in on April 26, 2015

ถึงเวลามีกฎหมายทรัสต์ที่ดินหรือยัง?

read |

Views

เมื่อแม่เราตายไป 10 ปีที่แล้ว ก็ทิ้งเงินก้อนหนึ่งไว้ในพินัยกรรม ระบุว่าให้ลูกๆ นำไปใช้สร้างสรรค์ประโยชน์สาธารณะในรูปแบบที่เราแคร์

น้องชายของผู้เขียน นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือหมอหม่อง มีความตั้งใจมานานแล้วว่าอยากจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นแหล่งอนุรักษ์นก  มองหาอยู่นานจนมาเจอพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง 80 ไร่ในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย อยู่บนเส้นทางอพยพของนกชาวบ้านบอกขายมา จึงตัดสินใจซื้อและฟื้นฟูปรับสภาพนาเก่าให้กลายเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่เหมาะสมกับธรรมชาติดั้งเดิม ตั้งชื่อว่า “พื้นที่อนุรักษ์นกน้ำคำ”

ภายในเวลาไม่กี่ปี พื้นที่อนุรักษ์นกน้ำคำได้กลายเป็นเพชรน้ำงามที่เกจินกจากทั่วโลกบอกต่อกัน มีการค้นพบนกชนิดใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีบันทึกมาก่อนในประเทศไทย ล่าสุดในฤดูหนาวที่ผ่านมาพบ Firethroat นกหายากระดับโลกที่นี่ ยังไม่มีชื่อไทยแต่จะแปลชื่อตรงตัวว่า “นกคอไฟ” ก็คงได้

ที่นี่พบนกถึง 233 ชนิด แต่เห็นตัวไม่ง่ายนัก ได้ยินแต่เสียงระงม เพราะพวกมันซุกซ่อนอยู่ตามพงอ้อ หมอหม่องทำบังไพรเล็กๆ กระจายตามจุดต่างๆ ให้คนเข้าไปนั่งเงียบๆ เฝ้าดู มีทางเดินและสะพานไม้ไผ่ตีฟากผ่านพงอ้อให้เดินเรียนรู้ธรรมชาติ มีต้นงิ้ว (ซึ่งนกชอบกินน้ำหวานกันมาก) ขึ้นประปราย

ในสายตาเอียงๆ ของนักพัฒนาเศรษฐกิจจำนวนมาก พื้นที่แบบนี้คือพื้นที่รกร้างหาประโยชน์มิได้แต่สำหรับนกและสัตว์อื่นๆ มันคือสวรรค์ที่พักพิงที่หายากเหลือประมาณ เพราะพื้นที่ราบต่ำถูกมนุษย์จับจองไปใช้ประโยชน์เฉพาะหน้าของตนหมดแล้ว

การอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำรกๆ ยังให้ประโยชน์บริการนิเวศต่อมนุษย์ แต่มันไม่ผลิตเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจปัจจุบันที่ไม่คิดบัญชีสิ่งแวดล้อมหากโดนภาษีที่ดินเข้าไปอีก ที่สุดแล้วพื้นที่แบบนี้คงจะอนุรักษ์เอาไว้ไม่ได้

ภาษีที่ดินที่ไม่รอบคอบก็จะรังแกเกษตรอินทรีย์เช่นกัน เพราะการทำเกษตรอินทรีย์ด้วยเมล็ดพันธุ์ปู่ย่าในระดับที่จะได้ใบรับรอง (เช่น กับอียู) ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนสารเคมีและต้องมีช่วงเว้นพักดิน ดูเผินๆ เหมือนที่รกร้างเจอภาษีสูงกว่าเกษตรเคมี/จีเอ็มโอก็คงเดี้ยงไปอีกหลายดอกเช่นกัน

กฎหมายภาษีที่ดินที่ดีจึงไม่ควรมุ่งเก็บภาษีเข้าคลังอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะที่หลากหลาย และมีเครื่องมือสร้างแรงจูงใจให้คนนำสินทรัพย์ส่วนบุคคลมาเป็นประโยชน์สาธารณะ คือมีทั้งไม้เรียวและหัวผักกาด

ผู้เขียนเห็นด้วยกับการออกกฏหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งแตกต่างอย่างมากมายจากร่างกฎหมายที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่รัฐคิดผลักออกมารีดนาทาเร้นไพร่ฟ้าถ้วนหน้าดูดเงินเข้าคลัง แต่ในระหว่างที่สังคมกำลังถกเถียงวาระนี้ เราควรพิจารณาทางเลือกในการลดความเหลื่อมล้ำที่น่าจะมีประกอบกับภาษีที่ดิน

ทรัสต์ที่ดิน (land trust) เป็นเครื่องมือที่น่าสนใจตัวหนึ่ง

มันคือการมอบสิทธิการจัดการที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์ให้แก่กลุ่มบุคคลหรือนิติบุคคลเป็นผู้ดำเนินการ

