราแค่ต้องเปิดประตูปลุกมันขึ้นมาใหม่ และฝึกใช้มันเหมือนฝึกกล้ามเนื้อลีบๆ ให้ใช้งานได้ใหม่แค่นั้นเอง

ฉันเชื่อเช่นนั้น แต่ที่นึกไม่ถึงคือมันปลุกขึ้นมาง่ายดายกว่าที่คิดไว้มาก

2-3 ปีที่ผ่านมา ฉันกับเพื่อนๆ ทดลองเปิดฝึกอบรมให้ผู้คนทั่วไปได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับธรรมชาติขึ้นมาใหม่ โดยวันแรกจะเน้นการพัฒนาผัสสะพื้นฐานให้ละเอียดขึ้นผ่านกิจกรรมและแบบฝึกหัดต่างๆ เราจะไปจบวันกันในดงไม้ไม่ไกลจากบ้านที่ฝึกอบรมเพื่อทำกิจกรรม “Meet a tree” (รู้สึกว่านักกิจกรรมไทยจะเรียกว่า “ต้นไม้เพื่อนรัก”) กิจกรรมนี้มีหลายแนว แต่โดยทั่วไปวิทยากรจะให้ผู้ฝึกหลับตาและพาเดินไปทิ้งไว้กับต้นไม้ที่วิทยากรเลือกให้ ผู้ฝึกจะทำความรู้จักต้นไม้ต้นนั้นผ่านสัมผัสอื่นๆ ยกเว้นตาเห็น สักพักวิทยากรจะพากลับออกมาจากดงไม้ ให้เปิดตาและเดินกลับไปหาต้นไม้ที่ได้สัมผัส ซึ่งทุกคนจะหาเจอด้วยความทรงจำจากประสาทสัมผัสอื่น ตั้งแต่กายสัมผัสพื้นผิว ขนาดรูปร่าง กลิ่น อุณหภูมิ และอาจมีบางคนที่อาศัยพลังจิตในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่จะด้วยผัสสะใดก็ตาม ทุกคนจะหาเจอ

ในทีแรกฉันก็ไม่แน่ใจว่ารู้สึกไปเองหรือเปล่าว่ามันเป็นกิจกรรมที่ต้นไม้ในดงนี้ชอบมากพอๆ กับคนที่มาฝึกอบรม พวกมันอยากรู้จักคนและอยากทำหน้าที่ทูตธรรมชาติ จนกระทั่งวันหนึ่งก่อนการอบรม ฉันได้รับสารให้เปลี่ยนกระบวนการ โดยให้ต้นไม้เข้ามามีส่วนร่วม พวกมันจะเป็นผู้เลือกเพื่อนมนุษย์เอง – ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นสารจริงไหม แต่ฉันตัดสินใจจะลองดู

เมื่อเราไปถึงดงไม้ ผู้เข้าอบรมก็จะจับคู่กัน คนหนึ่งหลับตา อีกคนเป็นไกด์นำทางไปหาต้นไม้ โดยให้ไกด์เปิดหัวใจและอายตนะทั้งหมด แผ่กว้างสแกนออกไปพร้อมกับถามในใจว่าต้นไม้ต้นไหนอยากจะเจอเพื่อนที่หลับตาคนนี้บ้าง เมื่อรู้สึกว่าเป็นต้นไหนก็ให้พาเพื่อนไปต้นนั้น ขอให้ละทิ้งความกังขาและคำถามใดๆ ไว้ก่อน ถ้าบังเอิญเลือกต้นเดียวกับผู้เข้าอบรมคนอื่นก็แค่สแกนถามใหม่ และเปลี่ยนต้นไม้

ปรากฎว่าเราเล่นกันมาหลายรอบแล้ว แต่ไม่เคยมีใครเลือกต้นไม้ซ้ำกันเลย แม้ว่าดงไม้เล็กๆ นี้จะมีต้นไม้อยู่จำกัด แทบจะพอดีจำนวนคน

บางคนเล่าว่ามันเหมือนมีแรงดูดชัดเจนไปสู่ต้นไม้ต้นนั้น บางคนตั้งใจจะเลือกต้นหนึ่ง แต่พอเปิดใจออกไปถามต้นไม้มันกลับเหมือนมีแสงดึงให้เบนทิศไปสู่อีกต้น และแต่ละต้นก็ดูจะเป็นต้นไม้ที่เหมาะสมกับคนคนนั้นจริงๆ เช่น เป็นต้นไม้เปลือกดำแบบที่เขาชอบ เป็นต้นไม้ที่กำลังออกลูกอย่างที่เขากำลังนึกถึง เป็นต้นไม้ที่มีสัมผัสบางอย่างที่ทำให้สบายใจ ครั้งหนึ่งคนที่เป็นไกด์พาผู้เล่นที่คุ้นเคยกับดงไม้นี้ไปหาต้นไม้ต้นที่เขามีความหลังพิเศษโดยที่ไกด์ไม่เคยรู้มาก่อนเลย รู้แต่ว่ามีแรงดึงดูดจากต้นนี้ชัดเจน มันเป็นผู้เลือกเพื่อนเก่าของมัน

ส่วนฉันก็ได้เรียนรู้ว่าฉันต้องพยายามหัดฟังต้นไม้และชีวิตอื่นๆ รอบตัวให้มากขึ้น และไว้ใจในปัญญาของมัน

อยากจะชวนมาฝึกฟังธรรมชาติและสื่อสารกับเพื่อนร่วมโลกด้วยกัน มันเป็นธรรมชาติเดิมของเราที่แค่ต้องทวงคืน

หมายเหตุ : เราตั้งใจจะจัดฝึกอบรมทักษะด้านนี้โดยตรงในคอร์ส “รับฟังธรรมชาติ” ด้วยเทคนิควิธีที่ง่ายและปฏิบัติได้จริง มีคุณวริสรา มีภาษณีเป็นวิทยากร แผนเดิมคือจะเปิดอบรมเสาร์อาทิตย์ 7-8 มีนาคมนี้ แต่สถานการณ์โควิททำให้จำเป็นต้องเลื่อนออกไปก่อน ผู้ใดสนใจ กรุณาติดตามเพจมูลนิธิโลกสีเขียวเพื่อเช็คประกาศวันเวลาฝึกอบรมครั้งต่อไป


กรุงเทพธุรกิจ, มีนาคม 2563

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share