ทรัสต์ – เป็นทางเลือกและแรงจูงใจให้ผู้ถือครองที่ดินนำสินทรัพย์ที่มีไปเป็นประโยชน์สาธารณะ โดยมีมืออาชีพเป็นผู้จัดการดูแลคล่องตัวกว่าระบบราชการและสังคมมีหลักประกันว่าตรวจสอบได้ เพราะการจัดการทรัสต์มีกฎระเบียบ มีการแสดงผลประกอบการ หากเป็นพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติก็อาจมีการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพเป็นประจำ ตลอดจนข้อมูลผู้เข้าใช้ประโยชน์เรียนรู้ เป็นต้น เศรษฐีเก็งกำไรที่ดินจะเก็บที่ดินไว้เฉยๆ แล้วอ้างว่าทำการอนุรักษ์ไม่ได้

ต้องยอมรับว่าเหตุผลหนึ่งที่หลายคนไม่แฮปปี้กับภาษีที่ดินและภาษีมรดก เพราะไม่ไว้ใจราชการมองไม่เห็นว่าภาษีที่จ่ายไปนำไปใช้ประโยชน์แก่ส่วนรวมอะไร เผลอๆ ไปเป็นเงินทอนเข้ากระเป๋าใครอีก บรรพบุรุษสร้างสะสมมา อยู่ๆ ก็กลายไปเป็นทัวร์หรูราชการ เป็นสติกเกอร์ไลน์เสี่ยวๆ ราคาเท่ากับเงินเดือนเรา 10 ปี

แต่ถ้าเราสามารถกำหนดแนวทางการใช้ทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวมได้ เช่น สร้างพิพิธภัณฑ์สถานเรียนรู้ ยกที่ดินให้เป็นพื้นที่เกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ เป็นพื้นที่สีเขียว เป็นสวนผลไม้ผลิตอาหารกลางเมือง เป็นพื้นที่อนุรักษ์ อะไรเหล่านี้ โดยมีกลุ่มบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเป็นผู้ดูแล ก็จะเกิดแรงจูงใจ บางคนอาจพอใจที่ได้สร้างชื่อเสียงแก่วงศ์ตระกูล บางคนอาจพอใจที่ได้ส่งเสริมสิ่งที่เขาชอบและอยากให้มีอยู่ในสังคม โดยที่ปกติถ้าไม่มีภาษีและระบบทรัสต์เขาอาจไม่ตัดสินใจทำ เพราะมันไม่ทำตังค์ อดไม่ได้ที่จะชั่งตวงระหว่างการสร้างประโยชน์สาธารณะกับการเก็บที่ดินไว้เก็งกำไร หรือนำไปสร้างรีสอร์ทคอนโดปั่นเม็ดเงิน

ทรัสต์เป็นช่องทางที่จะดึงทรัพย์สินส่วนบุคคลไปเป็นประโยชน์สาธารณะ โดยไม่ต้องก่อกำลังถือปืนมาฆ่าล้างชนชั้นยึดทรัพย์ศักดินาไปเป็นส่วนกลาง และลดแรงต้านภาษีลงไปได้มาก เพราะเพิ่มทางเลือก

ในประเทศอังกฤษ ที่ดินและทรัพย์สินของศักดินาจำนวนมากถูกคายมาบริหารโดย National Trust (ชื่อว่าทรัสต์แห่งชาติ แต่ไม่ใช่ของรัฐบาล เป็นองค์กรไม่แสวงกำไร) จัดการอนุรักษ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และพักผ่อนหย่อนใจ ช่วยให้อังกฤษสามารถรักษามรดกทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติไว้ได้มาก

ในสหรัฐอเมริกา ความต้องการรักษาพื้นที่โล่งสีเขียวในเขตเมืองและความต้องการสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ ทำให้เกิดทรัสต์ที่ดินขึ้นมามากมายในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ที่มลรัฐออริกอนมีการก่อตั้งเครือข่ายสมาพันธ์ทรัสต์ที่ดิน เป็นที่ปรึกษาแก่ผู้จัดการทรัสต์ที่ดินต่างๆ และให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค ทักษะ ตลอดจนประสานงานกับภาครัฐ

จึงอยากเรียกร้องให้ผู้ออกกฎหมายพิจารณาการก่อตั้งทรัสต์ที่ดิน เพื่อให้สิทธิและกระจายอำนาจแก่ประชาชนในการจัดการที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นเครื่องมือและแรงจูงใจในการจัดการแผ่นดินเพื่อความเป็นธรรมต่อธรรมชาติและสังคม

อย่าปรึกษาแต่เจ้าสัว ถามพวกเราประชาชนทั่วไปด้วยสิ


กรุงเทพธุรกิจ เมษายน 2558

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share